กลุ่มผักพิจิตรเราไม่ทอดทิ้งกัน


"...ปลูกผัก 1 ไร่ ดีกว่าทำนา 5 ไร่ ด้วยซ้ำ!!!!"

ไม่รู้ว่าช่วงที่ลมหนาวกำลังพัดผ่านเข้ามานี้จะเป็นผลดี ผลเสียอย่างไร?กับเกษตรกรปลูกผักนะครับ เป็นที่ทราบกันดีว่าการปลูกผักให้ได้ผลดีนั้น ช่วงหน้าหนาวเหมาะสมที่สุด เป็นไปตามนั้นจริงๆครับ มากมายจนล้นตลาดเลยทีเดียว  "ลุงอิน สงคราม" แกนนำเกษตรกรปลูกผัก ต.หนองโสน  อ.สามง่าม  กำลังประสบกับปัญหาผลผลิตได้มากจนระบาย ขายไม่ทัน  ลุงอินปลูกผักขนาดพื้นที่ 3 - 4 ไร่ ตอนนี้มีกะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกาดเขียว  คาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์จะออกดอกออกผลกว่า 2 ตัน  ลุงอิน จึงได้ประสานมายังเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรเพื่อหารือร่วมกันหาทางออก เมื่อ คุณหมอสุรเดช ทราบจึงมอบหมายให้ผมประสานงาน (ด่วนมั๊กๆมากกกกก!!!!!) นัดหมายแกนนำกลุ่มปลูกผัก มาร่วมพูดคุยกันในวันที่ 17 ธ.ค. 49 ที่มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร ที่ผ่านมา และย้ำด้วยว่า   "....งานนี้ไม่มีตังก์ช่วยค่าเดินทางนะครับ แต่จะเลี้ยงข้าวเที่ยงมื้อนึง..."  คือตอนนี้ทางมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรกำลังอยู่ในช่วงขาดแคน(เฮ้ยยยยย!!!! ขาดแคลน) ทุนทรัพย์ หมายถึงว่าแผนงานของ สสส. ที่เขียนเสนอไปยังไม่อนุมัติหน่ะครับ (3 เดือนกว่าแล้วนะเนี้ยะ)  แต่ว่าเรื่องปากท้องของชาวบ้านรอแหล่งทุนไม่ได้ ต้องว่ากันไปก่อน ทั้งนี้การประชุมหารือครั้งนี้คุณหมอสุรเดชมีเรื่องแจ้งให้ทราบพอดี เกี่ยวกับการพูดคุยหารือกับผู้ว่าฯพิจิตรคนใหม่ "ปรีชา เรืองจันทร์" อีกด้วย  ผมจึงประสานนัดหมายแกนนำสำคัญๆ อย่าง ลุงจวน ลุงอิน ลุงน้ำพอง คุณวิสันต์ คุณเทอม คุณประวัติ คุณเจ็น(พาครอบครัวมาด้วย)  ทุกคนมาพร้อมเพรียงกันไม่ขาดแม้แต่คนเดียว (เอ้า!แค่คนมากันครบก็ถือว่าสำเร็จแล้วหล่ะขั้นหนึ่ง)

คุณหมอสุรเดช  ชวนคุยและแจ้งให้ทราบว่า "....หลังจากที่ได้เข้าไปคุย เจรจากับผู้ว่าฯพิจิตร คนใหม่ เค้าบอกว่ามีตลาดรองรับซื้อผักเรา ในวงเงินกว่า 300 ล้านบาท จากร้านค้าห้างใหญ่ TOP   MK  เดอะมอลล์  ตอนนี้ผู้ว่าฯได้สั่งการให้ทางเกษตรจังหวัดไปเช็คพื้นที่การผลิต ว่าจริงๆแล้วมีอยู่เท่าไร? ...และได้ให้นโยบายผ่านทางทุก อบต. ในจังหวัดพิจิตร ตั้งงบประมาณส่งเสริม อบต. ละ 100,000 บาท....  ผมไปเช็คข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯดู พื้นที่ปลูกผักในจังหวัดเรามี 15,000 ไร่ (ไม่รู้ว่าปลอดสารพิษหรือเปล่า?)  ส่วนในกลุ่มเรา(ชมรมเกษตรธรรมชาติฯ) มีเพียง 200 ไร่เท่านั้น!!!  ดังนั้นวันนี้จึงอยากฟังความคิดเห็นของพวกเราว่าคิดกันอย่างไร?  ก่อนอื่นอยากให้เราลองทบทวนดูกันก่อนว่า การปลูกผักของกลุ่มเครือข่ายเราเกิดผลอย่างไรบ้าง ทั้ง ตนเอง ครอบครัว และ กลุ่ม/ชุมชน...."

สรุปสาระสำคัญโดยรวม แยกเป็นส่วนที่เกี่ยวข้อง  ได้ว่า.....

             ตนเอง  =  การทำผักเป็นอาชีพเสริม และยังสามารถพัฒนาเป็นอาชีพหลักได้ เพราะใช้พื้นที่น้อยเพียงแค่ 1 - 2 ไร่ก็ทำได้แล้ว ปลูกผัก 1 ไร่ ดีกว่าทำนา 5 ไร่ด้วยซ้ำ ปลูกผักยังเป็นการเพิ่มรายรับ ลดรายจ่าย เหมาะสมกับการทำงานของผู้สูงอายุ  ที่ทำได้เพราะเกิดแรงจูงใจ ปลอดภัย(สุขภาพดี ไม่ใช้สารเคมี) ใจรัก และมีตัวอย่างที่ดีให้เรียนรู้จากภูมิปัญญา

             ครอบครัว  =  ลูกหลานกลับมาช่วยทำ คิดถึงครอบครัว แม้จะมีรายได้น้อย แต่ก็มีความสุขใจ  ลดความอยากได้อยากมี

            กลุ่ม/ชุมชน  = เกิดการช่วยเหลือแบ่งปันกันทั้งความรู้การผลิต การขาย การตลาด อีกอย่างที่สำคัญคือได้เพื่อนเพิ่มขึ้น สังเกตจากเวลาไปขายจะมีลูกค้าประจำเข้าทักทายพูดคุยตลอดทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ

นอกจากความสำเร็จที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังมี "ปัญหา" ที่พบเจอช่วงระหว่างทำ ขาย  ผักปลอดสารพิษด้วย คือ ....มักจะถูกต่อต้านทางแนวคิด ไม่เชื่อ ว่าปลอดสารจริงๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เกษตร ยิ่งหัวแข็ง เพราะเค้าถูกปลูกฝังเน้นใช้สารเคมี คิดว่าไม่ใช้เคมีจะได้ผักกินเหรอ คนซื้อเองก็ชอบผักสวยๆอีก เราไม่สามารถผลิตได้ทุกวัน ขายให้พ่อค้าคนกลางก็กำหนดราคาเองไม่ได้ เค้าให้เท่าไรก็ต้องเอาตามนั้น...

เช็คกำลังการผลิตของกลุ่มสมาชิกเครือข่ายที่มีอยู่

          - ลุงจวน 3 คน - ลุงน้ำพอง 7 คน - ลุงอิน 10 คน -                     

         - คุณเทอม 19 คน - คุณเจ็น 30 คน - คุณประวัติ 6 คน -

         - ลุงเวช 20 คน - ลุงหวาน 20 คน -  " รวม = 115 คน" 

คำถามคือว่าแล้วเราจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้อย่างไร?????

คุณหมอสุรเดช  สรุปว่า เป้าหมาย ของการทำผักปลอดสารพิษ ก็คือ ...เน้นการพึ่งตนเอง ไม่โลภมาก สัมมอาชีพ(ศีล) วิถีแบบพุทธ ใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำตัวให้เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ ช่วยเหลือพึ่งพากัน...

การจะไปสู่เป้าหมายต้องทำอย่างไร?  

       ตนเอง/คนขาย =  เป็นตัวอย่างที่ดี พึ่งตนเองได้ ปลูกผักหลากหลาย สามารถบอกผลดี สรรพคุณ  เคล็ดลับการอาหารได้ยิ่งดี ถ้าอธิบายไม่ได้ก็ให้มีเอกแจกหรือให้ดู และสังเกตดูด้วยว่าคนซื้อชอบกินผักอะไร เราจะได้ผลิตได้ตรงตามความต้องการในแต่ละพื้นที่นั้นๆ

       กลุ่ม = มีการรวมกลุ่ม โครงสร้างการทำงาน จัดสรรประโยชน์ให้ลงตัว โปร่งใส  หนุนเสริมการเรียนรู้สร้างปัญญา ร่วมกันวางแผนการผลิต การตลาดได้ตลอดทั้งปี

       การตลาด = มีตลาดกลางรองรับซื้อ - ขาย ผลผลิตของเครือข่าย มีมาตรฐาน ตราสินค้าเดียวกันของชมรมฯ โดยอาจใช้สัญลักษณ์ตราควายน้อยก็ได้  มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง อาจดึงภาคีอย่าง สาธารณสุข โรงพยาบาล ช่วยเสริมแรงกระตุ้นความน่าเชื่อถืออีกด้านหนึ่งด้วย 

ข้อจำกัด ทำให้เกษตรกรปลูกผักพิจิตรทำได้ไม่ค่อยดีเพราะ....

       - สภาพพื้นที่จังหวัดพิจิตร ร้อน ชื้น ทำให้เกิดปัญหาโรคแมลง   

       - อากาศร้อน น้ำแล้ง เป็นธรรมชาติที่ควบคุมได้ยาก

       - ถ้าปลูกมาก ก็ลงทุนมากจะต้องติดตั้ง สแลน สปริงเกอร์ คิดแล้วไม่คุ้มทุน ผลผลิตออกมาก็จะตัดราคากันเองอีก

ฟังๆดูแล้วเป้าหมายที่ลุงๆพี่ๆ กำลังจะร่วมกันเดินนั้น ฉีกแหวกแนวกันคนละกับที่ผู้ว่าฯ ตั้งธงไว้มากเลยทีเดียว ทั้งนี้คุณหมอสุรเดช ยังย้ำอีกว่า....   "....เราไม่ต้องไปกังวลกับแผนงานผู้ว่าฯหรอก เพราะผู้ว่าฯมาอยู่พิจิตรไม่เกิน 2 ปี ก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นแน่นอน แต่จะดูหน่อยสิว่า ในฐานะที่ผู้ว่าฯเป็นคนพิจิตร(อ.บางมูลนาก) จะช่วยเหลือเกษตรกรพิจิตรได้มากน้อยแค่ไหน? เราก็เดินตามเส้นทางของเรา ส่วนไหนที่ร่วมมือกันทำได้ก็ทำไป งั้นเอาเป็นว่าการพูดคุยกันครั้งต่อไป น่าจะสัญจรไปที่ แปลงผักลุงอิน ต.หนองโสน อ.สามง่าม ดีมั๊ย? แล้วก็จะเชิญท่านผู้ว่าฯ ไปร่วมนั่งเสื่อ กินข้าวเย็นกับเกษตรกรเครือข่ายเราวงเล็กๆด้วย ไปแบบเงียบๆไม่ให้ราชการรู้ ถ้ารู้เดี๋ยวเราจะเหนื่อยเตรียมนู้น นี่ ยุ่งยากอีก  ทั้งนี้ได้ลองถามๆดูแล้วหล่ะ ท่านบอกว่า ท่านทำงาน 24 ชั่วโมง ไปได้(ถ้าว่างนะ) ถ้าท่านไม่ไปก็ไม่เป็นไรเราก็ว่ากันไปนะ...."

ทุกคนตกลงพบกันอีกครั้งที่แปลงผักลุงอิน ต.หนองโสน อ.สามง่าม วันที่ 6 มกราคม 2550 ติดตามก้นดูนะครับว่ากลุ่มผักปลอดสารพิษจังหวัดพิจิตรจะขับเคลื่อนไปอย่างไร แล้วผมจะมาเล่าความคืบหน้าให้ฟังครั้งต่อไปนะครับ  

ครั้งต่อไป ไปคุยที่แปลงผัก "ลุงอิน" ต.หนองโสน อ.สามง่าม กันเลยนะครับ

 

 แปลงผักพื้นที่ 3 - 4 ไร่ (มีผักกวางตุ้ง, ผักกาดเขียว, ผักกาดขาว, หอม,ถั่วฝักยาว, ฯลฯ)

 เป็นไง เขียว น่ากินไหมครับ (คราวหน้าไปคุยกันที่แปลงผัก ลุงอิน ผมจะจัดการกินเรียบแน่ แฮ่ะๆๆๆ)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 68235เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2006 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ตกลงจุดอ่อนอีกประการหนึ่งคือ

"....มักจะถูกต่อต้านทางแนวคิด ไม่เชื่อ ว่าปลอดสารจริงๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เกษตร ยิ่งหัวแข็ง เพราะเค้าถูกปลูกฝังเน้นใช้สารเคมี คิดว่าไม่ใช้เคมีจะได้กินผักเหรอ คนซื้อเองก็ชอบผักสวยๆอีก เราไม่สามารถผลิตได้ทุกวัน ขายให้พ่อค้าคนกลางก็กำหนดราคาเองไม่ได้ เค้าให้เท่าไรก็ต้องเอาตามนั้น...  "

จริงหรือเปล่าครับ??

อยากส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักอินทรีย์มาก ตอนนี้กระแสผู้บริโภคตอบรับเป็นอย่างดี

ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันครับ...

แวะมาให้กำลังใจครับ

อาจารย์จตุพร ครับ

ที่อาจารย์เห็นและเข้าใจนั้นมันเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งหน่ะครับ ลึกๆแล้วกระบวนการส่งเสริมของเกษตร หรือแม้กระทั่ง ธกส. ที่บอกว่าช่วยชาวบ้าน ปาว ปาว ปาว "ไม่จริงใจเอาเสียเลย" ยังแอบหยิบยื่นสารเคมีให้เกษตรกรอยู่ เป็นโปรโมชั่น(ยัดเยียด)  ที่ผมบอกเป็นบางพื้นที่หน่ะครับ ที่เค้าส่งเสริมกันจริงๆก็มี  ถ้าเปิดใจพูดกันจริงๆ ด้วยเหตุและผล ผมเชื่อว่าทุกอย่างก็คงไปได้สวยครับ    

ขอบคุณอาจารย์ที่ให้กำลังใจครับผม

คุณพรหมลิขิต

ผมชักจะเข้าใจบางอย่างที่หล่อหลอมเป็นคุณพรหมลิขิตนะครับ...มีหลายมุมที่คล้ายกับผม

ผมมาอ่านบันทึกรอบที่สอง นะครับ

คิดว่าคงได้พูดคุยกันยาวๆอีกหลายประเด็นนะครับ

 

 

อาจารย์จตุพร  ครับ

ผมยังเด็กมาก มุมมองบางอย่างผมอาจจะ แรงไปซักหน่อย แต่ทุกคำที่พูด เขียนไปเป็นความจริง  ก็คงไม่น่าจะเป็นไรอาจารย์ว่าไหมครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเวียนเข้ามาอ่านอีกรอบนะครับ อาจารย์มีคำแนะนำอะไรดีดีช่วยถ่ายทอดให้ผมเรียนรู้เพิ่มเติมเป็นทักษะประดับการใช้ชีวิตด้วยนะครับผม

อ๊ะ!! มีเจ้าหน้าที่อย่างนี้ด้วยเหรอค่ะ แล้วอย่างนี้กระบวนการส่งเสริมเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษ ขับเคลื่อนยังไงไหวค่ะ ในเมื่อเจ้าหน้าที่พังกระบวนการเสียเอง แต่ก็นั่นแหละนะความแตกต่างในเรื่องความคิดของเจ้าหน้าที่อาจมองต่างมุมกันในเรื่องของการสารเคมี น่าจะปลูกฝังจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ก่อนนะคะ เอาชนิดที่มีใจรักจริง ๆ ไม่ใช่ รับนโยบายมาแบบทำ ๆ ซะให้เสร็จ ให้พืชผักสวยเขียว ขายได้ดี เป็นใช้ได้

อย่าว่าแต่โครงการจะเดินหน้าเลยค่ะ ขยับยังไม่ได้เลยแล้วจะเดินไปข้างหน้าได้ไง ต่อไปผู้บริโภคก็คงไม่กล้าซื้อแล้วละค่ะ เพราะไม่แน่ใจว่าปลอดหรือไม่ปลอด...แย่จังค่ะ

คุณ Vij ครับ

ทุกวันนี้เรากินผัก ก็ใช่ว่าจะดีต่อสุขภาพนะครับ หนำซ้ำยังเป็นการสะสมบั่นทอนให้สุขภาพย่ำแย่กว่าเดิมเสียอีก เพราะผักที่เห็นสวยๆเขียวๆ ขายอยู่ตามท้องตลาดปนเปื้อนสารเคมีทั้งนั้น ถ้าร้านไหนมีหนอนชอนไชผักให้ซื้อร้านนั้นเลยครับ รับรองปลอดภัยแน่นอน ก็ขนาดหนอนมันยังอยู่ คนก็ต้องกินได้แหล่ะหน่าว่ามั้ยครับ  

ทุกวันนี้การแก้ไขปัญหามันก็แปลกๆดีนะครับ คิดไว้อย่างเริดหรู แต่ปฏิบัติไปอีกแบบหนึ่ง มันขัดๆยังไงก็ไม่รู้ ไม่สมเหตุสมผลกันเอาเสียเลย

แต่คนปกติมักชอบเลือกที่รูปลักษณ์ภายนอกค่ะ ผักขี้ริ้วขี้เหร่มักไม่ถูกเลือก ต้องสด ใบเขียว ๆ ถึงจะน่ากิน แต่ก็หารู้ไม่...ปกติซื้ออาหารสำเร็จรูปกินค่ะ เลยโชคร้ายหน่อย จะตักมาเลือกดูว่าผักใบไหนมีรูก็เกรงใจแม่ค้า...กลัวโดนจวักเข้าให้ค่ะ

เป็นปกติธรรมดาค่ะ นโยบายสวยหรู เนื่องจากคนคิดกับคนปฏิบัติงานแท้จริงเป็นคนละคนกันค่ะ มันก็เลยมักจะขัด ๆ กัน หรือบางที่เอาผักชีโรยหน้าเข้าว่า...สุดท้ายก็คงต้องร่วมระดมสมองกันน่าจะดีที่สุดแล้วใช้ใจทำงานค่ะ  แต่ดิฉันยังติดใจผู้ว่าฯ พิจิตร อยู่เลยค่ะ...เมื่อวานที่ดิฉันเข้าร่วมไปประชุมในบล็อกของคุณ ดิฉันฟังท่านพูดแล้วเหนื่อยค่ะ เพราะคุณบรรยายได้เห็นภาพ เหมือน ๆ กับฉันเป็นส่วนหนึ่งในห้องประชุมด้วยเลยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท