๑,๑๕๓ มองข้ามรั้ว..


”จงนึกถึงหน้าที่ นึกถึงสิ่งดีๆ ที่เราทำ หากมั่นใจว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับคนอื่นแล้ว ก็จงทำมันต่อไปทำด้วยหัวใจที่เป็นสุข แม้จะมีคนไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่เชื่อเถอะว่า มีคนอีกมากที่ชื่นชม และเห็นค่าในความดีของเรา...”

          นับเป็นโอกาสดีที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานการประเมินสัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต ๔ ในรอบ ๖ เดือน โดยมีคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย

  ผมเป็นหนึ่งในผู้บริหารจำนวนสิบคนที่อยู่ในที่ประชุมอันทรงเกียรตินี้ มีหน้าที่สนับสนุนและให้ข้อมูลตามความเป็นจริง เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานของท่านรองฯ ตามตัวชี้วัด

          ท่านรอง ผอ.สพป.กจ.๔ ท่านนี้ก็คือ ดร.ไพฑูรย์ การเพียร ท่านมาดำรงตำแหน่งใหม่ได้ไม่ถึง ๑ ปี..ก็ย่อมต้องมีการประเมินสัมฤทธิ์ผลตามเกณฑ์ที่สพฐ.กำหนด ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา

          ผมรู้สึกประทับใจและดีใจ..ในขณะที่ฟังท่านรองฯนำเสนอผลการปฏิบัติงานโดยสรุปเป็นเวลา ๓๐ นาที ก่อนที่จะให้ประธานและกรรมการได้ซักถาม

          ประทับใจเพราะ..ท่านรองฯพูดดีมาก ทั้งหลักการและทฤษฎีที่นำมาใช้ ตลอดจนแนวดำเนินการที่ท่านใช้พัฒนางานการศึกษาของเขต ๔ ที่เข้าใจได้และเห็นภาพการทำงานที่ชัดเจน

          ดีใจที่เขตพื้นที่มีท่านรองฯที่เก่งทั้งคนและงาน แบบนี้เป็นที่ไว้วางใจของท่านผอ.เขตอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะเป็นขวัญกำลังใจให้โรงเรียน ในการทำงานประสานกับเขตพื้นที่

          วันนี้..จึงเหมือนไปฟังการบรรยายพิเศษจากอาจารย์วิทยากร..ก็สมแล้วที่ท่านรองจบการศึกษาถึงปริญญาเอก และท่านก็มีประสบการณ์ด้านบริหารสถานศึกษามาหลายปีด้วย

          จากการบรรยายสรุป..มีอยู่คำหนึ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรหรือการพัฒนาตนเอง ที่ท่านรองฯใช้ทฤษฏี..”มองข้ามรั้ว” ซึ่งผมก็เพิ่งเคยได้ยิน

          อาจเป็นเพราะผมไม่จบด้านบริหาร แต่ก็พยายามทำความเข้าใจ ว่าน่าจะหมายถึงการมองบ้านใกล้เรือนเคียง (โรงเรียน) ที่อยู่ข้างๆว่าเขาไปกันถึงไหนแล้ว.....

          ถ้าเป็นแบบนี้ การมองข้ามรั้ว..ภาคเอกชนก็สามารถนำไปใช้กับภาคธุรกิจได้ โดยดูบริษัทคู่แข่งไปด้วยว่าเขาบริหารจัดการกันอย่างไร ยังไงก็ต้องก้าวหรือวิ่งตามให้ทัน....

          สำหรับผมแล้ว ไม่เคยมองข้ามรั้วเลย จึงมีคำถามให้ตัวเองว่า..เราทำถูกต้องหรือไม่? ทำไมเราถึงมองอยู่แต่ภายในขององค์กร..ไม่แหงนมองข้ามรั้วไปให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่...

          ถ้าหากการมองข้ามรั้ว หมายรวมถึงการศึกษาดูงานด้วยแล้ว ผมยิ่งแย่หนักขึ้น เพราะผมไม่ชอบและไม่มีเวลา ความจริงผมมิได้เป็นน้ำล้นแก้วหรือว่าเก่งแล้ว แต่ด้วยปัจจุบันมีหนังสือดีๆ และมีผู้บริหารในอุดมคติที่เป็นแบบอย่างมากมาย.

          การที่ไม่มองข้ามรั้วของผมจึงหมายถึงการก้มหน้าก้มตาทำงานในหน้าที่ที่มีอยู่อย่างเต็มที่เต็มเวลา การวางแผนบริหารจัดการรอบด้านในแต่ละวัน เพื่อประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษาให้สำเร็จ โดยที่ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใคร แต่ทำอย่างไร นักเรียนจะอบอุ่น ปลอดภัยและมีความสุข

          ผมคิดเสมอว่า..โรงเรียนแต่ละแห่งมีบริบทที่แตกต่างกัน ปัญหาและความต้องการจำเป็นก็ต่างกัน..เป้าหมายและวิธีการก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน....

          ดังนั้น..การที่มองข้ามรั้ว..อย่างมีวิสัยทัศน์และมองเห็นรูปแบบวิธีการที่ถูกต้อง แล้วนำมาใช้อย่างพอดีพองามก็ดีไป..หลายครั้งหลายคราที่เคยพบมา..เมื่อผู้นำไปมองเห็นมาแต่ไม่ทำ หรือทำแต่ไม่มีศักยภาพพอ ผลก็คือครูผู้สอนเหนื่อยตลอดปี..มีงานเอกสารเต็มไปหมด

          ด้วยวัยและประสบการณ์ ผมจึงขอพักการมองข้ามรั้วไว้ก่อน..แต่อาจจะนำหลักคิดนี้ไปสอนลูกสอนหลานในอนาคตให้ทดลองใช้ดู วันนี้..ผมมีความสุขกับการใช้สูตร “ทรีอินวัน” คือสอนหนังสือตามความรู้ความสามารถที่เรียนมา สอนดนตรีและเพลงพื้นบ้านไปตามเรื่องตามราว

          ตั้งแต่เปิดเทอมมา ผมเล่านิทานให้ ป.๑ – ป.๓ ฟังทุกวัน เพื่อให้เขามีพื้นฐานในการฟังเพื่อนำไปสู่การอ่าน..เมื่อเขาชอบและประทับใจ “นิทาน” เรื่องรักการอ่านจะตามมาเอง..

          ผมปฏิบัติหน้าที่ภารโรงทุกวัน..เพื่อให้โรงเรียนสะอาดเรียบร้อย สมกับเป็นสถานที่ราชการ คนแปลกหน้าเข้ามา ก็จะทักทายผมและถามหาว่า ผอ.อยู่ไหม?..เสมอๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย

          ผมบอกคณะที่จะมาศึกษาดูงานในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ว่า..คุณรับได้หรือ? ผมบริหารจัดการแบบนี้..ไม่มีเอกสารและโล่เกียรติยศให้ท่านดู มีแต่แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายเท่านั้น

          โมเดลการบริหารก็มีแบบที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วถามว่าคุณภาพผู้เรียนเกิดขึ้นได้อย่างไร?ทำไมเด็กจึงเพิ่มขึ้น ก็เพราะผมใช้การนิเทศภายในที่จริงจังและต่อเนื่อง แบบที่มีความสอดคล้องกับปัญหาของครูและนักเรียนนั่นเอง....อยากเห็นก็มาสัมผัสได้ทุกวัน

          บางครั้ง..ผมจึงรู้สึกดีที่มีความรู้ด้านการบริหารไม่มากนัก แต่สามารถทำงานอันเป็นที่รักได้ ทำหน้าที่ผู้นำทางวิชาการให้เด็กอ่านคล่องเขียนคล่องให้ได้มากที่สุด ตามศักยภาพของเขา..

          ผมบอกตัวเองเสมอว่า..”จงนึกถึงหน้าที่ นึกถึงสิ่งดีๆ ที่เราทำ หากมั่นใจว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับคนอื่นแล้ว ก็จงทำมันต่อไปทำด้วยหัวใจที่เป็นสุข แม้จะมีคนไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่เชื่อเถอะว่า มีคนอีกมากที่ชื่นชม และเห็นค่าในความดีของเรา...”

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๙  สิงหาคม  ๒๕๖๓


หมายเลขบันทึก: 680860เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2020 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2020 22:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การมองข้ามรั้ว…คือการนำเอาประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเรียนรู้ (ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม) ของเราที่คิดว่า น่าจะเหมาะสมกับองค์กรของเรามาใช้กับองค์กร..(โรงเรียน) แต่ต้องนำมา…ประยุกต์…ให้เหมาะสมกับบริบทของเรานั่นเองจ้ะท่าน ผอ.คนเก่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท