การสร้างวิสัยทัศน์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและแรงบันดาลใจ... สำหรับผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ


สวัสดีครับชาว Blog

เมื่อวานนี้ (29/7/63) ผมได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เชิญบรรยายพิเศษที่ (เป็นการสอนแบบออนไลน์ผ่านซูม) ให้แก่ข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เข้ารับการอบรม "หลักสูตรนักบริหารระดับสูงฯ" จำนวนกว่า 60 คน ซึ่งเป็นงานที่ผมได้รับเกียรติให้บรรยายต่อเนื่องมาทุก ๆ ปี และวันนี้ผมก็ได้รับเนื้อหาของการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์การเกษตรฯ ในยุค New Normal ด้วย

ผมมีความผูกพัน และได้ทำงานพัฒนาบุคลากรทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาข้าราชการระดับ C7 ของกระทรวงฯ หลายรุ่น รวมทั้งการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ๆ ที่กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรฯ สันนิบาตรสหกรณ์ฯ และอื่น ๆ อีกมายมาย แม้แต่ไปไกลถึงการพัฒนาผู้นำภาคการเกษตรในระดับกลุ่มประเทศ GMS ที่วันนี้ลูกศิษย์ของผมส่วนใหญ่เติบโตและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างมากมาย

หัวข้อที่ผมได้รับโจทย์มาในครั้งนี้ยังคงเดิมซึ่งมีความสำคัญมาก ๆ ในการนำพาองค์กรให้พัฒนาและเติบโต คือ "การสร้างวิสัยทัศน์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและแรงบันดาลใจ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เจอวิกฤตโควิด 19 การสร้างพลังที่จะช่วยฟื้นฟูภาคเกษตรมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นบทบาทที่ท้าทายและจะสร้างคุณค่าให้กับข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯ อย่างมากมาย

จึงขอนำภาพบรรยากาศและสรุปสาระสำคัญของการบรรยายดังกล่าวมาแบ่งปันกับทุกท่านที่นี่ด้วยครับ

.............................................................................................

29 กรกฎาคม 2563

หลักสูตรนักบริหารระดับสูง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

วิชา   การสร้างวิสัยทัศน์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและแรงบันดาลใจ

โดย   ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

    เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

            และประธาน Chira Academy

            www.ChiraAcademy.Com

................................................................

สรุปสาระสำคัญของการบรรยาย ช่วงที่ 1

            ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันเกษตราธิการที่ได้ร่วมงานกับผมมาเป็นเวลานาน วันนี้พบกันแบบ New Normal นะครับ แต่เราก็ยังจะคงวิธีการเรียนรู้แบบที่เรียกว่า “Learning how to learn”

            ท่านทั้งหลายก็เป็นบุคลากรที่ผมของชื่นชม กระทรวงเกษตรก็เป็นกระทรวงที่มีความสามารถอย่างยิ่ง และวันนี้ก็ยังมีแขกของกระทรวงเกษตรฯ มาร่วมด้วยซึ่งก็ขอต้อนรับด้วยครับ มีจากกระทรวงการต่างประเทศ 1 ท่าน กระทรวงพาณิชย์ 2 ท่าน กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาฯ

            ผมอายุ 75 ปีแล้ว เป็นนักพัฒนาคน จะนำเอาประสบการณ์ที่มีอยู่ซึ่งได้เคยทำงานให้กับหลาย ๆ หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ มาแชร์กับทุกท่าน

            หัวข้อวันนี้ ท่านผู้บริหารต้องจดจำและเชื่อมโยงกันให้ดี การเรียนทฤษฎีอย่างเดียวจะไม่ได้ประโยชน์ 1) มีเรื่องการกำหนดวิสัยทัศน์ 2) เรื่องการเปลี่ยนแปลง และ 3) เรื่องแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สร้างให้เกิดความสำเร็จ วันนี้จะเน้นแรงบันดาลใจมากหน่อยเพราะว่าเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่สำคัญมาก แนวคิดที่น่าสนใจ คือ Intangible Asset ถ้าเรามีจะช่วยทำให้งานของเราประสบความสำเร็จได้มากขึ้น

            วัตถุประสงค์หลักของวิชานี้คือ

  1. 1. สร้างวิสัยทัศน์ สร้างความเข้าใจมุมมองในการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ในยุคที่โลกเปลี่ยน
  2. 2. ปลุกพลัง สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และการพัฒนาของผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนากระทรวงเกษตรฯ และสังคม
  3. 3. ถ่ายทอดเครื่องมือของ Chira Way ซึ่งสามารถที่จะช่วยสำคัญต่อการเรียนรู้และการพัฒนาในอนาคต
  4. 4. สร้างโอกาสและคุณค่าใหม่ ๆ จากการเรียนรู้ร่วมกันในวันนี้

            วิธีการเรียน คือ อยากให้ท่านฟังแล้วคิดไปด้วย

            1) ข้อแนะนำ

            1.1) หัวข้อนี้ผมได้มาจากปีที่แล้ว ซึ่งก็ภูมิใจที่ได้รับเกียรติจากกระทรวงเกษตรฯ ให้มาพูดทุก ๆ ปี และวันนี้ได้ปรับปรุงเนื้อหาให้ตรงกับบริบทของการทำงานในยุควิกฤตโควิด 19

            1.2) แต่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะโควิด 19 ต้องพูดผ่านทาง Digital แต่คงจะพยายามให้มีคุณค่าเท่าเดิม

            1.3) ปีที่แล้วพูดเสร็จมีการแบ่งกลุ่ม ทำให้ท่านได้เรียนกัน โดยทำ workshops ผมจำได้ดีว่า น่าสนใจเพราะการได้ฟังและนำมาคิดร่วมกันได้ประโยชน์

            1.4) ปีนี้คงไม่ได้ทำ แต่จะมีเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงให้ท่านได้ถามคำถามโดยตรงและถ้ามีประเด็นน่าสนใจ บางท่านอาจจะเสริมขึ้นมา และถ้าตอนจบมีประเด็นที่ทุกคนจำได้และเอาไปทำต่อก็จะเป็นประโยชน์มาก

            2) หัวข้อเดิม.. คงต้องปรับเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์

            2.1) การกำหนดวิสัยทัศน์คงต้องทันกับเหตุการณ์ Covid 19 วันนี้เราต้องยอมรับว่าการรับมือกับวิกฤตโควิด 19 นี้ ประเทศไทยทำได้ดี แต่ประเทศอื่นก็ยังมีปัญหาอยู่มาก ดังนั้น ถ้าเราส่งออกสินค้าเกษตรไม่ได้ก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น หัวข้อในวันนี้จึงต้องทันกับเหตุการณ์

            2.2) การเปลี่ยนแปลงหลัง Covid 19 หรือ New Normal

            2.3) เปลี่ยนแปลงอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องเพิ่มคำว่าแก้วิกฤติด้วย เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เคยมีมาก่อน เพราะตัวเลข GDP ของไทยตกต่ำมากที่สุด ลด 8 - 10 % แต่ภาคเกษตรกลับกลายเป็นความหวัง

            ตัวเลขสถิติที่เกิดขึ้นตอนนี้ในประเทศไทย ผมเรียนกว่าเป็น Paradox คือ การวิ่งสวนทางกัน เราแก้โควิดได้ในลำดับต้น ๆ ของโลก แต่ถ้าดูตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจก็ยังไม่ดี เพราะเรายังมีปัญหาเรื่องการส่งออก

            2.4) อยากจะฝากแนว 2R's ไว้ คือ

                        R ตัวแรกคือ Reality หรือความจริง ซึ่งปัจจุบันความจริง คือ บทบาทของท่านทุก ๆ กรมในกระทรวงเกษตรฯ ต้องทำ และทำสำเร็จด้วย เพื่อให้คนไทยหลุดพ้นจากปัญหา

                        R ตัวที่ 2 มาจากคำว่า Relevance คือ ประเด็นที่สำคัญ คือ จะปรับการทำงานอย่างไรให้ได้ผลที่สุด และหวังว่าการสร้างแรงบันดาลใจจะช่วยให้ การทำงาน 2R's เป็นผลสำเร็จมากที่สุด

            3) ในช่วงนี้บทบาทของภาคเกษตร

สำคัญมาก โดยเฉพาะงบ 400,000 ล้าน งบประจำที่ยังใช้อยู่ปี 63  และงบปี 64  ด้วย

            3.1) ผมขอเสนอแนวคิดของ ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีคุณภาพ ได้พูดไว้ว่า การเกษตรต้องทำ 5 เรื่อง

            1. ลงทุนเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี และจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว

            2. การพลิกฟื้นคุณภาพของดินให้มีความอุดมสมบูรณ์โดยลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้กรมพัฒนาที่ดิน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบทบาทเด่นชัดขึ้น ผมอยากเห็นบทบาทของการปรับปรุงที่ดินของไทยเกิดขึ้นอย่างจริงจัง หลังจากขาดการดูแลอย่างจริงจังมาเป็นเวลานาน อยากเห็นกรมพัฒนาที่ดินมีบทบาทเด่นชัดขึ้น สังคมไทยจะละเลยการพัฒนาคุณภาพของดินมาเป็นเวลานานและใช้สารเคมีทำให้คุณภาพดีมีปัญหา ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยเรื่องคุณภาพดินอย่างมาก

            3. การนำเทคโนโลยีใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ประสิทธิภาพและรายได้ในผลิตผลทางการเกษตร เช่น ทุเรียนภูเขาไฟที่อำเภอกัณทราลักษณ์ ปีนี้ปีเดียวสร้างมูลค่าและรายได้ได้มากมายจากการพัฒนาเชิงนวัตกรรม วิสัยทัศน์ที่ท่านจะต้องมี.. ต้องมองไปที่เกษตรกรเป็นหัวใจสำคัญที่สุด 

            4. นำระบบขายออนไลน์ ระบบดิจิทัลมาใช้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

            5. การพัฒนาทักษะให้เกษตรกรทั้ง Upskill, Reskill ปรับทัศนคติวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาใน 4 ข้อข้างต้น         กระทรวงเกษตรฯ ต้องพัฒนาทุนมนุษย์ของเกษตรกรอย่างจริงจัง Smart Farmer ที่ได้ผลต้องดูผลลัพธ์ที่ตัวเกษตรกร 

            3.2 ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับหน่วยงานของกระทรวงฯ มากนานแล้ว แต่ที่ผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดก็มี...

            1. กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นกรมฯ ที่ ร.9 ได้ให้ความสนใจมาก ผมมีโอกาสได้พัฒนาข้าราชการระดับกลางกว่า 50 ท่าน ได้พบว่า กรมนี้คล้ายๆ ปิดทองหลังพระ แต่สำคัญอย่างมาก ต้องให้คนไทยได้ทราบว่าคุณภาพของดินเป็นปัจจัยสำคัญ

            ผมได้เรียนรู้จากหลักสูตรฯที่ผมได้ทำไป อยากให้ข้าราชการกรมนี้สร้างภาพลักษณ์ให้คนไทย   หรือเกษตรกรได้เห็นคุณค่า เพราะเมืองไทยรู้จัก  กรมออกโฉนด คือ กรมที่ดิน ทราบว่ารุ่นนี้มีข้าราชการจากกรมที่ดินมาเรียนด้วย

            2.สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรฯ ผมเคยทำหลักสูตร “ทรัพยากรมนุษย์มีความสามารถพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรก้าวไกล” รุ่นที่ 1 และ  2 (พ.ศ. 2551) จำได้ว่ามีประเด็นที่กลายเป็นคีย์เวิร์ดในการพัฒนาปัจจุบัน คือ เรื่องภาวะโลกร้อนกับการพัฒนาการเกษตรก็เป็นสิ่งที่ผู้นำในห้องนี้ต้องช่วยกันคิดต่อ

            3. ผมได้ทำงานพัฒนาผู้นำให้สันนิบาตรสหกรณ์5 รุ่น (พ.ศ. 2552 - 2553) มีข้าราชการของกรมส่งเสริมสหกรณ์มาทุกรุ่น ได้เห็นบทบาทที่สำคัญของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเห็นความจำเป็นของสหกรณ์การเกษตรว่าจำเป็นมากในยุคหลังโควิด  

            4. กรมอื่น ๆ ก็สำคัญ แต่ผมได้สัมผัสลึกๆ น้อยไป แต่อยากให้รู้ว่ากระทรวงนี้ กระทบคนไทยกว่า 30 ล้านคน อย่างที่ อ.กนกพูดไว้ กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำหนึ่งในหน้าที่ “ต้องพัฒนาทุนมนุษย์” ตัวท่าน..เพื่อไปสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรจำนวนมาก
            การกำหนดวิสัยทัศน์ - การเปลี่ยนแปลง    และการสร้างแรงบันดาลใจ คือ กระทบคนส่วนใหญ่ของชาติ ถ้าฐานรากดี ทุก ๆ อย่างก็ดี

            ความคิดเห็นจากผู้เรียน ช่วงที่ 1

            คนที่ 1 เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส

            ในการพัฒนาการเกษตรของไทยยุค New Normal ... เมื่อก่อนการพัฒนาส่งเสริมการเกษตร ที่ผ่านมาเกษตรกรของเรายังก้าวตามเทคโนโลยีไม่ค่อยทัน แรงงานภาคเกษตรที่เป็นคนรุ่นใหม่มีน้อย คนที่เรียนจบเกษตรก็ไม่ค่อยอยากทำเกษตร อยากทำราชการมากกว่าเป็นผู้ประกอบการ พอเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เค้าก้าวล้ำนำสมัยแล้ว แต่ประเทศไทยมักจะมีแต่งานวิจัย นักวิจัยเยอะมาก... ทำอย่างไรให้งานวิจัยต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ของไทยพัฒนาไปมากขึ้น มีอยู่ทั่วทุกจังหวัด โดยให้คนที่จบวิศวะเกษตร หรือจบเกษตรเข้าไปอยู่ในศูนย์วิจัยการเกษตรเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัยเพื่อทดแทนแรงงานยุคเก่า ๆ ที่แก่ลงไป ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์คิดอย่างไร

            อาจารย์จีระ ตอบว่า... ให้ดูข้อ 5 ของท่านอาจารย์กนก น่าสนใจ วันนี้เราตั้งโจทย์ไว้ก่อน และควรจะมีการสำรวจศักยภาพของคนที่รู้เรื่องเกษตรแต่ไปทำอย่างอื่นควรจะมีแนวทางอย่างไร โครงการที่น่าสนใจ คือ การเอาเทคโนโลยีเข้าไปสอนนักเรียนอาชีวเกษตร แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมทักษะด้านการขาย การตลาด การเป็นผู้ประกอบการด้วย ในยุคหลังโควิดภาคเกษตรจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

            คนที่ 2: หลังจากที่ฟังการบรรยาย แนวความคิดที่จะนำเอาดิจิตอลไปสู่เกษตรกร ยังน่าเป็นห่วงว่าจะทำให้ประโยชน์จะไปตกอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่ราย ท่านอาจารย์คิดว่าจะมีแนวทางในการแก้ไขได้อย่างไรบ้างครับ

            อาจารย์จีระ ตอบว่า.. ขอยกตัวอย่างชุมชน เราต้องกลับมาใช้ชุมชนเป็นฐาน ให้เค้าพึ่งตัวเอง แล้วข้าราชการให้การสนับสนุน ควรจะมีนักวิชาการ และธุรกิจชุมชน เพื่อตัดวงจรของธุรกิจใหญ่ออกไป ยังไม่มีคำตอบ แต่คิดว่าถ้ารัฐบาลสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เป็นตัวของตัวเอง ก็จะช่วยได้มาก มีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศ และฝากเป็นโจทย์ให้ทุกท่านช่วยกันคิดต่อ หาทางออกร่วมกันด้วย


หมายเลขบันทึก: 679730เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2020 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2020 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท