สอนหลายวิธีแบบประสานเวลา (synchronous multimodal teaching)


มหาวิทยาลัยที่อเมริกากำลังจะเปิดสอนเทอมใบไม้ร่วง (fall semester) ประมาณกลางสิงหาคม บางแห่งประกาศว่าจะออนไลน์ไปแล้ว บางแห่งยังไม่ได้ตัดสินใจ สุดท้ายอาจารย์หลายคนอาจจะต้องสอนออนไลน์และในชั้นเรียนไปพร้อมๆ กัน กลายเป็น multimodal teaching ทางทีมงาน AACSB จึงได้นำเรื่องนี้มาจัดเสวนาผ่านเว็บ ในหัวข้อ AACSB Online Learning Affinity Group webinar: Multimodal Teaching: Preparing to Teach Simultaneously in a Face-to-Face + Virtual Classroom โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ผ่าน 3 มุมมอง 

Steve D'Agustino (นาทีที่ 4:00)

วิทยากรท่านแรกมาเล่าในมุมมองผู้บริหารการศึกษาครับ ว่าความพร้อมสำหรับการสอนในเทอมฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นเทอมแรกของปีการศึกษานั้นประกอบด้วยสามส่วนสำคัญคือ

  1. Course ready ความพร้อมของห้องเรียน (ทั้งห้องเรียนจริงและออนไลน์) และสื่อการเรียนการสอน
  2. Instructor ready ความพร้อมของผู้สอน คือรู้หรือยังว่าจะต้องเจออะไร 
  3. Student ready ความพร้อมของผู้เรียน ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อสองอย่างแรกพร้อม

ทีนี้มาดูองค์ประกอบของห้องเรียนที่ต้องผสมผสานกันนะครับ มีประมาณนี้

Essential

Instructional

Exceptional

Welcoming
Orienting
Contextualizing
Connecting
Supporting

Curating
Creating
Assessing
Collaborating
Researching

Performing
Experimenting
Designing
Making/Building
Engaging

ส่วนแรก (Essential) คือสิ่งที่ต้องมี เราจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่ากำลังจะเรียนอะไรได้อย่างไรในทั้งสองรูปแบบ สร้างความคุ้นเคยกับผู้เรียน อันนี้คือการสร้างบรรยากาศเบื้องต้นเลย ไม่ได้มีส่วนเนื้อหาการเรียนรู้ ส่วนที่สอง (Instructional) คือการออกแบบการเรียนแล้วครับ ตรงนี้มีประเด็นสำคัญที่คำว่า Curating โดยท่านวิทยากรอธิบายว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยทำหน้าที่ curate (คัดสรรเนื้อหา) และรู้สึกผิดถ้าไม่ใช้เวลาในชั่วโมงสอนในการ “บรรยาย” โดยท่านย้ำว่าเราควรตระหนักว่าการ “บรรยาย” ในชั้นเรียนออนไลน์แบบเรียลไทม์ ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพเท่าไร หน้าที่ของอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา ควรเป็นการแสดงความเชี่ยวชาญนั้นในให้ผู้เรียนได้ดู เช่นตัวท่านเองเป็นนักปรัชญา สิ่งที่ควรทำในห้องเรียนไม่ใช่บรรยายเรื่องปรัชญา แต่ควรแสดงการคิด วิเคราะห์ การแก้ปัญหาในเชิงปรัชญาร่วมกับนักศึกษา หรืออาจารย์ด้านการบริหาร ควรแสดงวิธีการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจองค์กรให้ผู้เรียน ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ จากประสบการณ์ส่วนตัวเลยนะครับ เรื่อง “ความรู้สึกผิด” นี้ผมเคยสัมผัสทั้งจากเพื่อนอาจารย์ผู้สอนและนักเรียน คืออาจารย์เองก็คิดว่าตัวเองต้องบรรยาย ถ้าไม่บรรยายแล้วจะทำอะไรล่ะ? ส่วนนักเรียนเอง ถ้าอาจารย์ไม่บรรยายก็คิดว่าอาจารย์ไม่ได้สอน (อย่างผมเคยใช้วิธีเอาวิดีโอการสอนจากยูทูบมาวางใน LMS แล้วก็ใช้เวลาในห้องคอมพิวเตอร์ให้เขาดู และลองทำแบบฝึกหัดที่เตรียมเอาไว้แบบว่าต่อยอดจากวิดีโอในยูทูบ ส่วนหน้าที่ผมคือเดินดูครับ) ปรากฏฎว่าผู้เรียนบางคนไม่พอใจเพราะผมไม่ได้ “สอน” ซะงั้น

สำหรับส่วนสุดท้ายคือ Exceptional หรือส่วนที่พิเศษออกมาจากการออกแบบวิชาทั่วไป เช่นชั้นเรียนจะมีกิจกรรมอะไร ก็ต้องวางแผนให้ดี อันนี้ก็คงแล้วแต่จินตนาการของผู้สอนและความพร้อมขององค์กรเลยละครับ

Hooman Estelami (38:00)

นี่คือวิทยากรท่านสุดท้าย แต่ผมขอเอามาไว้ตรงกลางนะครับ เพราะเรื่องที่เล่าส่วนใหญ่เป็นการเตรียมตัวจากการคาดการณ์ คือต้องตัองบอกเลยว่าการสอนแบบ multimodal นี้ ไม่เคยมีงานวิจัยมาก่อน เพราะงานวิจัยในแวดวงการศึกษาเป็นการวัดประสิทธิภาพการสอนในรูปแบบต่างๆ เช่นสอนออนไลน์ สอนในชั้นเรียน เราออกแบบหรือสอดแทรกกิจกรรมอะไรแล้วมีผลอย่างไร หรือเป็นการเปรียบเทียบทั้งสองรูปแบบการสอนในกลุ่มผู้เรียนคนละกลุ่มกัน ส่วนการที่ต้องสอนคนสองกลุ่มในเวลาเดียวกันนั้นยังไม่มี ยิ่งเพิ่มข้อจำกัดเรื่อง social distancing เข้าไปอีกยิ่งถือเป็นเรื่องที่ใหม่มาก 

ข้อคิดที่วิทยากรฝากไว้มีดังนี้ครับ 

ก่อนเริ่มเทอม

  1. เตรียมห้อง (ทั้งสองรูปแบบ)
  2. ทดสอบการสอน ทดลองสอนจริง (กับทีมสนับสนุนขององค์กร ถ้ามี) คือดูว่าจะวางอุปกรณ์ยังไง มีความต้องการและปัญหาทางเทคนิคอะไรบ้าง

ในขณะที่สอนจริง

  1. มีผู้ช่วย (อาจต้องใช้ผู้เรียนช่วยเป็นตัวกลางให้กับผู้เรียนออนไลน์ และมีการสลับบทบาทเปลี่ยนกัน เพราะผู้สอนคนเดียวจะทำหลายอย่างมาก)
  2. เดินให้น้อย (เราไม่ได้มีกล้องแบบ tracking camera) เสียงก็จะหายด้วย ถ้าเราเดินไกลจากไมโครโฟน ยกเว้นมีไมค์ลอย
  3. ควรดูกล้อง ดูผู้เรียนออนไลน์ตลอด

ข้อแนะนำทั่วไป

  1. ใช้สื่อการเรียนที่เด็กทั้งสองฝั่งเห็นง่าย (ไม่ควรเขียนกระดาน)
  2. วางแผนกิจกรรมที่เด็กออนไลน์มีส่วนร่วมได้ล่วงหน้า

Michelle Darnell (นาทีที่ 19:00)

สำหรับผมแล้วถือว่าท่านนี้คือไฮไลต์ท์เลยครับ เพราะเอางานวิจัยหัวข้อ “Student perceptions of remote participation in a synchronous class” Michelle Darnell and Tawnya Means ตั้งคำถามว่า เราสามารถสอนเด็กปริญญาตรีจาก 2 รูปแบบพร้อมกันได้ไหม? คือจริงๆ แล้วถือเป็นงานวิจัยที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เรากำลังจะเจอจริงๆ 

การออกแบบห้องเรียนเพื่อการทดลองเป็นอย่างนี้ครับ มีผู้เรียนทั้งหมด 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 คน มีโต๊ะทั้งหมด 4 ตัว ให้เด็ก 2 กลุ่มนั่งโต๊ะเดียวกัน บนโต๊ะจะมีคอมพิวเตอร์และไมโครโฟน (อันนี้ไม่ได้บอกว่าสองกลุ่มบนโต๊ะแชร์กันยังไงนะครับ) และโต๊ะผู้สอนอยู่กลางห้อง แต่ส่วนใหญ่ผู้สอนก็เดินไปเดินมาตลอด

วิธีการจัดการเรียนการสอนคือในทุกสัปดาห์จะมี 1 คนที่ต้องไปเรียนจากตึกอื่นไกลจากห้องเรียนจริง และเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเหล่านี้รู้สึกเหมือนอยู่ในห้อง ทีมงานได้ตั้งกล้องถ่ายทอด 4 ตัวไว้ทุกมุมห้อง ถ่ายทอดออกไปข้างนอก โดยจะสลับกล้องที่เห็นผู้เรียนผู้สอนชัดที่สุด ณ เวลาหนึ่งตลอด

เมื่อหมดภาคการศึกษา ผู้วิจัยก็สำรวจความคิดเห็นผู้เรียน โดยทุกคนในชั้นได้เรียนทั้งสองนแบบสลับกันไปมาละครับ ให้เปรียบเทียบว่าแบบไหนดีกว่ากัน และนี่คือผลการสำรวจครับ

จะเห็นได้จากผลสำรวจนะครับว่าส่วนใหญ่แล้วผู้เรียนโอเคกันการสอนในห้องมากกว่าในชั้นเรียนเสมือนจริง รู้สึกว่าสามารถสื่อสารกับเพื่อนได้ดีกว่า รู้สึกว่าทุกคนในทีมลงแรงเท่ากัน ในขณะที่ประสบการณ์จากห้องเรียนเสมือนจริงนั้น ลดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นไปมาก 

ผลการศึกษาเล็กๆ นี้บอกอะไรเราได้บ้าง?

อย่างแรกเลยคือ การศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นที่  Warrington College of Business ที่ UF และใช้อุปกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม (เป็นมหาวิทยาลัยระดับ Research 1 university หรือ ระดับ R1) ไม่ได้หวังให้ทุกคนซื้อเน็ต หาคอมพิวเตอร์เรียนเองแบบที่เราต้องเจอกัน 

ถัดมาคือผู้สอนจะต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียนออนไลน์มากกว่าผู้เรียนในชั้น เพราะโอกาสที่ถูกจำกัดทางกายภาพคือสอนไปต้องคอยถามคอยกระตุ้นผู้เรียนทางบ้านตลอดนั้นเอง อันนี้ต้องฝึกเลยครับ เพราะไม่น่าจะเป็นอะไรที่เราคุ้นกัน 

สุดท้ายคือเราต้องเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยี และฝึกทำงานหลายอย่างไปพร้อมกัน ... 

ถามว่ายากไหม ตอบว่ายากจริงๆ ครับ

หมายเลขบันทึก: 679209เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท