โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

เรื่องเล่าริมราวทาง


โสภณ เปียสนิท

.....................

        การใช้ชีวิต หลายคนใช้คำนี้สำหรับบรรยายถึงชีวิตของตัวเองหรือคนอื่น โดยแท้แล้วชีวิตคนเหมือนว่าไม่ได้ใช้อะไร แต่มันเป็นไปเองเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย หลายคนมองชีวิตว่ามีแค่นี้ นอกจากนี้ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คิดดูก็มีเหตุผล เพราะหลังจากตายแล้วไม่มีใครกำหนดได้ว่า จะเดินทางไปไหน ไปทำอะไร อยู่ที่ใด ยืนยันตัวตนให้คนธรรมดาทั่วไปไม่ได้ ดั่งนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นคนเดียวกับคนที่อยู่เป็นคนบนโลกใบนี้ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกินร้อยปี

            หลายคนถึงกับกล่าวว่า เปล่าเลยผมไม่ได้ใช้ชีวิต แต่ชีวิตมันใช้ผม เพราะผมไม่อาจคัดค้านอะไรได้สักอย่างเลย อยากอยู่ต่อไปสักสองร้อยปีก็ไม่ได้ อยากจะแข็งแรงเหมือนตอนวัยยี่สิบปีก็ไม่ได้ อยากให้หล่อเท่าตอนยี่สิบปีก็ไม่ได้ อยากให้ผมไม่ร่วง ไม่หงอกมันก็ร่าวงก็หงอกไปตามที่มันต้องการ อยากให้ตับไตไส้พุงทำงานตามปกติมันก็ทำงานมั้งไม่ทำงานมั้งตามเรื่องของมัน จึงเรียกว่า “ชีวิตมันใช้ผม ไม่ใช้ผมใช้ชีวิต” ก็น่าจะมีเหตุผลตามเขาว่ามา

            ถึงวันนี้ ชีวิตของผมเดินทางไกลมาถึงวัย “ไม้ใกล้ฝั่ง” คำนี้ก็เท่ดีไม่น้อย สมัยก่อนคนเราอยู่อาศัยกันริมฝั่งน้ำ ยามถึงหน้าฝน ฝนมักตกหนักในลำน้ำมีน้ำหลากไหลมาทีละมากๆ น้ำไหลมากไหลแรงทำให้ตะลิ่งทยอยพังลงน้ำไหลล่องไปเรื่อย ไม้ที่อยู่ฝั่งมักจะจมน้ำหายไป ชีวิตผมเองก็เช่นกับไม้ใกล้ฝั่งอาจจมลงในสายน้ำวันใดวันหนึ่งในอีกไม่ช้า แต่ผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์สองข้างทางมาเยอะพอสมควร จึงมีข้อมูลเก็บไว้ในความทรงจำมาก ว่างก็บันทึกไว้เพื่อนำมาแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมทางรุ่นเดียวกันบ้าง รุ่งหลังบ้าง รุ่นก่อนหน้าบ้าง

            วันนี้อยากเล่าเรื่องพระดีในดวงใจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผมหลายๆ องค์ด้วยกัน ผมเคยเป็นเด็กวัด เคยเป็นสามเณรน้อย เคยบวชพระอยู่หลายพรรษา จึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระมาเล่าได้บ้าง องค์แรกอยากเล่าเรื่องหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพราะผมอยู่ท่ามะขาม หรือวัดราษฎรประชุมชนาราม กล่าวกันว่า สมัยเก่าก่อน พระราชาเสด็จมาถึงวัดนี้ เดิมชื่อวัดท่าม้าข้าม แล้วเรียกประชุมชาวบ้าน วัดนี้เลยเปลี่ยนชื่อเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ว่า “ราษฎร์ประชุมชนาราม” แปลความหมายได้ว่า วัดที่ชาวบ้านมาร่วมชุมนุมกัน

            สมัยที่ผมอยู่วัดนี้ หลวงพ่อท่านเคยเป็นศิษย์วัดปากน้ำมาก่อน จึงนำเรื่องราวของท่านมาเล่าให้ฟัง นำหนังสือที่เขียนถึงท่านมาเก็บไว้ในกุฏิของท่าน วันหนึ่งผมเจอหนังสือวิชา “ธรรมกาย” เห็นรูปของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญอยู่หน้าปกหนังสือเล่มนี้จึงนำมาอ่าน อัศจรรย์ใจว่า จิตใจของคนเราช่างลึกลับซับซ้อนเหลือเกิน

            ท่านสอนไว้ว่า เมื่อตรวจสอบศีลของตนตามฐานะ ฆราวาสชาวบ้านทั่วไปศีลห้าข้อ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ผิดในกาม ไม่กล่าวเท็จ ไม่ดื่มสุรา ตั้งใจรักษาให้ครบสมบูรณ์ แม่ชีศีลสิบ เณรศีลสิบ พระศีล 227 ข้อพยายามรักษาให้ครบแล้วปฏิบัติสมาธิตามวิชาธรรมกาย ด้วยการนั่งสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ขวาจรดหัวแม่มือซ้าย ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น ภาวนาคำว่า “สัมมา อรหัง” เรื่อยไปอย่าให้ขาด กำหนดนึกว่า ตัวของเรากลวง กลางกายเหนือสะดือสองนิ้ว (นิ้วชี้กับนิ้วกลางซ้อนกันสองนิ้ว) กำหนดนึกเป็นพระของขวัญวัดปากน้ำ หรือพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง เช่นรูปของพระพุทธชินราชที่เราชอบ เอาจิตจับภาพพระอยู่ตรงกลางกายแบบนี้เรื่อยไป คำภาวนาก็ว่าไปในใจ จิตแวบไปคิดอย่างอื่นก็ดึงกลับมา นึกภาพพระและภาวนาว่า สัมมา อรหังอีกสู้กันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป

            อ่านแล้วจึงลองปฏิบัติตาม เพื่อทดสอบว่า จะมีผลเป็นอย่างไร ผมทำลองทำไปเรื่อยๆ บางครั้งก็เร่งเพราะอยากได้ (ตัณหา) บางครั้งทำไปทำมาก็เบื่อ ห่างหายไปไม่ค่อยได้ทำ โดยไม่ค่อยได้ทำระหว่างวัน เช่นการกำหนดว่า เช้าปฏิบัติแบบนี้ครั้งหนึ่งราวครึ่งชั่วโมง เย็นหลังสวดมนต์ไหว้พระอีกครึ่งชั่วโมง ทำไปเรื่อยทุกวัน บางครั้งต่อเนื่องดี บางครั้งลืมห่างไปหลายวัน นึกขึ้นได้ก็กลับมาทำใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้หลายปี จนกลายเป็นความเคยชิน

            เรื่องของการปฏิบัติก็ว่ากันไป เรื่องของชีวิตก็ก้าวเดินไปเรื่อย ผมเรียนนักธรรม เรียนบาลีต่อเนื่องกันไปตามการศึกษาของสงฆ์สมัยนั้น ทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นขาดบ้างทำบ้างไปตามวิสัยของคนไม่ขยัน การปฏิบัติธรรมเหมือนว่าไม่ได้ผลอะไร แต่ชีวิตก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ มีเรื่องราวสำคัญใดๆ ผมมักจะบอกกล่าวหลวงปู่วัดปากน้ำท่านเรื่อยๆ ยึดเอาท่านเป็นที่พึ่ง เพราะผมรู้ว่า การรำลึกถึงพระสงฆ์ หมายถึงการรำลึกถึงพระรัตนตรัย

            พระรัตนตรัยมีองค์ประกอบสาม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมของพระองค์ และพระสงฆ์สาวกของพระองค์ การรำลึกถึงองค์ใดองค์หนึ่งในสามองค์ เท่ากับการรำลึกถึงทั้งสามองค์ เหมือนเชือกสามเกลียว นึกเพียงเชือกเส้นเดียวแต่หมายถึงเชือกทั้งสามเกลียวนั้นพร้อมกัน เมื่อนึกถึงหลวงปู่ก็เหมือนรวมเอาพระรัตนตรัยทั้งสามเข้าด้วยกันในคราวเดียว

            ผมเดินทางไปอาศัยอยู่ที่ใดก็จะนึกถึงหลวงปู่ท่านเสมอๆ เป็นความเคยชิน ครั้งหนึ่งผมไปอยู่แถวห้วยสะพานวัดเขาจำศีล ผมก็คิดถึงหลวงปู่บ่อยๆ กลับมาพึ่งบารมีของหลวงพ่อลำไย วัดทุ่งลาดหญ้า ด้วยพระเลขาของท่านเห็นคุณค่าของการศึกษา เห็นผมไม่ได้เรียนอะไร จึงถามว่า ทำไมไม่หาที่เรียนหนังสือ ผมตอบว่าไม่มีสถานที่เรียน ท่านจึงบอกว่า เดี๋ยวหาให้ แล้วชวนผมไปกราบหลวงพ่อวัดลาดหญ้าด้วยกัน
            ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อลำไยวัดลาดหญ้าท่านสอบถามไม่กี่คำ ท่านพอรู้จักผม และพ่อแม่ของผม เพราะมีบ้านอยู่ในระแวกด้านเหนือของวัดลาดหญ้า แถมพ่อของผมบวชรุ่นเดียวกันกับหลวงพ่อวัดลาดหญ้า จึงทำให้ท่านสอบถามไม่กี่คำและลงนามในหนังสือนำส่งผมไปอยู่ที่สำนักเรียนวัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์ท่าเตียน กับหลวงพ่อใหญ่ พระวิสุทธาธิบดี (สง่า ปภัสสโร) โดยมีพระมหาถาวร ถาวโร เลขาของหลวงพ่อใหญ่เป็นผู้ดูแล

            อาศัยอยู่ที่วัดโพธิ์ท่าเตียนสิบปีเต็มเพื่อเรียนหนังสือ เรียนบาลี เรียนการศึกษาผู้ใหญ่ ชั้นมัธยมสาม ชั้นมัธยมหก จบแล้วเรียนเองอ่านเองดูเองเพื่อเตรียมสอบวุฒิครูประกาศนียบัตรพิเศษ (พ กศ) และ สอบครูพิเศษมัธยมต่อไป ระหว่างอยู่ที่นี่ได้ทำหน้าที่สอนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดพระเชตุพนไปด้วย เพื่อตอบแทนคุณพระศาสนา

            การจะสอบครู พ กศ หรือ พม มีข้อกำหนดว่าต้องเป็นครูมาก่อน ผมเป็นครูสอนนักธรรมแก่พระเณรที่วัดท่ามะขามมาหลายปี จึงเดินทางกลับไปขอใบประกาศของทางวัดท่ามะขาม หลวงพ่อท่านก็เมตตาจัดทำใบประกาศให้ แต่ว่าผู้ลงนามคือเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อพระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญโญ) ผมต้องเดินทางไปกับหลวงพ่อวัดท่ามะขามเพื่อให้ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อเจ้าคณะจังหวัดลงนาม แม้ว่าท่านไม่ค่อยจะมีเวลา แต่ท่านก็ยังเมตตาลงนามให้ดังประสงค์ ผมใช้ตำแหน่งครูสอนนักธรรมไปสอบเอาวุฒิครูเอาเอง

            กล่าวว่าเป็นจุดรวมกันระหว่างการศึกษาในวัดและการศึกษานอกวัด ใช้วุฒิครูในวัดไปสอบเอาวุฒินอกวัด โดยการเรียนรู้เอง อ่านเอง เรียนเอง ที่ลงท้ายด้วยว่าเองนี่แหละจึงเป็นที่มาของการใช้ตัว พ. ที่ย่อมาจากคำว่า พิเศษ พิเศษจึงมีความหมายดูเองอ่านเองศึกษาแล้วไปสอบเอาเอง ทางกระทรวงศึกษาเป็นผู้กำหนดรายวิชา พ กศ. ต้องสอบให้ผ่าน 5 รายวิชา วิชาภาษาไทย จิตวิทยาครู บรรณารักษศาสตร์ สุขศึกษา และวิชาเลือกหนึ่งในสามวิชา คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ ผมเองปีหนึ่งสอบสอง ถึงสามครั้ง ครั้งละสองสามรายวิชา ผมสอบผ่านวิชาภาษาไทย จิตวิทยาครู บรรณารักษ์ สุขศึกษาแล้ว จึงเลือกสอบชุดวิทยาศาสตร์

            การสอบชุดวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ สร้างความมั่นใจให้ตัวผมเองไม่น้อย เพราะผู้เข้าสอบทั้งหมด 170 กว่ารายทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ผลสอบออกมา ผมสอบผ่านคนเดียว กลายเป็นเรื่องโด่งดังในแวดวงการสอบครูพิเศษอยู่พอสมควร สำหรับผมแล้วแอบคุยโม้ได้หลายสัปดาห์

            ย้อนกลับไปมองว่าเหตุใดจึงสอบได้ พบว่าผมใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ เพราะไม่รู้จักคำว่า “วิทยาศาสตร์” ไม่เคยเรียนมาก่อน ผมกลัวสอบไม่ผ่านจึงได้ทุ่มเทอ่านหนังสือขนาดสองร้อยกว่าหน้ามีทั้งส่วนที่เป็นความจำ ส่วนที่เป็นความเข้าใจ ต้องอ่านหลักการทางวิทยาศาสตร์ ต้องตำตารางธาตุ เรียกว่า “ต้องยืนอ่าน”

            เหตุที่ต้องยืนอ่านคือ นั่งอ่านแล้วง่วง เพราะเป็นวิชาที่ไม่ค่อยจะรู้จัก การทำความรู้จักจึงน่าเบื่อสุดๆ เห็นหนังสือก็เริ่มง่วงทันที ต้องใช้กำลังใจแรงกล้ามาก บังคับให้ตัวเองอ่านไปทีละนิดช้าๆ อ่านแล้วครั้งหนึ่งก็ต้องอ่านทบทวนซ้ำ อ่านซ้ำอยู่สี่รอบ รอบหลังใช้เวลาน้อยลงมาก เพราะตรงไหนที่จำได้เข้าใจแล้วก็ผ่านไป ผ่านตรงนั้นตรงนี้เหลือส่วนที่ต้องจำและเข้าใจน้อยลง อีกอย่างเราเข้าใจส่วนที่ยากมาก่อนบ้างแล้ว

            ความพยายามที่ลงทุนไว้ในครั้งนี้ได้มาจากความตั้งใจที่อยากจะสอบให้ผ่านให้ได้ เพราะว่ารู้อยู่ก่อนว่า การสอบชุดวิทยาศาสตร์ หรือ ภาษาอังกฤษ หรือคณิตศาสตร์ เป็นชุดที่ยากทั้งสามชุด ครูที่ยังไม่มีวุฒิจำต้องพยายามให้ผ่านให้ได้ ไม่อย่างนั้นที่สอบมาก่อนหน้าทั้งสี่ชุดจะเสียเปล่า เคยสนทนากับนักสอบรุ่นพี่เป็นครูสอนอยู่เอกชนแห่งหนึ่งในเมืองกาญจนบุรี ท่านบอกว่าไม่มีเวลาอ่านหนังสือ สอบมาสองสามปีแล้ว สี่ชุดแรกผ่านหมดแล้ว เหลือชุดบังคับสุดท้ายสอบไม่ผ่านสักที เลยทำให้ไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่ม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก

            ความพยายามจึงเป็นต้นทุนสำคัญที่ถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเรียนระดับปริญญาโทเอกวรรณคดีอังกฤษที่เมืองพูเณ่ รัฐมหาราษฏร์ ที่ประเทศอินเดีย วันเวลาเหล่านั้นผ่านมานานมากแล้ว เนิ่นนานกว่า 27 ปี ที่ยังโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของผู้ก้าวผ่านมา

หมายเลขบันทึก: 678891เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีจ้ะท่านอาจารย์ มาอ่านบันทึกดี ๆ และมาทักทายจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท