เสียงจากคนค่าย : เริ่มต้นนับหนึ่งจากสิ่งที่เคยเห็นคนอื่น (นำ) ทำ (นางสาวชลิดา​ การฟุ้ง​)


บ่ายแก่ๆ ก็เปลี่ยนกิจกรรมจากลาน BBL เป็นการขึ้นไปทำทางป้องกันไฟป่าบน “ภูหนอง” จริงๆ งานลาน BBL ก็ยังไม่เสร็จหรอกนะคะ ถึงจะยังไม่เสร็จแต่ก็ใกล้จะเสร็จแล้ว ทีมพวกเราจึงแบ่งคนอยู่ทำงาน BBL ต่อส่วนที่เหลือก็ขึ้นภูหนองกัน เสร็จจากทำทางป้องกันไฟป่าแล้วก็พากันไปเล่นน้ำโขง การไปเล่นน้ำโขงได้ทั้งความสนุกและความรู้ เพราะแกนนำชาวบ้านได้บรรยายเรื่องต่างๆ ให้ฟัง เช่น ตำนานแม่น้ำ สถานที่สำคัญในแม่น้ำโขง วิถีชีวิตชาวบ้านที่ผูกพันกับน้ำโขง ประเพณีสำคัญๆ ของชาวบ้านที่จัดขึ้นในแม่น้ำโขง เช่น การแข่งรถบนชายหาด

การได้ไปค่าย “ต้านลมหนาว สานปัญญา : จิตอาสาเรียนรู้คู่บริการ” ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม และกลุ่มนิสิตชาวดิน (พรรคชาวดิน)  เป็นสิ่งที่หนูประทับใจไม่แพ้กิจกรรมอื่นๆ และกิจกรรมนี้ก็สอนให้หนูได้เรียนรู้ที่จะลงมือทำอะไรๆ หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

การทำในสิ่งที่ไม่เคยทำเริ่มต้นจากที่ “พี่บิ๊ก” (ประธานค่าย)  มอบหมายให้จัดเตรียมสิ่งของที่เกี่ยวกับการต้องไปออกค่าย ซึ่งพี่บิ๊กก็แนะนำว่าต้องไปติดต่อยืมที่ไหนบ้าง หนูกับแพรก็ไปติดต่อขอยืมตามที่พี่บิ๊กได้บอกกล่าว  ไปทั้งที่ยังไม่รู้จักมักคุ้นอะไรเลย  แต่หนูจะเป็นคนประเภทเมื่อรับมอบหมายมาแล้ว “หนูก็จะพยายามทำตามที่ได้รับมอบหมายให้เต็มที่”

เช่นเดียวกับการวันแรกที่เดินทางไปออกค่าย  พอถึงตัวเมืองหนองคายก็มีกิจกรรม “เปิดหมวก”  ขอรับบริจาคที่บริเวณตลาดสดกลางใจเมืองจังหวัด ตอนนั้นพี่บิ๊กไม่ได้อยู่ด้วย  เพราะแกเดินทางมาเตรียมค่ายล่วงหน้าและรออยู่ที่ค่าย 

ในบรรดานิสิตที่ไปค่าย ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์เรื่องการเปิดหมวกเท่าที่ควร อีกทั้งตัวหนูก็ไม่ค่อยกล้าพูดกล้าคุยมากนัก แต่สถานการณ์ก็นำพาให้พวกเราช่วยกันอย่างไม่อิดออด  จนได้ทุนรอนมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการออกค่าย

และนี่ก็เป็นอีกประสบการณ์ใหม่ที่หนูได้ทำได้เรียนรู้ในสิ่งที่หนูไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน –

พอเดินทางไปถึงโรงเรียนบ้านหนอง (ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย) ทุกอย่างดูเร่งรีบ ตื่นตัว เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา ขนสัมภาระลงจากรถไปเก็บที่ห้องพัก จากนั้นมาทานข้าวเที่ยง พบปะแกนนำชุมชน ฟังเรื่องราวสำคัญๆ ของชุมชน จากนั้นก็ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการงานที่ต้องทำ ซึ่งการงานในค่ายดูเป็นงานเป็นการเอามากๆ ทันทีที่คุยงานและมอบหมายเสร็จ ทุกคนก็แยกย้ายไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย

หนูได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านลาน BBL นี่ก็เป็นอีกงานที่หนูไม่ค่อยถนัด ไม่มีความรู้เรื่องสี ไม่มีทักษะประสบการณ์ในการวาด-ระบายสี  

ตอนแรกๆ จึงไม่ค่อยกล้าลงมือทำมากนัก เพราะกลัวว่าจะ “ทำพัง” แต่พี่ๆ ในทีมก็ย้ำตลอดว่า “ทำเลย อย่ากลัว ไม่ซีเรียส” และด้วยความที่หนูมีคติประจำใจว่า เมื่อได้รับมอบหมายแล้วก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ดังนั้นหนูจึงลงมือลุยทำงานเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง แถมยังเป็นการทำงานกลางแดดจ้าที่ร้อนแบบสุดๆ แต่ดีหน่อยมีทีมสวัสดิการและปฏิคมนำน้ำดื่มเย็นๆ มาทยอยบริการ  ช่วยให้คลายร้อนและเชื่อมความสัมพันธ์ชาวค่ายไปในตัว

จากนั้นพอถึงช่วงบ่ายแก่ๆ ก็เปลี่ยนกิจกรรมจากลาน BBL เป็นการขึ้นไปทำทางป้องกันไฟป่าบน “ภูหนอง” จริงๆ งานลาน BBL ก็ยังไม่เสร็จหรอกนะคะ ถึงจะยังไม่เสร็จแต่ก็ใกล้จะเสร็จแล้ว ทีมพวกเราจึงแบ่งคนอยู่ทำงาน BBL ต่อส่วนที่เหลือก็ขึ้นภูหนองกัน เสร็จจากทำทางป้องกันไฟป่าแล้วก็พากันไปเล่นน้ำโขง

การไปเล่นน้ำโขงได้ทั้งความสนุกและความรู้ เพราะแกนนำชาวบ้านได้บรรยายเรื่องต่างๆ ให้ฟัง เช่น ตำนานแม่น้ำ สถานที่สำคัญในแม่น้ำโขง วิถีชีวิตชาวบ้านที่ผูกพันกับน้ำโขง ประเพณีสำคัญๆ ของชาวบ้านที่จัดขึ้นในแม่น้ำโขง เช่น การแข่งรถบนชายหาด

เหมือนที่บอก ค่ายครั้งนี้ช่วยให้หนูได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง  ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น จากที่เคยช่วยขนของก็กลายมาเป็นคนเตรียมของที่เกี่ยวข้องกับการไปออกค่าย  มีทั้งการไปหยิบยืม การไปจัดซื้อ การไปขอรับบริจาค  พอเสร็จค่ายจากที่ช่วยขนของก็ต้องทำหน้าที่ให้การเช็คของว่าครบไม่ครบแล้วนำส่งคืนชุมชนและกลุ่มที่เราไปหยิบมา 

รวมทั้งการได้เปิดหมวกรับบริจาคที่ทุกคนต้องทำงานเป็นทีม  ร่วมใจสามัคคีกัน สื่อสารอย่างจริงใจ ซึ่งก็ทำให้เห็นถึงน้ำใจและความตั้งใจของผู้บริจาค จึงช่วยให้หนูเกิดความตั้งใจที่จะนำสิ่งเหล่านั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อค่ายให้มากที่สุดเท่าที่หนูจะทำได้

นอกจากนี้หนูยังได้ฝึกการทำงานด้วยตนเองร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ เช่น จากที่เลือกงานที่คิดว่า “ทำได้-ไม่ทำพัง” ก็ต้องทำในสิ่งที่ได้รับมอบ ยกตัวอย่างเช่น การฝึกคิดฝึกทำว่าต้องวาดอะไร ใช้สีอะไร ประเมินว่าสิ่งที่ทำจะให้ประโยชน์ต่อชุมชนได้หรือไม่  และการได้เห็นถึงความตั้งใจของนิสิตและชาวบ้านที่ต่างมีจิตอาสาที่จะทำงานทั้งเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม 

สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นอันสำคัญของหนู  เพราะเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งจากสิ่งที่เคยเห็นคนอื่นพาทำแล้วหนูต้องมาทำสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง

และนี่คือความประทับใจและการเรียนรู้ที่หนูจะไม่มีวันลืมเลือน

เรื่อง : นางสาวชลิดา​ การฟุ้ง​
ชั้นปีที่1 สาขาเกษตรศาสตร์
คณะเทคโนโลยี​ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 678356เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2020 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท