หนึ่งโหลปีกับค่ายเบาหวาน


แต่ละครั้งของการทำค่ายเราจะไม่ทำอะไรซ้ำกันเลย ต้องคิดใหม่ ทำใหม่

กิจกรรมค่ายเบาหวานในบ้านเรา ที่จัดโดยแต่ละโรงพยาบาล มีรายละเอียดทั้งที่คล้ายกันและแตกต่างกัน ค่ายเบาหวานของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ อาจกล่าวได้ว่าจัดมายาวนานที่สุดแห่งหนึ่ง ดิฉันขอให้คุณธัญญา หิมะทองคำ ช่วยเล่าวิวัฒนาการของค่าย ในช่วงระยะเวลา ๑๑ ปีที่ผ่านมา เพื่อให้สมาชิกได้ร่วมเรียนรู้ด้วย

สมาชิกท่านใดต้องการถามคำถามหรือให้ข้อเสนอแนะ เขียนเข้ามาได้นะคะ ประเด็นที่น่าสนใจคือการจัดค่ายเบาหวาน ดูแล้วคงจะต้องลงทุนสูง ควรวัด outcomes อะไร และอย่างไรดี ที่มีการจัดๆ กันอยู่นี้ มี outcomes เป็นไปตามที่เราต้องการหรือเปล่า

วัลลา ตันตโยทัย ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘

อาจารย์วัลลาบังคับให้เขียนเรื่องค่ายเบาหวานลงบล็อกนี้ด่วนค่ะ!

อาจารย์อารยา (พญ.อารยา ทองผิว) ได้เขียนเล่าเรื่องการเตรียมค่ายไปพอสมควรแล้ว เพื่อไม่ให้น่าเบื่อ ขอเล่าอีกมุมหนึ่งของค่ายเบาหวานแทนค่ะ นั่นคือ๑๒ ปีกับการทำค่ายเบาหวานของทีมงานเทพธารินทร์ เราได้เรียนรู้และมีวิวัฒนาการอะไรไปบ้าง

ก่อนอื่นต้องแนะนำค่ายเบาหวานของเราให้ทุกท่านรู้จักสักนิดก่อน มิฉะนั้นแล้วอ่านไปอาจจะนึกไม่ออกว่าเราทำอะไรกัน เพราะธรรมชาติของผู้ร่วมค่าย ผู้ทำงาน สถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ ของเราอาจต่างจากท่านอย่างมาก
กิจกรรมค่ายเบาหวานเป็นกิจกรรมที่เราจัดขึ้นปีละครั้ง ๑ ครั้งในช่วงเดือน พฤศจิกายน เดิมทีเข้าค่ายกันแค่ ๓ วัน ๒ คืน แต่ ๖-๗ ปีที่ผ่านมาค่ายของเรามีระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น ๔ วัน ๓ คืน เราสามารถรับชาวค่ายได้มากที่สุดประมาณ ๘๐ ท่านเท่านั้น แต่ละครั้งเราใช้ Staff ที่ไปอยู่ค่ายด้วยกันถึงเกือบ ๒๐ คน มีทั้งคุณหมอ นักกำหนดอาหาร พยาบาล วิทยากรเบาหวาน นักกายภาพบำบัด และเจ้าหน้าที่จิปาถะอีกจำนวนหนึ่ง ปีนี้จะเป็นปีที่ ๑๒ แล้ว หนึ่งโหลพอดี

แต่ละครั้งของการทำค่ายเราจะไม่ทำอะไรซ้ำกันเลย ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ (เข้ากับศัพท์ยอดฮิตจริงๆ) ทั้งหมด ทั้งสถานที่และกิจกรรม นอกจากเหตุผลที่เราไม่ชอบทำอะไรง่ายๆ แล้ว ชาวค่ายที่มาร่วมกิจกรรมครั้งแล้วครั้งเล่าก็บังคับให้เราทำอะไรใหม่ๆ เสมอ เหมือนเดิมเดี๋ยวเค้าเบื่อ ถามว่ายากหรือเปล่า ตอบไม่ต้องคิดเลยค่ะว่ายากแน่นอน มุขมันหมดสำหรับปีนี้ เราก็คิดกันหัวเปลี้ยไปเลยว่าจะไปจังหวัดไหนดี ต้องเป็นจังหวัดที่ไม่เคยไป มีที่พักดีและว่างช่วงที่เราจะไป ต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาหารต้องอร่อย ค่าใช้จ่ายก็ต้องไม่เว่อร์เกินไป ในที่สุดเมื่อไม่กี่วันมานี้ เพิ่งตกลงกันได้ว่าจะไปปราจีนบุรี วันที่ ๑๒-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ควบวันสำคัญถึง ๒ วัน คือ วันเบาหวานโลก และวันเพ็ญเดือนสิบสอง

กิจกรรมหลักของค่าย คือ การบรรยายความรู้ การฝึกการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด แต่ละมื้อชาวค่ายจะเลือกอาหารทานเอง แล้วจดว่าทานอะไรไป ทานไปเท่าไรบ้าง ทุก ๖ โมงเช้าชาวค่ายจะออกกำลังกาย และตลอดวันชาวค่ายจะเจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด จะขอร่ายตามกิจกรรมหลักที่ว่าข้างต้น ว่าเรามีวิวัฒนาการอย่างไรบ้างนะคะ อะไรเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปทำไม

การบรรยายความรู้: ในแต่ละปีหัวข้อการบรรยายเปลี่ยนไปทุกครั้ง ขึ้นกับว่าปีนั้นจะมีเรื่องอะไร ความรู้อะไรใหม่ๆ หรือเราต้องการเน้นเรื่องอะไร
ช่วงแรกๆ เราก็สอนทุกคนไปพร้อมๆ กัน แต่พอไปๆ ชักจะมีศิษย์เก่าชาวค่ายมาเข้าค่ายซ้ำๆ เชื่อหรือไม่ แฟนคลับบางคนของเราเข้าค่ายกับเรามาแล้วถึง ๘ ครั้ง (หรือมากกว่านั้นด้วยซ้ำไป) ศิษย์เก่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ความรู้แน่นปั๋ง จะสอนเรื่องพื้นฐานง่ายๆ ทุกปีก็จะไม่ได้ประโยชน์ แถมเบื่ออีกต่างหาก หลายปีที่ผ่านมานี้ เราจึงต้องแบ่งชาวค่ายออกเป็น ๒ กลุ่มในช่วงบรรยายความรู้อาหาร กลุ่มหนึ่งเป็นชาวค่ายใหม่เอี่ยม ให้เรียนรู้เรื่องหลักการแลกเปลี่ยนหมวดหมู่อาหาร อีกกลุ่มเป็นศิษย์เก่าผู้เก่งกาจแล้ว ให้ฟังเรื่องใหม่ๆ ของแต่ละปี ซึ่งส่วนมากหัวข้อจะได้มาจากการไปประชุมที่ต่างประเทศของทีมนักกำหนดอาหาร เรียกว่า รับรองได้ว่าชาวค่ายเราทันสมัยสุดๆ แน่นอน

การที่ต้องแบ่งชาวค่ายออกเป็น ๒ กลุ่มนี้ ก็เพิ่มความท้าทายให้ทีมงานอีกนิดหน่อย อย่างหนึ่งก็การเลือกสถานที่ ที่จะไปนั้นต้องมีห้องบรรยายและอุปกรณ์ ๒ ชุด อีกอย่างคือเราต้องจัดหาผู้บรรยาย ๒ ชุด แล้วสุดท้าย ทีมงานก็ถูกบังคับให้เรียนรู้เรื่องทันสมัยที่จะไปสอนชาวค่าย เดี๋ยวถูกถาม อธิบายไม่ได้เหมือนกัน จะไม่เป็นมือโปร

การฝึกการเลือกรับประทานอาหาร: หลักการสอนของเราคือ ถึงแม้เป็นเบาหวาน คุณทานอะไรก็ได้ เพียงแต่รู้จักเลือก อาหารทุกมื้อระหว่างค่ายจะเสริฟแบบบุฟเฟ่ เป็นอาหารที่ทางโรงแรมหรือร้านทำอยู่แล้ว ไม่ได้ปรุงขึ้นมาพิเศษเพื่อค่ายเบาหวาน ชาวค่ายจะทานอะไร ปริมาณเท่าไรก็ตามใจ แต่กินแล้วต้องจด จดแล้วก็คำนวณสัดส่วนอาหารเอง เสร็จแล้วก็ไปเทียบกับสัดส่วนที่นักกำหนดอาหารได้คำนวณว่าเหมาะสมสำหรับแต่ละคน (คำนวณไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มค่าย และพิมพ์ใส่ป้ายชื่อของชาวค่ายแต่ละคน ซึ่งแขวนติดตัวตลอดค่าย พลิกดูได้ทุกเวลา)
กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมหลักของค่ายที่ไม่เปลี่ยนแปลงในเรื่องหลักเลย ทุกมื้อ นักกำหนดอาหารต้องทำงานหนัก ตักอาหารตัวอย่าง ตั้งป้ายบอกสัดส่วนอาหารอย่างนี้ มื้อแล้วมื้อเล่า
สิ่งที่เปลี่ยนไป วิวัฒนาการไปก็เช่นตารางการบันทึกปรับไปเรื่อยๆ เอาแบบที่ง่ายต่อการเข้าใจและกรอกข้อมูลมากที่สุด

การออกกำลังกาย: ทุกวัน ๖ โมงเช้า เราจัดแจงให้ชาวค่ายตื่นมาออกกำลังกาย อย่านึกว่าเป็นการทรมานชาวค่ายนะคะ กลุ่มที่ตื่นยากตื่นเย็นนั้นส่วนมากจะเป็นทีมงานมากกว่าชาวค่ายน่ะ ตีห้ากว่าๆ ก็ลงมาเดินแกว่งแขนกันแล้ว
ตอนเริ่มต้นทำค่ายใหม่ๆ กิจกรรมออกกำลังกายเราก็ทำกันเอง ประมาณว่าใครมีความสามารถนำกิจกรรม ก็นำออกกำลังกายไปด้วยนั่นแหละ ไปๆ เราก็พัฒนา เริ่มมีการนำวิชาการเข้ามาใส่ กิจกรรมการออกกำลังกาย จึงถูกมอบหมายให้แพทย์ทางด้านนี้และกลุ่มนักกายภาพบำบัดไปเลย
เนื่องจากชาวค่ายอายุต่างๆ กัน สภาพร่างกายก็ต่างกัน ทำให้ออกกำลังกายด้วยกันไม่ได้ดี หลังๆ เราจึงเริ่มแบ่งกลุ่มชาวค่ายออกเป็น ๓ กลุ่ม ตามสมรรถภาพร่างกาย และพยายามคิดค้นสารพัดวิธีออกกำลังกายมานำเสนอ ทั้งแอโรบิก จึ้กง ไทเก็ก คือ พยายามทำให้ทุกคนเห็นว่าใครๆ ก็ออกกำลังกายได้ และมีกิจกรรมให้เลือกได้เยอะแยะ ไม่ถูกใจอันนี้ ก็ลองอีกชนิดก็ได้
อีกสิ่งที่เราพัฒนาในเรื่องการออกกำลังกาย คือการทำ exercise prescription มีการซักประวัติ และตรวจร่างกายของชาวค่ายทุกคนก่อนไปค่าย และดูว่าแต่ละคนควรออกกำลังกายอย่างไร เรียกว่า Tailor-made รายบุคคลกันเลย

การตรวจวัดระดับน้ำตามในเลือด: เราให้ชาวค่ายตรวจวัดระดับน้ำตาล 4 ครั้งทุกวัน เพื่อแสดงให้ชาวค่ายดูว่าระดับน้ำตาลขึ้นกับอาหารที่ทานเข้าไปนั่นเอง ระดับน้ำตาลที่วัดได้จะถูกบันทึกไว้และ plot เป็นกราฟให้ทุกคน เพื่อแสดงความเปลี่ยนแปลง
แรกๆ เราใช้วิธีตั้งโต๊ะตรวจ ทีมงานเจาะให้ชาวค่าย ในช่วง ๓ ปีหลัง เราต้องการโปรโมตให้ชาวค่ายเห็นความสำคัญของการตรวจน้ำตาลด้วยตนเอง ต้องการให้ชาวค่ายคุ้นเคยกับการเจาะเลือด หายกลัว เราจึงเริ่มแจกเครื่องวัดระดับน้ำตาลให้ประจำตัวชาวค่ายแต่ละคนไปเลย ที่ผ่านมาแจกให้แก่ชาวค่ายที่เป็นเบาหวานเท่านั้น ผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน หากอยากเจาะให้มาเจาะกับพี่เลี้ยงกลุ่มซึ่งพกเครื่องตรวจและอุปกรณ์ติดตัวตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้แต่เวลานอน ปรากฏว่าที่ขอให้เจาะ ๔ ครั้งต่อวันชาวค่ายหลายคนหายกลัว สนุก เจาะกันวันละ ๕-๖ ครั้ง นอกจากนั้น ญาติๆ ที่ไม่เป็นเบาหวานก็สนใจตรวจกันมากมาย มากจนปีนี้เราอาจคิดดูว่าควรแจกเครื่องให้ประจำตัวชาวค่ายทุกคนเลยดีหรือเปล่า ทั้งที่เป็นและยังไม่เป็นเบาหวาน

ที่เล่ามาเป็นวิวัฒนาการหลักๆ ของค่ายเบาหวานเทพธารินทร์ตลอดหนึ่งโหลปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ในแง่การบริหารจัดการมีอีกมากมาย เป็นเรื่องจุกจิกที่ละเลยไม่ได้ เช่น อย่าลืมทำใบรายชื่อชาวค่ายและทีมงาน พร้อมเบอร์โทรศัพท์และเบอร์ห้องพักของทุกคนไปเยอะๆ และทีมงานทุกคนควรมีติดตัวไว้ตลอดเวลา ทุกครั้งหลังค่าย ทีมงานจะคุยถึงปัญหาและข้อควรปรับปรุงทันที (ก่อนลืม) และที่สำคัญ ต้องจดเอาไว้ในที่ๆ ทีมงานปีถัดไปจะสามารถนำมาใช้ได้ง่ายๆ

ถ้าสนใจเรื่องราวของค่ายเบาหวานเทพธารินทร์อย่างละเอียด ท่านสมาชิกสามารถ Download เรื่องราวได้จาก http://www.theptarin.com/th/document/12_DMCAMP_Thai_2005.pdf นะคะ

อีกนิดนะคะ ค่ายเบาหวานครั้งที่ ๑๒ เราจะไปปราจีนบุรี วันที่ ๑๒-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ แน่นอน หากสนใจติดต่อได้ที่ [email protected] หรือ ๐-๒๒๔๐-๒๗๒๗ ต่อ ๒๙๒๗, ๒๙๓๕

ผู้เล่าเรื่อง คุณธัญญา หิมะทองคำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และโครงการพิเศษ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๐-๒๗๒๗ ต่อ ๒๙๗๑

 

หมายเลขบันทึก: 678เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2005 07:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท