พระพุทธรูป ๓ วัด ณ เชียงใหม่ (วันวิสาขบูชา)


บันทึกนี้เป็นการทดลองกล้องมือถือ Vivo SP1 Pro ที่มีการเดินทางไปบันทึกภาพ ๓ วัน ๓ วัด (เหมือนว่าง 555)

..

วันอาทิตย์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (วันฉัตรมงคล)

วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส

วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส เป็นวัดเก่าแก่ของเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นวัดที่ไม่มีพระอยู่จำพรรษา ตั้งอยู่ในตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พักแรมของขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทองในประเพณีแห่พระเจ้าเข้าเวียง วัดต้นเกว๋นมีศิลปกรรมล้านนาดั้งเดิมที่สมบูรณ์และทรงคุณค่ามาก ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ และได้รับการประกาศโดยสมาคมสถาปนิกสยามเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒

วัดต้นเกว๋นเริ่มก่อสร้างในรัชสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๖ ชื่อวัดถูกตั้งตามต้นบ่าเกว๋น (หรือต้นตะขบในภาษากลาง) ต่อมาถูกตั้งชื่อตามครูบาอินทร์ ซึ่งมีฝีมือด้านเชิงช่างดีและมีส่วนในการสร้างวิหารของวัด ตัววิหารสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๐๑ ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง ศาลาจัตุรมุขซึ่งพบเพียงหลังเดียวในภาคเหนือถูกสร้างราวปี พ.ศ.๒๓๙๙-๒๔๑๒

ประเพณีแห่พระเจ้าเข้าเวียง ถือเป็นประเพณีโบราณที่เจ้าหลวงเชียงใหม่จะโปรดตั้งการพิธีในทุกๆปีเพื่อให้ชาวเมืองได้สรงน้ำสักการะพระบรมธาตุฯ ก่อนที่จะเชิญพระบรมธาตุไปประทับยังวัดสวนดอกและวัดพระธาตุดอยสุเทพตามลำดับ ประเพณีนี้ในปัจจุบันจะจัดขึ้นในโอกาสครบรอบสถาปนาเวียงเชียงใหม่ตามวาระเท่านั้น พิธีแห่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นใน พ.ศ.๒๕๕๙ ในโอกาสครบรอบ ๗๒๐ ปี ๖๐ รอบนักษัตรสถาปนาเวียงเชียงใหม่

ข้อมูลจาก ...

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%8B%E0%B8%99

..

ครูบาศรีวิชัย

..

พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น

..

วันอังคารที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ 

วัดผาลาด (สกทาคามี)

วัดผาลาด อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย โดยมีพื้นที่ที่กันออกจากอุทยานแห่งชาติตามพระราชกฤษฎีกา ปี พ.ศ.๒๕๒๕ การที่ได้ชื่อว่า “ผาลาด” นั้น สันนิษฐานว่าคงมาจากลานหินที่กว้างและลาดลงเป็นทางยาว มีธารน้ำที่ไหลลงน้ำตกที่สวยงาม 

ในเอกสารของวัดผาลาดในการเชิญร่วมทำบุญบูรณะวัดผาลาดได้อ้างตำนานพระเจ้าเลียบโลกไว้ว่า ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ยังดินแดนแห่งนี้ ได้มาเทศนาโปรดชาวลัวะใต้ต้นบุนนาค จากนั้นทรงเสด็จไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นลานหินในลำธาร ทรงประทับนั่ง ทอดพระเนตรและรำพึงว่าเมืองนี้จะเป็นมหานครใหญ่ ศาสนาของพระตถาคตจะมารุ่งเรืองมั่นคงที่เมืองนี้ จากนั้นก็ประทับรอยพระบาทลงบนหินก้อนหนึ่งให้เทวดาไปเก็บรักษาไว้ในถ้ำ และรอยพระบาทนี้จะปรากฏออกมาเมื่อถึงกาละเวลาอันควร 

นอกจากนี้วัดผาลาดยังมีประวัติศาสตร์ร่วมกับพระธาตุดอยสุเทพอีกด้วย ในตำนานพระธาตุพระมหาธาตุเจ้าสุเทพ เชียงใหม่ กล่าวไว้ว่า เมื่อพระสุมนเถระรับอาราธนานิมนต์จากพระญากือนา ได้ตั้งศาสนาไวัที่วัดพระยืน นครหริภุญไชยแล้ว ก็มาอยู่ที่วัดสวนดอก โดยพระญากือนาได้สร้างถวายไว้ยังบริเวณสวนดอกไม้พะยอมของพระองค์ พระสุมนเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุจากสุโขทัยมายังเชียงใหม่ และเมื่อครั้งนั้นพระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์แตกออกมาเป็นองค์ย่อย ๆ หลายองค์ ส่วนหนึ่งได้ประจุไว้ในพระธาตุวัดสวนดอก อีกส่วนหนึ่งในตำนานมูลศาสนากล่าวว่าได้ไปประดิษฐานไว้ที่เมืองตาก โดยให้เมืองตากเป็นเมืองกลางที่คนล้านนาและสุโขทัยต่างเดินทางไปนมัสการพระธาตุได้โดยเสรี หลังจากที่เมืองตากขึ้นกับล้านนาในสมัยพระญาฅำฟูเป็นต้นมา 

อีกส่วนหนึ่งพระญากือนาก็ตั้งจิตอธิษฐานหาสถานที่อันจะตั้งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยให้ช้างเผือกนำพระบรมสารีริกธาตุเสี่ยงทายสถานที่อันจะตั้งพระบรมสารีริกธาตุ ช้างเผือกเดินทางมายังทิศตะวันตก แล้วไปหยุดอยู่ยังสถานที่หนึ่ง จึงบอกให้ช้างนอน ช่างก็ไม่นอน แล้วเดินทางต่อไป สถานที่แห่งนั้นเรียกว่า ดอยช้างนูน ต่อมาเรียกว่าดอยหมากหนุน (บริเวณนี้ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของเอกชน) จากนั้นช้างก็เดินทางต่อไปยังยอดดอยที่หนึ่ง มีสัณฐานราบเสมอกัน ก็กราบนบพระธาตุ ๓ ที ว่าจะของตั้งพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่แห่งนี้ ช้างก็หยุดอยู่ที่นั้น ผู้คนจึงเรียกที่แห่งนั้นว่า “๓ ยอบ” ต่อมาเรียกใหม่เป็น “๓ ยอด”แล้วช้างเดินทางต่อไปจนถึงยอดดอยสุเทพ ในเอกสารของทางวัดกล่าวว่า ช้างมงคลมาหยุดพักยังที่แห่งนี้ก่อนที่จะขึ้นสู่ดอยสุเทพ บางสำนวนก็เล่าว่า มาถึงจุดนี้คนที่ติดตามมา ลื่น หรือภาษาล้านนาเรียกว่า “ผะเลิด” จึงเรียกว่า ผาลาด ก็มี จากจุดนี้ขึ้นไป จะเป็นทางที่ชันมาก วัดผาลาดจึงเหมาะอย่างยิ่งทีจะเป็นจุดพัก และเป็นจุดพักครึ่งทางในการเดินขึ้นดอยสุเทพพอดี 

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าในปี พ.ศ.๑๙๘๑ ในสมัยพระญาสามฝั่งแกน ตอนรบศึกกับพระญาไสยลือไทยแห่งสุโขทัยนั้น พระญาไสยลือไทยได้มาตั้งทัพอยู่ที่เวียงเจ็ดลิน และได้เดินทางมาสระผมถึงดอยผาลาดหลวงแห่งนี้ด้วย ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ คราที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จขึ้นดอยสุเทพ ในระหว่างเสด็จลงนั้น ทรงแวะประทับร้อนที่ผาลาด ด้วยวัดผาลาดเป็นจุดแวะพัก ระหว่างทาง สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดนอกจากสภาพพื้นที่อันกว้างขวางแล้ว ยังมีบ่อน้ำไว้สำหรับดื่มอีกด้วย การขุดบ่อน้ำริมน้ำห้วยนี้นับว่าเป็นการกรองน้ำจากลำห้วยอีกทอดหนึ่ง ด้วยไม่นิยมดื่มน้ำจากลำห้วยโดยตรง 

ในเอกสารของทางวัดกล่าวว่า บ่อน้ำนี้มีการสร้างทับซ้อนกันหลายยุคหลายสมัย นอกจากนี้ยังโบราณสถานที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งนั่นคือพระพุทธรูปบริเวณหน้าผา ในเอกสารทางวัดกล่าวว่า พระพุทธรูปแต่เดิมเป็นศิลปะเชียงแสน และมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยู่องค์หนึ่ง นามว่า พระไล่กา หรือ ภาษาล้านนาเรียกว่า “พระเจ้าเกิ็ดกา” ว่าเป็นพระพุทธรูปไล่กาไม่ให้บินไปยังดอยสุเทพ และดอยสุเทพจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าดอยกาละ 

ส่วนพระพุทธรูปหน้าผานี้ เมื่อมีการบูรณะโดยช่างชาวพม่าก็มีการบูรณะเป็นศิลปะแบบพม่าไป รวมถึงอาคารที่ครอบพระพุทธรูปนี้ไว้ โดยเรียกว่า ศาลาชมศิลป์ พระเจ้าเกิ็ดกา ได้กล่าวไว้ใน “ค่าวฮ่ำตำนานดอยสุเทพเจ้า” ของขนานหลวงเป็ง กาวิโล และปริวรรตโดยพระครูสิริพัฒนานุกูล วัดพวกหงษ์ พร้อมกับได้พรรณนาการเดินทางขึ้นไปไหว้สาพระธาตุดอยสุเทพ ในเส้นทางเดินเดิม 

ก่อนที่จะมีการสร้างถนนศรีวิชัยขึ้นไปบนดอยสุเทพ ได้บอกไว้ว่าอยู่เลยวัดผาลาดขึ้นไป “...ที่ผาลาดหลวง อารามที่พัก เป๋นวัดเก่าเกื้อ บัวราณ มีเจติยะ ศาลาวิหาร ริมหนทาง ขึ้นไปธาตุเจ้า อกพุทโธ คนโซแก่เฒ่า หัวใจ๋ดีใน ชื่นย้าว พ่องเอาอาหาร กล้วยไข่กล้วยค้าว ไปใส่เข้า ปูชา พ่องเอาดอกไม้ ธูปเทียนบุบผา ไปถวายปูชา องค์พระที่ไหว้ พระเจ้าเกิ๊ดก๋า ชื่อนามบอกให้ เป๋นที่คนไป ยั้งพัก...” 

ในค่าวเรื่องนี้ได้บรรยายถึงการหยุดพักบริเวณวัดผาลาดโดยเฉพาะในเทศกาลเดินขึ้นดอยว่า มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งร้านขายของและมีการละเล่นกันบริเวณจุดพักแห่งนี้ และถือว่าเป็นจุดวัดบุญของแต่ละคนด้วย หากใครบุญไม่ถึงก็จะเกิดเหตุให้ไม่สามารถเดินทางไปต่อได้ ศาสนาสถานหลายแห่งสร้างขึ้นในสมัยของครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ทั้งมฑทปครอบบ่อน้ำ, วิหารที่สร้างโดยชาวไทลื้อ-พม่า ศิษย์ครูบาเทิ้ม วัดแสนฝางและ ศิษย์ครูบาสิทธิ วัดท่าสะต๋อย, เจดีย์โดยช่างกลุ่มเดียวกับวัดมหาวัน เป็นต้น ส่วนแนวความคิดของวัดสกิทาคา เริ่มปรากฎหลังสมัยครูบาศรีวิชัย ดังปรากฏในนิราศพระธาตุดอยสุเทพ ของ แมน สุรตโน ที่ว่า “...สร้างถนน ผลมี มั่งจีรัง......... บางตอนยัง ย้ำชัด สร้างศรัทธา คือขั้นตอน ปฏิบัติ สร้างวัดก่อน ....... เริ่มขั้นตอน ต้นคิด ปริศนา คืออาราม นามมี ศรีโสดา....... สกิทาคา อนาคา- มี- นัย อรหันต์ ชั้นสุด ถึงจุดยอด...... ทางตลอด ผาลาด ก็ขาดไข..” 

ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๐๕ หลวงพ่อสวัสดิ์ สุขกาโม ได้จาริกมาปฏิบัติธรรมยังวัดผาลาด ต่อมาก็อยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุดอยสุเทพ และก็ปล่อยให้รกร้าง กระทั่ง วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ จึงได้รับประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการยกวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ปัจจุบันมีพระครูธีรสุตพจน์ (พระมหาสง่า ธีรสํวโร) เป็นเจ้าอาวาสและได้ทำการบูรณะวัดขึ้นใหม่

ข้อมูลจาก ...

http://www.sri.cmu.ac.th/~demo/index.php/site/historic_detail/id/3

..

พระพุทธรูปห้าพระองค์

..

พระพุทธรูปทรงยืน ปากทางเข้าวัด

..

พระพุทธรูปทรงพม่า อยู่หน้าเจดีย์

..

พระพุทธรูปทรงล้านนา

..

พระพุทธรูปปางมารวิชัย

..

หลวงพ่อขาว ณ ม่อนภาวนาแสนสุข

..

พระพุทธรูปที่พบในซากปรักหักพัง

..

พระพุทธรูปทรงชินราช

..

พระพุทธรูปขาวอีกองค์

..

พระพุทธรูปศรีอริยะเมตตรัย

..

พระพุทธรูปทรงพม่า

..

วันพุธที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (วันวิสาขบูชา)

วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม

ราวปี พ.ศ.๑๘๓๙ พระยามังรายทรงสร้างอาณาจักรล้านนาร่วมกับพระสหาย คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ปกครองสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง กษัตริย์ปกครองพะเยา มาสร้างเมืองเวียงเหล็ก (บริเวณวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน) และตั้งชื่อเมืองว่า “นพบุรี ศรีนครพิงค์” ท่านมีความใฝ่ในศาสนาพุทธ จึงทรงทำนุบำรุง ส่งเสริมศาสนาให้รุ่งเรืองในล้านนา ในขณะนั้น ทางฝ่ายพระเจ้ารามคำแหงมหาราชได้ส่งคนนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาอาศัยอยู่ใน จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อที่พระสงฆ์ได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุโขทัย เมื่อพระยามังรายทราบข่าวดังกล่าว จึงส่งคนไปนิมนต์พระลังกาจากพระเจ้ารามคำแหง ๕ รูป โดยมีพระกัสสปะเถระเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์นี้ โดยจำพรรษาที่วัดการโถม ต่อมาพระยามังรายสร้างวัดเวฬุกัฏฐาราม (ปัจจุบัน คือ วัดอุโมงค์) เมื่อสร้างเสร็จจึงอาราธนาพระมหากัสสปะเถระจำพรรษาที่วัดแห่งนี้

ต่อมาเมื่อพระเจ้ามังรายสวรรคต ศาสนาพุทธขาดการทำนุบำรุง เพราะมัวแต่ทำศึกสงครามกันเองในเชื้อพระวงศ์ในการแย่งชิงราชสมบัติ จนถึงสมัยพระเจ้าผายู ศาสนาพุทธได้รับการฟื้นฟูจนถึงสมัยพระเจ้ากือนาธรรมาธิราช (ประมาณ พ.ศ.๑๙๑๐) ท่านมีความเลื่อมใสในพระมหาเถระจันทร์ พระเจ้ากือนาจึงสั่งให้คนบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม เพื่ออาราธนาพระมหาเถระจันทร์จำพรรษาทีวัดแห่งนี้ และตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” ตามชื่อของพระมหาเถระจันทร์ มีการซ่อมแซมเจดีย์โดยการพอกปูน สร้างอุโมงค์ไว้ทางทิศเหนือจากเจดีย์ ในอุโมงค์มีทางเดิน ๔ ช่องซึ่งเชื่อมต่อกันได้

ราชวงศ์มังรายล่มสลาย เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ เปลี่ยนเป็นพม่าปกครองล้านนา ทำให้วัดอุโมงค์ขาดการทำนุบำรุง ปล่อยให้ร้าง ปรักหักพังเรื่อยๆ ต่อมา เจ้าชื่น สิโรรส ได้จัดการแผ้วถางบูรณะวัดนี้ และสร้างกุฏิหลังใหม่เพิ่ม จากนั้นจึงนินต์พระภิกษุปัญญานันทะจากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี มาจำพรรษา และท่านได้เผยแพร่ศาสนาสืบไป

ข้อมูลจาก ...

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C_(%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1)

..

ท่านปัญญานันทะภิกขุ

..

พระพุทธรูปสกุลช่างพะเยา

..

พระพุทธรูปถูกวางไว้หน้าอุโมงค์

..

พระพุทธรูป ประจำอุโมงค์กลาง

..

พระพุทธรูป ประจำอุโมงค์เบื้องขวา

..

พระพุทธรูป ประจำอุโมงค์เบื้องซ้าย

..

..

ประวัติวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปุณฺณมีปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ ๓ เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๗ แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ แม้ในปีนั้นจะมีเดือน ๘ สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง ๓ นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท

วันวิสาขบูชา นั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๓ เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ ๘๐ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่นใน ประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก[4] (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๕๔/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ ๓ เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน" ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน ๖ นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน.

ข้อมูลจาก ...

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%8A%E0%B8%B2

..

..

ปี ๒๕๖๓ อาจจะมีสถานการณ์หลาย ๆ อย่างที่เป็น New Normal เกิดขึ้น 

สำหรับตัวเองก็มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นบ้าง ไม่ได้เดือดร้อน อดมื้อ กินมื้อมากนัก
มีสิ่งที่เริ่มต้นใหม่หลายเรื่อง มีสิ่งที่ควรจะปรับปรุงใหม่ก็หลายเรื่อง
มันเดินทางเข้ามาพร้อม ๆ กัน

การหยุดเดินทางไปทำงาน เหมือนได้กลับมาอยู่กับ "สติ" อยู่กับตัวเองอีกครั้ง
บางทีมัวทำงานให้มันสำเร็จ จนลืมนึกถึงตัวเอง ทำให้กายสังขารเจ็บป่วยอยู่บ่อย 

ประการสำคัญ คือ การได้กลับอยู่กับธรรมะของพระพุทธองค์ใกล้ชิดขึ้น
หลงลืมอะไรไปหลายอย่างเลยนะชีวิต ขอเริ่มต้นตอนครึ่งชีวิตนี้ยังดีกว่าไม่รู้สึกตัวเลย

เนื่องจากวันนี้เป็นวันพระใหญ่ ขออำนวยพรให้กัลยาณมิตรทุกท่าน
อย่าลืมหลงลืม "การทำความดี" เพื่อความดีจะรักษากายและจิตให้เราให้เบาสบาย

ขออนุโมทนานะครับ

บุญรักษา ทุกท่าน ;)...

..

หมายเลขบันทึก: 677336เขียนเมื่อ 6 พฤษภาคม 2020 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2020 23:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ภาพคมชัดมากค่ะ นั่งกราบพระหน้าคอมพิวเตอร์

หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ทุกองค์ครับ คุณแม่มด

ขออนุโมทนาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท