112 การพัฒนาแผนการจัดการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพ


ตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.๒๕๖๑ ข้อ ๓ กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งต้องกำหนดมาตรฐานการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาแต่ละระดับและประเภทการศึกษาตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกำหนดพร้อมทั้งจัดทำประการหนึ่งคือการจัดทำหรือทบทวนแผนพัฒนาการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพ จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดการพัฒนาแผนพัฒนาการจัดการศึกษาไว้ให้มีการกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์และพันธกิจอย่างชัดเจนสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น วัตถุประสงค์ของแผนการศึกษาชาติ นโยบายของรัฐบาลและต้นสังกัด รวมทั้งทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไว้ในเอกสาร “แนวทางการประเมินคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานศูนย์การศึกษาพิเศษ” ไว้ในมาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการ  

      ดังนั้นเมื่อสถานศึกษาได้กำหนดค่าเป้าหมายและมาตรฐานของสถานศึกษาเรียบร้อยก็จะต้องทบทวนแผนพัฒนาการจัดการศึกษา เดิมแผนพัฒนาการจัดการศึกษามีระยะ ๔ ปี ต่อมาได้มีกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดให้จัดทำแผนระยะห้าปีที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้จัดทำเป็นแผนระยะห้าปี และให้จัดทำเป็นแผนสามปีโดยมีห้วงระยะเวลาตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๕ และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาขน) (สมศ.) ได้นำเสนอแนวทางการประเมินความเป็นระบบของมาตรฐานที่ ๒ กระบวนการบริหารและการจัดการโดยพิจารณาจากกระบวนการดำเนินงานของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีการกำหนดเป้าหมาย การดำเนินงานที่ชัดเจน การกำกับติดตาม ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

กรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่  (พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๓)  ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

          กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาหรือแผนกลยุทธฺหรือแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้

๑. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก (External Environment)ประกอบด้วยการประเมิน STEP ที่เป็นด้านโอกาส (Opportunity : O) อุปสรรคค (Threat : T) และการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environment) ที่ประกอบด้วย 2S4M ที่เป็นจุดแข็ง (Strength :S) และจุดอ่อน (Weakness : W) ด้วยการมีส่วนร่วมจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ดังกล่าวนี้จะชี้ให้เห็นถึงความสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น วัตถุประสงค์ของแผนการศึกษาชาติ นโยบายของรัฐบาลและต้นสังกัด รวมทั้งทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม

๒. การกำหนดทิศทาง เป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ จะบอกให้เห็นถึงการกำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์และพันธกิจชัดเจนหรือไม่อย่างไร โดยจะดูได้จาก

          การกำหนดค่าเป้าหมาย มีความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาหรือไม่ โดยดูได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลฐาน (Based – Line) ย้อนหลังอย่างน้อย ๓ ปีหรือไม่

          การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) วิสัยทัศน์ที่สถานศึกษากำหนดตอบ  What to be? หรือไม่ สถานศึกษาจะเป็นอะไรในระยะอีก ๕ ปีหรือไม่ หรือคำที่เขียนเป็นวิสัยทัศน์ตอนคำถามว่า “What to do?” เป็นพันธกิจ

          พันธกิจ (Mission) จะตอบถามคำถาม “What to do?” ทำอย่างไรจึงจะบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดนั้น

          เป้าประสงค์ (Corporate Objective) เป็นการตอบคำถามว่า “For Whom?” เมื่อทำตามพันธกิจแล้วใครจะได้รับประโยชน์อะไร

          ข้อสังเกตที่สำคัญ ๒ ประการคือการเขียนวิสัยทัศน์ส่วนใหญ่เท่าที่พบจะไม่ตอบคำถามว่า “What to be?” จะเขียนในลักษณะที่บอกว่าจะทำอะไร (What to do?) ส่วนอีกประการหนึ่งคือการเขียนเป้าประสงค์ เป้าประสงค์จะเขียนในลักษณะของผลผลิต (Output) ของระบบนั่นก็คือส่วนใหญ่จะเป็นผู้เรียน แต่ส่วนใหญ่สถานศึกษาจะนำผลลัพท์ (Outcome) ส่วนที่เป็นตัวครู ผู้บริหาร สถานศึกษามาเขียนไว้ในเป้าประสงค์ด้วย

๓. การกำหนดกลยุทธ์ กลยุทธ์ที่โรงเรียนกำหนดส่วนใหญ่เป็นกลยุทธ์พื้น ๆ หรือธรรมดาทั่ว ๆ ไปไม่สามารถตอบสนองให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดได้

๔. การนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ โดยการนำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีสู่การทำแผนงาน โครงการและกิจกรรม สิ่งที่พบเป็นข้อสังเกตก็คือสถานศึกษาทำแผนปฏิบัติการประจำปีโดยไม่ได้เหลือบไปดูแผนพัฒนาการจัดการศึกษา แผนปฏิบัติการประจำปีมีความต่อเนื่องแต่ไม่มีการพัฒนากล่าวคือโครงการและกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปีมีความเหมือนกันทุกปี มีข้อที่ปรับเปลี่ยนคือปี พ.ศ. จำนวนเงินและผู้รับผิดชอบ

๕. การติดตามกลยุทธ์ ประเด็นการติดตามกลยุทธ์ถือว่าเป็นจุดอ่อนของการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา พบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้มีการประเมินความสำเร็จตามกลยุทธ์หรือของแผนพัฒนาการจัดการศึกษา แม้ว่าจะมีพบบ้างในโรงเรียนมาตรฐานสากลและโรงเรียนในฝันสู่มาตรฐานสากล เมื่อสถานศึกษาไม่ได้ทำการประเมินกลยุทธ์ก็จะให้ความเป็นระบบไม่สมบูรณ์หรือขาดความเป็นระบบ การประเมินกลยุทธ์หรือการประเมินแผนพัฒนาการจัดการศึกษาสามารถทำได้โดย

          ๕.๑ สถานศึกษาต้องประเมินโครงการทุกโครงการในแต่ละปี

          ๕.๒ งานแผนงานจะต้องแผนปฏิบัติการประจำปีในแต่ละปี เพื่อจะได้ทราบการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการประจำปีบรรลุผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร

          ๕.๓ เมื่อครบวาระตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาที่กำหนด สถานศึกษาต้องประเมินแผนพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อที่จะได้ทราบแผนกลยุทธฺที่สถานศึกษาได้วสร้างขึ้นนั้นสามารถบรรลุวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์หรือไม่อย่างไรด้วยการนำตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์มาวิเคราะห์ว่ามีผลการดำเนินการบรรลุตามค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

๖. การทบทวนกลยุทธ์ เป็นการนำผลการติดตามหรือผลการประเมินกลยุทธ์หรือประเมินแผนพัฒนา

    การจัดการศึกษาที่ยังไม่บรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ ก็จะนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกและสภาพแวดล้อมภายในสำหรับการทบทวนกลยุทธ์ต่อไป

              ข้อสังเกตที่สำคัญคือส่วนใหญ่สถานศึกษามักจะมีการพัฒนาแผนพัฒนาการจัดการศึกษาที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริงและไม่เป็นระบบหรือขาดระบบ มีการดำเนินการไม่ครบถ้วนตามกระบวนการจัดทำแผนกลยุทธ์หรือไม่เป็นระบบการบริหารจัดการคุณภาพ (PDCA) และเป็นสิ่งที่สถานศึกษาต้องคำนึงถึงและการที่จะให้ผลการประเมินในส่งนี้อยู่ในระดับยอกเยี่ยมก็จะต้องมีรูปแบบหรือนวัตกรรมการบริหารจัดการด้วย

    หมายเลขบันทึก: 677214เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2020 12:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2020 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท