111 การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษากับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่


        ตามกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่  (พ.ศ. 2559 - 2563)  ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรฐานที่ 2 ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ หรือด้านอื่นตามชื่อที่สถานศึกษากำหนดได้กำหนดแนวทางการพิจารณาจากคุณภาพของกระบวนการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อการยกระดับ คุณภาพของผู้เรียนประการหนึ่งคือ “ความเป็นระบบ”  โดยพิจารณาจาก “กระบวนการดำเนินงานของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่องยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน การกำกับ ติดตาม ตรวจสอบและปรับปรุงแกไขอย่างต่อเนื่อง” แล้วระบบคืออะไร หมายถึงอะไร

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พิจารณา “ความเป็นระบบ”  จากกระบวนการดำเนินงานของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่องยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีการกำหนดเป้าหมาย การดำเนินงานที่ชัดเจน การกำกับ ติดตาม ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง และได้ให้ความหมายของคำว่า “ความเป็นระบบ (Systematic)”  ว่าหมายถึง “กระบวนการดำเนินงานด้านการบริหารและการจัดการด้านการจัดการเรียนรู้ ที่เกิดจากการคิดอย่างเป็นกระบวนการ โดยพิจารณาจากตัวอย่าง เช่น กระบวนการ 5W1H ว่าใคร (Who) คือ ใครรับผิดชอบ ใครเกี่ยวข้อง ใครได้รับผลกระทบ ในเรื่องนั้นมีใครบ้าง, ทำอะไร (What) คือ เราจะทำอะไร มีใครทำอะไรบ้าง, ที่ไหน (Where) คือ สถานที่ที่เราจะทำว่าจะทำที่ไหน เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นอยู่ที่ไหน, เมื่อใด (When) คือ ระยะเวลาที่จะทำจนถึงสิ้นสุด เหตุการณ์นั้นทำเมื่อวัน เดือน ปี ใด, ทำไม (Why) คือ สิ่งที่เรา จะทำนั้น ทำด้วยเหตุผลใด เหตุใดจึงได้ทำสิ่งนั้นและอย่างไร (How) คือ สิ่งที่เราต้องรู้ว่า เราจะสามารถทำทุกอย่าให้บรรลุผลได้อย่างไร เหตุการณ์หรือสิ่งที่ทำนั้นทำอย่างไรบ้าง หรืออาจจะเป็น กระบวนการ PDCA คือ การ วางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผน (DO) การตรวจสอบ (Check) และ การปรับปรุงการดำเนินการอย่าง เหมาะสม (Act) เป็นต้น”  กล่าวโดยสรุปก็คือในมาตรฐานที่ 2 ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการมีความเป็นระบบมาน้อยเพียงใด สามารถดูได้จากกระบวนการทำงานหรือกระบวนการบริหารนั้นมีความครบถ้วนตามวงจรคุณภาพ PDCA ของ Demming หรือไม่

          ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะกระบวนการบริหารและจัดการในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานของ สพฐ. ข้อ 2.1  “มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และพันธกิจที่สถานศึกษากำหนดชัดเจน สถานศึกษากำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์และพันธกิจไว้อย่างชัดเจนสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา ความต้องการของ ชุมชน ท้องถิ่นวัตถุประสงค์    ของแผนการศึกษาแห่งชาติ นโยบายของ รัฐบาลและของต้นสังกัด รวมทั้งทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม”

ดังนั้น เพื่อให้สถานศึกษามีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจที่ชัดเจนสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ กล่าวคือสถานศึกษาจะต้องมีกระบวนการในการกำหนดเป้าหมายและกระบวนการทบทวนกลยุทธ์ที่เป็นระบบและครบวงจร มีรายละเอียดดังนี้

  1. กระบวนการในการกำหนดเป้าหมาย รายละเอียดได้นำเสนอแล้วในหัวข้อ “การกำหนดค่าเป้าหมายและมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพ รอบสี่”
  2. กระบวนการทบทวนกลยุทธ์หรือแผนพัฒนาการจัดการศึกษา ในการจัดทำหรือทบทวนกลยุทธ์สถานศึกษาหรือหัวหน้างานแผนงานจะต้องรู้ว่ากระบวนการในการจัดทำแผนกลยุทธ์ที่เป็นระบบประกอบไปด้วย 7 ขั้นตอนดังนี้คือ                                                                 2.1 การประเมินสภาพแวดล้อม (Environment  Analysis)  เป็นการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถานศึกษาทั้งในแง่เชิงบวกและเชิงลบที่มีบทบาทต่อการดำเนินงานของสถานศึกษาแบ่งได้  2 ประเภท  คือ

           2.1.1 การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอก (External Environment)  ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกพิจารณาจาก “โอกาส (Opportunity) และอุปสรรค (Threat) ” ของสถานศึกษา ประกอบด้วย STEP ได้แก่ ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social and Culture : S)  ด้านเทคโนโลยี (Technological  Factors : T) ด้านเศรษฐกิจ  (Economic  Factors  :  E) ด้านการเมืองและกฎหมาย (Political and Legal  Factors : P)     

            2.1.2 การประเมินสภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environment)  เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานของสถานศึกษา  พิจารณาจาก “จุดแข็ง (Strengths)  และจุดอ่อน (Weaknesses) ของสถานศึกษาประกอบด้วย 2S4M ได้แก่ โครงสร้างและนโยบายของสถานศึกษา (Structure : S1) บริการและผลผลิต (Service and Products : S2) บุคลากร (Man : M1) ประสิทธิภาพทางการเงิน (Money  :  M2) วัสดุทรัพยากร (Material  : M3) การบริหารจัดการ (Management : M4) 

      2.2 การประเมินสถานภาพ เป็นการประเมินโดยใช้ SWOT Analysis เพื่อที่จะบอกว่าสถานศึกษาตกอยู่ในสถานใดระหว่างสุนัขจนตรอก (Dog) วัวแม่ลูกอ่อน (Cows) เครื่องหมายคำถาม (Question Marks) และดาวรุ่ง (Star)

      2.3 การกำหนดทิศทาง (Positioning Organization) เพื่อการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ b(Mission) เป้าประสงค์ (Corporate objective)

    2.4 การกำหนดกลยุทธ์ (Strategic Formulation) เป็นการกำหนดวิธีการทำงานอย่างมีทิศทางเพื่อให้ตอบทิศทางของสถานศึกษาซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ของสถานศึกษา ซึ่งกลยุทธ์เปรียบเสมือนการตอบคำถามว่า “เราจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร? หรือ เราจะบรรลุทิศทางของหน่วยงานได้อย่างไร? (How do we get there?)”

      2.5 การนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ (Implementation) เป็นการจัดทำรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ สู่การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี (Action Plan) รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่ใช้ในการทำงานเพื่อให้ได้ผลงานที่กำหนดไว้ในแผน

      2.6 การติดตามกลยุทธ์(Strategy Control) เป็นการติดตามและตรวจสอบเพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนความสำเร็จและล้มเหลวของโครงการกิจกรรมต่าง ๆ

      2.7 การทบทวนกลยุทธ์ เป็นการนำผลการประเมินแผนกลยุทธ์หรือแผนพัฒนาการจัดการศึกษามาใช้ในการพัฒนากลยุทธ์ในวงรอบต่อไป

          ความเป็นระบบของการพัฒนากลยุทธ์จะต้องมีกระบวนการทำงานใบลักษณะที่เป็นวงจร PDCA หรือมีกระบวนการทำงานที่ครบองค์ประกอบทั้ง 7 องค์ประกอบดังกล่าว ดังนั้นในการทบทวนกลยุทธ์ในวงรอบใหม่หลังจากที่โรงเรียนจะทบทวนกลยุทธ์ในวงรอบใหม่ จึงควรปฏิบัติในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้คือ

  1. การใช้ CAPDo Model  นั้นคือโรงเรียนต้องดำเนินการประเมินแผนกลยุทธ์ว่าที่ผ่านมาโรงเรียนได้บรรลุตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์แลกลยุทธ์มากน้อยเพียงใด มีประเด็นใดที่บรรลุแล้ว ประเด็นใดที่ยังไม่บรรลุ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาใช้ในการจัดทำแผนผลยุทธ์ในวงรอบใหม่ต่อไป
  2. ดำเนินการทบทวนกลยุทธ์ตามองค์ประกอบทั้ง 7 ประการดังกล่าว แต่ควรเริ่มต้นจากการนำผลการติดตามกลยุทธ์ (Strategy Control) มาสู่การการทบทวนกลยุทธ์ด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้คือการประเมินสภาพแวดล้อม การประเมินสถานภาพ การกำหนดทิศทาง (Positioning Organization) การกำหนดกลยุทธ์ (Strategic Formulation) และการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ (Implementation)

          โดยสรุปก็คือการดำเนินการในมาตรฐานที่ 2 กระบวนการบริหารและการจัดการจะเน้นที่ความเป็นระบบ โรงเรียนได้ดำเนินการคาบถ้วยตามกระบวนการบริหารจัดการคุณภาพหรือกระบวนการการทำงานของงานนั้น ๆ หรือไม่

หมายเลขบันทึก: 677213เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2020 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2020 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท