109 การพัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของผู้เรียน


  ความสามารถของผู้เรียนประการหนึ่งตามมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในมาตรฐานที่ ๑ คุณภาพผู้เรียน ประเด็นพิจารณา “ผู้เรียนมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม” ซึ่งเป็นประเด็นพิจารณาที่กำหนดขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แต่ดูคล้ายกับว่าเป็นจุดอ่อนเป็นจุดที่ควรได้รับการพัฒนาของสถานศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าสถานศึกษาจะเปิดสอนวิชาโครงการ (Project Work) หรือวิชาการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independence Study : IS) ในสถานศึกษามาตรฐานสากลที่ผู้เรียนจะต้องผลิตงานอย่างสร้างสรรค์

          “การพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม” หมายถึง “ผู้เรียนมีความสามารถ    ในการควบรวมความรู้ได้ทั้งด้วยตนเองและการทำงานเป็นทีม เชื่อมโยงองค์ความรู้และประสบการณ์มาใช้     ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อาจเป็นแนวคิด โครงการ โครงงาน ชิ้นงาน ผลผลิต”

การที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรม สถานศึกษาต้องพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ฯ การที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ฯ ต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการอ่าน การเขียน การสื่อสารและคิดคำนวณ ทั้งนี้คุณครูต้องสอนโดยใช้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ มีสมรรถนะในการพัฒนานวัตกรรม โดยผู้บริหารต้องให้การส่งเสริมสนับสนุนให้ครูมีสื่อ อุปกรณ์สำหรับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สามารถเขียนเป็นแผนภูมิความสัมพันธ์ได้ตามรูป 

           สถานศึกษาควรพัฒนาผู้เรียนให้มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมโดยพัฒนาผู้เรียนให้มีมีนิสัย   รักการอ่าน รู้จักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีความคิดสร้างสรรค์และมีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมออาจใช้การใช้คำถามของครู การใช้แผนผังความคิด (Mind Mapping) ร่วมกับการใช้คำถาม “๕W๑H” และหรือ “๕Why” ให้มากขึ้น ฝึกทำข้อสอบอัตนัยเพื่อเพิ่มทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ การคิดคำนวณ สรุปความคิดรวบยอด คิดเป็นระบบ มีความสามารถ     ในการแก้ปัญหาและการทำข้อสอบเชิงพรรณนารวมถึงให้ผู้เรียนควรได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติให้มากขึ้น ได้เรียนรู้และปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้จากกิจกรรมบูรณาการสาระการเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาตนเองได้ สามารถทำงานเป็นทีมและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ กล้าแสดงออก หรือแนวทางอื่น ๆ ตามที่สถานศึกษาเห็นสมควร

         การประเมินความสามารถของผู้เรียนในการสร้างนวัตกรรมของผู้เรียนจะประเมินเป็น “จำนวนคน” สิ่งที่ต้องระวังก็คือจำนวนคนจะไม่มีเศษเมื่อแปลงเป็นร้อยละ และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือโรงเรียนมีข้อมูลหรือสารสนเทศเกี่ยวกับจำนวนผู้เรียนที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมหรือไม่ ถ้ามีแล้วข้อมูลเหล่านั้นเป็นไปตามค่าเป้าหมายและมาตรฐานที่สถานศึกษากำหนดหรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 677088เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2020 13:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2020 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท