สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID – 19 ในเรือนจำต่างประเทศ


สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID – 19 ในเรือนจำต่างประเทศ


ดร. พิมพ์พร เนตรพุกกณะ 

ผู้อำนวยการกลุ่มงานราชทัณฑ์ต่างประเทศ 

กองทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์ 

สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID – 19 ถือว่ามีความรุนแรงเกินกว่าใครจะคาดคิด ปัจจุบัน มีประชากรทั่วโลกติดเชื้อโรคดังกล่าวแล้ว 1.5 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 94,000 ราย (สถิติ ณ วันที่ 9 เมษายน 2563) ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวาดกลัวและสั่นสะเทือนทุกภาคส่วนในสังคมโลก ส่งผลให้หน่วยงานทุกระดับจำเป็นต้องกำหนดมาตรการและแนวทางที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกัน การควบคุมการแพร่ระบาด การบำบัดรักษา การศึกษาวิจัย การเยียวยาช่วยเหลือ รวมถึงบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืนกฎในสถานการณ์เช่นนี้ 

สำหรับเรือนจำทัณฑสถานนั้น ก็ไม่อาจหลีกหนีการแพร่ระบาดข้างต้นได้ ในความเป็นจริงแล้วเรือนจำและสถานที่คุมขังถือว่าเป็นสถานที่ที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรคได้มากกว่าสถานที่อื่น สืบเนื่องจากเหตุผลสำคัญ นั่นคือ สภาพความแออัดของผู้ต้องขัง ที่ซึ่งคนจำนวนมากต้องอยู่ใกล้ชิดกันในพื้นที่อันจำกัดตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อาจเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ได้แบบภายนอก ร่วมกับสภาวะความเจ็บป่วยเดิมของผู้ต้องขัง การเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสุขอนามัยส่วนบุคคลที่อาจมีข้อจำกัดมากกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ต่างเน้นย้ำให้ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายตระหนักถึงความรุนแรงหากเกิดการแพร่ระบาด พร้อมทั้งเผยแพร่เอกสารคู่มือคำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำและสถานที่คุมขังเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

เอกสารคำแนะนำ “การเตรียมพร้อม การป้องกัน และการควบคุม COVID-19 ในเรือนจำและสถานที่คุมขังอื่นๆ” ขององค์การอนามัยโลก (ที่มา: องค์การอนามัยโลก)

กรณีประเทศไทย มีรายงานยืนยันผลการติดเชื้อหลังกำแพงรวม 3 ราย เป็นผู้ต้องขัง 1 ราย ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ 1 ราย (ทั้งสองราย รักษาหายเป็นปกติแล้ว) และผู้บัญชาการเรือนจำ 1 ราย ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในเรือนจำประเทศอื่นๆ เมื่อค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลเปิด เช่น เว็บไซต์หน่วยงาน หรือเว็บไซต์สำนักข่าวต่างๆ สามารถสรุปการติดเชื้อและเสียชีวิตของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ได้ ดังนี้

ตารางที่ 1 จำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิตของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำต่างประเทศจาก COVID – 19

หมายเหตุ  (1) ข้อมูลจากการสืบค้น ณ วันที่ 9 เมษายน 2563  (2) n/a หมายถึง ไม่ปรากฏข้อมูล



จากข้อมูลของต่างประเทศ มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ ประการแรกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าการแพร่ระบาดในเรือนจำส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับการแพร่ระบาดของ COVID -19 ในสังคมข้างนอก กล่าวคือ ประเทศ หรือมลรัฐที่มีสถานการณ์รุนแรง จะพบการติดเชื้อของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำที่มีจำนวนมากเช่นกัน ดังเช่น ในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษและเวลส์ หรือสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่นิวยอร์ก อิลลินอยส์ มิชิแกน เป็นต้น ในขณะที่ บางประเทศ หรือบางมลรัฐ กลับพบเห็นการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่เรือนจำมากกว่าผู้ต้องขัง อาทิ ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา อิตาลี หรือแม้กระทั่งออสเตรเลียที่พบการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่โดยยังไม่พบกรณีของผู้ต้องขัง 

อย่างไรก็ดี หากดูข้อมูลเชิงลึกจากสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา จะพบจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำที่เรียกว่า jail มากกว่าเรือนจำแบบ prison อย่างเห็นได้ชัด หากอธิบายคร่าวๆ เรือนจำแบบ jail ในสหรัฐอเมริกา มีไว้สำหรับควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี หรือผู้ต้องขังคดีลหุโทษ มีกำหนดโทษต่ำ และมักอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานระดับท้องถิ่นในลักษณะ local jail/ county jail/city jail แตกต่างจากเรือนจำประเภท prison ที่มีไว้สำหรับคุมขังผู้กระทำผิดในคดีรุนแรงกว่า หรือมีกำหนดโทษสูงกว่า และอยู่ภายใต้การกำกับของกรมราชทัณฑ์ระดับมลรัฐ หรือรัฐบาลกลาง ซึ่งเรือนจำประเภท jail จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 มากกว่าเรือนจำประเภท prison เพราะมีสภาพทางกายภาพของสถานที่ที่แออัดหนาแน่น ตลอดจนสภาวะความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังที่ย่ำแย่กว่าเรือนจำประเภท prison อยู่พอสมควร กอปรกับการรับตัวคนเข้าใหม่สู่สถานที่คุมขังมีมากและถี่กว่าเรือนจำแบบ prison โดยล่าสุด Cook County Jail ในชิคาโก้ มลรัฐอิลลินอยส์ เป็นเรือนจำที่มีผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ติดเชื้อมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา รวมกันกว่า 400 คน

ประการต่อมาทุกระบบงานราชทัณฑ์ต่างออกมาตรการและแนวทางตามบริบทที่เหมาะสมของตนเองเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในสถานที่คุมขัง เช่น กรมราชทัณฑ์รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา ออกเป็นแผนปฏิบัติการ (BOP COVID - 19 Operations Plan) อังกฤษและเวลส์เผยแพร่คำแนะนำ COVID – 19 ในเรือนจำและสถานที่คุมขัง โดยเมื่อพิจารณาจากหลายๆ ประเทศ พบว่ามาตรการที่ใช้ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประกอบด้วย การงดเยี่ยมญาติที่เรือนจำโดยเด็ดขาด แต่เพิ่มช่องทางและตารางเวลาให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อกับครอบครัวได้มากขึ้น ผ่านการโทรศัพท์ การส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์ การเยี่ยมผ่านโปรแกรม Skype การเขียน Email การเยี่ยมแบบ VDO (เรือนจำจะยกเว้นค่าธรรมเนียม หรือคิดในอัตราต่ำเป็นพิเศษ) การจำกัดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังให้น้อยที่สุด กระบวนการคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกายและกักตัวตามระยะเวลาที่กำหนด แนวทางการคัดกรองผู้ต้องขังเข้าใหม่ การห้ามเจ้าหน้าที่เดินทางออกนอกพื้นที่ รวมถึงกระบวนการปฏิบัติตัวภายในเรือนจำ กรณีตรวจพบผู้ต้องขังต้องสงสัย หรือผู้ต้องขังยืนยันการติดเชื้อ การทำความสะอาดพื้นที่หรือวัสดุอุปกรณ์ การสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันตนเอง แนวทางการลดการรวมกลุ่มของผู้ต้องขัง ในรูปแบบการสลับเวลาทำกิจกรรมต่างๆ แม้กระทั่งข้อความหรือโปสเตอร์เผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และแนวทางการดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดป้องกันการติดเชื้อโรคภายในเรือนจำสำหรับผู้ต้องขัง เช่น การใส่หน้ากาก การล้างมือบ่อยๆ การสังเกตอาการความเจ็บป่วยที่เข้าข่ายไวรัสโคโรนา ทั้งนี้ มาตรการและแนวทางส่วนใหญ่จะเป็นการประยุกต์ตามเอกสารคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานควบคุมโรคของประเทศ/มลรัฐ นั้นๆ 

เจ้าหน้าที่เรือนจำในประเทศจีนตรวจวัดอุณหภูมิผู้ต้องขัง (ที่มา: กระทรวงยุติธรรมจีน)

ประการสุดท้าย เกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงและความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของ COVID – 19 สามารถพบเห็นได้ในหลายระบบงานราชทัณฑ์ แต่ทว่าข้อเสนอนี้ ถือว่ายังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร กล่าวคือ กลุ่มแรก ที่มักเป็นข้อเรียกร้องของฝั่งทนายความหรือครอบครัวของผู้ต้องขัง ตลอดจนหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ล้วนพยายามเสนอให้รัฐเร่งระบายคนออกจากเรือนจำให้เกิดพื้นที่หรือระยะห่างให้มากขึ้น เบื้องต้นมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่เปราะบางหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนกลุ่มอื่น เช่น ผู้ต้องขังสูงอายุ ผู้ต้องขังที่ป่วยหนัก ผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์และมีบุตรติด เป็นต้น ร่วมกับผู้ต้องขังกลุ่มที่โทษเหลือน้อยไม่เกิน 2 เดือน และกระทำความผิดในคดีเล็กน้อย ซึ่งการปล่อยตัวนี้ มีตั้งแต่ลักษณะปล่อยตัวก่อนพ้นกำหนดโทษเดิมไปเลย หรือ อาจย้ายให้ไปคุมขังที่บ้านแทน โดยสวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เพื่อติดตามพฤติกรรม

การดำเนินการระบายคนออกเช่นนี้ อาศัยอำนาจตามกฎระเบียบที่ไม่เหมือนกัน มีตั้งแต่ อำนาจฝ่ายบริหาร อำนาจของศาล จนกระทั่งถึงอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบงานเรือนจำ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสหรัฐอเมริกา จะพบการปล่อยตัว หรือระบายคนออกจากเรือนจำประเภท jail ค่อนข้างเยอะ (อาทิ city jail และ county jail ในนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย โอไฮโอ เท็กซัส อลาบามา โคโลราโด และนิวเจอร์ซีย์ ฯลฯ) บางแห่งมีจำนวนผู้ต้องขังลดลงเกือบครึ่ง สาเหตุหนึ่ง เพราะสภาพของเรือนจำแบบ jail ที่กล่าวไปในตอนต้น ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในระดับที่รุนแรงและอันตรายกว่าเรือนจำแบบ prison ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การปรับเกณฑ์การพักการลงโทษและการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไขอื่นๆ ให้ผู้ต้องขังได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น ในกรณีนี้ อำนาจส่วนใหญ่จะอยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ หรือ Parole Board ที่เร่งคัดกรองตรวจสอบคุณสมบัติและพิจารณาคำร้องให้บ่อยมากขึ้นกว่าปกติ (เช่น ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไอโอวา จอร์เจีย มิชิแกน) นอกจากสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนี้จะเห็นข้อมูลการปล่อยตัวของผู้ต้องขังในประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น อิหร่าน (85,000 คน) อินโดนีเซีย (ตั้งเป้า 30,000 คน) อังกฤษและเวลส์ โคลัมเบีย อินเดีย (11,000 คน) ปากีสถาน (4,000 คน) และอัฟกานิสถาน (ประมาณ 10,000 คน) เป็นต้น

ภายในเรือนจำประเทศอินโดนีเซีย (ที่มา: AsiaNews)

อย่างไรก็ดี กลุ่มที่สองคือ ประเทศหรือมลรัฐ ที่ยังไม่มีนโยบายการปล่อยตัวแบบกลุ่มแรก ด้วยมุมมองหลักที่ว่า สิ่งสำคัญที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ควรเป็นการดำเนินการป้องกัน ต่อสู้และควบคุมการติดเชื้อภายในเรือนจำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด หรือ การจำกัดกรณีการติดเชื้อให้น้อยที่สุด การคัดกรองและกักตัว การเน้นสุขอนามัยที่มือ รวมถึงการดูแลรักษาผู้ป่วย มากกว่าการปล่อยผู้ต้องขังออกมา อันที่จริงบางกลุ่มเล็งเห็นว่า การปล่อยตัวผู้ต้องขังจำนวนเพียงหลักร้อย ถึงหลักหมื่นคน ไม่ได้ช่วยให้สภาพความแออัดในเรือนจำและสถานที่คุมขังดีขึ้น หรือจะช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ในทางตรงกันข้าม การปล่อยตัวผู้ต้องขังจะทำให้สังคมภายนอกเกิดความหวาดกลัวต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือกรณีเหยื่ออาชญากรรมที่อาจรู้สึกเป็นกังวล ยิ่งเป็นการสร้างความตื่นตระหนก ซ้ำเติมประชาชนเพิ่มขึ้นอีก นอกจากความหวาดกลัวในการติดเชื้อโรคอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นนี้ หมายความรวมถึงความพยายามในการชะลอการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาและผู้กระทำผิดเข้าสู่สถานที่คุมขัง เนื่องจากศาลในบางประเทศมีการพิจารณาคดีให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการประกันตัวง่ายขึ้น หรือเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลาย

เป็นที่น่ายินดีว่าหลายประเทศยังสามารถปกป้องรักษาดินแดนในเรือนจำของตนเองได้อย่างเข้มแข็ง เช่น นิวซีแลนด์ ที่ยังไม่พบการติดเชื้อที่เรือนจำไหนเลยทั้งในกลุ่มผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ แต่ถึงแม้จะยังไม่พบการติดเชื้อ ประเทศเหล่านี้ก็ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการความหวาดกลัวและความตึงเครียดที่จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การสื่อสารทำความเข้าใจ การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่จึงถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน มิฉะนั้นอาจเกิดความวุ่นวายและการก่อจลาจลได้ง่ายๆ ดังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วในเรือนจำประเทศอิตาลี โคลัมเบีย อิหร่าน และประเทศไทย ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ในขณะที่วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโรคที่อุบัติขึ้นมาใหม่นี้ ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะยุติลงเมื่อใด ระบบงานราชทัณฑ์ก็ต้องเตรียมพร้อมยืนหยัดในการต่อสู้ไม่ต่างไปจากโลกภายนอก ซึ่งคงต้องคอยติดตามสถานการณ์กันต่อไป ว่าการแพร่ระบาดในเรือนจำจะพัฒนาสู่จุดสูงสุดเมื่อใด พร้อมร่วมกันเอาใจช่วยว่าจะมีประเทศใดบ้างที่ระบบงานราชทัณฑ์สามารถเอาชนะสงคราม COVID – 19 นี้ได้อย่างแท้จริง

------------------------------------------------------

ที่มาของข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 676821เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2020 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2020 07:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท