การพัฒนาบุคลิกภาพสำหรับนักทรัพยากรบุคคล


การพัฒนาบุคลิกภาพ (Personality)

สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 เรียบเรียงโดย อดิศักดิ์  ปานด่วน

           การปฏิบัติงานของข้าราชการที่ดี ต้องอาศัยทั้งความรู้ความสามารถที่จะนำไปสู่ผลงาน แต่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ คุณลักษณะและบุคลิกภาพของผู้ปฏิบัติงาน เพราะเป็นการแสดงออกที่สื่อให้เห็นถึงภาพลักษณ์ขององค์กร บุคลิกภาพของข้าราชการจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะสะท้อนหรือสื่อว่าองค์กรนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ  น่าประทับใจ และมีความเป็นมืออาชีพ พร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้รับบริการทั้งลูกค้าภายนอกและภายในได้เพียงใด

               การพัฒนาบุคลิกภาพจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งการพัฒนาบุคลิกภายใน ได้แก่ การมีทัศนคติทางบวกและความเข้าใจของความสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพทั้งต่อตนเองและองค์กร การใช้ภาษากาย การใช้น้ำเสียง การบริหารใบหน้า และท่าทาง ให้มีท่วงทีลีลาที่สง่างาม พร้อมไปกับการพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก ซึ่งหากข้าราชการ และผู้ปฏิบัติงานต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนตนเองให้ดูสง่าขึ้น ย่อมเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักทรัพยากรบุคคล จะสามารถพัฒนาไปสู่ HR Professional ที่มีความเป็นมืออาชีพอย่างรอบด้านได้

ความหมายของบุคลิกภาพ (Personality)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า “บุคลิกภาพ” ไว้ว่า “บุคลิกภาพ คือ สภาพนิสัยเฉพาะคน”

ในหนังสือ Dictionary of Education ของ Carter V. Good (Good 1973) ให้ความหมายของบุคลิกภาพไว้ว่า “บุคลิกภาพ หมายถึงการแสดงออกด้านอารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมต่างๆของแต่ละบุคคล อันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสภาพแวดล้อมทางด้านจิตวิทยาและสังคมของบุคคลทั่วไป”

ดังนั้นเราอาจสรุปความหมายของคำว่า“บุคลิกภาพ” ได้ว่า คุณลักษณะทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งรวมอยู่ในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทำให้บุคคลนั้นมีความโดดเด่น และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมั่นใจ เป็น ที่น่าเชื่อถือแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง”

ความสำคัญของบุคลิกภาพ

กล่าวโดยทั่วไป บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อบุคคลดังต่อไปนี้

1. ช่วยให้ง่ายต่อการจดจำ และการเข้าใจบุคคล เพราะบุคลิกภาพเป็นของเฉพาะตัว ใครมีบุคลิกภาพโดดเด่นอย่างไร ก็มักจะแสดงออกมาให้ปรากฏแก่สายตาผู้พบเห็นเช่นนั้นเป็นประจำ

2. เป็นแบบฉบับที่นำไปเป็นตัวอย่างได้ บุคลิกภาพที่ดีของบุคคลบางคนสามารถนำไปเป็นแบบอย่างแก่บุคคลอื่น ๆ ในองค์กรได้

3. ช่วยให้ความมั่นใจในตนเอง บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีและเหมาะสมจะทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น

4. ช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดี บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีย่อมสามารถสร้างปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นได้ดีและได้รับการยอมรับนับถือ

5. ง่ายต่อการทำนายพฤติกรรมของบุคคล เพราะอุปนิสัยและอารมณ์ที่แตกต่างกันของบุคคล ย่อมมีผลพฤติกรรมที่แสดงออกต่างกันด้วย

6. สังคมให้การยอมรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพดี ไม่ว่าจะบุคลิกภาพในการพูดจา ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้บุคคลในกลุ่มยอมรับนับถือ

7. ช่วยทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน บุคคลที่มีบุคลิกภาพดี ย่อมเป็นที่รักเคารพของบุคคลทั่ว เพื่อประกอบกิจการงานใด ๆ จึงมักจะมีความผู้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้บุคลิกภาพของบุคคลแตกต่างกันไป เกิดจากอิทธิพลดังต่อไปนี้

1. อิทธิพลของร่างกาย เช่น ผู้ที่มีรูปร่างเตี้ย ผิดไปจากธรรมดาใคร ๆ ต่างก็ทักว่าเตี้ย ย่อมทำให้เด็กเชื่อว่าตนไม่สูงสง่าอย่างผู้อื่น จึงต้องกระทำใด ๆ เพื่อเป็นการชดเชยสิ่งที่ตนขาดหายไป เช่น เดินคลอนศีรษะ แบบนักเลงโต เพื่อแสดงว่าไม่มีปมด้อย

2. อิทธิพลของต่อมและฮอร์โมนในร่างกาย โดยปกติต่อมในร่างกายคนเราที่อิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ได้แก่ ต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมธัยรอยด์ ต่อมแอดรีแนล เป็นต้น ตัวอย่างเช่นต่อม ธัยรอยด์เป็นต่อมที่มีอิทธพลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย ถ้าต่อมนี้ฉีดฮอร์โมนมากไปทำให้การเผาผลาญในร่างกายมาก ก็จะกลายเป็นคนลุกลี้ลุกสนเคลื่อนไหวอยู่เสมอ หากต่อมนี้ฉีดฮอร์โมนน้อยก็จะกลายเป็นคนเฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง

3. อิทธิพลของสังคม บุคคลที่มีความเป็นอยู่ในสังคมที่ต่างกัน ย่อมมีบุคลิกภาพต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางครอบครัว กลุ่มเพื่อน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ย่อมมีอิทธิพลต่อบุคคลนั้นมาก

4.อิทธิพลของการศึกษา การศึกษาและการเรียนรู้ของมนุษย์ ความรู้สึกนึกคิด ย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในช่องทางใด ๆ ย่อมส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของบุคคลได้เสมอ

ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ

ปัจจัยที่อิทธิพลทำให้บุคลิกภาพของคนเราต่างกัน ที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการ คือ

1. พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง ลักษณะต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่นรูปร่าง หน้าตา นัยน์ตา ผิวพรรณ สีของผม ชนิดของโลหิต เชาว์ปัญญา รวมทั้งโรคบางอย่างอีกด้วย เป็นต้น

2. สิ่งแวดล้อม (Environment) หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวบุคคล ตั้งแต่สภาพครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู สภาพสังคมอื่น ๆ ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งมีอิทธิพลพัฒนาการทางด้านสติปัญญา อุดมคติ เจตคติ ค่านิยม อารมณ์ กิริยา มารยาท เป็นต้น

ปัจจัยที่สำคัญทั้ง 2 ประการ ก่อให้บุคลิกภาพ 7 ชนิด คือ

1. บุคลิกภาพทางกาย เช่น รูปร่างเล็ก ใหญ่ อ้วน ผอม สูง เตี้ย ซึ่งเป็นบุคลิกภาพภายนอก เป็นสิ่งแรกที่เรามองเห็นซึ่งมีผลทางจิตใจด้วย ถ้าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีจิตใจก็สดชื่น แจ่มใส

2. บุคลิกภาพทางสมอง เช่น ความเฉลียวฉลาด ความจำ การลืม จินตนาการ เชาว์ปัญญา ความตั้งใจ ความพอใจ การตัดสินใจ

3. บุคลิกภาพทางความสามารถ ความถนัด เช่น ความสามารถในการเรียน การทำงาน อันเป็นลักษณะตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล แต่ละคนมีความสามารถความถนัดไม่ถนัดเหมือนกัน เช่น ความสามารถในการแก้ปัญญาเฉพาะหน้า ความถนัดทาง ด้านภาษา กีฬา ศิลปะ

4. บุคลิกภาพทางอุปนิสัย หมายถึง ความประพฤติ ศีลธรรมจรรยาที่มีอยู่ในตัวบุคคล เช่น ความสุขภาพ ซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน ความไม่เห็นแต่ตัว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ

5. บุคลิกภาพทางการสมาคม เป็นพฤติกรรมที่แสดงต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทาง ความประพฤติ เช่น ชอบคบหาสมาคม ชอบเก็บตัว สงบเสงี่ยม ชอบทำตัวเด่น ชอบพูดเสียงดัง ยอมรับฟังเหตุผล ฯลฯ

6. บุคลิกภาพทางอารมณ์ เป็นการแสดงออกแสดงออกทางความรู้ที่ทำให้เกิดการกระทำต่าง ๆ เช่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย อดทน กล้าหาญ ขี้ขลาด ใจเย็น ใจร้อน ร่าเริง แจ่มใส เฉื่อยชา ฯลฯ

7. บุคลิกภาพทางกำลังใจ คือความสามารถในการควบคุมจิตใจ หรือบังคับพฤติกรรมต่างๆ ได้เช่น     ใจแข็ง ใจมั่นคง ความขยันหมั่นเพียร บากบั่น อดทน ตรงข้ามกับคนที่ใจอ่อน ท้อถอย ไม่กล้าต่อสู้ปัญญาอุปสรรค ต่าง ๆ ถ้ารู้เสียใจ ผิดหวังก็ร้องไห้ ก็แสดงออกทางสีหน้าหรือคำพูด เป็นต้น

บุคลิกภาพที่ดีของข้าราชการ

บุคลิกภาพที่เป็นที่ปรารถนาของข้าราชการเพื่อการทำงานร่วมกัน ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีสุขภาพสมบูรณ์

2. ลักษณะท่าทางมีสง่า กระดับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไว กระตือรือร้น ใฝ่และแสวงหาความก้าวหน้า

3. เป็นคนมีเหตุผล ละเอียด สุขุม รอบคอบ

4. มีอารมณ์มั่นคง มีอารมณ์ขัน ร่าเริงอยู่เสมอ รู้จักบังคับใจตนเอง ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์

5. ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีความทุกกาลเทศะ

6. มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความอดทนสูง

7. เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ

8. ไม่มองโลกในแง่ร้าย เป็นบุคคลที่มองโลกแง่ดี

9. เป็นบุคคลที่ยอมรับความจริง และเข้าใจโลก

10. มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่เป็นคนขี้อาย มีความสามารถในการตัดสินใจไม่รวนแร

11. มีความร่าเริง สดชื่น แจ่มใสอยู่เสมอ

12. มีความสุขภาพเรียบร้อย กิริยามารยาท วาจาท่าทางแสดงออกเป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น

13. มีความเห็นอกเห็นใจ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีความทุกข์

1๔. มีความสงบเสงี่ยม รู้จักอดกลั้น บังคับใจตนเอง ไม่ตื่นเต้น หวั่นไหวต่อเหตุการณ์

1๕. ไม่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น

แนวทางการพัฒนาบุคลิกภาพ

การพัฒนาบุคลิกภาพ คือ การวิเคราะห์ถึงลักษณะเฉพาะอย่างของแต่ละบุคคลว่าเหมาะสมกับงานประเภทใดอย่างไร แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างให้เหมาะสมกับหน้าที่การงานประเภทนั่นให้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น การพัฒนาบุคลิกภาพของข้าราชการ คือ การวิเคราะห์ถึงลักษณะเฉพาะของตำแหน่ง รวมทั้งจรรยาบรรณของข้าราชการมาประกอบกันให้เกิดเป็นแนวทางการพัฒนาบุลิกภาพ

การพัฒนาบุคลิกภาพของข้าราชการ มีกระบวนการที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. การวิเคราะห์ตนเอง (Self Analysis)

    การวิเคราะห์ตนเองหมายถึง การสำรวจตรวจสอบว่าตัวของเราเองมีสิ่งใดดีหรือสิ่งใดบกพร่องอะไรบ้างที่เหมาะสมกับงานี่ทำ ในขณะเดียวกันก็สำรวจสอบดูว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง วิธีการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ตัวเองที่ให้ผลมากกว่าวิธีอื่น คือการให้บุคคลที่เราสมาคมอยู่ด้วยวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยหรือตรงไปตรงมาและตัวเราก็ต้องยอมรับเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ตัวเรา เราก็สามารถวิเคราะห์ตัวของเราเองได้โดยใช้วิธีการพิจารณาใคร่ครวญตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ หมั่นนึกคิดอยู่เสมอว่า “จงเตือนตนด้วยตนเอง” จะพูดจะทำหรือนึกคิดสิ่งใดจงสติให้มั่นคงอยู่เสมอ

2. การปรับปรุงและฝึกฝนตนเอง (Self Improvement and Training)

    การแก้ไขปรับปรุงตนเองจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ตนเองเป็นเบื้องต้นนั่นคือ จะต้องฝึกตนให้เป็นคนรู้เหตุ รู้ผล เมื่อรู้ว่าอะไรไม่เหมาะสมแล้วมีผลเสียอย่างไร ก็พยายามเลิกพฤติกรรรมสิ่งนั้นเสีย เช่น พูดเสียงเบา ก็พูดให้ดังขึ้น เดินไหล่เอียงไปข้างหน้าก็พยายามเดินให้ตัวตรง เป็นคนเจ้าอารมณ์ก็พยายามฝึกความอดทนหรือมีขันติ หรือแต่งกายไม่ค่อยเรียบร้อยก็พยามยามแต่งกายระเบียบแบบแผนของข้าราชการ เป็นต้น และต้องหมั่นฝึกให้เป็นนิสัย การฝึกตนอาจสำเร็จได้ตังอาศัยความจริงใจ และอดทนเป็นปัจจัยสำคัญ

3. การแสดงออก (Behavior)

    การแสดงออกภายหลังที่ผ่านการปรับปรุง และการฝึกฝนมาแล้วเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้เกิดขึ้น พยายามแสดงออกและปฏิบัติบ่อยๆ จนทำให้เกิดความรู้สึกเคยชิน การแสดงออกจะทำให้เราทราบว่า บุคลิกภาพได้พัฒนาหรือเปลี่ยนไปมากน้อยอย่างไร

4. การประเมินผล (Evaluation)

    การประเมินผล เป็นการสำรวจตรวจสอบครั้งสุดท้าย หลังจากได้กระทำตามขั้นตอนที่ได้วางแผนหรือตั้งใจไว้แล้ว การประเมินผลทางบุคลิกภาพควรให้คนอื่นที่เรามีปฏิกิริยาสัมพันธ์อยู่ด้วยเป็นผู้ประเมิน ถ้าเป็นผู้ที่เราคุ้นเคยมาก ๆ เป็นผู้ประเมินจะยิ่งน่าเชื่อถือมากกว่าคนที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย

วิธีพัฒนาบุคลิกภาพ การพัฒนาบุคลิกภาพอาจเริ่มต้นพัฒนาจากสิ่งเหล่านี้

1. การวางท่าทีท่าทาง (มาด) ถ้าเราต้องการให้คนอื่นสนใจชื่นชอบ ท่าที ท่าทาง การทรงตัว วางตัวของเรา ซึ่งเป็นการสร้างเสน่ห์และเสริมสร้างบุคลิก เราต้องพยายามสังเกต หัดวางมาดที่ดีเสียก่อน ฝึกหัดลีลาท่าทาง การพูดคุย การหัวเราะ ยิ้มแย้ม ตลอดจนการเดินเยื้องย่าง การเคลื่อนไหวตัวฝึกฝนให้สง่างาม ถ้าไม่สง่างามก็ต้องน่ารัก การวางตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ เพื่อให้ผู้พบเห็นประทับใจ

2. แต่งกายดี การแต่งกายเป็นสิ่งที่มองเห็นได้เป็นลำดับแรก เครื่องแต่งกายช่วยสร้างบุคลิก ความประทับใจ ดึงดูดความสนใจ การแต่งกายให้ดูดีนั่นไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้ายี่ห้อที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ราคาแพง นำสมัย  แต่อยู่ที่ความเมาะสมกับรูปร่าง สะอาด รีดเรียบ เหมาะสมกับทรวดทรงเอวองค์และกาลเทศะ

3. ยิ้มแย้มแจ่มใส ทุกคนชอบคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส การยิ้มจึงเป็นการสร้างเสน่ห์ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นไร จะสุขจะทุกข์อย่างไรถ้าอยากมีบุคลิก อยากมีเสน่ห์ ก็ต้องยิ้มแย้มไว้ก่อน จะยิ้มมากยิ้มน้อยก็ตามแต่สถานการณ์ แต่อย่างน้อยก็ควรให้หน้าอมยิ้ม หรือบ่นยิ้มเข้าไว้ อย่าให้หน้าปมทุกข์เป็นอันขาดเพราะบุคลิกเราจะติดลบและหมดเสน่ห์

4. สื่อภาษาพูดภาษากายให้มีแต่ความหมายที่ดีออกมา พูดจาใช้ภาษาดอกไม้ให้ไพเราะ สุภาพ ไม่พูดหยาบคาย ทะลึ่งตึงตัง ไม่ดูที่ดูเวลา ต้องรู้วิธีและหัดพูดให้ไพเราะเข้าไว้รู้เวลาไหนควรพูดเวลาไหนควรหยุดพูด พูดให้ประทับใจพูดให้มีบุคลิกพูดไพเราะเพราะพริ้งเข้าไว้

5. ร่าเริงแจ่มใสสนุกสนาน หน้าตายิ้มแย้มจิตใจก็แจ่มใส แต่งกายดีก็แจ่มใสมีอารมณ์ขัน หัวเราะ สนุกสนาน การเข้าร่วมกิจกรรมรื่นเริง สนุกสนานเต้นรำ ก็จะช่วยให้เกิดบุคลิกที่น่าพึงพอใจผู้คนต้องสัมพันธ์ด้วย      มีเสน่ห์น่าเลื่อมใสศรัทธามากขึ้น

6. วางตัวให้มีศักดิ์ศรีมีเกียรติ ความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทำให้ความเกิดความเลื่อมใสยกย่อง แต่ควรทำอย่างพองาม อย่าเจ้ายศเจ้าอย่างจนเกินงาม ไม่มากเกินไป แต่ให้น่ารักน่านับถือ เพราะอาจจะทำให้คุณมีบุคลิกเหมือนคนหยิ่งหรือจองหองไปได้

7. เป็นกันเองและเปิดเผย อย่าถือตัว เย่อหยิ่งจนเกินไป ต้องให้พองาม พอสวย มีความเป็นพื้น ๆ(Friendly) บางคนมีเพื่อนสนิทสนมมากมาย แต่พอมีตำแหน่งใหญ่โต ความสนิทสนมเป็นกันเองหายไป ทำคล้ายกับคนไม่รู้เคยรู้จักกันมาก่อน จงมีความรู้สึกท่าทางที่จะเป็นเพื่อนกับทุก ๆ คน อย่ามองเมินหรือก้มหน้าไม่สู้สายตาไม่มองหน้าคน ทำเหมือนมีลับลมคมใน หรือมีบุคลิกเหมือนนางอาย

8. การทำตนให้คล่องแคล่วว่องไว (Active) คนที่มีความคล่องแคล่ว ย่อมทำให้อื่นคล่องแคล่วไปด้วย แสดงให้เห็นความเป็นคนกระฉับกระเฉง เป็นลักษณะ ที่สำคัญของหัวหน้า ผู้นำ นักบริหารที่มีบุคลิกดี เพราะจิตใจที่เข้มแข็งกระฉับกระเฉงแคล่วคล่องว่องไวมักจะอยู่ในร่างกายที่ แข็งแรงถ้าจิตใจห่อเหี่ยว ร่างกายก็ห่อเหี่ยวเชื่องช้า เชื่อมซึมไปด้วย ทำให้เสียบุคลิก

9. บังคับควบคุมจิตใจอารมณ์ ผู้มีอิทธิดีย่อมไม่แสดงตนออกตามจิตใจอารมณ์ของตน เมื่อไม่พอใจไม่สมหวัง ไม่แสดงอาการหัวเสีย ไม่ท้อแท้เมื่อเกิดความพลั้งพลาดไม่แสดงความอ่อนแอให้ผู้อื่นเห็น การบังคับสีหน้า อากัปกิริยาให้อยู่ในอาการสงบ การควบคุมบังคับจิตใจอารมณ์ได้ ผู้นั่นจะมีบุคลิกที่ดีได้

10. การอ่านความรู้สึกหรือความต้องการของผู้อื่น การหัดสังเกตอ่านอากัปกิริยา ในใจ สายตา ท่าทาง น้ำเสียงการพูดของผู้อื่นเพื่อปรับบุคลิกของเราให้เหมาะสม แสดงท่าทาง การพูดให้เหมาะสม เก็บข้อมูลให้มากที่สุดไม่ใช่เอาแต่วางมาดหรือเอาแต่พูดเท่ห์ ๆ โดยไม่ดูความเหมาะสม โดยสังเกตอารมณ์ของผู้เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร งานยุ่งหรือไม่ สถานการณ์รอบตัวอำนวยหรือไม่

11. การตรงต่อเวลา การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งทำให้อื่นไม่พอใจเพราะต้องเสียเวลารอเสียงาน ทำให้มองเห็นว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบไม่จริงจัง หย่อนยาน ทำให้เสียบุคลิกได้

12. อย่าแสดงตนเป็นผู้รู้มาก อย่าทำเก่งทุกเรื่อง ให้คนอื่นเก่งบ้างเพราะถ้าเราแสดงว่ารู้ทุกเรื่อง คนอื่นก็ไม่อยากแสดงความรู้ของเขาออกมาให้เราเห็นเพราะอาจเป็นการฉีกหน้าเราว่าเราไม่รู้ จึงต้องหัดเป็นผู้ฟัง พูดเพื่อให้เขาแสดงความคิดเห็น ขณะที่เราเป็นนักฟังย่อมได้เปรียบเหมือนผู้ที่อยู่ในที่ซ่อนที่กำบัง ส่วนผู้พูดเหมือนผู้เดินมาในโล่งแจ้ง ย่อมมีโอกาสถูกยิงได้ง่าย การไม่แสดงตนเป็นผู้รู้มาก หัดฟังความคิดของผู้อื่น แสดงแต่ความเห็นริเริ่มสร้างสรรค์ จะสร้างการควบคุมอารมณ์จิตใจทำให้เกิดความสุขุมเป็นผู้นำ และมีบุคลิกดีในที่สุด

บุคลิกภาพที่ดีของนักทรัพยากรบุคคล

นักทรัพยากรบุคคล เป็นตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยผู้มีบุคลิกภาพดี เพราะต้องพบปะกับบุคคลหลากหลายประเภท หรือต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหลายฝ่าย ตั้งแต่ข้าราชการระดับล่างไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง เป็นการปฏิบัติงานทั้งด้านวิชาการ และงานในลักษณะการสื่อสาร พูด นำเสนอต่อกลุ่มเป้าหมายในสถานที่ต่าง ๆ การคัดสรรบุคคลมาทำหน้าที่นี้ จึงต้องพิจารณาคุณลักษณะที่โดดเด่นตามที่องค์กรต้องการ หรือหากผู้ปฏิบัติงานคนใดยังมีบุคลิกภาพไม่เหมาะสมก็ต้องผ่านการฝึกฝน อบรม พัฒนา เพื่อให้มีคุณลักษณะที่ดีและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บุคลิกภาพพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับข้าราชการตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล ที่พึงยึดถือปฏิบัติและฝึกฝนตนเองให้ถูกต้องเหมาะสม ดังต่อไปนี้

  1. 1. การแต่งกาย การแต่งกายของนักทรัพยากรบุคคลเป็นบุคลิกภาพพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสิ่งแรกที่บุคคลอื่น ๆ ตั้งแต่ผู้เข้าอบรม ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน วิทยากร มองเห็นภาพลักษณ์ ให้เป็นที่น่าชื่นชม เกิดเจตคติที่ดีต่อนักทรัพยากรบุคคล เมื่อบุคคลมีเจตคติที่ดีต่อกัน ความนิยมยกย่องนับถือก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ที่เป็นนักทรัพยากรบุคคลจึงควรให้ความสนใจในการแต่งกาย ให้มีความเหมาะสมกับกาลเทศะทั้งในเวลาปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ และสถานที่อื่น ๆ ตามภารกิจ

   การแต่งกายที่เหมาะสมนั้น มิได้หมายความว่า จะต้องใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีราคาแพง ๆ แต่ขึ้นอยู่กับการเสือกสีสันให้เหมาะสมกับผิวพรรณ และการใช้เสื้อผ้าที่มีรูปทรง เหมาะสมมากกว่า กล่าวโดยสรุปนักทรัพยากรบุคคลควรเสริมบุคลิกภาพในการแต่งกายของตนเอง ดังนี้

1.1 เป็นไปตามรูปแบบที่ตกลงร่วมกัน เช่น เครื่องแบบข้าราชการ แบบยูนิฟอร์มการปฏิบัติงานในพิธีการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เหมาะสมกับความนิยมของสังคมตามโอกาส

           ๑.๒ ถูกต้องตามกาลเทศะ เช่น ชุดสูท ชุดปฏิบัติงานนอกสถานที่ ชุดงานเลี้ยงสังสรรค์ ให้ถูกต้องตามลักษณะงาน

1.3 สวมเสื้อผ้าให้รัดรูปทรงแต่พองาม ไม่หลวมจนดูรุ่มร่าม หรือคับตึงจนดูอึดอัด

1.4 ก่อนสวนใส่เสื้อผ้า ต้องซักรีดให้เรียบร้อยพอสมควร

1.5 แต่งกายให้เหมาะสมเพศ วัย และผิวพรรณ

1.6 ควรสวมรองเท้าเหมาะสมกับชุด และลักษณะงานที่ปฏิบัติ         

          1.๗ การเข้าเฝ้าฯในงานพระราชพิธี รัฐพิธี ต้องแต่งตามหมายกำหนดการ คำสั่ง หรือระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องเต็มยศ ครึ่งยศ หรือเครื่องแบบปกติ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (สำหรับเครื่องแบบปกติ)

2. กิริยามารยาท กิริยามารยาทในที่นี้จะเน้นเฉพาะกิริยาอาการซึ่งบุคคลต้องมีปฎิสัมพันธ์กับบุคคลอยู่เป็นประจำ เช่น ความมีสัมมาคาราวะเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่โดยการโน้มตัวให้ต่ำตามฐานนะของบุคคล การเจรจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล อ่อนหวาน เมื่อทำสิ่งใดที่ผิดพลาดและส่งผลกระทบต่อบุคคลข้างเคียงควรกล่าวคำว่า “ขอโทษ” หรือ “ขออภัย” เมื่อพบผู้ที่ควรเคารพนับถือซึ่งเรารู้จักคุ้นเคยควรแสดงความเคารพด้วยการไหว้หรือวิธีอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมกับกาลเทศะ และเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นควรกล่าวคำ “ขอบคุณ” เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้หากนักทรัพยากรบุคคลกระทำจนเป็นนิสัยแล้ว จะช่วยเพิ่มบุคลิกภาพให้แก่ตนเองได้อย่างดียิ่ง

3. การยืน การยืนเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ดังนั้น นักทรัพยากรบุคคลจะต้องพยายามฝึกฝนการยืนให้อยู่ในลักษณะที่สง่าผ่าเผยอยู่เสมอ และจะต้องสำรวมระวังลักษณะการยืนให้เหมาะสมเมื่อเข้าพบบุคคลต่าง ๆ ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังนี้

    3.1 การยืนตามลำพัง ทั้งชายและหญิงควรปฏิบัติดังนี้

         ชาย ยืนให้ลำตัวตรง เข่าชิดกัน ปลายเท้าห่างจากกันพอสมควรปล่อยมือตามสบาย

         หญิง ยืนให้ลำตัวตรง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน ปล่อยมือตามสบาย

    3.2 การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ ผู้บริหารระดับสูง

          1) การยืนฟังคำสั่ง ทั้งชาย – หญิง ยืนลำตัวตรง หน้ามองตรง มือทั้งสองปล่อยแนบลำตัว

          2) การยืนฟังโอวาท ทั้งชาย – หญิง ยืนลำตัวตรง ก้มหน้าเล็กน้อย มือทั้งสองประสานกันไว้ต่ำกว่าระดับเข็มขัดเล็กน้อย

         หมายเหตุ การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ ไม่นิยมการยืนเผชิญหน้า ควรยืนให้เฉียงไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย

4. การเดิน การเดินเป็นบุคลิกภาพที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่าบุคลิกภาพในการยืนเพราะการยืนเป็นเพียงสภาวะที่บุคคลหยุดอยู่กับที่ ผู้อื่นไม่สามารถสังเกตเห็นกิริยาอาการได้ครบถ้วน ส่วนการเดินเป็นสภาวะที่ร่างกายต้องเคลื่อนไหว ทำให้บุคคลอื่นมองเห็นลักษณะอาการของเราได้มากขึ้น บุคคลแม้จะมีหน้าตาผิวพรรณสวยงามเพียงใด แต่ถ้าหากเดินไม่สวยก็จะส่งผลต่อบุคลิกภาพ จึงต้องมีการฝึกบุคลิกภาพการเดินให้สง่างาม ลีลาท่าทางของการเดินที่เหมาะสมควรปฏิบัติดังนี้

   4.1 การเดินตามสบาย ทั้งชาย – หญิงควรเดินให้ลำตัวตั้งตรง หน้ามองตรงแกว่งแขนพอสมควร ไม่เดินกางแขน ไหล่ห่อ หรือแกว่งแขนปัดไปปัดมา โดยเฉพาะผู้หญิงต้องระวังการเดินอย่าให้สะโพกส่ายไปมา จะเสียบุคลิกภาพอย่างมาก

  4.2 การเดินตามผู้ใหญ่ ทั้งชาย – หญิง ปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ เดินตามหลังให้เยื้องไปทางซ้ายมือของผู้ใหญ่ประมาณ 1 – 2 ก้าว เมื่อผู้ใหญ่เจรจาด้วยให้โน้มตัวเล็กน้อย

5. การนั่ง การนั่ง มีความสำคัญต่อสุขภาพและบุคลิกภาพ คนที่นั่งผิดสุขลักษณะ เช่น การนั่งหลังงอจะทำให้ปวดหลัง การนั่งให้ลำตัวตรงนอกจากจะทำให้ไม่ให้ปวดหลังแล้ว การนั่งให้ลำตัวตรงนอกจากจะทำให้ไม่ปวดหลังแล้ว ยังเป็นการเสริมบุคลิกให้แก่บุคคลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการนั่งจะไม่มีผลกระทบต่อบุคลิกภาพมากเท่ากับการเดิน แต่การนั่งในบางลักษณะที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้เสียบุคลิกภาพได้เหมือนกัน ดังนั้น นักทรัพยากรบุคคลจึงควรระมัดระวังและฝึกฝนการนั่งให้สง่างามอยู่เสมอ การนั่งที่ดีควรฝึกปฏิบัติดังต่อไปนี้

    5.1 การนั่งกับพื้นตามลำพัง

         1) ชาย นั่งพับเพียบ ไม่นิยมเท้าแขน ปกติแล้วนิยมวางมือทั้งสองคว่ำบนหน้าขาหรือประสานมือไว้บนตัก

         2) หญิง นั่งพับเพียบ จะเท้าแขนข้างหนึ่งหรือวางมือประกบกันไว้บนตักก็ได้

    5.2 การนั่งกับพื้นต่อหน้าผู้ใหญ่

          1) นั่งพับพับเพียบเก็บปลายเท้าให้เรียบร้อย นั่งตัวตรง

          2) มือทั้งสองประสานหรือประกบกันไว้บนตัก ก้มหน้าเล็กน้อย

 3) เมื่อผู้ใหญ่เจรจาด้วย ให้โน้มตัวเล็กน้อย

 4) ทั้งชาย– หญิง ปฏิบัติเช่นเดียวกัน

    5.3 การนั่งเก้าอี้ตามลำดับ

         1) ชาย นั่งห้อยขา ส้นเท้าชิดกันปลายเทาห่างจากกันเล็กน้อย ลำตัวตั้งตรง หลังพิงพนักเก้าอี้ มือทั้งสอง วางคว่ำอยู่บนหน้าขาทั้งสองหรือประสานกันไว้บนตักก็ได้

         2) หญิง นั่งห้อยขา ส้นเท้า ปลายเท้าและหัวเข่าชิดกัน ลำตัวตรงหลังพิงพนักเก้าอี้ มือทั้งสองประสานหรือประกบกันไว้บนตัก

    5.4 การนั่งเก้าอี้ต่อหน้าผู้ใหญ่

         ทั้งชาย – หญิง นั่งในลักษณะเดียวกันกับการนั่งตามลำพัง ต่างกันที่การวางมือนั้นจะต้องวางไว้บนหน้าตักด้วยการประสานมือ และห้ามนั่งไขว่ห้างต่อหน้าบุคคลที่เคารพหรือควรให้ความเคารพ

6. การพูดจา การพูดจาของนักทรัพยากรบุคคลมีส่วนในการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีงามและมีความสำคัญในการปฏิบัติงานมาก รวมทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน บางคนบุคลิกภาพดี แต่เมื่อได้ฟังการพูดจาแล้วทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบได้

    ความสำคัญของการพูดจานี้ คนทุกยุคทุกสมัยได้มีการสั่งสอนอบรมตักเตือนผู้ที่อยู่ในความปกครองดูแล หรือมีการกล่าวตักเตือนกันโดยทั่วไปเป็นถ้อยคำสำนวนต่าง ๆ มีมากมาย เช่น ในสุภาษิตสอนหญิงของพระสุนทรโวหาร (ภู่) กล่าวเป็นคำกลอนไว้ว่า

    จะพูดจา ปราศรัย กับใครนั้น     อย่าตะคั้น ตะคอก ให้เคืองหู

ไม่ควรพูด อื้ออึง ขึ้นมึงกู              คนจะลู่ ล่วงลาม ไม่ขามใจ

    แม้นจะเรียน วิชา ทางค้าขาย     อย่าปากร้าย พูดจา อัชฌาสัย

จึงซื้อง่าย ขายดี มีกำไร                ด้วยเขาไม่ เคืองจิต คิดระอา

    เป็นมนุษย์ สุดนิยม เพียงลมปาก จะได้ยาก โหยหิว เพราะชิวหา

แม้นพูดดี มีคน เขาเมตตา             จะพูดจา จงพิเคราะห์ ให้เหมาะความ

     การพัฒนาบุคลิกภาพทางด้านการพูดจานี้ สิ่งสำคัญที่นักทรัพยากรบุคคลควรกระทำ เช่น ฝึกหัดพูดจาให้นุ่มนวลอ่อนหวาน มีคำลงท้ายคำพูดด้วยคำว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” เสมอ รู้จักพูดอย่างถูกต้องเหมาะสมกับบุคคล พยายามพูดจาให้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่พูดคำสองคำแล้วมี “เอ้อ-อ้า” สลับกันไปจนน่ารำคาญ และที่สำคัญพยายามใช้ภาษาพูดให้ถูกต้อง

7. การรับประทานอาหาร ข้าราชการบางคนไม่ค่อยสำรวมระวังในเรื่องการรับประทานอาหารทำให้เสียภาพลักษณ์และเสียบุคลิกภาพที่ดี เช่น การเดินรับประทานอาหารตามที่ปฏิบัติงาน และการเคี้ยวอาหารจนมีเสียงดัง เป็นต้น ดังนั้น ในการรับประทานอาหารในที่สาธารณะหรือกับคนหมู่มาก จึงต้องระวังรักษากิริยาอาการให้ดูเรียบร้อยน่าดู ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญ เช่น

7.1 ไม่ส่งเสียงดังขณะรับประทานอาหาร

7.2 ไม่รับประทานอาหารมูมมาม เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน

7.3 ไม่เคี้ยวอาหารให้เกิดเสียงดัง

7.4 ไม่ดื่มน้ำขณะอาหารอยู่ในปาก

7.5 ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันต่อหน้าคนทั้งหลายที่โต๊ะอาหาร

7.6 ไม่รับประทานอาหารคำโตจนเกินไป

7.7 ไม่พูดขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก

7.8 ขณะที่เคี้ยวอาหาร อย่าตักอาหารอื่นขึ้นรอไว้ที่ปาก

7.9 อย่าก้มหน้าก้มตารับประทานอาหารจนมิได้สนใจสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ บ้าง

7.10 ควรช้อนอาหารเข้าปากทีละคำ อย่าให้เหลือค้างช้อนไว้

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาบุคลิกภาพของนักทรัพยากรบุคคลเพื่อความสำเร็จในการทำงาน หรือเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้รับบริการ โดยหลักการแล้วควรมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งบุคลิกภาพภายนอกอันได้แก่ รูปร่าง หน้าตา กิริยาท่าทาง การแต่งกาย การพูดจา และบุคลิกภาพภายในอันได้แก่ สภาวะทางอารมณ์ จิตใจ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพงานขององค์กร และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการโดยรวม อีกทั้งตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคลเป็นตำแหน่งงานที่มักได้รับการกล่าวถึงเรื่องบุคลิกภาพมาก พวกเราที่เป็นนักทรัพยากรบุคคลทุกคนจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง  และปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ

หมายเลขบันทึก: 676766เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2020 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2020 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เกรียงศักดิ์ ชัยชิน

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท