ประวัติการศึกษาไทย : การศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 2 (3)


    กักตัวอยู่กับบ้านตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด มีเวลาได้อ่านหนังสือหลายเล่ม
“ประวัติการศึกษาไทย” ของอาจารย์พงศ์อินทร์  ศุขขจร อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูจันทรเกษม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่าน ซึ่งท่านเขียนเล่าเรื่องการศึกษาของไทยไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2512  ทำให้เข้าใจเรื่องการศึกษาบ้านเราได้มากขึ้น  ผมเกรงว่าหนังสือเล่มนี้จะสูญหายไป ก็เลยนำข้อเขียนของท่านมาแบ่งปันกันอ่าน โดยเลือกเฉพาะเหตุการณ์สำคัญๆมานำเสนอ และแบ่งเป็นตอนๆไปครับ
         -----------------------------
     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสนพระทัยในด้านการศาสนาเป็นอันมาก  นอกจากทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดที่สำคัญ ๆ หลายวัด  เช่น  วัดอรุณราชวราราม  เป็นต้น แล้วยังโปรดให้เริ่มทำพิธีวัน
วิสาขบูชาขึ้น  โปรดให้ทำสังคายนาการสวดมนต์ให้ถูกต้องตามอักษรและสังโยค  ครุ  ลหุ  ทุก ๆ สูตร  และโปรดให้พระสงฆ์ออกไปสืบสวนเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนา ณ ประเทศลังกาด้วย  ส่วนเรื่องการสอบไล่พระปริยัติธรรม  โปรดให้แบ่งชั้นการสอบให้ละเอียดยิ่งขึ้นกว่าเดิม  คือให้มี  9  ประโยค  ผู้ที่สอบได้  3  ประโยค  เรียกว่าเปรียญตรี  ผู้ที่ได้  4-5-6  ประโยค  เป็นเปรียญโท  และผู้ที่ได้  7- 8 -9 ประโยค  เป็นเปรียญเอก  หลักสูตรพระปริยัติธรรมยากขึ้นและสูงขึ้นกว่าแต่เดิม  ทำให้มาตรฐานความรู้ทางภาษาบาลีสูงขึ้นด้วย 
     พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่  2  ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  บันทึกไว้ว่า “ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น  ไม่มีการรณรงค์สงครามสิ่งไร  เวลาเช้าเสด็จออกทรงปรนนิบัติพระสงฆ์และว่าราชการแผ่นดินเหมือนอย่างแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  เวลาบ่าย  5  โมงเสด็จออกฟังรายงานบ้าง  ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บ้าง อิเหนาบ้าง  แล้วก็ทรงธรรม  ครั้นจบธรรมเทศนาแล้ว  พระสงฆ์ถวายพระพรลา  แล้วก็เสด็จออกประทับพระที่นั่ง  เจ้านาย  และขุนนางเข้าเฝ้าทุกเวลา  ว่าราชการบ้างเล็กน้อย  พอย่ำยามก็เสด็จขึ้นทอดพระเนตรละคร”
      พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ฯ  ทรงเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม  โปรดวิชาช่างฝีมือเป็นอันมาก โดยเฉพาะการแกะสลัก  ฝีพระหัตถ์ในทางสลักไม้ที่ยังคงเหลืออยู่ให้เราเห็นจนกระทั่งทุกวันนี้  คือบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์  เป็นศิลปะอันสูงส่งที่หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก  ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญทางนาฏศิลป์  แบบฉบับละครรำซึ่งสืบเนื่องมาแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา  ได้ถูกดัดแปลงแก้ไขให้งดงามสง่ายิ่งขึ้นกว่าแต่เดิมเป็นอันมาก  ทางด้านอักษรศาสตร์และวรรณคดีทรงเป็นกวีที่สำคัญพระองค์หนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือสำคัญต่าง ๆ ไว้หลายเรื่องด้วยกัน เช่น  บทละครเรื่องอิเหนา  รามเกียรติ์  ไชยเชษฐ์  คาวี  สังข์ทอง  มณีพิชัย  เป็นต้น
      ในรัชสมัยของพระองค์มีรัตนกวีคู่พระบารมีหลายท่าน  เช่น  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  สุนทรภู่  นายนรินทร์ธิเบศร์  พระเทพโมลี (กลิ่น)  และพระยาตรัง  ในเวลาเย็นมีการประชุมบรรดานักปราชญ์ราชกวีเหล่านี้  ช่วยกันแต่งวรรณคดีที่สูญหายไปในคราวเสียกรุง  เช่นโปรดให้พระเทพโมลีแต่งซ่อมมหาชาติคำหลวงของสมเด็จพระบรมโลกนาถที่ขาดหายไป นำเอาบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งขึ้นใหม่  แบ่งกันแต่งเป็นตอน ๆ และทรงปรึกษาหารือเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีต่าง ๆ  เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยในทางวรรณคดี    ปรากฏว่าบทประพันธ์ประเภทกลอนเจริญถึงขีดสุดในรัชกาลนี้ สุนทรภู่เป็นผู้นำเอาสัมผัสในเข้ามาใช้กับกลอนทำให้ไพเราะขึ้นมาก
      การศึกษาทั้งด้านพุทธิศึกษา  ตามวัดมีผู้สนใจศึกษาเล่าเรียนกันมากขึ้น  จะเห็นได้ว่ากวีคนสำคัญ ๆ ในสมัยนั้นสำเร็จการศึกษาจากวัดแทบทั้งสิ้น  สุนทรภู่เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาวในคลองบางกอกน้อย  พระเทพโมลีศึกษาอยู่ที่วัดพลับ (วัดราชสิทธาราม) ธนบุรี  สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ศึกษาอยู่วัดพระเชตุพน  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษากับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  วัดโมฬีโลก  เป็นต้น  นอกจากวิชาหนังสือแล้วก็มีวิชาเลข  วิชาโหราศาสตร์  ดาราศาสตร์    วิชาการก่อสร้างป้อมปราการแบบยุโรปเจริญขึ้นมาก  คนไทยสร้างกันเองได้  พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นแม่กองสร้างป้อมเพชรหึงที่พระประแดง  พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่กองไปทำเมืองสมุทรปราการ  สร้างป้อมประโคนชัย  ป้อมนารายณ์ปราบศึก  ป้อมปราการ  ป้อมกายสิทธิ์  และป้อมผีเสื้อสมุทร  เป็นต้น
     ในด้านการต่อเรือก็เช่นเดียวกัน  มีการสร้างเรือสำเภาไปค้ายังประเทศจีนและประเทศใกล้เคียงในสมัยนั้น  ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังมิได้เสวยราชย์ทรงตั้งโรงทานไว้ในวังสำหรับเลี้ยงอาหารพวกคนยากจนทั่วไป  ถึงวันพระ  พระองค์ก็ทรงปล่อยสัตว์และแจกเงินแก่คนเฒ่าคนแก่  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระโสมนัสและโปรดให้ตั้งโรงทานหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังบ้าง และจัดให้มีการทำอาหารคาวหวานเลี้ยงพระภิกษุสามเณร  และข้าราชการที่ต้องมาอยู่เวรในพระบรมมหาราชวัง  เป็นที่บริจาคพระราชทรัพย์ เป็นทานแก่คนชราและคนพิการ  เมื่อหมดเวลาก็ใช้เป็นที่แสดงพระธรรมเทศนาและสอนหนังสือวิชาการต่าง ๆ แก่คนทั่วไป  ด้วยเหตุนี้ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีสถานศึกษาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง  ได้แก่โรงทานในพระบรมมหาราชวัง  นอกเหนือไปจากวัด

หมายเลขบันทึก: 676686เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2020 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2020 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท