ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา บทที่ 4


บทที่ 4

วิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอาจมีปัญหาที่รอการแก้ไขในหลายมิติ

อันเนื่องมาจาก“ดุลพินิจ”ที่เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล “ดุลพินิจ หมายถึง การวินิจฉัยตามเหตุผลหรือตามที่เห็นสมควร กระบวนการยุติธรรมที่สามารถควบคุมตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนจำเป็นต้องนำหลัก “สิทธิเด็ดขาด” มาใช้ปรับบทบัญญัติตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนที่มีฐานะยากจน ไม่รู้ซึ่งบทบัญญัติหรือข้อกฎหมาย ไม่สามารถใช้สิทธิของตนที่ต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่และอาจเป็นความล้มเหลวของรัฐในด้านการจัดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน  การแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุง เพิ่มเติม บทบัญญัติของกฎหมายในส่วนที่จำเป็นและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาควรนำมาพิจารณา เพื่อหาช่องทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลดน้อยลงหรือหมดไปจากสังคมไทย

ปัญหาสำคัญ คือ อาจนำคดี เข้าสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากเกินไป เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดให้นำโทษทางอาญามาใช้กับพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นจำนวนมาก แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดว่าเป็นความผิดที่ไม่ใช่เป็นอาชญากรรมโดยแท้  การกลั่นกรองคดีไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การดำเนินคดีล่าช้าจนเกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอาจยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากในทางปฏิบัติ ทั้งสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันที่อาจขาดโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมการได้รับความยุติธรรมจากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานอัยการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการใช้ดุลพินิจไปตามตัวบทกฎหมายและข้อเท็จจริงในคดีโดยอิสระ ปราศจากแรงกดดันและการแทรกแซงในหลากหลายรูปแบบ

กระบวนการยุติธรรมที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลและมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ผู้บังคับบัญชาแทรกแซงไม่ได้ ควรปรับปรุงปฏิรูประบบการสอบสวนฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาให้มีระดับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและอารยประเทศ ดังที่ผู้เขียนจะวิเคราะห์ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาดังนี้

4.1.สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

ปัญหาการตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา ความสำคัญอยู่ที่ การจับ ซึ่งเป็นมาตรการในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมากที่สุดอย่างหนึ่ง การจับก่อให้เกิดอำนาจในการควบคุมผู้ถูกจับตามกฎหมาย  ตาม ป.วิอาญามาตรา 83 , 84, 84/1 และ 87 ส่งผลให้ผู้จับมีอำนาจค้นตัวผู้ถูกจับ ได้ตาม ป.วิอาญามาตรา 85 วรรคหนึ่ง และอำนาจอื่นอีกหลายประการ

  เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้พ้นจากการถูกจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยหลักแล้ว การจับต้องมีหมายจับ หากจับโดยไม่มีหมายต้องต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ยังคงมีปรากฏดังกรณีตัวอย่างดังนี้

กรณีที่ 1. การใช้กำลังจับกุมเอาตัวประชาชนไปทำร้ายบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพ หากจับผิดตัวก็ปกปิดความผิดที่จะมาถึงตนโดยการยัดเยียดข้อหาและของกลาง เช่น ยาเสพติดแก่ผู้ถูกจับและถูกทำร้าย  เป็นต้น

จำเลยทั้งสองมีอาชีพรับเลี้ยงอนุบาลลูกปลาดุก ในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสองไปทำงานตามปกติ  โดยขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้างเข้าไปในบ่อปลาตและพบกับพยานสองคน เมื่อจำเลยทั้งสองไปถึงบ่อปลาบ่อสุดท้ายมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 คน ขับรถยนต์ติดตามจำเลยทั้งสองเข้ามา โดยตำรวจหนึ่งในสามคนกระชากกระเป๋าสะพายข้างของจำเลยที่ 1 และทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและใส่กุญแจมือ ใช้มือกดคอบังคับให้ถ่ายรูปและชี้ยาเสพติดที่ตำรวจกลุ่มนี้อ้างว่าจำเลยที่ 1 โยนทิ้งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่จำเลยที่ 1 ถูกทำร้ายร่างกายและจำเลยทั้งสองถูกนำตัวไปส่งพนักงานสอบสวน ถูกแจ้งข้อหา “ร่วมกันมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฎหมายจำนวน 93 เม็ด จำเลยทั้งสองถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังทั้งที่มิได้กระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด

จำเลยที่ 1 จึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับตำรวจที่ทำร้ายร่างกายจนต้องมีการส่งไปชันสูตรบาดแผลและร่องรอยการถูกทำร้าย ซึ่งคดีนี้สืบพยานไปเสร็จสิ้นแล้ว อาศัยเหตุจับโดยไม่มีหมายจับ โดยอ้าง “ลักษณะท่าทางพิรุธ” ทั้งไม่มีสายลับแจ้งข่าว ไม่มีการล่อซื้อ  ไม่มีเบาะแสใดๆทั้งสิ้น จำเลยทั้งสองก็มิได้มีประวัติในการจำหน่ายยาเสพติด ผลการตรวจปัสสาวะไม่พบสารเสพติดในร่างกาย  การค้นตัวไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย

กรณีดังกล่าวเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “กระบวนการจับกุมผู้กระทำผิดโดยไม่มีหมายจับและไม่มีการตรวจสอบเป็นช่องว่างให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

เมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ศาลโดยพนักงานอัยการ ทนายจำเลยทั้งสองทราบจากพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ว่ามีการส่งสำนวนเร่งด่วนวันสุดท้ายของระยะเวลาฝากขังในคดี โดยเจตนาเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาคดีไม่ทัน เป็นเหตุให้พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ต้องรีบฟ้องคดีไปก่อนเท่าที่พยานหลักฐานตามแนวทางที่พนักงานสอบสวนประสงค์จะให้เป็น โดยที่พนักงานอัยการไม่มีเวลาพิจารณาและสั่งสอบสวนเพิ่มเติมรวบรวมพยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย (Beyond Reasonable Doubts) และส่งผลเสียหายแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องถูกรัฐดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง กล่าวคือ หากจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จริง เท่ากับได้ใช้อำนาจและบุคลากรของรัฐรังแกละเมิดสิทธิมนุษยชนคนบริสุทธิ์ และกรณีจะยิ่งเลวร้ายกว่าหากคนบริสุทธิ์นั้นต้องติดคุก สูญเสียชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างการสอบสวนและพิจารณาคดี

หากจำเลยคือผู้กระทำผิดตัวจริง การยกฟ้องย่อมหมายถึงการปล่อยอาชญากร และใช้กระบวนการสอบสวนฟ้องร้องที่ไม่รอบคอบนี้ฟอกตัวอาชญากรเพราะไม่อาจจะดำเนินคดีในความผิดเดิมได้อีก  เนื่องจากขัดต่อหลักการสากล ว่าบุคคลย่อมไม่ถูกดำเนินคดีในการกระทำใดถึงสองครั้ง (Ne bis in idem)

การรวบรวมหลักฐานเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131 แต่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานใดบ้าง อย่างไร เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาและใช้ดุลพินิจดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คดีแจ่ม

กระจ่างขึ้น จนสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้เท่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 132 เมื่อการรวบรวมหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ความชัดว่าตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในห้องนอนของจำเลยแล้ว พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นว่ากรณีไม่จำต้องดำเนินการจัดทำบันทึกภาพถ่ายของกลางที่ตรวจพบ ตลอดจนไม่ทำแผนที่แสดงจุดตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ได้ หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการจับกุมโดยมีรายละเอียดแห่งการค้นและสิ่งของที่ค้นได้ กับมีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึด ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 103  แล้ว จึงเป็นการตรวจค้นโดยชอบ

        คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนถึงอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจในด้านการพิจารณาและใช้ดุลพินิจดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเท่านั้น โดยไม่มีการอ้างถึงการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย เห็นได้ชัดเจนว่าสิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหาก่อนจะกลายเป็นจำเลยในชั้นศาลยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ระบบกล่าวหาของในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเป็นหลักการที่ส่งผลให้ขาดความสมดุลระหว่างผู้ต้องหากับผู้กล่าวหา โดยมี”ดุลพินิจ”ของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับการปฏิบัติหน้าที่แม้อาจไม่ชอบธรรมตามกฎหมายแต่”หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่”54

4.2 สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

กระบวนการสอบสวนคดีอาญา ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ปัญหาการสอบสวนคดีอาญาโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามกฎหมาย อาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

กรณีที่ 1. พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจแจ้งข้อหาแตกต่างกันกับพนักงานอัยการ

จำเลยที่ 1 เป็นวัยรุ่น ในวันเกิดเหตุ ได้เดินทางไปหาจำเลยที่ 2. ซึ่งเป็นเพื่อนที่ทำงานอยู่ในโรงงาน ขณะที่จำเลยที่ 1 ซ้อนท้ายขับขี่รถจักรยานยนต์กำลังจะกลับบ้าน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับขี่ ระหว่างทางพบคู่อริ ซึ่งเคยมีเรื่องกันมาก่อน จำเลยทั้งสองถูกรุมทำร้าย แต่มีผู้ที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือด้วยการเข้าต่อสู้ จนฝ่ายตรงข้ามที่เป็นผู้เสียหายสองคนได้รับบาดเจ็บ ถูกนำส่งโรงพยาบาล โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้ไม้ไผ่ที่ตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุมาใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับผู้เสียหายทั้งสอง

เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยทั้งสองในชั้นพนักงานสอบสวนว่า “ร่วมกันทำ

ร้ายร่างผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย โดยใช้อาวุธ” ซึ่งอาวุธดังกล่าวคือไม้ไผ่

54คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2554

แต่เมื่อนำคดีขึ้นสู่ศาลโดยการส่งฟ้องจากพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ซึ่งรับสำนวนคดีมาจากพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ กลับตั้งข้อหาว่า “ร่วมกันทำร้ายร่างผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย โดยใช้ ไม้คมแฝกเป็นอาวุธ โดยพกพาอาวุธไปในเมืองและที่สาธารณะ”

คดีนี้ทนายจำเลยทั้งสองได้เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา ในชั้นสอบสวน จึงมีการโต้แย้งและตรวจสอบสวนคดีว่า “เป็นลักษณะข้อเท็จจริงต่างฟ้อง” เพราะหากศาลฟังว่า “เป็นไม้คมแฝก” ตามที่พนักงานอัยการโจทก์ตั้งข้อกล่าวหาและส่งฟ้องต่อศาล นั่นหมายถึงจำเลยทั้งสองพกพาอาวุธและร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง

บทสรุปเรื่องนี้ คือจำเลยทั้งสองยอมรับสารภาพและชดใช้เยียวยาให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง จนเป็นที่พอใจและถอนคำร้องทุกข์ ศาลจึงรอการลงโทษ สั่งปรับและคุมประพฤติจำเลยทั้งสอง

กรณีที่ 2. กรณีข้อเท็จจริงต่างฟ้อง จากการสรุปสำนวนคดีผิดพลาดของพนักงานอัยการ

จำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัทรับเหมาสัมปทานระดับประเทศแห่งหนึ่ง ช่วงแรกจำเลยเข้ามาเป็นพนักงานส่งของเข้าตามสถานที่รับเหมาก่อสร้างและประสบอุบัติเหตุถูกเหล็กหล่นใส่แขนขวาขาดถึงต้นแขน จึงถูกย้ายไปอยู่แผนคลังสินค้า  ทำหน้าที่เบิกจ่ายวัสดุอุปกรณ์ โดยจำเลยพักอาศัยอยู่ในบ้านพักสำหรับพนักงานด้านหลังสำนักงาน และขี่จักรยานเป็นพาหนะไปทำงานทุกวัน เนื่องจากแขนขวาขาดไม่สามารถขับขี่รถจักยานยนต์ได้ ก่อนวันเกิดเหตุ จำเลยเห็นว่ามีการนำสายเชื่อมเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วไปทิ้ง ด้วยความเสียดายและเห็นว่าเป็นของใช้ที่ทิ้งแล้ว จำเลยจึงนำสายเชื่อมเก่านั้นใส่ตะแกรงหน้ารถจักรยานนำกลับที่บ้านพักพนักงานที่จำเลยพักอาศัย โดยผ่านป้อมยามหน้าบริษัทตามปกติ พนักงานรักษาความปลอดภัยก็เห็นว่า จำเลยนำสายเชื่อมเก่ากลับไปที่พักด้วย แต่มิได้ทักท้วงประการใด เมื่อจำเลยกลับไปถึงที่พัก พนักงานรักษาความปลอดภัยตามไปนำสายเชื่อมเก่านั้นกลับไป

เช้าวันรุ่งขึ้น ฝ่ายบุคคลของบริษัทให้จำเลยเขียนใบลาออกโดยไม่จ่ายเงินให้กับจำเลย จำเลยก็เขียนใบลาออกและกลับไปอยู่บ้านกับมารดาซึ่งชราภาพมากแล้ว ทั้งจำเลยก็อายุใกล้จะ 50  ปี และป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ จำเลยและมารดาตกเป็นภาระของพี่สาวซึ่งก็มีฐานะไม่ดีนัก เพราะมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างรายย่อย ซ่อมแซมเล็กน้อย

หลังจากออกจากงานได้ประมาณ 5 เดือน มาวันหนึ่ง จำเลยถูกตำรวจบุกจับที่บ้านที่พักอาศัยอยู่กับมารดา และนำส่งสถานีตำรวจเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ โดยบริษัทนายจ้างที่จำเลยเขียนใบลาออกไปแล้วนั้น ได้แจ้งความร้องทุกข์ ดำเนินคดีกับจำเลย ในข้อหา “ลักทรัพย์นายจ้างโดยใช้ยานพาหะ” จำเลยรับสารภาพชั้นสอบสวน ต่อมาจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำเลย 9 เดือนโดยไม่รอลงอาญา

คดีนี้ทนายจำเลยเข้ามาตอนเขียนอุทธรณ์เพื่อรอการลงโทษ ในตอนที่พี่สาวจำเลยพามาพบทนายจำเลยนั้น ยังไม่มีคำพิพากษา เพียงแต่มีการสอบถามข้อเท็จจริงทั้งหมดในคดีไว้ และเมื่อทนายจำเลยไปขอคัดคำพิพากษากลับพบว่า พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจส่งฟ้องจำเลย “โดยใช้ยานพาหนะ”คือจักรยาน แต่พนักงานอัยการโจทก์ส่งฟ้องเป็น “โดยใช้ยานพาหนะ”คือจักรยานยนต์ ซึ่งในความจริงตามข้อกฎหมาย คำว่า “ยานพาหนะ” หมายถึง วัตถุหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายขนส่งไปได้ ยานพาหนะส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ อาทิ จักรยาน รถยนต์ จักรยานยนต์ รถไฟ เรือ และเครื่องบิน เป็นต้น หรือไม่ได้สร้างขึ้นโดยมนุษย์แต่สามารถเคลื่อนย้ายขนส่งไปได้

การตั้งข้อหาของพนักงานอัยการโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่ผิด เพียงแต่จำเลยในคดีนี้แขนขวาขาด ไม่สามารถขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ ทั้งจำเลยรับสารภาพไปโดยไม่ได้ทราบเรื่องดังกล่าว และศาลก็พิพากษาไปแล้ว ทนายจำเลยจึงโต้แย้งกับพนักงานอัยการจนนำไปสู่การแก้ไขข้อหา และรอการลงโทษ ลงโทษปรับและคุมประพฤติแทน

จะเห็นได้ว่าทั้งสองกรณี อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ในกระบวนการยุติธรรมและยังเป็นปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไขกันต่อไปหากพนักงานสอบสวนพร้อมรับการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของการปฏิบัติหน้าที่ของตน และยอมเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวนคดีอาญากับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ เพราะการสอบสวนคือการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด และเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ ซึ่งหน้าที่ของพนักงานสอบสวน คือ ต้องไปหา ประจักษ์พยาน พยานบุคคล พยานนิติวิทยาศาสตร์ พยานเอกสาร วัตถุพยาน หรือ กล้องวงจรปิด

ทั้งที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสองบัญญัติว่า “จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา” แต่ ปัญหาว่า  “อะไรคือ พยานหลักฐานตามสมควร” ที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจรวบรวมได้จากคำกล่าวหาและนำมาใช้แจ้งข้อกล่าวหา โดยปราศจากการตรวจสอบหรือถ่วงดุลด้วยข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้ต้องหาตามหลักกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131  ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมุ่งแต่หาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดต่อผู้ต้องหา  เพราะหากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ “พิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย คงมีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบันและสมควรที่จะยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้ขึ้นสูงในระดับมาตรฐานสากล โดยการพิสูจน์ความจริงหรือข้อเท็จจริงให้สิ้นสงสัยในชั้นพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจหรือพนักงานอัยการ มากว่าจะนำทุกคดีขึ้นสู่ศาลเช่นปัจจุบัน

จากสภาพปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้ว กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะระดับ เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ขั้นมูลฐานของประชาชนสูงสุด ถ้าหากมีการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ดำเนินการไปตาม อำเภอใจขาดการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ ย่อมก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนได้โดยง่าย ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมจึงจําต้องมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อที่จะให้การดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

3.สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

การแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาตามมาตรา 134/1 ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้”เฉพาะวรรคสองให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันในวันที่ 24 มิถุนายน 2548 ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไปคดีที่มีอัตราโทษจำคุกทุกคดี ก่อนถามคำให้การผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนจะต้องถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ การบัญญัติกฎหมายมาตรา 134/1 ก็เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯมาตรา 242 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้…” การแจ้งสิทธิตามมาตรา 134/1 นี้ พนักงานสอบสวนมักจะสับสนกับการแจ้งสิทธิตาม มาตรา 134/3 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้” พนักงานสอบสวนมักเข้าใจว่าการที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่าผู้ ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ ถือว่าเป็นการแจ้งสิทธิเรื่องทนายความแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หากเป็นเช่นนั้นผู้ร่างกฎหมายก็คงไม่บัญญัติ มาตรา 134/1 ให้ฟุ่มเฟือย ผลของการที่พนักงานสอบสวนปฏิบัติไม่ถูกต้อง ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาไม่ได้ ตามมาตรา 134/4 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

จำเยคบหาและอยู่กินกันกับผู้เสียหายในขณะเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 และใกล้จบการศึกษา โดยผู้เสียหายผ่อนรถจักรยานยนต์ให้จำเลยเพื่อให้จำเลยใช้ขับขี่มาหาผู้เสียหาย เมื่อเกิดปัญหาหึงหวง ผู้เสียหายก็จะไปเอารถจักรยานยนต์กลับคืนมา จนล่าสุด ผู้เสียหายให้จำเลยนำรถจักรยนต์ไปจอดคืนที่สถานีตำรวจและผู้เสียหายไปรับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวคืนกลับไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลับไปแจ้งบริษัทลิสซิ่งที่เป็นผู้ให้เช่าซื้อและรับมอบอำนาจมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยว่ายักยอกทรัพย์คือรถจักรยานยนต์  โดยจำเลยถูกออกหมายจับ ถูกควบคุมตัวและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำไปเดือนเศษ โดยที่ไม่มีใครทราบเรื่อง ทั้งจำเลยถูกกดดันให้รับสารภาพทั้งที่ไม่มีความผิดและถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทั้งที่ไม่มีผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันเอาผิดกับจำเลย ต่อมามีทนายความให้ความช่วยเหลือ หลังศาลพิพากษาแล้ว โดยการแจ้งความดำเนินคดีและฟ้องร้องต่อผู้เสียหายในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน คดีอยู่ระหว่างรอการพิจารณา

เห็นได้ว่า หากพนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิในการมีทนายความให้จำเลยและมีทนายความร่วมฟังการสอบสวน จำเลยจะไม่ต้องพบกับชะตากรรมดังกล่าวแน่นอน

ทนายความเป็นนักกฎหมายวิชาชีพหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของสถาบันกฎหมาย อันประกอบไปด้วย ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ และทนายความ สถาบันกฎหมายยังเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทยซึ่งมีความสลับซับซ้อน และมีการเปลี่ยนแปลงตามวิวัฒนาการของสังคม และเกิดวิวัฒนาการทางกฎหมาย โดยกฎหมายจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริม ควบคุม การเปลี่ยนแปลงของสังคม ให้ไปในทิศทางที่ดี55

ปัจจุบัน ยังไม่มีกฎหมายบังคับว่าการสอบปากคำพยานบุคคลต้องกระทำต่อหน้า "ทนายความ" เหมือนเช่นการสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งการสอบปากคำผู้ต้องหาต้องกระทำต่อหน้า “ทนายความ”ก็ยังไม่ใช่ “สิทธิเด็ดขาด”

ดังนั้น การสอบสวนพยานบุคคลใดๆ ก็ตาม กฎหมายต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวน และหากเป็นคดีสำคัญเป็นที่สนใจของประชาชน ต้องมีพนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนด้วยทุกครั้งเป็นการยกระดับการสอบสวนให้มีการตรวจสอบได้ เช่น ให้ทนายความเข้ามามีบทบาทการสอบปากคำ เพื่อป้องกันการอ้างภายหลังของพยานบุคคลว่า "พนักงานสอบสวนไม่ยอมบันทึกคำให้การของตน" หากมีทนายความยังป้องกันสิทธิ์เช่นนี้ไม่ได้ บทลงโทษก็จะต้องกลับไปหาทนายความเอง และหรือพนักงานสอบสวน อย่างหลีกลี้หนีไม่พ้นเช่นกัน

ทนายความเป็นอาชีพที่ทำการว่าความแทนตัวความเช่นเดียวกับพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นทนายความของแผ่นดินและได้รับเงินเดือนจากรัฐ แต่ทนายความต้องหารายได้จากตัวความเป็นค่าปรึกษาหรือการว่าความในศาล เพราะการดำเนินคดีในศาล ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องร้อง การว่าความแก้ต่าง การซักถาม ค้านพยาน จำเป็นจะต้องใช้ทนายความเพราะตัวความเอง คงไม่มีความรู้และทักษะในการดำเนินคดีในศาล  ย่อมทำให้เกิดการล่าช้าในการพิจารณาพิพากษาของศาล

55วารสารทนายความ, 2542, หน้า 37

หมายเลขบันทึก: 676391เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2020 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2020 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท