ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา บทที่ 1


1.1  ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

   

การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐที่ปกครองโดยระบอบเสรีประชาธิปไตยและยึดหลักนิติธรรม ประเทศไทยกำหนดหลักการดังกล่าวในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 25601 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน ก็มีบทบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดแจ้งหลายมาตรา โดยเฉพาะสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้2สะท้อนให้เห็นหน้าที่ของรัฐ คือ ต้องให้ความคุ้มครอง ป้องกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติถึงกระบวนการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากสิทธิ  หน้าที่  ข้อห้าม ซึ่งควบคุมความประพฤติของคนในสังคมโดยตรงจากกฎหมายสารบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเกี่ยวข้องกับความสงบสุขของสังคมและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากการกำหนดความผิดและโทษทางอาญาเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการและสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนของประเทศไทย อาจยังมิได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร 

จากตารางแสดงผลการดำเนินงานของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤตมิชอบทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ.  2560  เกี่ยวกับข้อมูลหน่วยงานที่ถูกฟ้องอันดับหนึ่ง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 402 หรือร้อยละ 14.74 ของจำนวนผู้ถูกฟ้องทั้งหมด3

1รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28

2รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29

3คู่มือแบบรายงานสถิติคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

รายงานสถิติคดีดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการยุติธรรมและประชาชนตลอดเวลา เนื่องจากต้องทำหน้าที่ควบคุมและบังคับใช้กฎหมาย เพื่อคุ้มครองสังคมและป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม จนอาจส่งผลให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ยังมีการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและไม่อาจตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่อำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้ อาจมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงในคดีหรือการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือเกินขอบเขตหรือกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ การกระทำดังกล่าวของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ย่อมกระทบต่อสิทธิพื้นฐานและความเป็นธรรมที่ประชาชนคาดหวังจะได้รับจากกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งยังไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องดังนี้ คือ

1.1 สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

ประเทศไทยใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งมีต้นแบบมาจากประเทศฝรั่งเศสและเป็นกฎหมายที่ใช้อำนวยความยุติธรรมทางอาญาอย่างเสมอภาคแก่ประชาชนผ่านองค์กรของกระบวนการยุติธรรมซึ่งประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ ศาล และกรมราชทัณฑ์ การสอบสวนคดีอาญาเป็นกลไกหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐออกแบบขึ้นเพื่อใช้รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจทำหน้าที่สอบสวน รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กลั่นกรองผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา หากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจกระทำการปกปิดพยานหลักฐานที่เป็นคุณหรือโทษแก่ผู้ต้องหาหรือปลอมแปลงพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดหรือผลสำเร็จในการลงโทษผู้ต้องหา ก่อนที่จะเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการและขึ้นไปสู่การพิจารณาคดีของศาลตามกฎหมาย ย่อมเป็นการทำลายสิทธิของผู้ต้องหา แม้พนักงานอัยการจะมีหน้าที่พิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหรือให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมก่อนยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลย4

4 คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2538) น.14

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นกฎหมายมหาชนซึ่งกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานแต่ละองค์กรโดยเฉพาะเจาะจง  เป็นขั้นตอนซึ่งผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เนื่องจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย5

หากมีการกระทำความผิดทางอาญาเกิดขึ้นจนมีผู้ร้องทุกข์ กล่าวโทษว่า มีผู้กระทำความผิดและเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย  แม้ไม่รู้ตัวว่าใครกระทำก็ตาม ถ้าผู้เสียหายมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดนั้นได้รับโทษทางอาญา พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจึงมีอำนาจในการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานจากการสืบสวนสอบสวนเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาและเพื่อเอาตัวผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดนั้นมาฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลพิพากษาลงโทษตามความผิด โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจะดำเนินการสรุปสำนวนสอบสวนนำส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีโดยที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจไม่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว

วัตถุประสงค์ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอาจยังไม่บรรลุเป้าหมาย อีกทั้งอาจสร้างปัญหาให้แก่สังคมจนเกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ เนื่องจากการสอบสวนคดีอาญาอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม รวมทั้งการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาและหน่วยงานหรือองค์กรตำรวจยังเป็นผู้ที่มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดูแล คุ้มครองให้เกิดความสงบสุขแก่พลเมือง

การจับกุม เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมากที่สุด เพราะการจับกุมก่อให้เกิดอำนาจการควบคุมและค้นตัวผู้ถูกจับ รวมทั้งอำนาจอื่นอีกหลายประการ  เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้รอดพ้นจากการถูกจับกุมหากไม่ได้กระทำความผิดจากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และตามหลักแล้ว การจับกุมต้องมีหมายจับ จะจับกุมโดยไม่มีหมายจับได้แต่เฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น

5รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 25

การดำเนินคดีกับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดอาจเกิดจากการขาดกระบวนการกลั่นกรองในชั้นจับกุมของพนักงานสืบสวนฝ่ายตำรวจ จึงควรมีการตรวจสอบการจับกุมเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้ศาลดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ

วิธีการและขั้นตอนปฏิบัติการจับกุมของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจหรือเจ้าพนักงานอื่นใดที่มีอำนาจหน้าที่จับกุม ปราบปรามผู้กระทำความผิดให้ปฏิบัติการเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ศาลดำเนินการพิจารณาไปพร้อมกับการขออำนาจศาลในการฝากขังผู้ต้องหาซึ่งกระทำได้โดยง่ายและไม่ยุ่งยาก

1.2 สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

            พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจต้องรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาและ เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา6การสอบสวนถือเป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่ต้องใช้ดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา ซึ่งต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยเคร่งครัด  หากผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิดแต่ถูกปลอมแปลงพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดและลงโทษจนเกิดความไม่ยุติธรรมต่อผู้ต้องหาที่ต้องมารับโทษ อันสืบเนื่องมาจากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจประพฤติมิชอบหรือแม้คดีอาชญากรรมบางคดีที่มีหลักฐานพิสูจน์ความผิดชัดเจน แต่ระบบการสอบสวนที่บกพร่อง จำเลยอาจถูกสั่งจำคุกและสูญเสียอิสรภาพ หรืออาจถูกประหารชีวิต การพิจารณาตัดสินคดีของศาลจึงต้องรอบคอบ พยานหลักฐานต้องชัดเจนเพียงพอว่าจำเลยกระทำความผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัย ถ้าหากเกิดความสงสัยต้องยกประโยชน์ความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย คือการยกฟ้อง

            กระบวนวิธีพิจารณาความอาญาของไทย แยกอำนาจสอบสวนออกจากอำนาจฟ้องร้องอย่างเด็ดขาด สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรสำคัญในด้านอำนวยความเป็นธรรมในสังคมโดยการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน ทั้งมีหน้าที่ควบคุมสังคมในฐานะผู้รักษากฎหมาย  ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสังคมด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม7

6ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131

7พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการตำรวจ พ.ศ. 2547

ภารกิจหลักของตำรวจตามหลักนิติธรรม คือ งานด้านการสอบสวนที่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายต้องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่กล่าวหาและใช้ดุลพินิจจากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ สรุปสำนวนการสอบสวนและความเห็นทางคดี ส่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อศาลตามความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคม

            การสอบสวนจะมีได้เฉพาะกรณีหลังการกระทำความผิดเท่านั้น แต่การสืบสวนมีได้ทั้งก่อนและหลังกระทำความผิด เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหา ศาลจึงต้องตัดสินตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานอัยการเสนอให้ตรวจสอบและควรพัฒนาการสอบสวน เพื่อให้ได้ความจริงและให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหา8

ดังนั้น ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาควรมีสิทธิในการนำพยานเข้าพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนหรือควรมีสิทธิที่จะทราบถึงพยานหลักฐานที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา9

1.3 สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

               ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) ค.ศ. 1948 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง (the International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ค.ศ. 1966 ระบุถึงการมีสิทธิเท่าเทียมกันก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย การใช้หลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิการได้รับการพิพากษาที่มีความยุติธรรมและเป็นกลาง รวมไปถึงสิทธิการต่อสู้คดีอาญาของผู้ถูกกล่าวหาโดยตนเองหรือโดยมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นตัวแทนและการได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ล่าช้า ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกและลงนามในสัตยาบันและอนุวัติบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 7โดยใช้ระบบทนายขอแรงเพื่อช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยมีเป้าหมายเพื่อรับรองการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเท่าเทียมกัน

8อรรถพล  ใหญ่สว่าง “ผู้เสียหายในคดีอาญา” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2524 )น.7

9รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 25

ทนายความมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรม10  เนื่องจากเป็นองค์กรอิสระ แต่พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ พนักงานอัยการหรือผู้พิพากษาต่างต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีหรือฟ้องคดีเอง หากไม่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ กล่าวโทษ จากการกระทำความผิดทางอาญา ขณะเดียวกัน ทั้งพนักงานอัยการและศาลต่างต้องรอให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานและสรุปสำนวนคดีเพื่อส่งให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี และศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีจากพยานหลักฐานที่นำเสนอให้ตรวจสอบผ่านพนักงานอัยการเท่านั้น กฎหมายมิได้ให้อำนาจศาลในการแสวงหาพยานหลักฐานอื่นใดได้เนื่องจากเป็นระบบกล่าวหาไม่ใช่ระบบไต่สวน 

แต่กฎหมายกลับบัญญัติให้ทนายความสามารถรวบรวมและนำพยานหลักฐานทั้งหมดฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อให้ศาลพิจารณาตัดสินคดีได้อย่างอิสระ จึงสมควรให้มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องสิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหาให้เป็น “สิทธิเด็ดขาด”เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้กล่าวหาและผู้ต้องหาให้มีสิทธิที่เท่าเทียมกันตามหน้าที่ของรัฐในระบอบเสรีประชาธิปไตยและตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทนายความจำเป็นต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยการว่าความแก้ต่างให้แก่คู่ความไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ทนายความเป็นผู้ประกอบอาชีพกฎหมายโดยอิสระโดยให้คำปรึกษาหรือดำเนินคดีแทนและคิดค่าบริการจากคู่ความ ทนายความจึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นผู้รู้กฎหมาย และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคู่ความในการดำเนินคดีในศาล การกระทำของทนายความในศาลมีผลเท่ากับคู่ความทำเอง

แต่สิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญาของไทย อาจยังคงมีความบกพร่อง ควรต้องมีการตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยเฉพาะการจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายจับ สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน ที่ต้องให้โอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนตามบทบัญญัติของกฎหมายรวมทั้งสิทธิในการมีทนายความของผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต้องใช้ “หลักสิทธิเด็ดขาด” เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา

10ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 134/1

 2 วัตถุประสงค์ของการศึกษา

2.1. เพื่อศึกษาความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

2.2  เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

2.3  เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาตามกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศ

2.4   เพื่อวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

2.5 เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและเสนอรูปแบบที่เหมาะสมกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา รวมทั้งเสนอปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

3. สมมติฐานของการศึกษา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยในปัจจุบัน แม้จะมีบทบัญญัติชัดเจนในเรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่สภาพความเป็นจริงแล้ว บทบัญญัติดังกล่าวที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องในคดีอาญา เนื่องจากอาจยังมีข้อบกพร่องและสมควรแก้ไข ปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวให้สามารถคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญารวมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายด้วยเช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องศึกษากฎหมายของต่างประเทศเพื่อนำมาเปรียบเทียบและปรับใช้กับการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยให้ถูกต้อง เหมาะสมและเพียงพอ

4. ขอบเขตการศึกษา

การศึกษานี้จะทำการศึกษาเกี่ยวกับแนวความคิด ประวัติความเป็นมา และหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาตลอดจนระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในการศึกษาดังกล่าวจะมุ่งเน้น ตลอดจนให้เห็นสภาพและปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจากการกระทำของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่ขัดแย้งกับช่องว่างของบทบัญญัติตามกฎหมาย โดยศึกษาวิเคราะห์ถึงปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาตามหลักกฎหมายของไทยเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศเป็นสำคัญ

5.นิยามศัพท์เฉพาะ

            “ผู้เสียหาย” หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ตามที่กฎหมายกำหนด และบุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือ รู้เห็นในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมายนั้นด้วย

“พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ” หมายความถึง เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน

“คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

“คำกล่าวโทษ” ได้แก่ การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น

“การสอบสวน” หมายถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายเพื่อทราบข้อเท็จจริง โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ เพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา และเพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษ โดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจะสรุปสำนวนสอบสวนนำส่งพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีต่อไป

“การสืบสวน” หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ เพื่อทราบรายละเอียดแห่งความผิด

“การจับกุม” หมายถึง การควบคุมตัวหรือการพรากไปซึ่งเสรีภาพผู้ต้องหาเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวนความผิดอาญาโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ

            “ผู้ต้องหา”  หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล

6. วิธีการดำเนินการศึกษา

โดยใช้วิธีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร (Documentary Research)  ได้แก่ หนังสือ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ งานวิจัย บทความทางวิชาการ วารสาร จุลสาร คำพิพากษาของศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง และศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายของไทยกับ กฎหมายของต่างประเทศ รวมถึงการค้นคว้าหาข้อมูลจากเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ตทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการศึกษาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายอาญาเป็นหลักสำคัญ เพื่อนำมาประยุกต์ แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ

7. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษา

6.1. ทำให้ทราบความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

6.2 ทำให้ทราบถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

6.3 ทำให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ของปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญาตามกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศ

6.4   ทำให้ทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

6.5   ทำให้ทราบถึงแนวทางแก้ไขปัญหาและเสนอรูปแบบที่เหมาะสมกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา รวมทั้งเสนอปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการของกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา

                   

หมายเลขบันทึก: 676381เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2020 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2020 12:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท