พลังแห่งวัยเยาว์ ภาคชุมชนไทย



วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ผมไปประชุมกลุ่มสามพราน ที่คุยกันเรื่องการพัฒนาเด็กเล็กผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดลพบุรี เสนอโดยทีม นพ. สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยบาลท่าวุ้ง  จังหวัดลพบุรี    ผู้มีชื่อเสียงด้านการจัดระบบบริการดูแลผู้สูงอายุ    แต่คราวนี้มาเล่าเรื่องการพัฒนาระบบดำเนินการศูนย์เด็กเล็กโดยใช้วิธีจัดการเรียนรู้แนว HighScope     ทดลอง ๑ โรงเรียนแล้วขยายผลไปเรื่อยๆ     โดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาขอให้ไปทำกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ของตนบ้าง    เนื่องจากเห็นผลดีต่อเด็กชัดเจนทันตา     เวลานี้ขยายไป ๓๐ ศูนย์ฯ    โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิยุวพัฒน์

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการนำเสนอคือเรื่อง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ด้านความปลอดภัยทางถนน โดย อ. กาญจนา ทองทั่ว และคุณพรทิพภา สุริยะ   ดำเนินการที่จังหวัดอุบลราชธานี    ที่ใช้ความปลอดภัยทางถนนเป็นประเด็นฝึกเด็ก ใช้เป็นกุศโลบายสร้างระบบความปลอดภัยทางถนนในชุมชน    โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.   ดำเนินการมาเป็นระยะที่ ๒      

ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups    ที่ผมอ่านแล้วเขียน บล็อก ชุด พลังแห่งวัยเยาว์    และรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ พลังแห่งวัยเยาว์     ซึ่งสื่อสารว่า เด็กเล็กมีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง มากกว่าที่ผู้ใหญ่เข้าใจ

นั่งฟังทั้งสองเรื่องแล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า  ในเรื่องพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทยนั้น   ยังมีความหวัง    แม้กระทรวงศึกษาธิการจะอ่อนแอ และเป็นอุปสรรค   โดยต้องใช้ยุทธการ “ป่าล้อมเมือง”     และจริงๆ แล้ว แม้แต่ภายในกระทรวงศึกษาธิการก็มีคนดี ที่มุ่งเป้าหมายเพื่อบ้านเมืองเป็นหลัก    ไม่ใช่เอาผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก     ดังระบุในบันทึกชุด สู่การศึกษาคุณภาพสูง   

จริงๆ แล้ว ในภาคประชาสังคม หรือภาคไม่เป็นทางการของไทย มีการริเริ่มสร้างสรรค์ ใหม่ๆ มากมาย     สิ่งที่ต้องการคือ การ “connect the dots”    หรือเชื่อมโยงนวัตกรรมเล็กๆ ที่กระจัดกระจาย    สู่การจัดระบบ    ให้เกิด systems transformation    หรือ systems redesign      

สองเรื่องที่มานำเสนอ ให้คุณค่าต่อการพัฒนาภาพใหญ่คนละมุม แต่เสริมกัน    เรื่องของทีม อ. กาญจนา ทองทั่ว ชี้แนวทางใช้การพัฒนาเด็กเล็ก  เป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนอย่างบูรณาการได้    ส่วนเรื่องของคุณหมอสันติ นำไปสู่การพัฒนารูปแบบการพัฒนาเด็กเล็กทั้งประเทศ

โชคดีที่คุณหมอสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ไปร่วมประชุมด้วย    และชี้ว่า ๒/๓ ของเด็กเล็กเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาล (อยู่ในสังกัด สพฐ.) เรียน ๓ ปี    อีก ๑/๓ เข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (อยู่ในสังกัด อปท.) เรียน ๒ ปี    การดำเนินการของทีมคุณหมอสันติ ทำเฉพาะกับศูนย์เด็กเล็ก    ซึ่งการบริหารขึ้นอยู่กับพื้นที่    ไม่ขึ้นกับส่วนกลางอย่างโรงเรียนอนุบาล          

ผมได้เข้าใจวิธีการจัดการเรียนรู้ให้แก่เด็กเล็กแบบ HighScope กระจ่างในวันนี้     และเห็นว่า เป็นรูปแบบของ Active Learning นั่นเอง    โดยมีหลักการ ๓ ขั้นตอนเป็นวงจรต่อเนื่อง คือ  Plan – Do – Review (หรือ reflect นั่นเอง)    ในช่วง Plan ก็คือขั้นตั้งเป้าการเรียน    ขั้น Review เป็นการประเมินผลนั่นเอง   

จุดแข็งของทีมคุณหมอสันติคือ วิธีการฝึกครูพี่เลี้ยงเด็กที่ง่าย และได้ผล  ใช้เวลาเพียง ๑๑ สัปดาห์    รวมทั้งการมีสภาพการจัดห้องเรียน วัสดุประกอบการเรียน และการกำหนดวัตรปฏิบัติแก่เด็กเพื่อสร้างนิสัยที่ดี และสร้างการมีวินัย     จุดสำคัญคือ ไม่ต้องซื้อวัสดุราคาแพง     ใช้วิธีประยุกต์วัสดุที่หาได้ในพื้นที่    ให้เด็กได้เล่น และทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของตน    เพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงคุณค่า ๔ ประการคือ

  1. 1. วางรากฐานการพัฒนาทุนมนุษย์ระยะยาว
  2. 2. ปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพและคุณธรรมจริยธรรม
  3. 3. ลดปัญหาสังคม
  4. 4. เพิ่มผลิตภาพในสังคม

HighScope เน้นดำเนินวิธีการเรียนรู้แนว Plan – Do – Review ในเด็กเล็ก    แต่ผมมีความเห็นว่า วิธีการเรียนรู้ดังกล่าวใช้ได้กับคนทุกวัย    และควรเป็นแนวทางหลักของการเรียนรู้ในคนทุกวัย 

กลับไปที่การพัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่น    ควรที่พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะได้นำเอาแนวทาง HighScope ที่ทีมคุณหมอสันติพัฒนาวิธีการไปปรับใช้    เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.พ. ๖๓

   

หมายเลขบันทึก: 676244เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2020 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2020 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท