มหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ภูมิหลังของภาพยนตร์สงครามชั้นเยี่ยม


#บทความภาพยนตร์ #บทความ

มหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ภูมิหลังของภาพยนตร์สงครามชั้นเยี่ยม

วาทิน ศานติ์ สันติ (30 มกราคม 2563)

#เกริ่นนำ

การประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทดราม่า ประจำปี 2020 คือ 1917 แถมยังพ่วงรางวัลใหญ่ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย และสถาบันออสการ์ประกาศให้ 1917 เข้าชิงในสาขาต่าง ๆ ถึง 10 สาขา นี่คือเครื่องการันตีว่า 1917 เป็นหนังสงครามที่มากกว่าการสู้รบกันอย่างแน่นอน ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นม้ามืดสุดยอดของหนังในปี 2019 แต่ด้วยรางวัลที่จอดคิวเข้ามานั้น แสดงให้เห็นว่านี่คือสุดยอดภาพยนตร์ตัวเต็งจ๋ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์เลยทีเดียว นี่คือสุดยอดผลงานที่กำกับและเขียนบทโดย แซม เมนเดส

1917 (2019) เป็นภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงแนวหน้าประเทศฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เน้นสู้กันในสนามเพลาะ เป็นเรื่องราวของสองนายทหารที่ต้องทำหน้าที่ส่งข่าวแจ้งเตือนแนวหน้าว่าให้ยุติการโจมตีแนวหน้าของเยอรมนี เพราะว่านั่นคือกับดักที่อาจจะทำให้ทหาร 1,600 นายต้องเสียชีวิต ดังนั้นทั้งสองคนต้องวิ่งไปตามแนวหน้านั้นให้ทันเวลาให้ได้ หนังเรื่องนี้มีความดีงามอยู่ที่การกำกับภาพโดยที่ผู้กำกับตั้งใจต้องการให้คนดูเห็นภาพของหนังตลอด 2 ชั่วโมงกว่าเป็นแบบ long Take ถ่ายแบบไม่มีตัด ซึ่งแน่นอนว่าแม้จะมีการตัดต่ออย่างไร แต่เขาก็ทำได้เนียนจนเราไม่อาจแยกด้วยว่าตรงไหนคือจุดตัดต่อ อีกทั้งเพลงประกอบที่ยอดเยี่ยม การกำกับภาพที่สวยงาม และเรื่องราวดราม่าที่ลงตัว จึงทำให้ 1917 กลายเป็นหนังตัวเต็งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

ยังมีหนังสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น War Horse (2011) กำกับโดย Steven spielberg เป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่าด้วยเรื่องราวของการเกณฑ์ม้าไปใช้ชักลากในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในภาพยนตร์จะทำให้เราเห็นว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นสร้างบาดแผล รอยร้าว ความสูญเสีย และความโหดร้าย ที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเองได้มากมายขนาดไหน เรียกได้ว่าเป็นหนังที่นำเสนอภาพสงครามโลกครั้งที่ 1 ออกมาได้ชัดเจนและน่าสนใจเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีหนังสงครามชั้นเยี่ยมที่ใช้ฉากหลังหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นตัวดำเนินเรื่องที่น่าสนใจเช่น

Lawrence of arabia (1962) ว่าด้วยเรื่องราวของนายทหารอังกฤษที่เข้าไปใน ดินแดนตะวันออกกลาง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มกบฏที่ต้องการจะต่อต้านอำนาจออตโตมันเติร์กอันเป็นศัตรูตัวสำคัญของฝ่ายพันธมิตร

Gallipoli (1981) ว่าด้วยเรื่องราวของนายทหารชาวออสเตรเลียที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมรภูมิ กัลลิโพลี ประเทศตุรกี เลยเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรเพื่อสู้รบกับออตโตมันเติร์ก

ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงตั้งใจจะนำเสนอเรื่องราวของที่มาที่ไปและผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 อันเป็นฉากสำคัญของหนังสงครามโลกชั้นเยี่ยมที่ยกตัวอย่างไปในแบบสรุปเข้าใจง่ายมา ณ ที่นี้

#สงครามโลกครั้งที่1คืออะไร

สงครามโลกครั้งที่ 1 (The World War of 1914 -1918) เป็นการแย่งชิงความเป็นใหญ่และแข่งขันในการแสวงหาผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจในยุโรป จนมีการแบ่งมหาอำนาจเป็นสองฝ่าย ซึ่งต่างแข่งขันในด้านการดำเนินนโยบายทางการทูตและทางการทหาร จนก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีสาเหตุ การดำเนินสงตราม และผล ของสงคราม สรุปได้ดังนี้

#สาเหตุโดยทั่วไป

1. เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามฟรังโก-ปรัสเซียที่เกิดขึ้นในระหว่างปี (ค.ศ. 1870-1871) ซึ่งฝรั่งเศสเป็นฝ่ายแพ้ มีผลทำให้เกิดการรวมประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม 5 พันล้านฟรังก์ ต้องยกแคว้นอัลซัล-ลอเรนให้กับเยอรมนีและฝรั่งเศสต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว 23 ปี จึงสร้างความโกรธแค้นให้กับฝรั่งเศส, ฝรั่งเศสต้องการแก้แค้นเยอรมนี

2. เกิดความรู้สึกชาตินิยม (Nationalism) พลังแห่งการรักชาติหรือความภูมิใจในชาติตนเอง ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะในคาบสมุทรบอลข่าน คือ ขบวนการขยายอิทธิพลสลาฟ (Pan Slavism) ชาวสลาฟต้องการแยกตัวออกจากการปกครองตุรกี ประชาชนในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจการปกครองของออสเตรีย-ฮังการี

3. เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่ (New Emperialism) อันเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการแสวงหาอาณานิคมภายนอกเพื่อหาแหล่งวัตถุดิบและระบายสินค้า เป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางการทหาร ทำให้เกิดการบาดหมางกันระหว่างประเทศคู่แข่งกัน

4. ความขัดแย้งทางการทหาร และการสะสมอาวุธทั้งบางบกและทางทะเล โดยแต่ละประเทศต้องการพยายามสร้างอาวุธให้ทัดเทียมชาติศตรู อันเนื่องมาจากความระแวง สงสัย หวาดกลัวซึ่งกันและกัน เช่น เยอรมนีสร้างอาวุธทางทะเลอย่างเรือรบ เรือดำน้ำ เยอรมนีแข่งขันกันขยายกำลังพลทางบกกับฝรั่งเศส

5. ก่อนเกิดสงคราม เกิดการแบ่งกลุ่มประเทศออกเป็น 2 กลุ่ม สมาชิกของแต่ละกลุ่มจะต้องช่วยเหลือกันในยามที่เกิดวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศคือ

ฝ่ายไตรภาคี (Triple Alliance) ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลีฝ่าย

ฝ่ายไตรพันธมิตร (Triple Entente) ประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย

#สาเหตุปัจจุบันของการเกิดสงคราม

ความไม่พอใจของประเทศเซอร์เบีย (Serbia) ที่ประเทศออสเตรีย – ฮังการี ผนวกดินแดนบอสเนีย – เฮอร์เชโกวีนา (Bosnia – Herzegovena) ซึ่งมีประชาชนเป็นชาวสลาฟ (Slavs) เช่นเดียวกับเซอร์เบีย และเซอร์เบียต้องการผนวกดินแดนดังกล่าวเข้ากับเซอร์เบีย

และเพื่อเป็นการเอาใจประชาชนที่อาศัยอยู่ในบอสเนีย – เฮอร์เชโกวีนา อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินาน (Archduke Francis Ferdinand) มกุฎราชกุมารแห่งอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี จึงเสด็จไปเยือนซาราเจโว (Sarajevo) ซี่งเป็นเมืองหลวงของบอสเนีย – เฮอร์เชโกวีนา ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1919 แต่พระองศ์ถูกลอบปลงพระชนม์โดยนักศึกษาชาวเซิร์บ ชื่อ กาวริโล ปรินซิป (Gavrilo Princip) ทำให้ออสเตรีย - ฮังการีตัดสินใจยื่นคำขาดต่อเซอร์เบียรับผิดชอบโดยให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องใน 24 ชั่วโมง แต่เซอร์เบียไม่อาจรับได้ ดังนั้นจึงทำให้ฝ่ายสนับสนุนทั้งสองข้างถูกเข้ามาทำสงครามต่อกัน

#การดำเนินสงคราม

รัสเซียซึ่งถือว่าเป็นผู้นำของชาวสลาฟจึงสั่งระดมผลเพื่อช่วยเซอร์เบีย โดยมีฝรั่งเศสนับสนุน

เยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรของออสเตรีย – ฮังการีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียและฝรั่งเศส

เยอรมนียกกองทัพเข้าตีฝรั่งเศสผ่านเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นกลางและได้รับการคุ้มครองจากกลุ่มประเทสมหาอำนาจ โดยมีอังกฤษเป็นผู้นำ

อังกฤษจึงประกาศสงครามกับเยอรมนีในฐานะละเมิดความเป็นเอกราชและความเป็นกลางของเบลเยี่ยม

ในปี ค.ศ. 1914 เป็นเวลาที่ สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้นมหาอำนาจยุโรปถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ

ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (The Central Power) ได้แก่เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ตุรกี บัลแกเรีย

ฝ่ายพันธมิตร (The Allied Power) ได้แก่ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ เซอร์เบีย อิตาลี สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และไทย

#สาเหตุที่ทำให้อิตาลีเข้าร่วมในสงคราม

แต่เดิมอิตาลีอยู่ในกลุ่มไตรภาคี แต่ปฏิเสธการเข้าร่วมสงครามด้วยเนื่องจากมองว่า เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี เป็นฝ่ายรุกรานก่อน จึงวางตัวเป็นกลาง แต่ตอนเริ่มสงครามอิตาลีหันไปรวมตัวกับฝ่ายไตรพันธมิตร เนื่องจากอิตาลีได้ทำสัญญาลอนดอนกับอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย ซึ่งเป็นสัญญาลับ โดยที่ฝ่ายพันธมิตรจะยกดินแดน เทรนติโน ทริเอสเต และบางส่วนแถบดัลมาเทียให้แก่อิตาลี อิตาลีถึงตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายฝ่ายพันธมิตร

#สาเหตุที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงคราม

อเมริกาไม่พอใจที่เยอรมนีทำสงครามเรือดำน้ำอย่างไม่มีขอบเขต ฌดยการโจมตีเรือโดยสารลูสิตาเนียเรือเดินสมุทรที่ไม่ติดอาวุธของอังกฤษจมลงใกล้ฝั่งทะเลของไอร์แลนด์ ซึ่งในเรือมีชาวอเมริกันเดินที่ทางมาด้วยเสียชีวิตไปถึง 139 คน ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1915 อเมริกาจึงประท้วงเยอรมนี

นายซิมเมอร์แมน (Zimmerman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีได้ชวนเม๊กซิโกกับญี่ปุ่นให้มาร่วมทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา โดยเม๊กซิโกจะได้รับผลตอบแทนคือ ดินแดนรัฐนิวเม็กซิโก เท็กซัสและอริโซนาคืนจากอเมริกา จึงทำให้อเมริกาไม่พอใจ

อเมริกาขายอาวุธให้กับกลุ่มพันธมิตร ถ้าพันธมิตรแพ้ อเมริกาจะสูญเสียรายได้จากการขายอาวุธ

#สาเหตุที่ทำให้ไทยเข้าร่วมสงคราม

ในช่วงนั้นประเทศไทย อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ 6 ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1917 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางโดยเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ทรงเล็งเห็นว่าการเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ จะสามารถกู้อํานาจอธิปไตยของประเทศไทยคืนมาได้หลังจากทำสัญญาไม่เป็นธรรมนับตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งหลังจากทำสัญญา ไทยสียเปรียบเสรีภาพทางการค้า พาณิชย์และโดยเฉพาะทางด้านการศาลให้กับประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในปี 1918 ฝ่ายพันธมิตรเป็ยฝ่ายชนะ หลังจากนั้น 1 ปีไทยก็ได้เข้าสู่ประชาคมโลก องค์กรสันนิบาตชาติ และต่อมาก็ยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาตามลำดับ นอกจากนี้การเข้าร่วมฝ่ายพันธมิตรนั้นไทยเล็งเห็นว่ายัง หลายชาติมหาอำนาจในฝ่ายนี้จะสามารถคานอำนาจญี่ปุ่นที่กำลังต่อตัวในเอเชียและในไทยอีกด้วย

#สาเหตุที่ทำให้รัสเซียถอนตัว

เกิดการปฏิวัติในประเทศรัสเซียของพวกบอลเซวิค (Bolsheviks) เพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1917 ซึ่งในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.1918 เลนิน (Lenin) ผู้นำของโซเวียตรัสเซีย (Soviet Russia) ทำสัญญาสงบศึกเบรสท์ – ลิตอฟ (Brest – Litovsk) กับเยอรมนี เป็นการถอนตัวออกจากสงคราม

#สาเหตุของการสิ้นสุดสงคราม

แต่ละประเทศในฝ่ายมหาอำนาจกลาง ที่เป็นพันธมิตรกับประเทศเยอรมนีมักประสบความพ่ายแพ้ ส่งผลกระทบต่อแนวรบเยอรมนี เยอรมนีจึงอ่อนล้า ก่อให้เกิดการกบฏของทหารเรือที่คลองคีล (Kiel) เกิดการจลาจลวุ่นวายทั่วประเทศเยอรมนี

วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ไกเซอร์ วิลเลียมที่ 2 (Kaiser William II) ลี้ภัยไปอยู่ฮอลแลนด์

วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เยอรมนีจึงยอมยุติสงครามเพื่อขอเจรจาทำสนธิสัญญาสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตร

#ผลของสงครามโลกครั้งที่1

1.ประเทศในยุโรปทั้งที่เป็นฝ่ายผู้แพ้ (มหาอำนาจกลาง) และฝ่ายชนะ (พันธมิตร) รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างได้รับผลกกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลมาจากสงคราม ระบบการเงินทั่วโลกกระทบกระเทือน เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก

2. แยกฮังการี ออกจาก ออสเตรีย

3. ประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และตูรกี เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบบสาธารณรัฐ

4. เกิดการแบ่งแผนที่ใหม่ ประเทศเกิดขึ้นใหม่เช่น ยูโกสลาเวีย เชคโกสโลวาเกีย โปแลนด์ ลัทเวีย ลิโทเนีย แอสโทเนีย

5. มีทหารเสียชีวิตไปประมาน 8 ล้านคน บาดเจ็บประมาน 20 ล้านคน

6. มีการจัดตั้งองค์กรสันนิบาตชาติ (League Of Nations) เพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่องค์กรก็ไม่สามารถอยู่ได้นานเนื่องจากสารัทธ์อเมริกาผู้ร่วมก่อตั้งได้ถอนตัวออกจากองค์กรสันนิบาตชาติ

7. มีการจัดทำสนธิสัญญาสงบศึกเพื่อเป็นการลงโทษแก่ประเทศผู้แพ้สงคราม คือสนธิสัญญาแวร์ซาย โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าประเทศผู้แพ้สงครามเป็นฝ่ายผู้ก่อสงคราม ผลของสัญญาเช่น ผู้แพ้ต้องเสียดินแดน เสียอาณานิคม เสียอำนาจการปกครองตนเอง เสียอำนาจทางการค้า และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล ซึ่งกลายมาเป็นสาเหตุและชนวนสำคัญที่จะนำไปสู่การเกิดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ.1939 - 1945

ดูหนังแล้วย้อนมองประวัติศาสตร์ จะทำให้เราได้อะไรมากกว่าความสนุกมากมายนะครับ

วาทิน ศานติ์ สันติ

30 มกราคม 2563

เรียบเรียงจาก การเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ยุโรป 2 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง

ศฤงคาร พันธุพงศ์. (2544). ประวัติศาสตร์ยุโรป 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

#MovieStationReview #สถานีหนัง

#บทความไทยศึกษาคติชนวิทยา

#บทความภาพยนตร์ #ภาพยนตร์สงครามโลกครั้งที่1

หมายเลขบันทึก: 676174เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2020 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2020 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท