โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โดย ลุงเอก


                          พานักศึกษา 4ส10 ไปศึกษาดูงานที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เชียงใหม่ โฮงเฮียนก่อตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2546 ที่ตั้งปัจจุบัน เดิมเป็นที่ดินของคุณเล็ก ล่ำซำ ให้ยืมพื้นที่จัดงาน จนเจ้าของเดิมยกให้กับหลวงปู่จันทร์ จึงเอามาตั้งเป็นโรงเรียน หลังจากหลวงปู่จันทร์มรณภาพ ได้มอบพื้นที่ให้กับวัดป่าดาราภิรมย์ดูแลต่อ โดยโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนามีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินกิจกรรม ในการรวบรวมองค์ความรู้จากพ่อครู (พ่ออุ้ย) แม่ครู (แม่อุ้ย) และปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อทำการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมให้กับลูกหลาน และผู้สนใจในท้องถิ่นล้านนนาทั่วไป 

                          เพื่อได้เกิดการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสาขาต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่น ที่มีอยู่ ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถสืบสานความรู้ที่บรรพบุรุษ ได้สั่งสมมา ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป อัตลักษณ์ของพื้นที่ (Highlight) เป็นที่รวบรวมภูมิปัญญาองค์ความรู้ของล้านนาจากปราชญ์ชาวบ้านได้อย่างครบถ้วน โดยอาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้ดูแลโฮงเฮียนฯ เป็นวิทยากรที่มีองค์ความรู้เรื่องล้านนาคดีอย่างรอบด้าน โดยรอบ ๆ นั้นมีกาด (ตลาด) ขายสินค้าทำจากมือของชุมชนในเชียงใหม่ โฮงเฮียนเปิดสอนหลายหมวดวิชาด้วยกันคือ หมวดภาษา (คำเมือง ตัวอักษรล้านนา วรรณกรรมพื้นบ้าน) หมวดคีตหรือดนตรีพื้นเมือง หมวดศิลปะ (การทำตุง การทำโคม การวาดลาย) หมวดหัตถกรรม (สล่าจักสาน แกะสลัก หล่อพระ เครื่องเขิน) หมวดนาฏย (การฟ้อนรำ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น) ซึ่งนับเป็นพื้นที่ที่รวบรวม ส่งเสริม และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นผู้รู้/ ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับเด็กรุ่นใหม่จากรุ่นสู่รุ่น

                           องค์ความรู้และสาระสำคัญที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน อาจารย์ชัชวาลได้บรรยายให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นในโลกโลกาภิวัตน์ที่ซับซ้อนและให้ความสำคัญกับระบบตลาดจนทำให้ความเป็นท้องถิ่น/ ภูมิปัญญาดั้งเดิมนั้นถูกละเลยไป โฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนาจึงต้องกลับมาตระหนักถึงวิถีชีวิต/ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่หวนสัมพันธ์กับท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันชุมชนล้านนามีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกันมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว เช่น การสร้างฝาย การรักษาป่าที่คำนึงถึงระบบนิเวศของคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ร่วมกับป่าได้ รวมทั้งได้ร่วมกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งในเรื่องอาหาร ยารักษาโรค งานหัตถกรรมการเกษตรพื้นบ้าน การจัดการทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีและมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคม นอกเหนือจากการบรรยายแล้ววิทยากรของโฮงเฮียนฯ ได้พาเดินชมพื้นที่รอบโฮงเฮียนที่ได้รวบรวมองค์ความรู้ท้องถิ่นไว้ เช่น การทำมัดย้อม การเรียนอักษรล้านนา การรวบรวมคัมภีร์ใบลาน ฯลฯ ซึ่งนับเป็นแหล่งองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาล้านนาที่สำคัญของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีการแสดงการฟ้อนรำตามฉบับของล้านนาให้ทางทีมงานดู ซึ่งฝึกโดยคณาจารย์รุ่นใหม่ของทางโฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนาอีกด้วย ประโยชน์ที่ได้รับและนำมาประยุกต์ใช้นั้น นักศึกษาได้เห็นคุณค่าของการรวบรวม การรักษา และสืบสานองค์ความรู้ท้องถิ่น/ ภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ภาคเหนือ อันควรจะได้รับการรักษาและสืบสานวัฒนธรรมต่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก /รับรู้เพื่อที่จะไม่ให้สูญหายไป นอกจากการเล็งเห็นคุณค่าแล้ว ยังสามารถนำภูมิปัญญาเหล่านั้นมาปรับประยุกต์ในเชิงเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมได้

หมายเลขบันทึก: 675994เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2020 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มีนาคม 2020 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ลองมาเริ่มเขียนใหม่ แบบงกๆเงิ่นๆ

ลองกลับมาเขียนใหม่เปลี่ยนไปเยอะเลยงกๆเงิ่นๆ

แก้วยังอยู่นานมากแล้วนะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท