สิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม (Innovation)


สิ่งประดิษฐ์สู่นวัตกรรม (Innovation)

                  นวัตกรรม vs สิ่งประดิษฐ์ ต่างกันอย่างไร?  การสร้างนวัตกรรมไม่ใช่แค่การสร้างสิ่งประดิษฐ์ (Invention) นวัตกรรม เป็นการผสมผสาน ระหว่าง เทคโนโลยี + การใช้งานก่อให้เกิดประโยชน์ + เป็นที่ต้องการของสังคม แต่ถ้าไม่คำนึงการใช้งานที่เป็นประโยชน์ได้จริงตรงตามความต้องการในการแก้ปัญหา หรือการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่า และไม่ได้เป็นที่ต้องการในการนำไปใช้ สิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์

             สำหรับนวัตกรรมในระดับสากลสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

                1. นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถมองเห็นได้ สัมผัสได้ จับต้องได้ (Tangible Product and Intangible Product) เช่นสมาร์ทโฟน เป็นต้น

                2. นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation) เป็นนวัตกรรมที่มองในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต โดยจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของการใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การนำระบบการผลิตแบบ Assembly Line มาใช้ในการผลิตรถยนต์แทนระบบที่ประกอบด้วยมือเป็นต้น

                3. นวัตกรรมองค์การ (Organization Innovation) เป็นนวัตกรรมที่เน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการหรือบริหารองค์การ ซึ่งจะต้องใช้ความรู้ความสามารถในด้านการบริหารหรือการจัดการมาปรับปรุงโครงสร้างองค์การใหม่โดยเฉพาะการบริหารทรัพยากรมนุษย์

                ทิดด์ (Joe Tidd) ได้สรุปขั้นตอนของนวัตกรรมไว้ 4 ขั้นตอน คือ

                1. Search คือ การค้นหาแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหา เพราะปัญหาคือจุดเริ่มต้นของการออกแบบและพัฒนา เริ่มต้นจากความคิด หรือ “ไอเดีย” ที่อาจเกิดจากการระดมความคิด และการสร้างแผนผังความคิด  

                2. Select คือ หลังจากเราได้ความคิดใหม่ ๆ และสามารถระบุปัญหาได้แล้ว ก็จะต้องคิดแก้ปัญหาที่เลือกเฟ้นหาว่าสิ่งไหนที่ตอบโจทย์มากที่สุด และเป็นประโยชน์สูงสุด

                3. Implementation คือ การนำความคิดที่เลือกแล้วมาสู่การลงมือทำ หรือสู่การผลิตอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อนำไปสู่การแก้โจทย์ปัญหาจากขั้นตอนแรก

                4. Capture คือ ขั้นตอนการนำสิ่งที่ได้จากการผลิตไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปทำให้เกิดรายได้หรือผลตอบแทน

                จะรู้ได้อย่างไรว่า อะไรคือ “นวัตกรรม”…?

                เราสามารถแยกแยะนวัตกรรมออกจากสิ่งประดิษฐ์ ว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับนวัตกรรมหรือไม่ โดยพิจารณาจาก

                – เป็นสิ่งของที่สร้างหรือคิดค้นขึ้นใหม่ทั้งหมด หรือแค่บางส่วน

                – มีวิธีการจัดระบบเป็นองค์ประกอบในส่วนของข้อมูล

                – มีการพิสูจน์ และวิจัยว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                ดังนั้นนวัตกรรมจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงความรู้เดิมให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผ่านกระบวนการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ จากนั้นก็นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

เอกสารอ้างอิง

ไพฑูรย์  สินลารัตน์และคณะ. 2561. การศึกษา4.0เป็นยิ่งกว่าการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่5. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรร์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 675712เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2020 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ธันวาคม 2020 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท