เวที PLC พูนพลังครูเพื่อศิษย์อีสาน ปี ๒๕๖๒: ครูเพ็ญศรี ใจกล้า (เกษียณปีนี้)


วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๒  ทีมงาน "คนค้นครู" จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อ "พูนพลังครู" เพื่อศิษย์อีสาน ประจำปี ๒๕๖๒  มีคุณครูเพื่อศิษย์อีสานมาร่วมสนทนาแบ่งปันประสบการณ์และความสุขกันทั้งหมด ๙ ท่าน  คือ ๑) คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า ๒) คุณครูเพ็ญศรี กานุมาร ๓) คุณครูเรย์ จีรนันท์ จันทยุทธ์ ๔) คุณครูอ๋อย อัจฉราวรรณ ภิบาล วันนี้มาพร้อม ("คนขับรถ" ระดับ ผอ. โรงเรียน) ๕) คุณครูเต้ง สุริยนต์ ฉิมพลี ๖) คุณครูคเณศ ดวงเพียราช ๗) คุณครูภาวนา ดวงเพียราช ๘) คุณครู ผอ.ไพฑูรย์ แวววงศ์ ๙) คุณครูศิริลักษณ์ ชมภูคำ  และ ๑๐) คุณครูวรารัตน์ ภูเฉลิม  รวมกับเทีมเรา ๓ มี คุณเสือ คุณดาว และแสน (ธีระวุฒิ ศรีมังคละ) รวมเป็นทั้งหมด ๑๔ คน มาสนทนาแลกเปลี่ยนกันแบบไม่มีพิธีการใด ๆ  .... เป็นเวทีที่เกิดจากใจ เกิดจากมิตรภาพภายในโดยแท้ ขอนำมาเล่าบันทึกไว้ในความทรงจำครับ




ปีนี้ไม่มีการมอบรางวัล "ครูเพื่อศิษย์อีสาน" ผมแจ้งอาจารย์ทุกท่านตามตรงว่า ผมไม่ได้ทำงานของ "คนค้นครู" มากนัก มัวแต่ไปลุยกับรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่หวังจะขับเคลื่อนการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ให้นำเอาการสอนแบบที่ตนเองเข้าใจว่าควรทำอย่างไรในศตวรรษที่ ๒๑ ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในสังกัด ซึ่งก็ได้ผล "ระดับหนึ่ง" ส่วนที่ไม่ได้ผลก็พบว่า เป็นเพราะภายในของ "คน" ล้วน ๆ  ไม่ใช่ท่านไม่รู้ แต่เป็นเพราะไม่ได้คิดว่าท่านเป็น "ครูเพื่อศิษย์" ในห้องเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไป ... ปีต่อไปนี้ น่าจะมีโอกาส จังหวะ และเวลา ให้ทีม "คนค้นครู" ได้เต็มที่

ผมออกแบบกิจกรรม PLC ให้ครูได้เล่าเรื่อง โดยกำหนดไปที่ "เรื่องเล่า" (story telling)  โดยคุณครูอาจหยิบเอาเรื่องใดก็ได้ในวงรอบ ๑ ปีที่เราไม่ได้เจอกัน มาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์กัน  ใช้เวลาเพียงครึ่งวัน อยากให้วันนี้เป็นเหมือนวันที่เพื่อนเดินทางมาหากัน กินข้าวร่วมกัน แบ่งปันสิ่งดีให้แก่กัน ... เมื่ออายุมาถึงจุดนี้ ผมเริ่ีมเข้าใจว่า กระบวนกรที่เคยเรียนรู้  ทุกท่านล้วนแต่ไร้รูปแบบ ไร้พิธีการทั้งสิ้น ... ยังไงก็ดี บทบาทที่ผมชอบและคงจะไม่เลิกทำไปจนตลอดชีวิตก็คือ การเรียนรู้และถอดบทเรียนจากผู้ลงมือทำนำประสบการณ์ตรงของท่านมาเล่า

ขอนำมาบันทึกเป็นความทรงจำ  ประเด็นสำคัญที่ขอนำมาแชร์กันครับ

๑) ครูเพ็ญศรี ใจกล้า

ปีนี้คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า ต้องเกษียณอายุจากระบบข้าราชการไทย สำหรับผม... รู้สึกเป็นที่น่าเสียดายบุคลากรทางการศึกษาที่ทรงคุณค่านี้ยิ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วหลาย ๆ ที่ เขามีระบบที่เอื้อให้ผู้มีผลงานเชิงประจักษ์แบบนี้ ให้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาคนรุ่นหลัง ยกให้เป็นครูหรือที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงให้ผู้จะสานต่อเดินไปได้ .... เข้าใจว่าประเทศไทยก็กำลังพยายามสร้างระบบนี้ คนดีครูดี คงต้องมีงานให้ทำต่อไปครับ

คุณครูเพ็ญศรี สรุปประสบการณ์ ๖๐ ปี ออกมาเป็น ๓ ข้อบทบาทของครู ที่ครูทุกคนควรเป็น

  • ครูคือ "ผู้สร้างแรงบันดาลใจ" 
  • ครูคือ "ผู้ให้โอกาส" 
  • ครูคือ "ผู้สนับสนุน" 
และให้แนวทางสำคัญ ๒ ข้อ สำหรับครูที่ยังไม่มั่นใจ ว่า "อย่ากลัว"  อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง และให้ "อยู่กับปัจจุบัน" 

เป็นการสรุปแบบลัดสั้น แต่ผมเห็นด้วยตามนั้นว่า นั่นคือทั้งหมดของแก่นการศึกษาไทย ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในศตวรรษใด ก็จะทันสมัยเสมอ ...

ผลงานที่ประจักษ์ของคุณครูเพ็ญศรีมีมากมาย ดูจากความทรงจำของศิษย์ที่มีต่อคุณครู  วันนี้แสน ธีระวุฒิ ศรีมังคละ (แสน) นิสิตฝึกสอนที่กำลังจะเป็นครู เอาประสบการณ์งานออกแบบสื่อและเทคนิคการสอนแบบเกมส์มาแบ่งปันด้วย

ขอพักไว้เท่านี้ชั่วครู่ ... ครูเพื่อศิษย์อีสานจะเดินต่อไปในจังหวะ โอกาส วาสนา และเวลาที่เหมาะสมครับ

หมายเลขบันทึก: 675513เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2020 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2020 09:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท