'โขง' ประตู


“โขง” เป็นคำที่ถูกเรียกใช้อย่างกว้างขวางมาแต่โบราณในแถบล้านนาล้านช้าง หากไม่ได้หมายถึงแม่น้ำโขง แต่ใช้กับประตูเป็น “ประตูโขง” หรือใช้กับพระเจ้าเป็น “โขงพระเจ้า”

ในบทความเรื่อง “โขง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21–25 รูปแบบ เทคนิค และแนวคิดของกลุ่มสกุลช่างลำปาง” โดย ฐาปกรณ์ เครือระยา ในวารสารหน้าจั่ว ฉ. 11 พ.ศ. 2557 อ้างอิงคำอธิบาย ‘โขง’ ของทางล้านนาไว้ดังนี้

“ คำว่า “โขง” พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ว่า โขงใช้เรียกโค้งครึ่งวงกลมและส่วนประกอบเมื่อเป็นประตูวัดเรียกทั้งซุ้มประตูว่าซุ้มประตูโขง โดยปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมล้านนาตั้งแต่ยุคเชียงใหม่เป็นราชธานี

พจนานุกรมภาษาถิ่นล้านนาไทย โดยมณี พยอมยงค์ ได้ให้คำนิยามไว้ 2 ความหมาย คือ ความหมายแรกหมายถึง ซุ้มประตูวัด และความหมายที่สอง หมายถึง อาณาเขต (เช่น ทั่วโขงเขตข้อง คือ ทั่วอาณาบริเวณ)

ส่วนในพจนานุกรมฉบับแม่ฟ้าหลวง โดยอุดม รุ่งเรืองศรี เขียนไว้ว่า “โขง” หมายถึง อาณาเขต, “ซุ้ม” หมายถึง สิ่งที่ทําให้โค้ง อย่างเช่นประตูซุ้ม โขงประตูหมายถึง ประตูใหญ่ ส่วน “โขงพระเจ้า” หรือ “กู่โขงพระเจ้า” หมายถึง มณฑปลักษณะคล้ายเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระประธานในวิหาร

ประตูโขงในล้านนามีลักษณะคล้ายปราสาทซ้อนชั้น ส่วนบนสุดเป็นยอดแหลมหรือยอดดอกบัวตูม โดยเหนือชั้นหลังคาบัวถลาจะมีแท่นบัวย่อส่วนซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นจะมีซุ้มป่องปิ๋วประดับ เรียกซุ้มป่องปิ๋วนี้ว่า “กุฑุ”(Kudu) อันเป็นสัญลักษณ์ของที่อยู่เทวดาในชั้นต่างๆ

คําว่า “โขง” ในบริบทของสังคมคนเมืองล้านนา สันนิษฐานว่าคงมาจากลักษณะการ “โค้ง” ซึ่งเห็นได้จากวงโค้งกรอบซุ้มประตูรูปครึ่งวงกลม เชื่อว่าซุ้มประตูโขงมีพัฒนามาจากทวารโตรณะ (Drava Torana) ของศิลปะอินเดีย อันเป็นเครื่องหมายบอกทางเข้าพุทธถานที่ได้ถ่ายทอดมาถึงพื้นที่แถบนี้ และมีการพัฒนารูปแบบจนมีลักษณะเป็นศิลปะเฉพาะตน”

ส่วนทางล้านช้าง อาจารย์ติ๊ก แสนบุญ ได้อธิบายไว้ในบทความเรื่อง “อัตลักษณ์ในส่วนตกแต่งองค์ประกอบสถาปัตยกรรมศาสนาคารพื้นถิ่นไทยอีสานกับ สปป.ลาว” ในวารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 9 พ.ศ. 2553 คัดมาบางส่วนว่า

“โดยส่วนใหญ่พบว่าในวัฒนธรรมลาวมีการตกแต่งยอดซุ้ม “แบบยอดธาตุแบบบัวเหลี่ยมซ้อนชั้น” โดยมีการตกแต่งส่วนยอดเหล่านั้นด้วยตัวกาบซ้อนสลับคล้ายกลีบขนุนอย่างศิลปะขอม ที่น่าจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับรูปแบบยอดของดอกไม้เครื่องบูชาที่เรี่ยกว่ายอดขันหมากเบ็ง โดยเฉพาะซุ้มช่องเปิดประตูทางเข้าหลัก อย่างในวัฒนธรรมลาวนิยมเรียกส่วนตกแต่งทั้งหมดนี้ว่า โขงประตู หรือ วัง และ สุ่ม ก็เรียก โดยส่วนนี้ถือเป็นการจำลองย่อส่วนรูปเรือนปราสาท (ลักษณะการแบ่งครึ่ง) ไว้ในพื้นที่สมมุติตามกรอบแนวคิดของ ไตรภูมิคติ โดยสร้างสภาวะเหมือนจริงอย่างทางโลกย์ไว้ที่เรือนผนังอาคาร โดยมีสัตว์สัญลักษณ์อย่างพญานาคเป็นองค์ประกอบหลักในโครงสร้างรูปทรงซุ้ม”

เมื่อสอบค้นคำว่า “โขง” ในจารึกล้านนาล้านช้าง จากฐานข้อมูลจารึกศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร พบว่ามีการกล่าวถึงอยู่ 2 หลัก อายุพุทธศตวรรษที่ 22 ดังนี้

1. จารึกวัดเชียงมั่น อายุ พ.ศ. 2124 เป็นจารึกที่เล่าถึงตำนานการสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 โดย พญามังราย พญางําเมือง และพญาร่วง เขียน “ปตูขรง” ตรงบรรทัดที่ 14 ของด้านที่ 1 ความว่า

คำจารึก: วิหารอุโบสถปิตตกฆรส้างธมัมเสนาสณกมแพงปตูขรงในอารามชู่อนัเถิง

คำปริวรรต: วิหารอุโบสถปีฎกฆระ(๒๗)สร้างธรรมเสนาสนะกําแพงประตูขรง(๒๘)ในอารามชู่(๒๙)อันเถิง

บรรยายถึงการก่อสร้างวิหารอุโบสถ หอไตร ธรรมเสนาสนะ กำแพง และประตูโขง โดย ฉ่ำ ทองคำวรรณ อธิบายเชิงอรรถ 28 “ขรง” ว่าหมายถึง ข่วง คือ บริเวณ

2. จารึกวัดพระธาตุพนม 2 อายุ พ.ศ. 2157 เป็นจารึกเล่าถึงการบูรณะพระธาตุพนมของพระยานครพิชิตธานี เขียน “ปดัตูขง” ตรงบรรทัดที่ 9 โดยคัดจากบรรทัดที่ 6-9 ความว่า

คำจารึก: ทงัหํเขาพฺระแลแทนบูชา๔ดานแลสางวัดก๗. ปักติบสงักํกําแพงออมพฺระมหาทฺธาดเจาทงัม๘. วนลวงยาว๕๔วาลวงกวาง๕๒วารอม๑๐๖วารอม๑๐๖วากบั๙. ปดัตูขงเพือบํไหเปนมะละมึนทึนแกพฺระสาษห̅นา

คำปริวรรต: ทั้งหอข้าวพระแลแท่นบูชา๔ด้านแลสร้างวัดกั- บก่อตึบ(๙)สงฆ์ก่อกําแพงอ้อมพระมหาธาตุเจ้าทั้งม- วลล่วงยาว(๑๐)๕๔วาล่วงกว้าง๕๒วารอม(๑๑)๑๐๖วากับประตูขง(๑๒)เพื่อบ่ให้เป็นมลมึนทึน(๑๓)แก่พระศาสนา

บรรยายถึงการสร้างวัด ก่อกำแพงล้อมพระธาตุ และประตูโขง เพื่อไม่ให้พระศาสนาแปดเปื้อนมลทิน ธวัช ปุณโณทก อธิบายเชิงอรรถ 12 “ประตูขง” หมายถึง ประตูกำแพง, ประตูเขต

นอกจากนั้นยังพบในโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งเป็นโคลงเก่าแก่ของไทถิ่นเหนือ คาดกันว่ามีอายุอย่างต่ำ พ.ศ. 2180 ขึ้นไป คัดต้นฉบับเชียงใหม่และต้นฉบับหอสมุดฯ จากห้องสมุดวชิรญาณ บทที่ 151 ความว่า

ฉบับเชียงใหม่:

เถิงพระพุทธรูปอั้น ยืนยัง

กวมก่อเป็นขงทัง สี่ด้าน

ทำบุญเบิกบุญปัง พบแม่ นะแม่

ขูโนสพระเจ้าจ้าน ค่อยแก้กรรมเรียม

ฉบับหอสมุดฯ:

ถึงพุทธรูปอั้น ยืนยัง

ก่อมก้อเป็นขลงทัง สี่ด้าน

ทำบุญเผื่อบุญบัง พบแม่ นะแม่

กุโนชพระเจ้าจ้าน ค่อยแก้กรรมสนอง

คือมีการก่อประตูโขงครอบพระพุทธรูปทั้งสี่ด้าน คณะผู้ถอดความได้แปล “ขง” ว่าประตูโค้ง

ทั้งนี้ ฐาปกรณ์ เครือระยา ได้ตีความว่าประตูโขงที่พบในล้านนา ณ ขณะนี้ ไม่น่ามีอายุเกินพุทธศตวรรษที่ 21 คัดจากบทความเดียวกัน ความว่า

“ ถึงแม้ว่าในเอกสารของล้านนามีการกล่าวถึงโขงมาแล้วตั้งแต่สมัยพญากือนา แต่ซุ้มโขงของล้านนาที่เก่าที่สุดที่พบในขณะนี้ไม่น่าจะมีอายุเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 21”

ในความเห็นของผม “โขง” ใน “ประตูโขง” และ “โขงพระเจ้า” ของชาวล้านนาและล้านช้าง รวมถิ่นอีศาน พัวพันอย่างลึกล้ำกับ “ความเป็นใหญ่” ของ “โขลญ” แห่งขอมสบาดโขลญลำพง ผู้เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เฝ้าควบคุมรักษาประตูใหญ่ และขอบเขตเมืองสุกโขไท ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช่ว่าจะเคลื่อนย้ายกำลังไปไหนมาไหนได้ เพราะชื่อตำแหน่งชี้อย่างชัดเจนว่าคือ “ยามใหญ่เฝ้าเมือง” (ไม่ใช่เจ้าเมือง แต่เป็นลูกน้องเจ้าเมือง) “สุกโขไท” จึงเป็นเมืองที่ควรมีตำแหน่ง “โขลญลำพง” ประจำอยู่อย่างถาวรมาช้านานแล้ว

รวมไปถึง “โขลน” แห่งโขลนทวาร ในฐานะประตูป่าเบิกรอดต่างมิติ และในฐานะร่องน้ำหลักควบคุมเส้นทางเข้า-ออก หรือ “โขลน” แห่งขุนโขลน ผู้เป็นนายแห่งอำเภอ จนถึง “โขลน” แห่งกรมโขลน ผู้เฝ้ารักษาเขตพระราชฐานชั้นใน

อันเป็นคำและความหมาย ที่เข้าใจว่าต่างถูกถ่ายทอดรับอิทธิพลจากเมืองพระนครจักรวรรดิเขมรแต่ครั้งโบราณ จากคำว่า “โขฺลง” ทวาร และ “โขฺลญ” คน ขึ้นไปจนถึงยุคเก่ากว่า ที่เรียกด้วยเสียง ก- ว่า “โกฺลญฺ”

ซึ่งเสียงท้าย -ญ นาสิกขึ้นจมูกเพดานแข็งนั้น อยู่ตรงตำแหน่งกลางช่องปาก สามารถแปรไปเป็นเสียง -น นาสิกขึ้นจมูกฐานปุ่มเหงือก และ –ง นาสิกขึ้นจมูกเพดานอ่อนได้ง่าย เช่นในพวกเขมรโบราณ ก็ใช้ทั้ง ‘กมฺรตางฺ อญฺ’ และ ‘กมฺรตาญฺ อญฺ’ ปะปนกันในจารึกแต่ครั้งยุคเก่ากว่าเมืองพระนคร ก่อนใช้เสียงท้าย -ง เท่านั้นหลังปลายพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา (วิมล เขตตะ และคณะ พ.ศ. 2560)

โดยพวกไท-ไต (Tai) ทั้งหลายไม่มีเสียงท้าย –ญ (อย่างไรก็ตาม อาจารย์พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ได้เสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต พ.ศ. 2552 ว่า ภาษาไท-ไตโบราณควรต้องมีเสียง ญ.หญิง เป็นตัวสะกดท้ายคำด้วย) เมื่อยืมคำที่ลงท้ายด้วยเสียง –ญ ทางล้านนาล้านช้างจะใช้เสียง –ง แม่กงแทน ในขณะที่ทางไทยสยามจะใช้เสียง –น แทน อย่างคำว่า “เพ็ญ” ทางล้านนาใช้ว่า “เป็ง” ล้านช้างใช้ว่า “เพ็ง” แต่ไทยสยามใช้ว่า “เพ็ญ” ออกเสียง –น แม่กนแทน

เช่นเดียวกับคำว่า “โขลญ” หรือ “โขลง” ในบางอารมณ์ที่ปะปนกัน เมื่อถูกนำมาใช้ในพวกไท-ไต ผู้ไม่มีเสียงท้าย -ญ ชาวล้านนาล้านช้างจึงออกเสียงท้ายด้วย -ง ก่อนละทิ้งเสียงควบ -ล- กลายเป็น “ขง” หรือ “โขง” แตกต่างจากชาวไทยสยามลุ่มเจ้าพระยาที่ใช้เสียง –น (เขียน “โขลญ” ในยุคสุกโขไท ก่อนกลายเป็น “โขลน” ในยุคกรุงศรีอยุธยา)

มากไปกว่านั้น เมื่อสาวรากให้ถึงเหง้า กลับกลายว่า เป็นได้สูงที่อาจมีเค้าโครงดั้งเดิมจากคำของพวกออสโตรนีเซียน อย่างชวา-มลายู เช่น ในคำว่า “gawang-กาวัง” หมายถึงเสาสูงสองต้นผูกโยงด้านบนเข้าหากัน อยู่ในกลุ่มคำเดียวกับ “awang-อาวัง” ห้องขนาดใหญ่ หรือพื้นที่กว้างขวางบนผืนพิภพ, “lawang-ลาวัง” ประตูเข้า-ออกขนาดใหญ่, “sawang-ซาวัง” พื้นที่ว่างเปล่าใหญ่โตระหว่างผืนฟ้าและพื้นดิน

และยังเชื่อมโยงเชื้อสายมาถึงหนึ่งในชุดคำคล้ายของพวกไท-ไต เช่นในคำว่า “กว้าง”, “ขวาง”, “คว้าง”, “ว่าง”, “วัง” น้ำ, “หว่าง”, “ห้วง” เป็นต้น ซึ่งล้วนมีความหมายพื้นฐานร่วมกันว่า พื้นที่โล่งกว้างในทางขวาง

ซึ่งพัฒนาลงมาจากรากคำพยางค์เดียว (monosyllabic roots) อันเก่าแก่ร่วมกันระหว่างออสโตรนีเซียนและไท-กะไดว่า *waŋ /วัง/ บนความหมายสามัญแห่ง “wide-open space” ความกว้างขวางใหญ่โต

ดังนั้น ถ้าว่ากันตามแนวทางการสืบค้น โยงใยจนถึงรากคำพยางค์เดียว *waŋ ข้างต้น “โขง” จึงหมายถึง “ตัวควบคุมใหญ่ กินความถึงขอบเขตพื้นที่ที่อยู่พายใต้” ชนิดที่เรียกกันทั่วไปว่า “ทั่วโขงเขตข้อง”

ดังนั้น “ประตูโขง” จึงไม่ได้หมายถึงวงโค้งของกรอบซุ้มประตูครึ่งวงกลม และไม่ได้หมายถึงข่วงบริเวณลานโล่ง, อาณาเขต หรือซุ้มประตูวัด, ประตูใหญ่, ประตูกำแพง, ประตูเขต เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

หาก “ประตูโขง” คือประตูใหญ่ ผู้รวมเอาขอบเขตอาณาบริเวณที่อยู่พายใต้การควบคุมเข้าไว้ด้วยกัน เป็นช่องประตูหลักสำหรับการเดินทางเข้าออกโลกต่างมิติ ที่ว่าไปแล้วไม่จำเป็นต้องมีกำแพงมากางกั้นล้อมรอบก็ได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง “ขอมสบาดโขลญลำพง โขลนทวาร โขงประตู” ฉบับปรับปรุง 2560

จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกต เพื่อการถกเถียงไว้ ณ ปลายบรรทัดนี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 16 มกราคม 2563 (ปรับปรุง 25 กรกฎาคม 2563)

อ้างอิง:

ฐาปกรณ์ เครือระยา และ ฐิติกานต์ แก้ววิเศษ. พ.ศ. 2557. โขง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-25 รูปแบบ เทคนิคและแนวคิด ของกลุ่มสกุลช่างลำปาง. วารสารหน้าจั่ว ฉ. 11 พ.ศ. 2557: มหาวิทยาลัยศิลปากร. (www.thapra.lib.su.ac.th)

ติ๊ก แสนบุญ. พ.ศ. 2553. อัตลักษณ์ในส่วนตกแต่งองค์ประกอบสถาปัตยกรรมศาสนาคารพื้นถิ่นไทยอีสานกับ สปป.ลาว. วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปีที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2553: มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (www.arch.kku.ac.th)

วิมล เขตตะ และคณะ. พ.ศ. 2560. กัมรเตง อัญ : ศึกษาในประเด็นที่มาและรูปแบบการใช้คำ. วารสารช่อพะยอม ปีที่ 28 ฉบับที่ 1พ.ศ. 2560: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. (www.tci-thaijo.org)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกวัดเชียงมั่น. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกวัดพระธาตุพนม 2. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. โคลงนิราศหริภุญชัย. ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. (www.vajirayana.org)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Blust, Robert and Trussel, Stephen. 2010: revision 2017. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

 

คำสำคัญ (Tags): #โขงประตู
หมายเลขบันทึก: 674488เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2020 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2022 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท