Competency และการนำไปใช้ประโยชน์ ตอนที่ 3 โมเดลความสามารถ (Competency Model)


สมรรถนะสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตอนที่ 3

(Competency-Based Approach to Human Resource Development)

ดร.ชัชรินทร์  ชวนวัน ข้าราชการบำนาญ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา, 2562

......................................................

ตอนที่ 3  โมเดลความสามารถ (Competency Model)  

        ปัจจุบันองค์กรต่างๆของโลกได้ให้ความสำคัญกับหลักการและแนวคิดความสามารถ (Competency Based Approach) และนำความสามารถ (Competency) มาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ในองค์กรของตนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคคลในการปฏิบัติงานขององค์กรด้านต่างๆ ความสามารถ จึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทโดดเด่นช่วยให้บุคคลมีความรู้ (knowledge)ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะ (Attribute)  ตรงตามความต้องการของงาน และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร ในการเริ่มต้นกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์องค์กรต้องกำหนดให้มีการศึกษาวิเคราะห์เพื่อการได้มาของความสามารถ และกำหนดเป็นโมเดลความสามารถหรือแบบจำลองความสามารถสำหรับกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มตำแหน่งที่ต้องการ  เช่น Spencer and Spencer  กำหนดโมเดลความสามารถสำหรับการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ   จำนวน 20  รายการ  ส่วน Berger and  Berger  (2004, pp. 54-55) กล่าวว่า บริษัทส่วนมากมีการกำหนดโมเดลความสามารถอย่างน้อย 1 โมเดล และยอมรับว่าโมเดลความสามารถเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญจำเป็น และเป็นความต้องการให้เกิดความสำเร็จในงานทรัพยากรมนุษย์  โมเดลความสามารถเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างความชัดเจนของทักษะที่องค์การต้องการประสบความสำเร็จ  การพัฒนาองค์กรและใช้โมเดลความสามารถในปัจจุบันจึงได้กลายมาเป็นสิ่งที่นิยมกันอย่างมาก โดยส่วนแรกองค์กรจะใช้โมเดลความสามารถเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นมาของความสามารถ และส่วนที่สองจะใช้ในวิธีการนำโมเดลความสามารถมาปรับใช้ในงานบริหารทรัพยากรบุคคล  สำหรับประเทศไทย ยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552-2556  ได้กำหนดเป้าประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ทักษะและความสามารถของข้าราชการทุกระดับให้ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ เกิดผลสัมฤทธิ์คุ้มค่าเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชน จึงกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพข้าราชการด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลแนวใหม่ที่เน้นการปฏิบัติงานบนหลักการความสามารถ   ส่วนสำนักงาน ก.พ. กล่าวว่า  การกำหนดโมเดลความสามารถเป็นการกำหนดชุดของความสามารถขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อใช้เป็นเครื่องวัดหรือใช้ทำนายผลสำเร็จของการปฏิบัติงานของบุคคลในตำแหน่งนั้นๆ  ซึ่งโมเดลความสามารถจะมีลักษณะแบบใด มีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับวิธีการและขั้นตอนการกำหนดความสามารถเป็นสำคัญ ดังนั้น การดำเนินงานด้านบริหารการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์กร เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานแก่บุคคลให้มีศักยภาพสูงขึ้นและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ การดำเนินงานจึงจำเป็นต้องพัฒนาโมเดลความสามารถเพื่อการพัฒนาบุคคลในองค์กรขึ้นใช้เป็นเครื่องมือและเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ และขีดความสามารถสูงในการปฏิบัติงาน ตามบทบาทหน้าที่ให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และยังช่วยเสริมสร้างความสามารถขององค์กรทางการศึกษาให้แสดงศักยภาพการดำเนินงานที่มีความเข้มแข็งสามารถชี้นำพัฒนาสังคมได้ นอกจาก นั้นการพัฒนาโมเดลความสามารถบุคคลยังเป็นพื้นฐานในการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการกอบรม พัฒนา การประเมินผลการปฏิบัติงาน และอื่นๆอีกด้วย การนำเสนอในตอนที่ 3 จะประกอบด้วยเนื้อหาสาระแบ่งออกเป็น 3  ส่วน ได้แก่

                   ส่วนที่ 3-1 เป็นแนวคิดและหลักการทั่วไปเกี่ยวกับโมเดลความสามารถ (Competency Model)  

                   ส่วนที่ 3-2 กระบวนการพัฒนาโมเดลความสามารถ (Developing Competency Model)   

                   ส่วนที่ 3-3 การใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโมเดลความสามารถ (Application Competency Model)

ส่วนที่ 3-1 แนวคิดและหลักการทั่วไปเกี่ยวกับโมเดลความสามารถ

                นิยาม/ความหมาย  มีผู้กำหนดไว้หลากหลาย เช่น

                โมเดลความสามารถ คือ ชุดของความสามารถซึ่งจัดเป็นหมวดหมู่หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่เฉพาะภายในองค์กร (เช่น ชุดอาชีพตำแหน่ง ฯลฯ ) ความสามารถส่วนบุคคลมักจะถูกกำหนดและสนับสนุนโดยพฤติกรรมที่สำคัญ  โมเดลความสามารถอาจเป็นแบบทั่วไปและนำไปใช้กับพนักงานทุกคนในขณะที่แบบจำลองอื่นอาจนำไปใช้กับอาชีพหรือตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจง ในองค์กรหนึ่งโมเดลความสามารถอาจเกี่ยวข้องกับบุคลากรทุกคนในตำแหน่งผู้บริหาร โมเดลความสามารถในการเป็นผู้นำและการจัดการนั้นเกี่ยวข้องกับตำแหน่งการบริหารทั้งหมดที่มีการกำกับดูแลและ / หรือความรับผิดชอบด้านการจัดการ โมเดลความสามารถเฉพาะด้านอาชีพสำหรับบุคคลทุกคนภายในชุดอาชีพเฉพาะ

                โมเดลความสามารถ   เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างความชัดเจนของความสามารถที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จตามความต้องการขององค์การ และเป็นเครื่องมือที่มีบทบาทโดดเด่นในการพัฒนาความ สามารถของบุคคลในการปฏิบัติงานด้านต่างๆให้มีความรู้ (knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณลักษณะ (Attribute) ตรงตามความต้องการของงาน

                 โมเดลความสามารถ คือ การรวมเข้าด้วยกันของความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่ต้องการของบุคคล สู่การปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลตามบทบาทหน้าที่ในองค์การ และใช้เป็นเครื่องมือการบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้านต่างๆ เช่น การคัดเลือก,การฝึกอบรมและพัฒนา), การประเมินผล และการวางแผนความสำเร็จ เป็นต้น และ ได้ยกตัวอย่างโมเดลความสามารถของฝ่ายขายสำหรับสมาคม ประกอบด้วย ด้านความสามารถได้แก่  ความว่องไวกระฉับกระเฉง ,ความมีเหตุผลเชิงปริมาณ ,ความคิดหลากหลาย ด้านบุคลิกภาพ ได้แก่ความอดทนอดกลั้นขั้นสูง, การรักษาประโยชน์ความพอเพียง ความมีฐานะในสังคม,ความสามารถแข่งขันและการมีระดับพลังความคิดขั้นสูง ด้านทักษะ ได้แก่  พื้นฐานทักษะการขาย ,ทักษะการแก้ปัญหา,ทักษะการนำเสนอ และทักษะการสอนหรือฝึกอบรม ด้านความรู้ ได้แก่ การวิเคราะห์ด้านการเงิน,การรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์,ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ ,สภาพแวดล้อมการแข่งขันเป็นต้น (Lucia and Lepsinger,1999)
                  โมเดลความสามารถ  เป็นคุณลักษณะที่สามารถวัดได้ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลภายในงานหรือองค์การ และกำหนดกลุ่มความสามารถ ออกเป็น 3 กลุ่ม  รวม 11  สมรรถนะ  ได้แก่  กลุ่มการบริหารจัดการตนเอง ประกอบด้วย  การควบคุมตนเอง , ความเชื่อมั่นตนเอง, ความยืดหยุ่น กลุ่มการบริหารการขาย, ประกอบด้วย ความมุ่งผลลัพธ์,การริเริ่ม , การสืบเสาะหาข้อมูล ,การแก้ปัญหา , กลุ่มการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ประกอบด้วย การเอาใจใส่,การติดต่อสาขา ,การมีอิทธิพลต่อคนอื่น ,และการมุ่งบริการลูกค้า 
(Hay Group,2001)  
                โดยสรุป  โมเดลความสามารถ (Competency Model)  หมายถึง  การกำหนดความสามารถหรือชุดความสามารถขององค์กรขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อใช้เป็นเครื่องวัด หรือใช้ทำนายผลสำเร็จในการปฏิบัติงานของบุคคล/ตำแหน่งนั้นๆซึ่งโมเดลความสามารถจะมีลักษณะแบบใด มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับวิธีการและขั้นตอนการกำหนดความสามารถเป็นสำคัญ

โมเดลความสามารถครูและบุคลากรทางการศึกษา (Teachers  and  Educational Personnels Competency Model)

                สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดโมเดลความสามารถครูและบุคลากรทางการศึกษาขึ้นในปี 2551  เพื่อเป็นต้นแบบในการประยุกต์ใช้ความสามารถเพื่อการพัฒนาบุคคลของหน่วยงานทางการศึกษาต่าง ๆ  ประกอบด้วยโมเดลความสามารถ   4  กลุ่มตำแหน่ง  ดังนี้

                1.โมเดลความสามารถครู  (Teacher Competency Model) ประกอบด้วยความสำคัญ 9 รายการ

                2.โมเดลความสามารถผู้บริหารสถานศึกษา  (Principal Competency Model) ประกอบด้วยความสามารถ สำคัญ 10 รายการ

                3.โมเดลความสามารถผู้บริหารการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา    (Director of Educational Service Area Office Competency Model) ประกอบด้วยความสามารถสำคัญ 10 รายการ

                4.โมเดลความสามารถศึกษานิเทศก์ (Supervisor Competency Model) ประกอบด้วยความสามารถสำคัญ 9 รายการ

                    (ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก เอกสารโมเดลความสามารถครูและบุคลากรทางการศึกษา 2511 : ห้องสมุด)

องค์ประกอบของโมเดลความสามารถ (Competency Model Element)

                 องค์ประกอบ หมายถึง  การกำหนดส่วนต่างๆของโมเดลความสามารถและรายละเอียดของแต่ละความสามารถ ประกอบด้วย

                       1.ประเภทความสามารถ หมายถึง การนำกรอบความสามารถบุคคลมาจัดประเภท ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ประเภทความสามารถ  และความสามารถในงาน   เป็นต้น

                       2.กลุ่มความสามารถ หมายถึง การนำความสามารถบุคคลย่อยๆภายในประเภทความสามารถที่มีลักษณะที่สัมพันธ์กันมาจัดเป็นกลุ่มความสามารถ  ซึ่งมีความสามารถย่อยๆที่สัมพันธ์กันเป็นองค์ประกอบในกลุ่มความสามารถอีกด้วย

                      3.ชื่อความสามารถ   หมายถึง  การกำหนดชื่อให้กับความสามารถนั้นๆ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อการเรียกขานและสื่อความหมายที่เข้าใจที่ตรงกัน

                      4.นิยามความสามารถ   หมายถึง  การเขียนข้อความอธิบายให้ความหมายของความสามารถนั้น  เพื่อการอธิบายหรือสื่อความหมายขอบข่ายวัตถุประสงค์ให้เข้าใจตรงกัน

                      5.ระดับความสามารถ  หมายถึง  การแบ่งความสามารถในการกระทำหรือการแสดงออกเชิงพฤติกรรมของความสามารถนั้น ออกเป็นระดับต่างๆ ที่สะท้อนความสำเร็จหรือการบรรลุผลการกระทำที่ดี เหมาะสม จากระดับน้อยไปสู่ระดับที่มากขึ้น หรือเพื่อใช้เป็นกรอบในการประเมินความสามารถนั้น

                      6.ตัวชี้วัดความสามารถ  หมายถึง  การกำหนดหรือเขียนรายการความสามารถที่แสดงออกถึงการกระทำเชิงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับระดับความสามารถที่กำหนดขึ้น  หรือเพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของการเรียนรู้หรือพัฒนาความสามารถนั้น และใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานพฤติกรรมของการกระทำหรือการปฏิบัติตามความสามารถนั้น

ส่วนที่ 3-2  กระบวนการพัฒนาโมเดลสมรรถนะ (Competency Model Development)

                  Spencer and Spencer (1993) กำหนดขั้นตอนในการออกแบบเพื่อศึกษาเรื่องความสามารถเรียกว่า STEP IN THE CLASSIC  COMPETENCY STUDY DESIGN มี 6  ขั้น ได้แก่

                  ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเกณฑ์ที่ใช้วัดผลการปฏิบัติงาน   เป็นการกำหนด “เกณฑ์” ที่จะใช้วัดผลการปฏิบัติงานทีมีหลายรูปแบบ   

                  ขั้นตอนที่  2  กำหนดกลุ่มตัวอย่าง   เป็นการกำหนดเกณฑ์เพื่อใช้ในการค้นหาผู้ปฏิบัติงานที่เป็นเลิศและกลุ่มเปรียบเทียบที่มีผลงานตามเกณฑ์เฉลี่ยปกติหรืออาจกำหนดกลุ่มที่มีผลงานต่ำ    

                  ขั้นตอนที่ 3 การเก็บรวบรวมข้อมูล  มี   6 วิธี   ได้แก่

                     1.การใช้แบบสัมภาษณ์   BEI  เป็นการเก็บข้อมูลโดยสัมภาษณ์จากผู้ที่มีผลงานดีเลิศและผู้ที่มีผลงานปานกลางที่อยู่ในงานเดียวกัน ด้วยแบบสัมภาษณ์เหตุการณ์เชิงพฤติกรรม หรือ (BEI)   

                     2.การใช้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลที่นิยมใช้กันมากวิธีหนึ่งและส่วนใหญ่มักใช้กับตำแหน่งงานที่มีความรู้เฉพาะด้าน หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะด้าน  

                     3.การใช้แบบสำรวจ    โดยการตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญร่วมกับคณะทำงานด้านความสามารถที่องค์กรจัดตั้งขึ้น    

                     4. การใช้ระบบผู้เชี่ยวชาญ   เป็นการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่มีฐานข้อมูลได้จากการศึกษาค้นคว้าหรือการวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาความสามารถ   

                     5. การวิเคราะห์งาน เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก  รวบรวมข้อมูลได้หลายวิธี เช่น การกรอกแบบสอบถาม การสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการ หรือการสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงานโดยตรง  

                     6. การสังเกตพฤติกรรม   สังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติงานของบุคคลที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย  

                 ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาโมเดลความสามารถ  เรียกว่า  การสร้างกรอบความคิด  กระทำได้ 2 วิธี  คือ (1) ข้อมูลความคิดหรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับคำจำกัดความในพจนานุกรม  (2) ข้อมูลที่ไม่มีในพจนานุกรมความสามารถและการจัดทำพจนานุกรมความสามารถ (Competency Dictionary)  

                     ...................แผนภูมิแสดงขั้นตอนการพัฒนาโมเดลความสามารถ (ประยุกต์จาก David D.Dubois).....................

ตัวอย่าง  กระบวนการพัฒนาโมเดลสมรรถนะเพื่อพัฒนาบุคคลในองค์กรทางการศึกษา

           ดร.ชัชรินทร์  ชวนวัน ได้ศึกษาวิจัย “ การพัฒนาโมเดลความสามารถเพื่อพัฒนาบุคคลในองค์กรทางการศึกษา ”  โดยประยุกต์ขั้นตอนการดำเนินงาน 3  ระยะ คือ 

              ระยะที่ 1   การเตรียมความพร้อมและการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมและรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน                           

                         1.1 การเตรียมความพร้อมขององค์กรทางการศึกษาด้านต่างๆ  

                         1.2  การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมและข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง

              ระยะที่  2  การพัฒนาร่างกรอบความสามารถและกำหนดองค์ประกอบของโมเดลความสามารถ  

                         2.1 การจัดทำร่างกรอบความสามารถและองค์ประกอบโมเดลความสามารถ                                   

                         2.2 การรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้อง  

               ระยะที่ 3  การปรับปรุงร่างกรอบความสามารถ ตรวจสอบและกำหนดรูปแบบ                             

                          3.1  การปรับปรุงร่างกรอบความสามารถ  

                          3.2  การตรวจสอบความถูกต้องของกรอบความสามารถ   

                          3.3 กำหนดการพัฒนาโมเดลความสามารถ     

คำอธิบาย     การพัฒนาโมเดลความสามารถเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลในองค์กรทางการศึกษา

                     ประกอบด้วย การกำหนดการดำเนินงานออกเป็น 4  ระยะ 10  ขั้นตอนกิจกรรมหลัก คือ

       ระยะที่ 1 (Phase I : Preparing) การเตรียมความพร้อมขององค์กรทางการศึกษา

                          ขั้นที่ 1 กำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้วยโมเดลความสามารถ

                          ขั้นที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมการและทีมงานสนับสนุน

                          ขั้นที่ 3 จัดสรรทรัพยากรและเทคโนโลยีดำเนินงาน

        ระยะที่ 2 (Phase II : Analyzing)  กำหนดความสามารถและกรอบความสามารถ

                          ขั้นที่ 4 ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการได้มาของความสามารถจากแหล่งข้อมูลต่างๆ

                          ขั้นที่ 5  กำหนดกรอบความสามารถ (Competency  Framework) 

         ระยะที่ 3 (Phase III: Defining)  กำหนดองค์ประกอบโมเดลความสามารถ

                          ขั้นที่ 6 กำหนดโครงสร้างและองค์ประกอบโมเดลความสามารถ

                          ขั้นที่ 7  จัดทำ (ร่าง) รูปแบบการจัดทำโมเดลความสามารถเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล                                 

          ระยะที่ 4 (Phase IV : Development) พัฒนาโมเดลความสามารถเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในองค์กรทางการศึกษา  

                           ขั้นที่ 8  ตรวจสอบ (ร่าง)โมเดลความสามารถเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล

                           ขั้นที่ 9  พัฒนาโมเดลความสามารถเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล

                           ขั้นที่ 10 ทบทวน/ปรับปรุงโมเดลความสามารถเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล

บทวิเคราะห์

                    1.การพัฒนาโมเดลความสามารถ (Competency Model Development) เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญของวงจรระบบความสามารถที่องค์กรควรพัฒนาขึ้นก่อน จึงต้องกระทำให้ถูกเสียตั้งแต่ต้นเพื่อจะนำโมเดลไปใช้ในงานบริหารทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ด้านต่างๆ กระบวนการดำเนินงานทุกขั้นตอนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามหลักวิชาจะละเลยไม่ได้          

                     2.โมเดลความสามารถที่ดีที่สุดควรได้มาจากการศึกษาวิจัย                                                        

                                 ..........................แผนภูมิการพัฒนาโมเดลความสามารถ.............................

20200113211505.pdf

หมายเลขบันทึก: 674398เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2020 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2020 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท