ประวัติและผลงานชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี ( 1917-1996)


นักคิดคนสำคัญหลังยุคการล่มสลายของคอลีฟะฮ์ออตโตมาน

ผู้ยึดมั่นในสารัตถะแห่งศาสตร์คลาสสิกของปราชญ์แห่งสถาบันอัลอัซฮัรที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ผู้สืบทอดแนวทางของเหล่านักปฏิรูปสังคมมุสลิม อาทิ มุฮัมมัด อับดุห์, รอชิด ริฎอ , หะซัน บันนา , บินบาดิส , กะวากิบีย์

ผู้เป็นอิควานระดับบริหารที่กล้าคัดค้าน วิพากษ์ทัศนะของหะซัน บันนา

ผู้กล้าวิพากษ์สังคมนิยม ในขณะที่นัซเซอร์ครองเมือง

ผู้กล้าวิจารณ์การปกครองแบบเผด็จการของโลกอาหรับทุกประเทศ

ผู้กล้าวิพากษ์แนวคิดสุดโต่งจากทุกกลุ่ม

ผู้กล้าวิพากษ์ข้อผิดพลาดของสถาบันอัซฮัร กลุ่มอิควาน กลุ่มสาลาฟีย์ กลุ่มตอรีกัต และทุกกลุ่ม

ผู้เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆและสร้างสรรค์จากโลกตะวันตก โดยเฉพาะด้านรัฐศาสตร์การปกครอง สิทธิมนุษยชน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ท่านจึงประมวลไว้ซึ่งศาสตร์คลาสสิกของอัซฮัร ผสานด้วยอุดมการณ์นักปฏิรูปสังคมมุสลิมและแนวปฏิบัติของหะซัน บันนา ยอมรับและทำงานร่วมกับทุกฝ่ายในส่วนที่ดีๆและสร้างสรรค์ ไม่สนใจคำด่าที่ประดังเข้ามาจากทุกทิศทางจากการไปวิพากษ์ขัดขวางคนเหล่านั้น เพราะเชื่อมั่นในวิชาการของบรรดาปราชญ์อิสลามในอดีตที่เรียนรู้มาจากสถาบันอัซฮัร ผสานกับแนวคิดร่วมสมัยของนักปฏิรูปมุสลิม ไม่ยึดติดในยศถาบรรดาศักดิ์และลาภยศสรรเสริญ

ดำรงชีวิตอยู่อย่างสมถะ ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งทางโลก ขี่รถยนต์เก่าๆ จนวาระสุดท้ายของชีวิต

แผ่นดินกลบหน้า ฝังร่างกายในสถานที่แห่งซอฮาบะฮ์ ณ กุโบร์บะกิอ์ นครมาดีนะฮ์ ใกล้กับที่ฝังศพของนาเฟียะอ์ เมาลาอิบนุอุมัร และอิหม่ามมาลิก แห่งมัซฮับมาลิกีย์

ขอให้อัลลอฮ์โปรดอภัยและเมตตาท่าน และให้อยู่ร่วมกับบรรดาบรรพชนคนดีๆทั้งหลายในสวรรค์ฟิรเดาส์ของพระองค์

▪ การศึกษา

ท่านเกิดปี 1917 ที่ตำบลนักลาอินับ เขตอีตัยบารูด จังหวัดบุรัยเราะฮ์ของอียิปต์ ในครอบครัวพ่อค้าจนๆ คนหนึ่ง

ท่องจำอัลกุรอานตั้งแต่อายุ 10 ขวบ แล้วเข้าศึกษาในสถาบันเครืออัซฮัรจนจบระดับอาลิมียะฮ์ ที่คณะอุศูลุดดีน ที่กรุงไคโร

ในการศึกษาที่กรุงไคโร ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี ศึกษาวิชาความรู้จากปรมาจารย์มากมาย ทั้ง หะซัน บันนา , มุฮัมมัด อบูซะเราะฮ์, มะห์มูด ชัลตูต, มุศตอฟา ซุรกอ ฯ

▪ บุคลิก

นิสัยส่วนตัวเป็นคนอารมณ์ดี มีมุขตลกท่านไม่สนใจลาภยศสรรเสริญ ใช้ชีวิตสมถะ จึงกล้าเล่นประเด็นร้อนๆ hot issues ร่วมสมัยที่นักวิชาการทั่วไปมักไม่อยากเปลืองตัว กล้าวิพากษ์ตักเตือนทุกๆคนไม่ว่าชนชั้นปกครองหรือคนธรรมดา

▪ชีวิตการทำงาน

เป็นดาอีย์ในกระทรวงเอากอฟของอียิปต์ ไต่เต้าไปจนถึงขั้นได้เป็นอธิบดีกรมดะวะฮ์ ในกระทรวงเอากอฟ ของอียิปต์ ในปี 1981 แต่ก็ลาออก ประท้วงต่อท่าทีของรัฐบาลอียิปต์ที่สานสัมพันธ์กับอิสราเอล

เคยไปเป็นอาจารย์อยู่ในมหาวิทยาลัยอุมมุลกุรอ ประเทศซาอุดิอาระเบีย 7 ปี หลังจากนั้นที่มหาวิทยาลัยกาตาร์ 3 ปี และมหาวิทยาลัยอิสลามอามีรอับดุลกอดีร์ในแอลจีเรีย อีก 7 ปี

▪ ชีวิตการดะวะฮ์

ขณะสอนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ท่านมีรายการดะวะฮ์ ทั้งการบรรยาย รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ อย่างต่อเนื่อง

ในขณะทำงานเป็นคอเต็บที่มัสยิดอัมร์ บินอาศ ในอียิปต์ ท่านเป็นคอเต็บที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง แต่ละสัปดาห์จะมีผู้มารับฟังเรือนแสนจากทั่วสารทิศ

ที่โดดเด่นมาก คือท่านมีตำรา บทความ รายการทีวี วิทยุ การประชุมสัมมนา มากมายที่เน้นประเด็นร่วมสมัย เช่น ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สมบูรณาญาสิทธิราช การต่อสู้เพื่อเอกราช ชาตินิยม สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ วรรณคดี นอกเหนือไปจากตำราตัฟซีร หะดีษ อะกีดะฮ์ ฟิกฮ์ อัคลาก ฯลฯ

ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งอิควานมุสลิมีนยุคบุกเบิกพร้อมกับท่านหะซัน บันนา แต่ท่านก็ไม่ได้ตามอย่างไม่มีวิจารณญาณ หลักคิดในการทำงานจึงไม่สอดคล้องในบางเรื่อง

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี มีแนวเป็นอิควานสายพิราบ รอมชอม เน้นการเตรียมความพร้อมและยุทธศาสตร์ ในขณะที่หะซัน บันนา ออกแนวเด็ดเดี่ยว ฉับไว เด็ดขาดมากกว่า

หลังจากหะซันบัน เสียชีวิต ในตอนหลังจึงถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกภาพของกลุ่มในบางช่วง

ถึงกระนั้น ความสัมพันธ์ การเกื้อกูล ก็ไม่ได้สิ้นสุด

▪ นักคิด/นักปฏิรูป

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลีกล้าวิพากษ์องค์กรใหญ่ๆ เช่น อิควาน อัซฮัร สะละฟีย์

รวมถึงกล้านำเสนอทัศนะใหม่ๆ เช่น การเห็นว่าสตรีสามารถเป็นผู้นำได้ยกเว้นตำแหน่งคอลีฟะฮ์ การเลือกตั้งในรูปแบบปัจจุบันเป็นรูปแบบหนึ่งของการชูรอ ฯลฯ

▪ผลงาน

ท่านเป็นนักวิชาการอิสลามที่ได้รับการยอมรับจากโลกมุสลิมเป็นอย่างสูง เป็นกรรมการในองค์กรทางวิชาการอิสลามมากมาย เช่น ศูนย์วิจัยอิสลามของอัซฮัร ศูนย์วิจัยอารยธรรมอิสลามของจอร์แดน สถาบัน IIIT และอื่นๆ

คำบรรยาย หรืองานเขียนของท่านใช้ภาษาวรรณกรรมชั้นสูง ได้อ่านแล้วจะติดใจ ความคิดแยบยล สอดแทรกหลักการศาสนา เรียกว่า เป็นงานเขียนประเภท “สำนวนวรรณกรรม เนื้หาวิชาการ วิญญาณดะวะฮ์”

แม้ว่าในทางวิชาการ ตำราและแนวคิดของท่าน จะแพร่กระจายและมีอิทธิพลไปทั่วโลกมุสลิม แต่ในโลกแห่งความจริง ในบั้นปลายชีวิตใช้ชีวิตเยี่ยงคนธรรมดา ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในอียิปต ์ถูกห้ามออกรายการทีวี วิทยุ รวมถึงการบรรยายในมหาวิทยาลัย - ท่านคงเกิดมาไม่เหมาะกับยุค -

▪รางวัลเกียรติยศ

ในทางสังคม ท่านได้รับรางวัลยกย่องเกียรติคุณมากมาย ทั้งจากประเทศแอลจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย ปากีสถาน กาตาร์ มอริเตเนีย ฯลฯ

  • ปี 1989 ได้รับรางวัล King Faisal International Prize ในสาขา SERVICE TO ISLAM ซาอุดิอาระเบีย
  • ปี 1991 ได้รับรางวัลเกียรติยศ ระดับ Imtiyaz จากปากีสถาน
  • ปี 1991 ได้รับรางวัลเกียรติยศจากอียิปต์
  • ปี 1996 ได้รับรางวัลสูงสุดจากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ มาเลเซีย
  • ปี 1996 ได้ปราศรัยในนามมหาวิทยาลัยอัซฮัรบนเวทีสหประชาชาติ ในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปี

ท่านได้รับสมญาจากนักวิชาการปัจจุบันหลายๆ ท่านว่าเป็น “มุญัดดิด-นักปฏิรูป- แห่งศตวรรษ” และหลายๆประเทศ มีการจัดงานรำลึกผลงานคุณูปการของท่านเป็นประจำตราบจนปัจจุบัน

▪ เสียชีวิต

ท่านเป็นโรคหัวใจ แม้ว่าแพทย์ได้สั่งห้ามเดินทาง ห้ามการกระทบกระเทือน ท่านจึงมักอยู่กับบ้าน แต่ท่านยังคงเลือกเดินทางไปงานสำคัญๆ

หลังจากกลับมาจากการปราศรัยในสหประชาชาติไม่กี่สัปดาห์ ท่านก็เสียชีวิตในปี 1996 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ขณะเกิดการกระทบกระทั่งกับผู้เข้าประชุมบางคน ในการทำหน้าที่วิพากษ์ในงานประชุมวิชาการที่ซาอุดิอาระเบีย

ศพของท่านฝังที่สุสานบะเกียะ ใกล้กับอิหม่ามมาลิก มกุฏราชกุมารอับดุลลอฮ์ แห่งซาอุดิอาระเบียได้ส่งเครื่องบินมารับครอบครัวของท่านไปร่วมงานฝังศพของท่านอย่างสมเกียรติ

หมายเลขบันทึก: 673797เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2019 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2019 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท