โอกาสของนักเรียนส่วนใหญ่เมื่อไหร่จะมาถึง


ผมมีความเห็นว่า การศึกษาไทยที่จัดไว้ให้กับลูกหลานของเราในโรงเรียน เสียเปรียบประเทศมหาอำนาจมาก ๆ  โดยเฉพาะจีนและอเมริกา .... ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเจอใครที่ไหนที่พอจะสนทนาเรื่องนี้ได้ ผมจะไม่ลังเลเลยที่จะเล่าความเห็นนี้แลกเปลี่ยนกับท่าน ....  

วันก่อน (๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๒) มีโอกาสได้คุยกับท่าน ผอ. โรงเรียนบ้านดอนสันติ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ในงานปิดหค่ายครูวิทย์สานสัมพันธ์สู่ชุมชนครั้งที่ ๑๓ ผมก็แลกเปลี่ยนกับท่านเรื่องนี้เช่นกัน ... ท่านเล่าตัวอย่างชีวิตของคนที่ผมตีความว่าสอดคล้องกับทฤษฎีที่ผมเล่าให้ท่านฟังที่สุด ... นำมาเล่าแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านครับ 



ผมบอกท่านว่า...  

ปัญหาของการศึกษาไทย ที่ทำให้ลูกหลานของคนไทยส่วนใหญ่เสียเปรียบนักเรียนในประเทศมหาอำนาจมากที่สุดคือ  นักเรียนของเราไม่ได้เรียนเรื่อง "การลงทุน" หรือ "การทำธุรกิจ" ในโรงเรียน และเมื่อครอบครัว ชุมชน และชาวบ้าน ไม่มีใครทำเรื่องนี้เลย นักเรียนจึงไม่มีโอกาสเรียนเรื่องเหล่านี้นอกโรงเรียนเลย .... ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเรียนรู้เรื่องนี้กันในครอบครัว ส่งต่อกันเป็นรุ่นต่อรุ่น มีการฝึกเรื่องการบริหารจัดการเงินกันตั้งแต่เด็ก ๆ  

เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของคนที่ผมเสนอแนวคิดเรื่อง ให้เร่งรีบ หาทางสร้างทักษะและประสบการณ์เรื่องการเงินและ "การลงทุน" และ "การทำธุรกิจ" ในโรงเรียน  จะรู้สึกว่า เรื่องนี้ไกลตัวเกินไป เป็นเรื่องใหญ่เกินไป สำหรับสอนในโรงเรียน บางท่านเห็นด้วยแต่ไม่มีรังสีแห่งความมั่นใจว่าจะทำได้เลย 

เนื่องจาก ลูกหลานเราส่วนใหญ่จำเป็นต้องอยู่ในระบบทุนนิยม หลีกเลี่ยงได้ยาก กระแสรุนแรงเกินกว่าการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถดึงคนส่วนใหญ่ได้ทันการณ์ เราต้องกล้าที่จะพาเด็กเรียนรู้ในสิ่งที่แม้แต่ครูก็ไม่รู้ คุณครูต้องเห็นความสำคัญเรื่องนี้ เพราะถ้าเราปล่อยไว้หแบบนี้

สถานการณ์จริง ๆ ขณะนี้  โรงเรียน ชุมชน และครอบครัว กำลังสอนและปลูกฝังให้ "อยากรวย" อย่างเป็นระบบ แต่ไม่สอนหรือสร้างเครื่องมือให้ "รวย" ในระบบทุนนิยมเลย เครื่องมือที่จำเป็น สำหรับความรวยคือความรู้และทักษะ "การลงทุน"  รองลงมาคือ "การทำธุรกิจ" หรือ "เป็นผู้ประกอบการ" หรืออย่างน้อยที่สุดต้องสอนให้ "ค้าขายเป็น" คือต้องรู้เรื่องการเงิน รู้เรื่องทุน ซึ่งต้องปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก  เมื่อเราไม่สอนเรื่องเหล่านี้เลย .... ลูกหลานเราส่วนใหญ่จึงต้องเป็นทาสการเกษตร เป็นกรรมการ เป็นผู้ใช้แรงงาน เป็นลูกจ้าง เป็นชนชั้นล่างในระบบทุนนิยมเท่านั้น 

ท่าน ผอ. ฟังผมประมาณนี้แล้ว ท่านจึงเล่าถึงความล้มเหลวของคนสองคนที่อยากรวย  ผมตีความในใจว่า ทั้งสองกรณีนั้นเป็นผลจากที่หลายคนต้องมาเรียนรู้เรื่อง "การลงทุน" และการ "เป็นผู้ประกอบการ" แบบลองผิดลองถูกเอาเอง ซึ่งโอกาสมีไม่มากพอจะสะสมทักษะและความรู้เพียงพอจะต่อกรกับ เยาวชนคนชาติจีน อเมริกา ฯ ที่ฝ่าฟันฝึกฝนเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังเด็ก 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกเส้นทางหนึ่ง  คือ การถอยตนเองออกมาอยู่เหนือ ระบบทุนนิยม สอนให้ลูกหลานเราเข้าใจและเข้าถึงระบบเศรษฐกิจพอเพียง ฉลาดที่จะอยู่ท่ามกลาง "ความรวยจอมปลอม" ที่ไหลเชี่ยว อยู่อย่างตั้งมั่นและเรียนรู้ทุกข์เพื่อเจริญปัญญา อันเป็นทางสายเอกในชีวิต  

 สุดท้ายนี้ ขอชมเชยนิสิตสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป ที่จัดค่ายได้อย่างเรียบร้อยดีเยี่ยม ผมฟังท่าน ผอ. ชื่นชมซ้ำ ๆ หลายครั้ง จนอยากจะเดินชมผลงานการสานสัมพันธ์สู่ชุมชนของนิสิต  "ราษฎร์" ประธานรุ่นฯ ปี ๓ พานำชม ขอนำภาพมาบันทึกไว้เป็นความทรงจำ ต่อไปนี้ 

  • ลาน PBL 

  • แปลงผักปลอยสารพิษ  ... นิสิตจะกลับมาเยี่ยมชมต่อไป  

  • ทาสีกำแพงโรงเรียน 

  • สร้างสนามเบต็องขึ้นใหม่ ...น่าสนใจมาก 


หลังจากท่าน ผอ.กล่าวปิดค่ายฯ นิสิตเชิญผมขึ้นไปพูดให้โอวาทนิสิตแบบไม่ทันตั้งตัว ...  ผมฝากนิสิต ว่า หน้าที่ของครูวิทยาศาสตร์คือการสร้างบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศนี้  สิ่งที่ครูวิทยาศาสตร์ต้องทำ ๓ ประการ คือ 
  • ทำให้นักเรียนเป็นคน "ช่างสงสัย" .... เพื่อจะสร้างคนที่ "ใฝ่เรียนรู้"  ซึ่งก็คือ "ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต" ต่อไป 
  • เป็น "ครูนักสร้างแรงบันดาลใจ" ให้เด็กมีแรงบันดาลใจที่จะทำดี ทำเพื่อส่วนรวม เป็นคนที่มีคุณค่าของสังคม 
  • เป็น "ครูฝึก" ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนให้เต็มตามศักยภาพของนักเรียน 
ท่านอ่านทั้งหมดนี้แล้ว ท่านเห็นว่าอย่างไรครับ 
หมายเลขบันทึก: 673788เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2019 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2019 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท