การกรวดน้ำ


การกรวดน้ำ

นายอานนท์ ภาคมาลี (คนหาปลา ข้าราชการบำนาญ)

    การกรวดน้ำคือ การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งพุทธศาสนิกชนนิยม ปฏิบัติในการทำบุญ เนื่องในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่น บวชนาค ทำบุญวันคล้ายวันเกิด และงานศพ หรือหลังการทำบุญตักบาตร ที่เรียกกรวดน้ำคือ การนำน้ำมาหลั่งริน ให้ตกดิน หรือมีภาชนะที่รองรับ โดยเริ่มต้นกรวดน้ำ ตอนที่พระขึ้นบทสวดมนต์ “ยะถา วรีวหา” พอพระท่านว่าถึงบท “ปุณณรโส ยะถา มณีโชติรโส ยะถา” ผู้กรวดน้ำตกเทน้ำให้หมด แล้ววางภาชนะที่ใส่น้ำลงทันที่ ประณมมือฟังพระว่า “สัพพีติโย” และบทอนุโมทนาอื่นต่อไปจนจบ คำบาลีสำหรับกรวดน้ำนี้มีหลายอย่าง หลายแบบ มากบ้าง น้อยบ้าง ผู้ที่นึกคำบาลีไม่ออก จะกล่าวเป็นภาษาไทยก็ได้ เช่นว่า ข้าพเจ้า ขออุทิศส่วนบุญกุศลนี้แก่พ่อ แม่ข้าพเจ้าผู้มีพระคุณ ครูบาอาจารย์ เพื่อนๆ ผู้ที่เคยรู้จักทุกคนที่เคยร่วมทำบุญกันมาทั้งในอดีตและชาติปัจจุบัน ขอให้ผู้ที่กล่าวถึงเหล่านี้ รวมถึงสัตว์โลกทั้งหลาย จงประสบสุข ควนแก่ฐานะเทอญ เป็นต้น

แต่มีคำกล่าว กรวดน้ำบาลีสั้นๆ จำง่ายคือ “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหตุ ญาตะโย” แปลว่าขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติของข้าพเจ้า และขอญาติของข้าเจ้าจงมีความสุขเถิด แล้วทำไมต้องใช้น้ำเป็นสื่อ ในการอุทิศส่วนบุญกุศล เรื่องนี้มีผู้อธิบายว่า โดยธรรมเนียมทั่วไปถือว่า เทวะทูตทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระวายุ พระอัคคี เป็นสื่อกลางที่ส่งคำอธิฐาน ความปรารถนาดีกุศลผลบุญ ให้แก่

บรรพบุรุษหรือวิญญาณตลอดไป จนเทพยาดา การกรวดน้ำคือการแผ่ส่วนบุญผ่านพระแม่คงคา แล้วนำน้ำที่กรวด แล้วไปเทลงดิน ผ่านพระแม่ธรณี

       แนะนำ 10วิธีการกรวดน้ำที่ถูกวิธี และเกิดผลสูงสุดแก่ตัวท่านและเจ้ากรรมนายเวร การกรวดน้ำ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายจากการทำบุญ เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำแล้ว ให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว เจ้ากรรมนายเวร เจ้าที่ภูมิต่างๆ ซึ่งวันนี้เราจึงมีวิธีการกรวดน้ำที่ถูกต้อง และเกิดผลสูงสุดแก่ตัวท่านเองและเจ้ากรรมนายเวร โดยวิธีการกรวดน้ำที่ถูกต้องมีดังต่อไปนี้

1.น้ำที่กรวด น้ำที่ใช้กรวดต้องเป็นน้ำสะอาด ปราศจากสี ไม่มีกลิ่น ให้กรวดน้ำลงในที่สะอาด ไม่กรวดลงในที่สกปรก

2.น้ำเป็นสื่อ ดินเป็นพยาน การกรวดน้ำจะใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน มิใช่จะอุทิศให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ

    3.การกรวดน้ำมี 2วิธีคือ

                3.1 การกรวดน้ำเปียก คือ การรินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย

                3.2 การกรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำใช้แต่สิบนิ้วพนมมืออธิฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้

    4. การอุทิศผลบุญมี 2วิธี คือ

                4.1 อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อ ผู้ที่เราจะให้รับผลบุญ ผลกุศล

                4.2 อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวมๆกันไป เช่นญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร

    5. อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วมือไปรอไว้ ควรรินให้ไหลเป็นสายมาขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธี เกาะตัวเป็นกลุ่ม ถ้าเป็นงานในพิธีต่างๆ ให้เจ้าภาพหรือประธานรินน้ำกรวดเพียงคนเดียวหรือเป็นคู่เดียวก็พอ คนนอกนั้นนั่วพนมมือ ตั้งใจอุทิศไปให้

        6. ควรรินน้ำตอนไหน ควรเริ่มรินน้ำพร้อมตั้งใจอุทิศ ในขณะผู้นำสวดว่า “ยะถา วารีวาหาปูรา…..” และรินให้หมด พระสวดมาถึง “…..มะณีโชติ ยะโส ยะถา…...”พอพระทั้งหมดรับพร้อมกันสวด “สัพพีติโย วิวัชชตุ…..เราก็พนมมือรับไปจนจบ จึงจะถือว่าถูกต้อง

        7. ถ้ายังว่าบทกรวดน้ำไม่เสร็จ จะทำอย่างไร ก็ควรใช้บทกรวดน้ำที่สั้นๆหรือใช้บทกรวดน้ำย่อก็ได้ เช่น “อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหตุ ญาตะโย ขออุทิศส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่…..(ออกชื่อผู้ล่วงลับ)…..และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงเป็นสุขเถิด

        8. การกรวดน้ำตอนไหน ควรกรวดน้ำทันที่ หรือทำบุญเสร็จด้วยเหตุผล 2ประการคือ

                    - ถ้ามีเปรต ญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านย่อมได้รับทันที

                    - การรอไปกรวดน้ำที่บ้าน หรือการกรวดน้ำภายหลัง บางครั้งเราอาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็ชวดไปด้วย

        9. การทำบุญและอุทิศส่วนบุญ ควรสำรวมจิตใจ อย่าให้จิตใจฟุ้งซ่าน ทำจิตใจให้มั่นคง ผลของบุญ และการอุทิศส่วนบุญนั้นย่อมมี อนิสงส์มากกว่า หากผู้ที่กรวดน้ำมีจิตใจฟุ้งซ่าน

        10. บุญเป็นของกายสิทธิ์ ให้อุทิศผลบุญที่ทำทั้งหมดให้ผู้ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวรและสรรพสิ่งต่างๆ ก็ยิ่งจะได้บุญกลับคืนมาสู่ตัวท่านมากเท่านั้น

        ทั้ง 10 ข้อเป็นการกรวดน้ำที่ถูกต้องและจะส่ง อนิสงส์ให้แก่ผู้กรวดน้ำและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รวมถึงเจ้ากรรมนายเวร ได้รับผลบุญที่ท่านได้กระทำอย่างทั่วถึง กรวดน้ำแต่ละครั้งนั้นก็ต้องทำจิตใจให้มั่งคง อย่างฟุ้งซ่านและตั้งสติให้ดีแล้วผลบุญที่ทำก็จะส่งผลให้ท่านมีชีวิตเจริญต่อไป

        คำสำคัญ (Tags): #การกรวดน้ำ
        หมายเลขบันทึก: 673747เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2019 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2019 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


        ความเห็น (0)

        ไม่มีความเห็น

        พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
        ClassStart
        ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
        ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
        ClassStart Books
        โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท