คำว่า”บรมครู" มากกว่าคำว่า "ครู"


คำว่า”บรมครู" มากกว่าคำว่า "ครู"

       คำว่า “ครู” [๑]เป็นคำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้สั่งสอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ แต่"บรมครู" มากกว่าคำว่า "ครู"

           คำว่า “ครู” เป็นคำที่มีความศักดิ์สิทธิ์โดยความหมายว่าคือผู้สั่งสอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ไม่ว่าจะหมายถึงบิดามารดา ซึ่งเป็นครูคนแรกที่เลี้ยงดูหรือสั่งสอนเรามาตั้งแต่แรกเกิด หรือสั่งสอนเรามาตั้งแต่แรกเกิด หรือจะหมายถึงครูในสถานศึกษาหรือศาสนาของศาสนาหรือลัทธิใดๆ ในโลกก็ตาม

            คำว่า”ครู”ทำให้เราคิดต่อไปว่า การที่ครูสั่งสอนความรู้ให้แก่ศิษย์นั้น ความรู้ดังกล่าวครูจะต้องได้รับการสั่งสอนหรือถ่ายทอดจากใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งก็ได้แก่ครูหรือผู้รู้อื่น ๆ มาก่อนทั้งสิ้น แต่ในพระพุทธศาสนา ศาสดาหรือครูของศาสนาคือสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ก็มีครูหลายคน เช่น อาฬารดาบส และอุทกดาบส แต่พระองค์มิได้ตรัสรู้ในสัจธรรมอันสูงสุดของโลกและจักรวาลจากความรู้หรือการสอนของผู้ใด แต่ทรงตรัสรู้เรื่องดังกล่าวโดยชอบได้ด้วยพระองค์เอง โดยมีองค์ประกอบหรือประเด็นสำคัญที่ทำให้พระองค์ได้ทรงพินิจพิจารณา “ความเป็นโลก” ก็คือ “ธรรมชาติ” นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอากาศหรือบรรยากาศที่บริสุทธิ์ อุณหภูมิที่พอเหมาะ มีสายลมแสงแดด กับบรรยากาศที่มีลักษณะตรงกันข้าม หรือชีวิตมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัยและตามสิ่งแวดล้อมนั่นแหละที่ทำให้ทรงเห็นถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และเป็นสิ่งที่จุดชนวนให้ทรงค้นหาสัจธรรมต่อไปอีก เพื่อช่วยให้มนุษย์พ้นทุกข์ และเมื่อทรงได้พบสัจธรรมอันประเสริฐสุดแล้วก็ทรงเผยแผ่และบอกกล่าวแก่มนุษย์ทั้งหลาย          

           ความเป็น “ครู” ของพระองค์เริ่มจากจุดนี้ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเห็นว่าพระองค์ทรงเป็น “บรมครู” หรือสุดยอดแห่งครูเพราะทรงมีคำสั่งสอนมนุษย์เป็นจำนวนมากทั้งในชมพูทวีปอันเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา และในอีกหลายชาติหลายภาษาในโลก ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้นับถือพุทธศาสนาหรือพุทธศาสนิกชนของโลกจำนวนมากที่ถึง 700 ล้านคนภาระการสอนของพระพุทธองค์ในครั้งพุทธกาลแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ การสอนบรรพชิตหรือพระสงฆ์สาวก การสอนบุคคลทั่วไปทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะยากดีมีจนหรืออยู่ในสถานภาพใด ส่วนในเวลาค่ำคืนที่เงียบสงบ พระองค์โปรดเมตตาแสดงธรรมแก่เทวดาทั้งปวงที่มาขอฟังพระธรรมเทศนา

           การมีผู้เรียนหรือผู้ถูกสอนมี 3 กลุ่มที่แตกต่างกัน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้เป็นครูโดยทั่วไป เพราะกลุ่มผู้เรียนรู้ในแต่ละกลุ่มยังแยกแยะกันไปอีกตามเพศวัยและสถานภาพต่าง ๆ แต่สมเด็จพระบรมศาสดาพระองค์นี้ทรงสามารถสอนให้บุคคลเหล่านั้นเข้าใจและประพฤติปฏิบัติตนไปตามทางที่ชอบจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ดีงามตามสภาวะของแต่ละบุคคลได้ นับตั้งแต่พระองค์ทรงตรัสรู้ไปจนถึงวันสุดท้ายแห่งการดำรงชีพ

             เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พุทธศาสนิกชนเราจึงยกย่องสรรเสริญว่าพระองค์คือ “บรมครู” ของเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของผู้ที่ประกอบวิชาชีพ “ครู”

              ผู้ที่เป็นครูในบ้านเมืองเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีวิธีการสอนนักเรียนทั้งที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกันไปตามปรัชญา นโยบาย และแผนการศึกษาของแต่ละยุคสมัย และตามรูปแบบหรือระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนในวัด ในโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ นับตั้งแต่สมัยสอน ก ข. ก. กา ที่เขียนด้วย ชอล์ค และกระดานดำ มาจนถึงยุคที่เทคโนโลยีทางการศึกษาเปลี่ยนแปลงและก้าวไกลในปัจจุบันซึ่งทำให้เรามีการเรียนการสอนด้วยวัสดุอุปกรณ์แปลกใหม่และการเรียนการสอนออนไลน์ซึ่งสามารถส่งผ่านสื่อต่าง ๆ ในระยะใกล้และไกลได้ทั้งโลก ซึ่งนั่นคือ “วิธีการ” ซึ่งจะว่าไปแล้ว ในครั้งพุทธกาล สมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงมีวิธีการสอนหรือสิ่งต่าง ๆ เป็นสื่อประกอบการสอนอยู่เสมอ เช่น ทรงให้สอนพระจูฬปัณถก ซึ่งมีปัญหาในการท่องจำให้นั่งลูบผ้าขาวผืนหนึ่งอยู่ไปมาและท่องคำว่า รโชหรณํ โดยไม่ต้องคิดอะไรเลย ในที่สุดเมื่อจิตเป็นสมาธิ สว่าง สะอาด สงบในเวลาอันเหมาะสมแล้ว ความรู้ระดับวิชชุญาณก็เกิดขึ้นได้ ทรงให้โอกาสและยกย่องศิษย์เสมอกัน ทรงให้ศิษย์ได้เรียนรู้ด้วยตนเองในหลายกรณี บ่อยครั้งก็ทรงเปรียบเทียบให้พระภิกษุเข้าใจสภาวะต่าง ๆ เช่น ทรงกล่าวให้พระภิกษุฟังว่า แม่น้ำคงคานั้นโดยปกติแล้วจะไหลลงสู่มหาสมุทร ถ้ามีท่อนไม้ท่อนหนึ่งลอยอยู่โดยไม่ลอยไปด้านโน้นทีด้านนี้ที ไม่ถูกใครจับไว้หรือไม่เน่าผุข้างในแล้วไซร้ ก็จะเหมือนการปฏิบัติของภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัตรชอบโดยตรงไม่แวะเวียนก็จะถึงจุดหมายหรือบรรลุจุดประสงค์ที่วางไว้

             นอกจากความรู้และวิธีการสอนแบบต่าง ๆ อย่างมากมายแล้ว พระบรมศาสนายังมีคุณสมบัติใน “ความเป็นครู” ซึ่งยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ขอนำมากล่าวถึง 4 ประการ เช่น

             1.ทรงมีความเมตตากรุณาอย่างยิ่งต่อศิษย์หรือผู้คนทั่วไป เพราะทรงปรารถนาจะสอนให้มนุษย์ทั้งหลายเป็นคนดีมีศีลธรรม ห่างทุกข์ใกล้สุขโดยไม่ทรงหวังสิ่งตอบแทนอื่นใด ไม่ว่าผู้ที่ทรงสอนจะคิดดีหรือคิดร้ายต่อพระองค์ ทรงมีความยุติธรรมต่อศิษย์โดยไม่เลือกสถานภาพ มาเป็นเวลา 45 ปี และทรงเป็นครูจนถึงวาระที่จวนเจียนจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

            2.ทรงมีความเยือกเย็นอดทน กล้าหาญ แม้จะทรงถูกรุกล้ำล่วงเกินด้วยกริยาหรือวาจาใด ๆ ก็ดี เช่น มีคราวหนึ่งเสด็จไปบิณฑบาตใกล้แถบที่อยู่ของพราหมณ์ที่ทำพิธีบูชาไฟ พราหมณ์บริภาษพระองค์ว่า “คนถ่อย คนหัวโล้น” พระองค์ตรัสถามไปตามปกติว่า ท่านรู้จักคนถ่อยหรือคนหัวโล้นนี้หรือ รู้จักธรรมของเขาหรือ พราหมณ์ตอบว่า ไม่รู้จัก พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมแก่เขาจนเขาขอเป็นอุบาสก และผู้ที่เป็นอุบาสกมีตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงมหาโจร

            3.ทรงมีความรอบคอบ ไม่ทำให้ศิษย์ไขว้เขว สิ่งใดที่ไม่ควรสอนจะไม่ทรงสอน เพราะทรงเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์หรือไม่ถูกกาลเทศะในขณะนั้น ๆ ทรงตรัสว่าเป็นเรื่อง “อจินไตย”

             4.ทรงมีความประพฤติน่าเคารพน่าเกรงขาม และถือเป็นเยี่ยงอย่าง ข้อนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่มนุษย์ แก่สมณะในพระพุทธศาสนาและเทวดาที่ทราบดีว่าเมื่อทรงกล่าวอย่างใดย่อมทำเช่นนั้น หรือเป็นผู้ทรงทำอย่างใดก็เพราะกล่าวอย่างนั้น นอกจากนั้นยังสอนให้ศิษย์ไม่พึงเชื่อเรื่อง 10 เรื่อง (กาลามสูตร) โดยไร้เหตุผลหรือข้อเท็จจริง เช่น แม้แต่การเชื่อเรื่องที่ครูของตนเป็นผู้สอน

             ถ้าครูทุกคนไม่ว่าจะเป็นในครั้งพุทธกาลหรือในปัจจุบันจะยึดถือ “ความเป็นบรมครู” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นต้นแบบหรือตัวอย่างแล้ว ย่อมจะกล่าวได้ว่าท่านได้อัญเชิญหลักการและวิธีการอันมีประสิทธิภาพทำให้พระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ในโลกใบนี้มาถึง 2562 ปี มาใช้ในงานของท่าน

             กล่าวโดยสรุป...พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้พระนามว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ คือ ทรงเป็นบรมครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เพราะตั้งแต่แรกที่ทรงสร้างบารมี พระองค์ทรงมีมหากรุณาธิคุณ ตั้งความปรารถนาที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่พระนิพพาน คำว่า นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้น หมายความว่า พระองค์ไม่ได้โปรดแต่มนุษย์เท่านั้น ทรงโปรดหมด ตั้งแต่เทวดา พรหม อรูปพรหมทุกชั้น มนุษย์ทั้งหลาย ไปจนถึงสัตว์เดียรัจฉาน ตามแต่กำลังบุญของใครจะรับได้

            [๑] ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์.กรรมการบริหารชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ

vr���&�q��*��,wy�m�"�j�f����paj���rh��tj�n�'xxz�u�

หมายเลขบันทึก: 673422เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2019 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2019 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท