BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓.(จบ)


ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่

 ประโยชน์นิยมกับการกระทำเหนือหน้าที่ ๓.(จบ)

 

3. การกระทำเหนือหน้าที่กับประโยชน์นิยม               

เอิร์มสันได้ให้ความเห็นไว้ว่าประโยชน์นิยมธรรมดา คือ ประโยชน์นิยมเชิงกรรมไม่สามารถอธิบายการกระทำเหนือหน้าที่ได้ โดยเขาได้ให้ความเห็นว่าประโยชน์นิยมแบบขยาย คือ ประโยชน์นิยมเชิงกฎสามารถอธิบายการกระทำเหนือหน้าที่ได้ แต่เอิร์มสันก็เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตเท่านั้นมิได้ให้รายละเอียดไว้ ผู้วิจัยพบว่าฟิลด์แมนได้อธิบายข้อบกพร่องของประโยชน์เชิงกรรมเกี่ยวกับการกระทำเหนือหน้าที่หรืออธิกรรมไว้  อนึ่ง โดนาแกน (Donagan, Alan) ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าแม้แต่ประโยชน์นิยมเชิงกฎก็มีข้อบกพร่องในการอธิบายอธิกรรมเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ผู้วิจัยจะนำเสนอแนวคิดของฟิลด์แมนและโดนาแกนเรื่องอธิกรรมในประโยชน์นิยมทั้งสองฝ่ายสืบต่อไป                

. การกระทำเหนือหน้าที่กับประโยชน์นิยมเชิงกรรม               

ฟิลด์แมนได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ว่า บุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งมาถึงเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ พนักงานดับเพลิงเชื่อว่า มีเด็กติดอยู่ชั้นบนของเรือนหลังนี้ แต่ก็ไม่สามารถจะเข้าไปช่วยได้ บุรุษไปรษณีย์จึงวางถุงเมล์ลงแล้วก็กระโจนเข้าไปยังเรือนหลังนั้น เขาได้เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือเด็กคนนี้ออกมาได้ การกระทำของเขากล่าวได้ว่าอยู่ เหนือการเรียกร้องของหน้าที่ หรือเป็น การกระทำแบบวีรบุรุษ  เพราะในฐานะบุรุษไปรษณีย์ เขา ไม่มี ข้อผูกพันทางศีลธรรม ที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือเด็ก และถ้าเขายับยั้งการเข้าไปช่วยเหลือเด็กก็มิได้เป็นสิ่งที่น่าตำหนิ               

ฟิลด์แมนให้ความเห็นว่า การช่วยเหลือเด็กในกรณีนี้เป็นสิ่งที่มีคุณความดีมาก มิใช่เป็นการกระทำที่ผิดอย่างแน่นอน การกระทำของเขาจึงเป็นการกระทำที่มีคุณความดีพิเศษทางศีลธรรมซึ่งเรียกกันว่า การกระทำเหนือหน้าที่ หรือ อธิกรรม โดยเขาได้อธิบายนัยสำคัญของการกระทำลักษณะนี้ไว้ 2 องค์ประกอบ คือ               

1) ผู้กระทำมิได้ถูกผูกพันไว้ในทางศีลธรรมเพื่อจะดำเนินการ และถ้าผู้กระทำอดกลั้นหรือยับยั้งที่จะดำเนินการก็เป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้               

2) การกระทำนี้ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เป็นสิ่งที่ดีมากในการดำเนินการ               

อนึ่ง ฟิลด์แมนได้ยกตัวอย่างของการกระทำทำนองนี้ซึ่งได้ชื่อว่าอธิกรรมเช่นเดียวกัน คือ ในยามสงครามก็มีทหารบางคนที่ยอมสละชีวิตของตนเพื่อช่วยเหลือชีวิตของเพื่อนทหารด้วยกัน นักธุรกิจบางคนอาจลงทุนขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของมหาชน แม้รู้ว่าจะเกิดการสูญเสียก็ตาม หรือคนบางคนก็เคยประสบอันตรายและความเจ็บปวดโดยการสละไตของตนเพื่อช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วย                  

ฟิลด์แมนได้ให้เหตุผลว่าอธิกรรมนี้เป็นปัญหายุ่งยากของประโยชน์นิยมเชิงกรรม เพราะไม่สามารถมีการกระทำแบบนี้ได้ เนื่องจากอธิกรรมมีคุณความดีสูงมาก คือผลิตประโยชน์ได้มากนั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นการกระทำที่ผลิตประโยชน์ได้มากกว่าการกระทำอื่นๆ ที่ผู้กระทำจะเลือกได้แล้ว การกระทำนี้ก็จะต้องเป็นข้อผูกพันหรือหน้าที่ ฉะนั้น ถ้าให้ความหมายของอธิกรรมว่าเป็นการกระทำเหนือหน้าที่หรือเหนือข้อผูกพันแล้วก็ไม่ถูกต้อง อธิกรรมก็จะต้องเป็นข้อผูกพันหรือหน้าที่ตามธรรมดานี้เอง นั่นคือ ประโยชน์นิยมเชิงกรรมไม่ยอมรับอธิกรรมหรือการกระทำเหนือหน้าที่               

เพื่อจะเข้าใจปัญหานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  ฟิลด์แมนจึงได้สมมติการเลือกของบุรุษไปรษณีย์ โดยถ้าเขากระโจนเข้าไปยังเรือนที่ไฟไหม้เพื่อช่วยเด็กไว้ได้ ก็จะได้ความดีหรือประโยชน์ 500 แต้ม ถ้าเขาเลือกช่วยดับไฟก่อนแล้วค่อยเข้าไปช่วยเด็กในภายหลังก็จะได้ 25 แต้ม และถ้าเขาหวังปาฏิหาริย์โดยการโยนบันไดลิงเข้าไปทางช่องหน้าต่างในห้องที่เชื่อว่าเด็กอยู่ หรือถ้าเขากลับสำนักงานเพราะคิดว่ามิใช่หน้าที่ ก็จะได้ – 10 แต้ม

ตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าการเลือกกระโจนเข้าไปช่วยเหลือเด็กจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องเพราะได้ความดีหรือประโยชน์มากที่สุด               

แต่ เมื่อคำนึงถึงการจัดประเภทการกระทำทางศีลธรรมที่มี 3 อย่าง คือ               

ข้อผูกพัน  เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในการล้มเลิกการกระทำนั้น                 

ข้อห้าม เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในดำเนินการการกระทำนั้น                 

ข้อยินยอมได้ เป็นสิ่งที่มิใช่ข้อห้ามและข้อผูกพัน               

ในกรณีของบุรุษไปรษณีย์ จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางศีลธรรมหรือเป็นสิ่งที่ยินยอมได้ในการเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยเด็ก แต่ถ้าเขาเลือกกรณีอื่นก็เป็นความผิดทางศีลธรรมหรือเป็นข้อห้าม นั่นคือ การกระทำของบุรุษไปรษณีย์คนนี้จะเป็นข้อผูกพันทางศีลธรรมตามหลักการของประโยชน์นิยมเชิงกรรม ดังนั้น ตามนัยแห่งประโยชน์นิยมเชิงกรรมจึงบ่งชี้ว่าการกระทำแบบวีรบุรุษหรืออธิกรรมมิได้อยู่เหนือการเรียกร้องของหน้าที่                

แต่ ฟิลด์แมนได้วางสูตรและข้อคัดค้านไว้ว่า            

หลักการของประโยชน์นิยมเชิงกรรม คือ การกระทำอย่างหนึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ก็ต่อเมื่อ ถ้าไม่มีการกระทำอื่นที่ผู้กระทำสามารถกระทำให้มีประโยชน์สูงกว่าที่การกระทำนั้นมีอยู่ได้ เท่านั้น แล้วใช้การอ้างเหตุผลให้เห็นความขัดแย้งว่า

) ถ้า ประโยชน์นิยมเชิงกรรม เป็นจริง บุรุษไปรษณีย์ในตัวอย่าง มีข้อผูกพันทางศีลธรรมเพื่อช่วยเหลือชีวิตเด็ก                   

) เนื่องจาก การช่วยเหลือชีวิตเด็กเป็นอธิกรรม บุรุษไปรษณีย์ไม่มีข้อผูกพันทางศีลธรรมในการช่วยเหลือชีวิตเด็ก               

) ดังนั้น ประโยชน์นิยมเชิงกรรม จึงไม่เป็นจริง               

ฟิลด์แมนได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สามัญสำนึกของคนทั่วไปบ่งบอกว่าการช่วยเหลือชีวิตเด็กของบุรุษไปรษณีย์มิได้เป็นข้อผูกพัน แต่เป็นอธิกรรม นั่นคือ แม้จะยับยั้งการกระทำก็ไม่มีความผิดหรือไม่ควรแก่การตำหนิติเตียน แต่การกระทำของบุรุษไปรษณีย์ตามตัวอย่างมีประโยชน์สูงสุดควรจะเป็นข้อผูกพันตามหลักการของ ประโยชน์นิยมเชิงกรรม ดังนั้น ปัญหาเรื่องอธิกรรมจึงยังแก้ไม่ได้ตามทฤษฎีประโยชน์นิยมเชิงกรรม[i]                 

. การกระทำเหนือหน้าที่กับประโยชน์นิยมเชิงกฎ

เอิร์มสันได้ให้ความเห็นเบื้องต้นว่าประโยชน์นิยมแบบขยายหรือประโยชน์นิยมเชิงกฎสามารถนำมาประยุกต์ใช้อธิบายอธิกรรมได้ แต่โดนาแกนก็เสนอความเห็นว่า แม้ประโยชน์นิยมเชิงกฎก็มีปัญหาเรื่องอธิกรรมเช่นเดียวกัน โดยโดนาแกนได้เสนอบทความชื่อ “Is there a credible form of utilitarianism?” เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องประโยชน์นิยมเชิงกฎของบรานต์ก็ยังมีข้อบกพร่องในการแบ่งแยกความชัดเจนสองประเด็น คือ ระหว่างหน้าที่กับอธิกรรม และระหว่างหน้าที่กับความผิดที่ยกโทษได้ แต่ผู้วิจัยจะนำเอาเพียงประเด็นแรกมานำเสนอตามวัตถุประสงค์เท่านั้น               

โดนาแกนได้ยกตัวอย่างเรื่องความไม่ชัดเจนของประโยชน์นิยมเชิงกฎไว้สองกรณี โดยกรณีแรกเขาได้สมมติสถานการณ์ว่า ถ้ามีสมาชิกหนึ่งในห้าของสังคมเป็นพวกขี้เกียจ เฉื่อยชา และขาดความรับผิดชอบ ซึ่งพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่มนี้ก่อให้เกิดอันตราย และการบังคับให้สมาชิกกลุ่มนี้ดำเนินการให้ถูกต้องก็อาจก่อให้เกิดอันตรายยิ่งขึ้น ดังนั้น สังคมจึงมีกฎว่า

เป็นหน้าที่ของบุคคลผู้มีอุตสาหะและมีความรับผิดชอบทุกคนในการจ่ายส่วนหนึ่งของรายได้ตามความเหมาะสมเพื่อช่วยเหลือพวกเกียจคร้านแต่ขัดสนเหล่านี้ ตามวิธีการที่สมาชิกมุ่งหมาย[ii] 

โดนาแกนได้วิจารณ์ว่า กฎนี้ก็จะถูกตั้งคำถามว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียหรือไม่ เมื่อใช้หลักประโยชน์ตรวจสอบกฎ โดยกรณีนี้แม้ว่าจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียก็ตาม แต่หลายคนอาจปฎิเสธในการจ่ายส่วนแบ่งของตนให้กลุ่มคนที่เกียจคร้านและขัดสนเหล่านี้ และหากว่ากฎมีอำนาจบังคับหรือทุกคนมีข้อผูกพันให้ปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อแม้แล้ว หลายคนในสังคมอาจต่อต้านกฎนี้อย่างรุนแรง ฉะนั้น การปฏิบัติตามกฎลักษณะนี้อาจเป็นอธิกรรมมากกว่าที่จะเป็นข้อผูกพันหรือหน้าที่ 

ในกรณีที่สอง โดนาแกนได้สมมติสถานการณ์ว่า ถ้าเรามีเพื่อนบ้านผู้ประมาทและโง่มาเล่าความลับให้เราฟังว่าเขาได้จำนองทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อจะนำไปลงทุนเก็งกำไร ซึ่งเรามีความเชื่อและมั่นใจว่ากิจการนั้นจะขาดทุนย่อยยับอย่างแน่นอน และการที่เราต้องใช้ความเพียรพยามเพื่อให้เขาเปลี่ยนใจหรือคอยยับยั้งมิให้เขาลงทุนในกิจการนั้นก็มิได้ทำให้เราเสียเวลาและสร้างความอึดอัดให้แก่เรา ในกรณีนี้ โดนาแกนไม่ปฏิเสธว่าเราควรชี้แจงให้เขาเปลี่ยนใจ แต่ถามว่าเรามีหน้าที่หรือข้อผูกพันทางศีลธรรมที่จะต้องเพียรพยายามอย่างยาวนานและด้วยความอึดอัดเพื่อให้เขาเปลี่ยนใจหรือไม่ ? และถ้าสังคมมีกฎในกรณีนี้ว่า

 เป็นหน้าที่สำหรับทุกคนผู้มีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า แนวทางแห่งการกระทำที่เพื่อนบ้านประสงค์เป็นทางหายนะของเพื่อนบ้านคนนั้นแล้ว เขาก็ควรยับยั้งเพื่อนบ้านคนนั้นออกจากแนวทางที่เขาประสงค์นั้น โดยปราศจากความไม่สบายใจหรืออึดอัดใจ ในเมื่อไม่มีใครจะยับยั้งเขาได้[iii]

โดนาแกนได้ให้ความเห็นว่าหลายคนคงจะปฏิเสธกฎเช่นนี้ สำหรับโดนาแกนเอง เขาบอกว่าไม่คัดค้านที่ควรจะยับยั้งเพื่อนบ้านผู้โง่เขลาตามกรณีนี้ แต่เขาก็แย้งว่าไม่ได้มีข้อผูกพันทางศีลธรรมที่จะต้องกระทำอย่างนั้น ถ้าเขากระทำ การกระทำของเขาก็ควรเป็นอธิกรรม มิใช่ข้อผูกพัน 

ตัวอย่างทั้งสองกรณีตามแนวคิดของโดนาแกน เขาชี้ให้เห็นว่าประโยชน์นิยมเชิงกฎไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่า การดำเนินการตามกฎที่ตั้งขึ้นตามหลักประโยชน์นิยมนี้ จะเป็นการกระทำตามหน้าที่หรืออธิกรรม ดังนั้น ประโยชน์นิยมเชิงกฎจึงไม่สามารถแบ่งแยกหน้าที่กับอธิกรรมออกจากกันได้อย่างชัดเจนโดนาแกนยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จริยศาสตร์บางทฤษฎีเน้นเรื่องสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มา ซึ่งในกรณีแรก การยกเลิกการจ่ายรายได้ของตนบางส่วนแก่สมาชิกที่โง่และเกียจคร้านเป็นความชั่วร้ายตามหลักประโยชน์นิยมเชิงกฎ แต่การบังคับให้จ่ายนั้นกลับเป็นการลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล

ในกรณีที่สองผู้วิจัยคิดว่า โดนาแกนต้องการแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติตามกฎศีลธรรมตามที่สมมติไว้มิใช่เป็นหน้าที่ แต่เป็นอธิกรรม นั่นคือ กระทำก็ได้ ไม่กระทำก็ได้ โดยถ้ากระทำเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่กระทำก็มิใช่ความผิด ดังนั้น ผู้วิจัยสันนิษฐานว่านอกจาก โดนาแกนจะมีความเห็นว่าประโยชน์นิยมเชิงกฎมีข้อบกพร่องในแบ่งแยกระหว่างหน้าที่กับอธิกรรมแล้ว เขาคิดว่าอธิกรรมเป็นสิทธิส่วนบุคลนั่นเอง กล่าวคือ โดนาแกนมีความเห็นตามนักทฤษฎีจริยศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่าสิทธิเป็นพื้นฐานของหน้าที่นั่นเอง 

แต่   เรซ (Raz, Joseph) ได้วิจารณ์ว่าหลักศีลธรรมซึ่งตั้งอยู่บนฐานของสิทธินั้นมีข้อบกพร่องที่ทำให้ความสำคัญลดน้อยลงเพราะไม่สามารถอธิบายบางประเด็นได้ โดย เรซมีความเห็นว่านักทฤษฎีสิทธิก็ไม่สามารถอธิบายเรื่องอธิกรรมได้เช่นเดียวกัน ดังเขากล่าวไว้ว่า 

ประเด็นที่สองในหลักศีลธรรมบนฐานของสิทธิที่ลดความสำคัญลงก็คือการไม่ยอมรับนัยสำคัญทางศีลธรรมของอธิกรรม ถ้าการดำเนินการเชิงอธิกรรมมีคุณควรแก่การยกย่อง และยังมิใช่ความผิดทางศีลธรรมในการละทิ้งการดำเนินการเหล่านั้น [ดังนั้น] จึงไม่เป็นข้อผูกพันในการกระทำตามแนวทางเชิงอธิกรรม อันที่จริงแล้วอธิกรรมบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำเหนือการเรียกร้องของหน้าที่ หลักศีลธรรมบนฐานของสิทธิจึงไม่สามารถอธิบายธรรมชาติของอธิกรรมและบทบาทของอธิกรรมในชีวิตทางศีลธรรมได้[iv] 

ตามความเห็นของเรซ ก็คือนักปรัชญาศีลธรรมฝ่ายสิทธิไม่สามารถอธิบายอธิกรรมซึ่งมีนัยแตกต่างไปจากหน้าที่ได้ แนวคิดนี้จึงมีความน่าเชื่อถือน้อยลง แต่ประเด็นนี้อยู่นอกเหนือขอบเขตของการวิจัย ดังนั้น ผู้วิจัยจะทิ้งประเด็นนี้ไว้                

ฝ่ายโบฌองพ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ประโยชน์นิยมต้องการมากเกินไปหรือไม่ ? โดยได้นำปัญหาเรื่องอธิกรรมตามที่โดนาแกนเสนอไว้มาเป็นประเด็นในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งใน Philosophical Ethics นั้น โบฌองพ์ได้ขยายความเห็นของโดนาแกนไว้ว่า การที่ประโยชน์นิยมเชิงกฎมีหลักการว่า เมื่อยึดถือว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียในสังคมส่วนรวมแล้วก็วางไว้เป็นกฎศีลธรรมให้สมาชิกดำเนินการได้ แต่โดนาแกนมีความเห็นแย้งว่ากฎบางอย่างน่าจะเป็นอธิกรรมมากกว่าข้อผูกพันหรือหน้าที่ ดังนั้น การที่ประโยชน์เชิงกฎต้องการให้อธิกรรมเป็นหน้าที่นั้น โบฌองพ์จึงตั้งข้อสงสัยว่า ประโยชน์นิยมเชิงกฎมีความต้องการมากเกินไปหรือไม่ ?[v]               

 ส่วนใน Principles of Biomedical Ethics นั้น โบฌองพ์ ก็ได้นำความเห็นของโดนาแกนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเสนอไว้เช่นเดียวกัน และได้เพิ่มเติมความเห็นของ วิลเลี่ยมส์  (Williams, Bernard) และ แมกกี (Mackie, John) ไว้ด้วย  โดยวิลเลี่ยมส์วิจารณ์ว่าประโยชน์นิยมกัดกร่อนความมั่นคงส่วนบุคลโดยการทำให้คนรับผิดชอบทางศีลธรรมเพื่อผลลัพธ์ที่พวกเขาไม่สามารถปกป้องได้ ขณะที่ แมกกีวิจารณ์ว่าประโยชน์นิยมเป็นทฤษฎีเพ้อฝันเกินเลยประสบการณ์ทางศีลธรรม เพราะต้องการให้คนทั้งหลายผูกมัดตัวเองไว้กับจุดมุ่งหมายจำนวนมากและเกี่ยวโยงอยู่กับสิ่งที่ให้คุณค่าไว้เพื่อให้เกิดผลสูงสุดสำหรับคนอื่นๆ ด้วย กล่าวคือ ประโยชน์นิยมต้องการให้เราทำตัวคล้ายกับนักบุญผู้ปราศจากผลประโยชน์และจุดหมายส่วนบุคล นั่นคือ การตั้งข้อสงสัยของโบฌองพ์ว่า ประโยชน์นิยมต้องการมากเกินไปหรือไม่ ?[vi] 

ตามความเห็นของผู้วิจัย ประโยชน์นิยมเชิงกฎของตามแนวคิดของบรานต์นั้น อาจใช้ได้ในสังคมเดี่ยวที่ไม่ซับซ้อนซึ่งห่างไกลหรือมีการติดต่อกับสังคมอื่นน้อย เพราะทุกคนหรือเกือบทั้งหมดในสังคมนั้นยอมรับกฎศีลธรรมที่วางไว้ว่าเป็นหน้าที่ แต่ถ้าเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนและมีการติดต่อระหว่างสังคมมากแล้วก็ไม่สามารถจะใช้ได้ เพราะหลายคนอาจมีความเห็นแย้งหรือไม่ยอมรับกฎศีลธรรมที่วางไว้ นั่นคือ จะเป็นปัญหาว่ากฎศีลธรรมนั้นเป็นอธิกรรมหรือเป็นหน้าที่ตามตัวอย่างที่โดนาแกนยกมา และถ้านักประโยชน์นิยมยังคงยืนยันให้กฎศีลธรรมนั้นเป็นหน้าที่ มิใช่เป็นอธิกรรมแล้ว ก็จะเกิดปัญหาว่าลิดรอนสิทธิส่วนบุคลหรือไม่ และต้องการมากเกินไปหรือไม่ ?

4. สรุป 

               ตามที่นำเสนอมาจะเห็นได้ว่ามโนทัศน์เกี่ยวกับอธิกรรมเป็นปัญหาของประโยชน์นิยมที่ยังคงแก้ไม่ได้ โดยประโยชน์นิยมเชิงกรรมนั้น ไม่สามารถอธิบายว่าอธิกรรมซึ่งเป็นการกระทำที่มีประโยชน์สูงสุดเช่นเดียวกัน แต่การกระทำนี้ไม่ใช่หน้าที่ตามหลักประโยชน์สูงสุดทั่วไปของประโยชน์นิยมเชิงกรรม กล่าวคือ การกระทำที่มีประโยชนสูงสุด แต่ไม่บังคับตามหลักประโยชน์สูงสุดทั่วไปเป็นอย่างไรส่วนประโยชน์นิยมเชิงกฎ ไม่สามารถอธิบายความชัดเจนของกฎศีลธรรมที่วางไว้ว่าเป็นหน้าที่หรืออธิกรรมได้ในสังคมที่มีความซับซ้อนดังเช่นสังคมปัจจุบัน เพราะกฎศีลธรรมแม้จะคล้ายกฎหมายแต่ก็มิใช่กฎหมายดังนั้น การกระทำเหนือหน้าที่หรืออธิกรรมก็ยังคงเป็นปัญหาในประโยชน์นิยม และยังคงรอยคอยนักจริยศาสตร์ฝ่ายประโยชน์นิยมมาแก้ต่างสืบต่อไป 

หมายเหตุ:บทความฉบับนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ในทฤษฎีจริยศาสตร์ร่วมสมัย (Supererogation in Contemporary Ethical Theory) ของผู้เขียน



[i] Fred Feldman. Introductory Ethics (London : Prentice-Hall, 1978), pp.48-50.
[ii] Alan Donagan “Is there a credible form of utilitarianism?” Intorductory Readings in Ethics, by William K. Frankena and John T. Granrose, ed. (Englewood Cliffs: Prentice-Hall, 1974),  p.167.
[iii]Ibid, p.168.
[iv] Joseph Raz. “Right-Based Moralities” Utility and Rights. R.G. Frey, ed. (Minneapolis: University of Minnesota, 1984), p. 44.
[v] Tom L. Beauchamp. Philosophical Ethics (New York: McGraw-Hill, 1991), pp. 156-158.
[vi] Tom L. Beauchamp, James Childress. Principles of Biomidical Ethics (Oxford : oxford University Press, 1994), pp. 53-54.
หมายเลขบันทึก: 67267เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีครับท่านพระอาจารย์
  • เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ๆ เลยครับ
  • แล้วตามแนวของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านกล่างไว้ว่าอย่างไรบ้างเหรอครับ

เจริญพร คุณปภังกร

ด้วยความยินดีครับ ประเด็นที่ถามมานั้น ไม่ค่อยชัดเจน จึงขอแยกตอบเป็น ๒ กรณี ดังนี้

กรณีแรก เรื่องประโยชน์นิยมกับพุทธปรัชญา ประเด็นนี้มีผู้ศึกษาบ้างแล้ว ถ้าสนใจก็คงจะพอค้นหาได้ครับ สำหรับความเห็นส่วนตัว คำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นวิภัชชวาทซึ่งมิได้ยึดถือหลักประโยชน์สูงสุดทั้งหมด หลักประโยชน์สูงสุดเป็นประเด็นหนึ่งในการพิจารณาเพื่อจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้น ครับ...

กรณีหลัง เรื่องการกระทำเหนือหน้าที่กับพุทธปรัชญา ประเด็นนี้ ยังไม่มีใครศึกษาจริงจัง ตามที่พบมาก็เห็นแต่เพียงบทความ ปัญหาการกระทำเหนือหน้าที่ในจริยศาสตร์คานต์ของ ผศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ เท่านั้นที่ให้ความเห็นสั้นๆ ในเบื้องต้นว่า คำสอนทางพุทธศาสนาไม่ขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ เท่านั้นครับ ก็คงคอยผู้สนใจที่จะมาศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจัง ครับ...

ด้วยความปรารถนาครับ

เจริญพร 

  • กราบนมัสการท่านพระอาจารย์ครับ
  • ก่อนอื่นต้องขออภัยครับที่ผมอาจจะใช้คำศัพท์ที่พูดคุยกับพระอาจารย์ไม่ถูกต้องครับ
  • ตอนนี้ผมกำลังสนใจหลักการเชิงพุทธมาก ๆ ครับ เพราะทำให้ชีวิตพบกับความสุขแท้มากขึ้นครับ
  • ต้องกราบขอบพระคุณสำหรับคำตอบที่ท่านอาจารย์ชี้แจงมาให้กระผมรับทราบครับ
  • กราบขอบพระคุณพระอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ
  • ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท