มหากาพย์มหาภารตะ : ตายเกลื่อนในสงคราม 14 วัน


มหากาพย์มหาภารตะ : ตายเกลื่อนในสงคราม 14 วัน

มหากาพย์มหาภารตะ คือ งานวรรณกรรมคลาสสิคของอินเดีย และถือว่าเป็นมหากาพย์หรืองานวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก กล่าวกันว่ารจนาโดย ฤๅษีวยาส มี 18 บรรพ ถือว่าเป็นมหากาพย์ที่มีเนื้อหายาวที่สุดในโลก ยาวกว่ามหากาพย์อีเลียด และมหากาพย์โอดิสซีซะอีก ว่าด้วยเรื่องราวของเทวดากำเนิด เทพปกรณัมในศาสนาพราหมณ์ฮินดู และที่สำคัญที่สุดคือ ว่าด้วย การรบกันระหว่างญาติพี่น้องโดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ปาณฑพ (จะเรียกว่าฝ่ายพระเอกก็ได้) และฝ่ายเการพ (จะเรียกว่าเป็นฝ่ายตัวโกงได้) รบกันที่ทุ่งกุรุเกษตร เพื่อศักดิ์ศรี เพื่อประกาศอำนาจ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ เพื่อแย่งชิงสมบัติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง? เพื่อดำรงคติธรรมะชนะอธรรม เพื่อแสดงความเกลียดชัง ฯลฯ ที่น่าทึ่งมาก ๆ คือจำนวนกำลังรบของแต่ละฝายที่ทุ่มลงไปอย่างมหาศาล รถกันเพียง 14 วันแต่คนตายอย่างมหาศาล เรียกว่ารบกันจนตายห่าแบบล้างโคตรกันเลยทีเดียว กล่าวคือ

ฝ่ายปาณฑพที่มีกำลังรบ 7 อักเษาหิณี รอดชีวิต 8 คน ได้แก่พี่น้องปาณฑพทั้ง 5 คน พระกฤษณะ ยุยุต สุ (แปรพัตรจากฝ่ายเการพมาอยู่ฝ่ายปาณฑพเลยรอด) และสาตยกี

ฝ่ายเการพมีกำลังรบ 11 อักเษาหิณี รอดชีวิต 4 คน คือกฤปาจารย์ กฤตวรมัน อัศวัตถามา และวฤษเกตุ

ฝ่ายปาณฑพมีกำลังน้อยกว่าแต่ชนะ (แน่ล่ะสิ น้อยกว่านี้ก็ชนะได้เพราะเป็นฝ่ายเอกไง และจะไม่ชนะได้ยังไงมีนารายณ์อวตารอยู่ฝ่ายเดียวกันด้วยนะ)

อักเษาหิณี คือจำนวนการนับของอินเดียโบราณ มักใช้นับกับกำลังรบ โดย 1 อักเษาหิณี ประกอบด้วย ช้างศึก 21,870 เชือก รถศึก 21,870 คัน ม้าศึก 65,610 ตัว ทหารราบ 109,350 คน หากคำนวณพลรบของแต่ละฝ่ายจะได้ออกมาประมาณนี้คือ

ฝ่ายปาณฑพ มีกำลังรบ 7 อักเษาหิณี จำแนกเป็น ข้างศึก 153,090 เชือก รถศึก 153,090 คัน ม้าศึก 459,270 ตัว ทหารราบ 765,450 คน

ฝ่ายเการพ มีกำลังรบ 11 อักเษาหิณี จำแนกเป็น ข้างศึก 240,570 เชือก รถศึก 240,570 คัน ม้าศึก 721,710 ตัว ทหารราบ 1,202,850 คน

หากพิจารณากำลังรบทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนกำลังรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 แน่นอนว่าในมหากาพย์มหาภารตะมีจำนวนกำลังรบที่น้อยกว่ามาก ๆ จำนวนผู้เสียชีวิตที่น้อยกว่ามาก ๆ แต่อย่าลืมว่าหากสงครามนี้เกิดขึ้นจริง จะเป็นการรบกันที่อยู่ในช่วงเกือบ 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งสมัยนั้นจำนวนประชากรในโลกยังมีจำนวนน้อยมาก ๆ ผู้ประพันธ์มหากาพย์มหาภารตะได้รจนากำลังรบที่มีมากรวมกัน 2 ฝ่ายถึง 18 อักเษาหิณี ก็ถือว่ามากเกินจินตนาการของยุคนั้นแล้ว

หากจะพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ กล่าวคือมหากาพย์มหาภารตะเป็นภาพสะท้อนช่วงเวลาและอำนาจของชาวอารยันที่เข้ามาแล้วควบคุมอินเดียทางเหนือเอาไว้ได้ทั้งหมดแล้ว ขับไล่ชาวทราวิท ลงไปทางใต้จนเกือบหมดแล้ว จากนั้นชาวอารยันก็ได้พัฒนาการปกครองในรูปแบบกษัตริย์ แต่ละเมืองมีความเชื่อมโยงกันในระบบเครือญาติ และเมื่อนานเข้านานเข้า ญาติต่างเมืองก็ทำสงครามกันเอง เหลือแต่ว่าญาติฆ่าญาติตายกันเกลื่อน บางยุคบางสมัยสามารถรวมแต่ละเมืองเป็นหนึ่งเดียวได้ แต่แต่บางยุคก็แยกออกเป็นเมืองย่อย ๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถของกษัตริย์ เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ออกลูกออกหลานไปเรื่อย แล้วก็ฆ่ากันตายไปเรื่อย ๆ จนเกิดหลายเชื้อสาย แต่หากสืบเชื้อสายไปแล้วทุกคนล้วนเป็นเครือญาติกันมีต้นกำเนิดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ยวาหระลาล เนห์ลรู (2549 : 211) กล่าวถึงความสำคัญในแง่ประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพของชาวอินเดียจากมหากาพย์มหาภารตะว่า “[มหากาพย์มหาภารตะ] ได้มีการพยายามอย่างจริงจังที่จะย้ำถึงเอกภาพอันเป็นรากฐานของประเทศอินเดีย หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภาตวรรษ ซึ่งเกิดจากพระนามของท้าวภรต ผู้มีนิยายปรัมปรากล่าวว่า เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ชนชาติอินเดีย ชื่ออีกอย่างหนึ่งของชาวอินเดียซึ่งปรากฏว่ามีใช้กันมาก่อนคือ อารยวรรต แปลว่าถิ่นของชาวอารยัน...”

ในจุดนี้ทำให้คิดถึงวาทะอมตะของมหาตมะคานธีว่า "โลกทั้งผองพี่น้องกัน"

หากมองในแง่ ปรัชญาคุณธรรมจริยธรรมแล้ว Robert Antoine (กรุณา – เรื่องอุไร กุศลาสัย, 2544 : 100 -101) กล่าวว่า “มหากาพย์ภารตะ เป็นกระจกเงาส่องชีวิตของชาวอินเดียตลอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี เป็นกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อถือของประชาชน ขนบธรรมเนียมทางสังคม วัตรปฏิบัติความนึกคิดทางศาสนา คติชาวบ้าน ตลอดจนทางกฏหมายทางแพ่งและอาญา”

และสุดท้ายหากมองไปที่การทุ่มเทจำนวนรบมหาศาล จำนวนคนตายมหาศาลในสงคราม 14 วัน หากใครได้อ่านแล้วลองพิจารณาดูเถิดว่าเกิดจากสิ่งใดกันแน่ เพื่อศักดิ์ศรี เพื่อประกาศอำนาจ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ เพื่อแย่งชิงสมบัติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง? เพื่อดำรงคติธรรมะชนะอธรรม เพื่อแสดงความเกลียดชัง ฯลฯ

วาทิน ศานติ์ สันติ

เอกสารประกอบการเขียน

กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย. มหาภารตยุทธ. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม. 2552.

กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย. อินเดียอนุทวีปที่น่าทึ่ง. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม. 2544.

ยวาหระลาล เนห์รู. พบถิ่นอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง. 2549.

ราโมฮาน คานธี. ล้างแค้นกับสมานฉันท์ : สู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์เอเชียใต้. กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ. 2551.

ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์, ศ. ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2545.

สุภร ผลชีวิน. มหาภารตยุทธ. พิมพ์ครั้งที่ 1. องค์การค้าคุรุสภา. กรุงเทพฯ : 2526.

หมายเลขบันทึก: 671832เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2019 07:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2019 07:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท