โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ความร่วมมือเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างไทยและเคนย่า



โสภณ เปียสนิท

..............................

            บันทึกไว้ว่า วันที่ 5-6 ตุลาคม พุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบสอง ผมและครอบครัว “เปียสนิท” ชวนคุณเกลวิน หนุ่มน้อยวัย 26 ปี กับพี่สาวชื่อนาโอมิ ชาวเคนย่ามาเยือน “บ้านสวนโสภณ” ที่บ้านท่ามะนาว วังด้ง เมืองกาญจนบุรี เดินทางถึงฝ่าสายฝนปรอยถึงเมืองกาญจน์ราวสองทุ่มเศษ ระหว่างเดินทางญาติทางบ้านท่ามะนาวแจ้งมาทางสายว่า ฝนตกหนักในป่า น้ำป่าท่วมไหลข้ามถนนในบางพื้นที่ราบลุ่มให้ระมัดระวังหน่อย

            ต้นเดือนตุลาคมแล้ว ฝนฟ้ายังคงตกหนักอยู่พอควรเป็นไปตามคำพยากรณ์ว่าปีนี้ฝนจะตกหนักปลายปี ถึงบ้านสวนแล้ว สายฝนเบาๆ ยังตกต่อเนื่อง ต่างพักผ่อนนอนหลับไปพร้อมกับเสียงสายฝนหยดรดหลังคาบ้าน เช้าขึ้นผมมีกิจกรรมทำบุญตักบาตรพระหมื่นรูปที่ศูนย์อบรมเยาวชนกาญจนบุรี เอ่ยปากชวนเพื่อนชาวเคนย่าทั้งสองคน เพื่อนไม่อยากตื่นเช้า เพราะเป็นวันหยุด ผมและครอบครัวจึงเดินทางไปทำบุญก่อน ปล่อยให้เขานอนกันต่อไป

            กลับมาถึงบ้านใกล้เที่ยงวัน สองคนทำอาหารง่ายๆ กินกันเองไปบ้างแล้ว กลวิธีของผมที่แนะนำเขาคือ การปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้รอบบ้าน โดยการเก็บผักกระถินมาจิ้มน้ำพริกกิน เก็บยอดคะน้าเม็กซิกัน (ผักชูรส ผักไชยา มะกอกินใบ ก็เรียก) มาประกอบอาหาร เก็บพริกข้างบ้าน มะนาวข้างบ้าน ใบมะกรูดข้างบ้าน มะตูมอาหรับ ยอดมะยมกินกับส้มตำ เพื่อนชาวเคนย่าฝ่ายชายให้ความสนใจเป็นพิเศษ

            เขาชวนสนทนาเมื่อตอนเดินชมสวนหลังบ้าน “ฉันชอบแนวคิดปลูกของกินได้รอบบ้าน เพราะจะได้มีไว้กินตลอดเวลาไม่อด” ผมเห็นว่าเป็นเวลาอันถูกควรแล้วที่จะต้องบอกเขาเรื่องทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของล้นเกล้ารัชกาลที่9 “พ่อหลวงรัชกาลที่9 ทรงสอนเศรษฐกิจพอเพียงไว้ให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคนได้เรียนรู้และปฏิบัติ” ใครปฏิบัติตามได้จะไม่ยากจน อย่างน้อยก็พอมีพอกินทั้งตนเองและครอบครัว”

            “พ่อหลวงของคุณทรงพระปรีชายิ่งนัก พระองค์ทรงรู้เรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของคนธรรมดา ชาวบ้านทั่วไป” เขาถามมาอย่างไม่เข้าใจวิถีแห่งพระราชาในบ้านเรา ผมคิดสักครู่ก่อนตอบเขาไป “เพราะพระองค์ทรงห่วงใยประชาชนของพระองค์ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ตลอดเวลาพระองค์ทรงดำริโครงการหลวงกว่า สี่พันโครงการเพื่อประชาชน พระองค์จึงทรงเป็นที่รักและศรัทธาของปวงชน”

            เขาถามต่อด้วยความสนใจ “น่าเอาแนวทางไปทำบ้างที่เคนย่าบ้านฉัน” ผมได้ทีจึงกล่าวว่าต่อเชิงให้กำลังใจ “ได้เลย มีโครงการความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างเคนย่าและไทยบ้างหรือยัง เท่าที่คุณรู้” เขาทำหน้างง “ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่ามี” ผมให้คำแนะนำ ไม่เคยมีก็ไม่เป็นไร คุณเป็นรายแรกก็ได้” เขาถามอย่างกระตือรือร้น “ผมต้องทำอย่างไรบ้าง” ผมตอบตามสบายว่า ไม่ต้องทำอะไรหรอก แค่ดำเนินชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียงพอแล้ว” ผมพูดให้ดูเหมือนง่าย

            เขาทำหน้างงๆ อยู่สักครู่ “แล้วหลังจากนั้นเล่า” ผมพยายามพูดให้เขารู้สึกสบายๆ “พึ่งตนเองให้ได้ แล้วปรับปรุงพัฒนาตนเองให้แตกต่างโดดเด่น ด้วยการศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่ายกับประเทศไทย ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในเมืองไทย ในด้านที่ยังขาดแคลน เช่นเรื่ององค์ความรู้ เรื่องเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่างๆ เป็นต้น”

            เขายิ้มอย่างดีใจ “ผมขอความร่วมมือได้ด้วยหรือ? “ได้แน่นอน หากคุณเชื่อมันในหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9”

            ผมอยากรู้จักองค์รวมของพื้นฐานทางการเกษตรของเขาที่เคนย่า จึงสอบถามชวนคุยหาความรู้ “คุณมีที่ดินจำนวนสักเท่าไรครับ” เขานิ่งคิดนิดหนึ่ง เหมือนทบทวนความทรงจำเก่าๆ อาจเป็นเพราะเขาเดินทางรอนแรมมาทำมาหากินอยู่ต่างแดนนานหลายปี ก่อนตอบ “15 เอเคอร์” ผมคำนวณในใจ ตามความถนัดของคนไทยมักคิดเป็นไร่ “เอ กี่ไร่หว่า คร่าวๆ คงสัก สองไร่ครึ่งต่อหนึ่งเอเคอร์ 15เอเคอร์ x 2.50 ไร่ เท่ากับ 37 ไร่ โดยประมาณ ถือว่าเขามีที่ดินของครอบครัวโดยร่วมแล้วไม่น้อยเลย”

            “มีน้ำไหม” ผมถามเพื่อสำรวจต่อ เขาตอบสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส “มีครับ เรามีแม่น้ำ บ้านอยู่ใกล้แม่น้ำเหมือนบ้านของคุณที่ติดแม่น้ำแควใหญ่อย่างนั้นเลย” โอ้ เขาช่างโชคดีเสียจริง “คุณมีที่ดินมากพอ มีน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ แดดละมีมากพอไหม” “แม้ว่าบ้านเราจะหนาวหน่อย แต่ก็มีแดดพอ” “อย่างนั้นถือว่าครบองค์ประกอบแล้ว” “องค์ประกอบอะไรครับ” “องค์ประกอบของการทำเกษตรกรรม

“แล้วคุณมาทำอะไรที่เมืองไทยนี่ คุณทรัพย์สินพื้นฐานราวกับเศรษฐีแล้ว” “ฉันก็มาทำงานหาเงิน เขาว่าดี ฉันก็เลยตามเขามา” “มาแล้วเป็นอย่างไร” ผมถามต่อเรื่อยๆ “บางคนอาจดี ได้ทำงานต่อเนื่องเงินดี แต่สำหรับฉันแล้วไม่ค่อยดี เพราะทำงานไม่ต่อเนื่อง บางช่วงไม่ค่อยมาคนจ้างก็ลำบากหน่อย จึงคิดอยากกลับบ้าน”

            “กลับบ้านก็ดีแล้วผมเห็นด้วย แต่ต้องนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เป็นภูมิปัญญาจากพ่อหลวงของเมืองไทย” ผมส่งเสริมให้เขากลับบ้าน เพราะที่ดินและน้ำที่เขามีอยู่ที่บ้านควรได้รับการดูแล เขาจึงหันมาถาม “ทำไมคุณจึงคิดว่า ฉันควรกลับบ้านมากกกว่าอารอยู่หาเงินที่เมืองไทยไปอีกสักระยะ”

ผมถือโอกาสเล่าเรื่องให้เขาฟัง “คุณกับคุณเรื่องนี้แล้ว ผมคิดได้ว่าเคยคุยกับยามของโรงแรมแห่งหนึ่งแถวระยองเรื่องที่ดิน เขาบอกว่ามีที่ดินทั้งหมดราวห้าสิบไร่ ผมแกล้งสัพยอกเขาไปว่า เป็นเศรษฐีปลอมตัวมาเป็นคนเฝ้ายาม เขาหัวเราะด้วยสีหน้าภูมิใจ ผมก็แนะนำเหมือนที่กำลังแนะนำคุณอยู่นี่” เขาฟังแล้วพยักหน้าเหมือนเข้าใจ

เช้าวันต่อมาผมติดภารกิจไปทำบุญตักบาตรพระหมื่นรูปที่ “ศูนย์อบรมเยาวชนกาญจนบุรี” แถวเกาะสำโรงแต่เช้าตรู่ ใจอยากชวนทั้งสองคนไปร่วมงานบุญนี้ด้วย แต่เขาปรึกษากันแล้วไม่อยากตื่นเช้าในวันหยุด จึงขอนอนหลับอยู่ที่บ้าน กลับมาถึงบ้านหลังรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว จึงพอเพื่อนชาวเคนย่าทั้งสองคนเข้าไปเดินชมป่าไม้หลังบ้านที่มีต้นไม้หลายสายพันธุ์ ต้นกระถิ่นยักษ์อายุกว่ายี่สิบปี

“ต้นใหญ่นี่ต้นอะไรครับ” หนุ่มน้อยถาม หนุ่มชาวเคนย่าสนใจการเกษตรมากกว่าพี่สาว ที่ค่อนข้างจะชอบในเมืองมากกว่าการอยู่อาศัยในชนบท ซึ่งก็เหมือนหนุ่มสาวไทยเรา แม้ผมเองก็เคยหนีพ่อแม่มาเรียนจนใกล้เกษียณแล้วจึงนึกขึ้นได้ว่า มีที่ดินอยู่และอยากกลับไปพัฒนาให้เกิดความคุ้มค่า “ต้นกระถิ่น ใช้ทำเสารั้ว ทำคาน ใช้เผาถ่าน ทำอาหารสัตว์ คนกินยอดได้ เรียกว่ากินได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง” “เอ มีประโยชน์ดีจัง” “แต่ชาวบ้านผมไม่ค่อยเห็นคุณค่าเท่าไร บางแห่งเห็นแล้วต้องตัดให้หมด เพราะเกรงว่าเม็ดของมันจะกระจายทั่วพื้นที่ แล้วปราบยาก ส่วนผมเห็นคุณค่า อยากจัดระเบียบและใช้ประโยชน์ให้เต็มที่”

พาสองพี่น้องฝ่าฝูงยุงเดินชมต้นซากต้นสักที่เคยปลูกไว้ แต่ถูกคนแอบตัดไป หลายต้นตายลงเพราะความแล้งยังเหลือแค่เศษซาก ต้นสะเดาเปลาตรงอายุเกินยี่สิบปี เสียดายที่เหลือน้อยหน่อย  ต้นผักหวานป่าอายุสิบกว่าปี บางต้นโต บางต้นไม่ค่อยโต อาจเป็นเพราะพื้นที่แตกต่างกัน ไม้มะเกลือใช้ทำสีย้อมผ้า ไม้มะกาใบมีรสขมใช้เข้ายาถ่าย ไม้ยอป่าเปล่าตรงแข็งแรง พาชมกอไผ่ตงลืมแล้ง กอรวกจนเขาชวนเดินกลับ เพราะข้างหน้าเป็นป่าที่ยังไม่ได้ถาง เดินลำบาก

เดินผ่านต้นขี้เหล็กก็อธิบายเสียหน่อย “นี่ต้นขี้เหล็กครับ ผมชอบขี้เหล็กเพราะมีรสขม กินเป็นยาระบายได้ด้วย” “กินส่วนไหนครับ” หนุ่มเคนย่าถามสีหน้าสงสัย “กินดอกและใบยอดครับ เนื้อไม้ยังใช้งานเป็นไม้แปรรูปได้อีกด้วย” “คนไทยนี่กินต้นไม้ได้ทุกต้น” ผมไม่รู้ว่าเขาเจตนาชม หรือว่า มีเจตนาอื่นใดแอบแฝงนิดๆ หรือไม่ “ไม่ทุกต้นหรอก บางต้นหากเผลอกันเข้าไป อาจถึงตายได้”

เดินกลับมาใกล้บ้านหน่อย จึงแนะนำพันธุ์ไม้ใกล้บ้าน “นี่ต้นขนุน มีลูกให้กินได้ หลังจากอายุสี่ห้าปีไปแล้ว แต่ว่าปลูกมากไม่ดี” “ทำไมครับ” “แถวนี้มีช้างป่ามาเดินบ่อยมาก อาจเรียกพวกมากินขนุนบ้านผมจนหมดไปเสียก่อนเลยไม่อยากปลูกมาก แต่ไม่ปลูกเลยก็ไม่ดี เพราะเราก็ชอบกินผลขนุน”

“นี่ครับต้นมะยม ไทยเรานิยมปลูกหน้าบ้าน เชื่อกันว่า ทำให้เกิดเมตตามหานิยม” ผมบรรยายสรรพคุณของต้นมะยมให้เขาฟัง  “กินได้ไหมครับต้นนี้” “ต้นนี้กินไม่ได้ แต่กินผลได้ กินใบได้ โดยเฉพาะใบใช้กินกับส้มต่ำรสอร่อยดี เดี๋ยวจะลองทำส้มตำกินกันจะได้ทดลองกินมะยมด้วย” ระหว่างเดินกลับเข้าบ้าน ผมเก็บยอดใบมะยมไปหนึ่งกำมือ เก็บยอดกระถิ่นอีกหนึ่งกำมือ ใส่ถุงที่เตรียมมา ใบมันปูหนึ่งกำมือ ยอดสะเดาอีกกำมือ ยอดคะน้าแม็กซิกันอีกหนึ่งกำมือ

“ที่เคนย่าเขาทำไร่ทำสวนกันอย่างไรครับ” ผมถามหาความรู้ “ไม่เหมือนที่นี่ เราปลูกกันเป็นระเบียบ ปลูกพืชเชิงเดียว ที่ไร่ผมปลูกอยู่สองชนิด เพื่อเอาไปขาย” ถึงตรงนี้แล้ว นึกสงสารชาวบ้านไม่ว่าไทยหรือเทศ ถูกเงินตราปิดบังจนหลงทาง เห็นเงินเป็นใหญ่เป็นทุกสิ่ง ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นอีกอย่าง คำของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ยังอยู่ในใจเสมอ “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง” เมื่อก่อนไม่มีเงิน เราก็อยู่กันมาได้

“หันมาทำเกษตรแบบพอเพียงดีกว่าครับ” ผมแนะนำเขาก่อนแยกย้ายกันกลับมาทำงาน “อย่างไรดี ผมไม่ค่อยจะมีความรู้เรื่องนี้” เขาทำหน้าเศร้า “ไม่ยากหรอก คิดแบบง่ายๆเข้าไว้ เช่น กินอะไร ก็ปลูกอันนั้น คุณกินพริกก็ปลูกพริก กินกระเพราก็ปลูกกระเพรา กินมะนาวก็ปลูกมะนาว ง่ายไหมแบบนี้” “ครับง่ายดี” “คิดไว้ว่า เสาเดียวค้ำฟ้าไม่ดี” “อะไรครับเสาเดียวค้ำฟ้า” “คือการปลูกพืชเชิงเดียว เพื่อเอาไปขาย เอาเงินมา ปีไหนฝนฟ้าแล้งจะทำอย่างไร ปีไหนราคาไม่ดีจะทำอย่างไร เห็นไหม คิดแค่นี้ก็แย่แล้ว”

ผมเห็นว่าเวลาน้อย จึงสรุปให้เขาฟังก่อนกลับบ้านว่า “กลับไปบ้านคราวนี้ ให้ปลูกทุกอย่างที่กินได้ แล้วเลี้ยงสัตว์เพื่อเอามูลสัตว์มาทำปุ๋ย ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ มุ่งเป้าไปที่การอยู่กินได้ด้วยผักสวนครัวของเราเอง อีกอย่างหนึ่งไม่ต้องรีบ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” ค่อยเป็นค่อยไป อย่าลงทุนจนมากเกิน เพราะอาจผิดพลาดได้

หมายเลขบันทึก: 671589เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2019 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2019 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมอ่านละเอียด … หลังอ่านจบ มีความมั่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เราต้องทำ “ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย” ให้เกิดในโรงเรียนในชนบททุกโรงเรียนให้จงได้ ….

-สวัสดีครับอาจารย์-ได้อ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกภูมิใจในความเป็นไทยขึ้นมากทีเดียวครับ-ไม่ใช่ว่าไม่ภูมิใจในความเป็นไทยแต่ในอีกความหมายหนึ่งคือรู้สึกอิ่มเอมใจครับ-ต่างบ้านต่างเมืองแต่ได้แบ่งปันกันแบบนี้…ดีใจๆ-ความสุขเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ ครับ-ขอบคุณครับ

อ.ต๋อยครับเพื่อความมั่นคงมั่งคั่งของประชากรไทยและประชากรโลกน้องชาวเคนย่าผู้ชาย ฟังผมพูดย้ำๆบ่อยเขาถึงกับบ่นว่า ตนเองมาทำอะไรอยู่ที่นี่ทำไมไม่อยู่บ้านแล้วลงมือทำทันที

เพชรน้ำหนึ่งจริงครับ เขาฟังผมกระตุ้นบ่อยๆ จนทนไม่ไหว อยากรีบกลับบ้านไปทำแบบในหลวง ร9 ที่ท่านทรงพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงไว้กับคนไทยเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท