BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

๕. สมภารเจ้าวัด : ที่ไป


สมภารเจ้าวัด

๕.  สมภารเจ้าวัด : ที่ไป               

คำว่า ที่ไป ก็คือการพ้นจากตำแหน่งสมภารเจ้าวัดนั่นเอง ในฐานะที่เจ้าอาวาสเป็นพระสังฆาธิการระดับหนึ่งด้วย ฉะนั้น ที่ไปของเจ้าอาวาสก็ต้องไปดูเรื่องการพ้นตำแหน่งหน้าที่พระสังฆาธิการ ซึ่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ในข้อที่ ๓๖ ได้บอกว่าพระสังฆาธิการย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อ               

๑) ถึงมรณภาพ               

 ๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ               

 ๓) ลาออก               

๔) ย้ายออกไปนอกเขตที่ตนมีสำนักอยู่               

๕) ยกเป็นกิตติมศักดิ์               

๖) รับตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะหรือรองเจ้าคณะอื่น               

๗) ให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่               

๘) ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่               

๙) ถูกถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่                               

การมรณภาพในข้อแรกชัดเจนแล้วไม่จำเป็นต้องอธิบาย การพ้นจากความเป็นพระภิกษุหรือลาสิกขาในข้อสองก็มีเงื่อนงำอยู่บ้าง ส่วนในข้อที่สามคือการลาออกจากตำแหน่งนั้น แม้จะเข้าใจได้ง่าย แต่การลาออกนั้น บางครั้งก็เป็นไปด้วยความสมัครใจ บางครั้งก็อาจโดนสภาพบีบบังคับหรือเป็นการขอร้องจากใครบางคนให้ลาออก กลายเป็นว่าฝืนใจหรือจำใจต้องลาออก ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้ก็สามารถพบเห็นได้เรื่อยๆ เช่นเดียวกัน               

ตามที่ผู้เขียนประสบมา ในสังคมวัด มิใช่แต่ตำแหน่งสมภารเจ้าวัดเท่านั้น แม้หน้าที่กิจการงานอื่นๆ บางท่านเกิดความผิดพลาดในการทำงานและเกิดความยุ่งยากเกินกว่าจะแก้ไขได้ เช่น เงินขาดบัญชีมากเกินไป สิ่งของสูญหายหาสาเหตุไม่ได้ เป็นต้น ทางออกอย่างหนึ่งที่เคยได้ยินมาก็คือ เจ้าตัวขอลาสิกขาเป็นการยอมรับความผิดพลาด ซึ่งเรื่องนี้จะก่อให้เกิดความเห็นใจจากผู้ร่วมงาน ส่วนความผิดพลาดที่ผ่านมาก็ให้ผ่านเลยไป ผู้ที่ยังอยู่หรือมาใหม่ก็จะเริ่มต้นใหม่ อะไรทำนองนี้ ยกเว้นบางคราวที่เป็นความผิดฉกรรจ์เกินไปก็อาจยอมความไม่ได้ พอลาสิกขาแล้วก็ต้องเดินทางเข้าคุกตะรางอย่างนี้ก็มีบ้าง               หากความผิดไม่สาหัสสากรรจ์จนเกินไปก็เพียงแต่ยอมลาออกจากหน้าที่การงาน ไม่ต้องลาสิกขา อะไรทำนองนี้               

 ผู้เป็นเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัดก็เช่นเดียวกัน ถ้าขาดความรอบคอบถี่ถ้วนกระบวนความแล้ว อาจต้องจำใจฝืนทนกล้ำกลืนลาสิกขาเพื่อไปแสวงหาความสงบในเพศที่ต่ำกว่า หรือต้องลาออกจากสมภารเจ้าวัดเป็นการยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งสองประเด็นนี้บ่งบอกได้ว่า ตำแหน่งสมภารเจ้าวัดมิใช่เรื่องสนุกสนานเลย สำหรับผู้ที่ดำรงอยู่ได้จนกว่าจะมรณภาพ 

ส่วนผู้ที่ลาสิกขาหรือลาออกเพราะสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความผิดพลาดจากหน้าที่การงาน ก็ถือว่าเป็นการเลือกตามความสมัครใจของท่าน ซึ่งประเด็นหลังนี้ก็มีให้เห็นหรือได้ยินข่าวอยู่เสมอเช่นเดียวกัน ทำนองว่า ฝนจะตก พระจะสึก แดดจะออก เด็กจะเกิด หรือขี้จะแตก ใครห้ามไม่ได้ อะไรทำนองนี้                               

ข้อที่สี่คือการย้ายออกไปนอกเขตที่ตนมีสำนักอยู่ ในหัวข้อนี้ ผู้เขียนสงสัยว่าใช้บังคับเจ้าอาวาสในฐานะพระสังฆาธิการอย่างไร เพราะยังค้นหาไม่พบคำอธิบาย คำว่า สำนัก หมายถึง วัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่หรือ ? เนื่องจากในข้อ ๓๘ ของกฎมหาเถรฯ ฉบับนี้ ท่านอธิบายว่า               

ในกรณีที่พระสังฆาธิการทุกตำแหน่ง เว้นเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค ย้ายออกไปนอกเขตที่ตนมีสำนักอยู่ คือ เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ ย้ายออกไปจากจังหวัดนั้น เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล ย้ายออกไปจากอำเภอนั้น พระสังฆาธิการรูปนั้นย่อมพ้นจากตำแหน่งหน้าที่นั้น เว้นแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนในตำแหน่งเดิม               

ตามระเบียบนี้ พอจะเข้าใจได้แต่เพียงว่า ระดับภาคนั้นอยู่นอกเขตได้ ระดับจังหวัดต้องอยู่ในจังหวัดนั้น ระดับอำเภออาจอยู่นอกอำเภอไปได้แต่ต้องอยู่ภายในจังหวัดนั้น ระดับตำบลอยู่นอกตำบลได้แต่ต้องอยู่ภายในอำเภอนั้น แต่ตำแหน่งเจ้าอาวาสไม่มีระบุไว้                

อนึ่ง เจ้าอาวาสในฐานะพระสังฆาธิการนี้ มีประเด็นยุ่งยากหลายประการ ดังที่ สัมพันธ์ เสริมชีพ ได้วิเคราะห์วิจารณ์ไว้ในหนังสือ คู่มือพระสงฆ์ไทย: เจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานหรือไม่ ? ซึ่งท่านได้ให้ความเห็นไว้ในระหว่างหน้า ๖๘-๘๖ ว่า เจ้าอาวาสไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะเจ้าอาวาสมิใช่เป็นตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ โดยท่านให้ความเห็นว่า เจ้าอาวาสเป็นเพียงผู้ปกครองวัด มิใช่ผู้ปกครองสงฆ์ ส่วนข้อความในกฎมหาเถรฯ ฉบับที่ ๒๔ ข้อ ๔ ซึ่งผู้เขียนนำมาอ้างเรื่องเจ้าอาวาสเป็นพระสังฆาธิการซึ่งเป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์นั้น ท่านได้นำตัวบทมาขยายความในตอนหนึ่งว่า               

ในกฎฉบับที่๒๔ ข้อ ๔ กำหนดว่า ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ ซึ่งหมายถึงกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องหรือนำไปใช้ในกฎฉบับอื่นได้ มีกฎมหาเถรสมาคมฉบับอื่นๆ หลายฉบับที่กำหนดคำขึ้นมาเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกัน ดังนั้นจะนำเอาคำว่าพระสังฆาธิการ ในกฎมหาเถรสมาคมนี้ หรือความหมายของคำว่า พระสังฆาธิการในกฎนี้ ไปใช้หรืออธิบายคำหรือความหมายเพิ่มเติม จากคำหรือความหมายของคนในกฎมหาเถรสมาคมฉบับอื่นไม่ได้               

ประเด็นความซับซ้อนซ่อนเงื่อนในเชิงกฎหมายนี้ เป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจได้ง่ายๆ ผู้สนใจเรื่องนี้ ค่อยๆ ศึกษาเอาเองเถิด ผู้เขียนจะว่าด้วยเรื่องที่ไปของสมภารเจ้าวัดต่อ                               

ข้อที่ห้า การยกเป็นกิตติมศักดิ์ ประเด็นนี้ อธิบายง่ายๆ ว่า พระสังฆาธิการทุกตำแหน่งให้เกษียณเมื่อครบ ๘๐ ปีบริบูรณ์ ยกเว้นเจ้าอาวาสไม่มีการเกษียณ คือ ตำแหน่งเจ้าอาวาสไม่มีการเกษียณสามารถเป็นได้จนมรณภาพ ทำนองนั้น               

ข้อที่หก การรับตำแหน่งหน้าที่เจ้าคณะหรือรองเจ้าคณะอื่น ประเด็นนี้ก็คงยกเว้นเจ้าอาวาสเช่นเดียวกัน เพราะผู้เขียนพบว่าพระสังฆาธิการเจ้าคณะอื่นๆ จะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ด้วย ดังนั้น ข้อนี้คงจะประสงค์เอาว่าต้องดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น ยกเว้น ตำแหน่งเจ้าอาวาส 

ข้อที่เจ็ด การให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้อธิบายไว้ใน ข้อ ๔๑ ว่า การให้ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกระทำได้ในกรณีที่พระสังฆาธิการหย่อนความสามารถไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของตน เมื่อถือเอาตามนี้ ตำแหน่งเจ้าอาวาสได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าคณะจังหวัด ดังนั้น ถ้าเจ้าคณะจังหวัดพิจารณาเห็นว่าหย่อนความสามารถไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็อาจให้ออกจากตำแหน่งได้ คงจะประมาณนี้                

อีกสองข้อที่เหลือ คือ การปลดออกและการถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ ถูกอธิบายไว้ว่าให้เป็นไปตามหมวด ๔ จริยาพระสังฆาธิการ ดังนั้น เราลองไปพิจารณาเรื่องนี้               

กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ในหมวดที่๔ เป็นเรื่องจริยาพระสังฆาธิการ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ จริยา การรักษาจริยา และการละเมิดจริยา               

ส่วนของจริยา มี ๘ ข้อ ซึ่งอาจประมวลเนื้อหาทั้งหมดได้ว่า พระสังฆาธิการจะต้องเอื้อเฟื้อต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด จะต้องเชื่อฟังคำสั่งและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบ ในกรณีนี้ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งก็ได้เปิดโอกาสให้ทัดทานได้เป็นลายลักษณ์อักษรตามลำดับชั้น ต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่และระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์หรือพระศาสนา ห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ไม่สมควร ต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง ต้องส่งเสริมความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ ต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และพระศาสนา ประการสุดท้ายก็คือต้องรักษาข้อความของการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย               

ส่วนของการรักษาจริยา มี ๒ ข้อ เนื้อความโดยรวมก็ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ควบคุม ดูแล แนะนำ ชี้แจง ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาตามจริยาโดยเคร่งครัดและลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาหรือรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนตามสมควร ส่วนผู้ถูกสั่งลงโทษก็ต้องปฏิบัติตามทันที แต่ถ้าว่าไม่เป็นธรรมก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามระเบียบ ซึ่งถ้าเป็นการร้องทุกข์เท็จจะถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง               

ส่วนของการละเมิดจริยา มี ๗ ข้อ ว่าด้วยการลงโทษผู้ละเมิดจริยาก็มี ถอดถอน ปลดออก ตำหนิ และภาคทัณฑ์ นอกนั้นก็เป็นรายละเอียดของวิธีการดำเนินการลงโทษ ผู้สนใจรายละเอียดเชิญไปเปิดดูเองเถิด                  

ถามว่า จริยาของพระสังฆาธิการมาเกี่ยวข้องกับเจ้าอาวาสอย่างไร? ประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะเจ้าอาวาสจัดเป็นพระสังฆาธิการและต้องปฏิบัติตามจริยาของพระสังฆาธิการนี้ด้วย ถ้าเจ้าอาวาสรูปใดไม่เข้าใจหรือละเลยเรื่องนี้แล้วอาจถูกถอดถอนหรือปลดออกจากตำแหน่งได้ นั่นคือ อีกแนวทางหนึ่งแห่งที่ไปของสมภารเจ้าวัด ในกรณีตรงกันข้าม ถ้าเจ้าอาวาสสนใจเรื่องนี้ก็อาจตรวจสอบการดำเนินการหรือสั่งงานของเจ้าคณะผู้บังคับบัญชาเบื้องสูงขึ้นไป และอาจทำหนังสือคัดค้านหรือร้องทุกข์ได้ในกรณีที่เห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบและพระธรรมวินัย มิใช่ว่าจะถือเพียงคติว่า ถูกครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน เพียงประการเดียว โดยมิได้เอื้อเฟื้อพระธรรมวินัยหรือตรวจสอบความผิดถูก                

อนึ่ง ที่ไปของสมภารเจ้าวัดยังมีอีกนัยหนึ่ง กล่าวคือ ตามจารีตประเพณีหรือตามวิถีชาวบ้านชาววัดก็ว่าได้ ดังเรื่องที่ผู้เขียนเคยได้ยินมาว่า เพื่อนของเพื่อนผู้เขียนรูปหนึ่งเป็นสมภารเจ้าวัดมาได้ประมาณ๑-๒ ปี แต่อุปนิสัยของท่านก็คือนอนตื่นสาย ว่ากันว่าประมาณตีเก้าตีสิบโน้นแหละจึงจะตื่น ตอนเช้าๆ เวลาญาติโยมจะนำของมาถวายหรือมาธุระอื่นๆ มักจะไม่ได้รับความสะดวก นั่นคือ จะต้องรอให้ท่านตื่น ต้องปลุกท่าน หรือกลับไปก่อนค่อยมาโอกาสต่อไป ซึ่งเหตุการณ์มักจะเป็นอย่างนี้มาตลอด สร้างความอิดหนาระอาใจและคลายศรัทธาต่อบรรดาทายกทายิกาอย่างมาก ต่อมาเมื่อมีปัญหาขึ้นเล็กน้อยก็มีการยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดแล้วก็ลงความเห็นว่าจะดำเนินการให้ปลดเจ้าอาวาสรูปนี้ สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือท่านนอนตื่นสายนั่นเอง นั่นคือ การนอนตื่นสายนับว่าเป็นที่ไปของสมภารเจ้าวัดอย่างหนึ่ง                

ผู้เขียนอยู่วัดมายี่สิบกว่าปีและอยู่มาหลายวัดหลายท้องถิ่น ตามที่ประสบมา เจ้าอาวาสเกือบทุกวันมักจะตื่นเช้าเสมอ ไม่ว่าท่านจะบิณฑบาตหรือไม่ก็ตาม มีบ้างเหมือนกันที่บางท่านอาจไม่ค่อยตื่นเช้า แต่โดยมากก็ไม่เกินตีแปดครึ่งท่านก็มักจะตื่น ซึ่งเจ้าอาวาสผู้ที่ตื่นประมาณนี้ มักจะเป็นเจ้าอาวาสมานานหลายสิบปีหรือค่อนข้างสูงอายุ และมีรองสมภารหรือพระเถระรูปอื่นๆ เป็นธุระภาระเรื่องต่างๆ ภายในวัดอยู่แล้ว (ต่างจากลูกวัดซึ่งหลายๆ รูป กว่าจะตื่นก็ตีเก้าตีสิบ แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร มีบ้างก็ถูกครหาเล็กน้อยเท่านั้น) ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การตื่นเช้า เป็นคุณสมบัติหรือหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้เป็นสมภารเจ้าวัดที่ไม่มีอยู่ในตำรานั่นเอง  

อีกอย่างหนึ่งผู้เขียนเคยได้ยินคำพังเพยของคนโบราณว่า ไม้ใหญ่ แหล่งน้ำ ทางเดิน ผู้เป็นสมภารระวังให้จงหนัก เรื่องนี้พออธิบายได้ว่า

ไม้ใหญ่ คือ ต้นไม้ใหญ่ๆ ภายในวัดนั้น บางต้นเป็นร่มเงาของคนในท้องถิ่นมานานหรือเป็นสัญลักษณ์ประจำวัดมาหลายชั่วอายุคน สมภารเจ้าวัดบางรูปไม่ทันระวังสั่งให้ใครโค่นลงก็อาจกระทบกระทั้งต่อความรู้สึกของมวลชน เพราะต้นไม้ใหญ่ อาจโค่นได้ภายในวันเดียว แต่ไม่สามารถปลูกแล้วโตได้ภายในวันสองวัน ไม้บางชนิดต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเป็นร่มเงาได้               

แหล่งน้ำ คือ บ่อน้ำ สระน้ำ ตระพัง หรือท่าน้ำ ที่เป็นของวัดซึ่งชาวบ้านในชุมชนใช้สอยมานานหลายชั่วอายุคน เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ความสำคัญของแหล่งน้ำทำนองนี้จะน้อยลง ถ้าสมภารเจ้าวัดสั่งให้ถ่มหรือปิดกั้นมิให้ใช้ ก็อาจกระทบกระทั้งต่อความรู้สึกของมวลชน               

ทางเดิน หมายถึง เส้นทางสัญจรในท้องถิ่นซึ่งบางวัดมีทางเดินผ่านวัดและใช้สอยกันมานาน ถ้าสมภารไม่ระวังสั่งให้ปิดกั้นทางเดินเช่นนี้ก็อาจกระทบกระทั้งต่อความรู้สึกของมวลชนเช่นเดียวกัน ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้ เมื่อเปลี่ยนไปแล้วสามารถเรียกกลับคืนได้ยาก ผู้เขียนเคยเห็นบางวัดที่ปิดกั้นเส้นทางที่ผ่านวัด แม้ภายหลังจะกลับมาเปิดให้ใช้ใหม่ก็มีผู้มาใช้น้อยลงและชุมชนใกล้ๆ วัดนั้นก็เริ่มหมางเมินกับวัดนั้นๆ               

นั่นคือ ที่ไปของสมภารเจ้าวัดบางรูปอาจมีสาเหตุมาจาก ไม้ใหญ่ แหล่งน้ำ หรือทางเดิน ตามทำนองนี้ก็ได้ หากไม่ระมัดระวังในการดำเนินการ                

ดังนั้น ผู้ที่เป็นสมภารเจ้าวัดโดยตลอดรอดฝั่งจนกระทั่งมรณภาพภายในตำแหน่ง นับได้ว่าจะต้องเป็นผู้มีความสามารถและเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างเพื่อรักษาตำแหน่งไว้ได้ เพราะมิฉะนั้นก็อาจจะต้องไปก่อนเวลาสมควร ดังที่ผู้เขียนได้พรรณนามาในเรื่องที่ไปของสมภารเจ้าวัดในหัวข้อนี้ แต่เมื่อยังคงเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ ถือได้ว่าสมภารเจ้าวัดเป็นผู้มีบารมีเพราะมีทั้งอำนาจและหน้าที่ซึ่งเป็นประดุจเครื่องมือสำหรับใช้บำเพ็ญบารมี เมื่อจะมองให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เครื่องมือจะดีหรือไม่ดีนอกจากจะขึ้นอยู่กับตัวเครื่องมือชนิดนั้นแล้วย่อมขึ้นอยู่กับผู้ใช้ด้วย นั่นคือ ถ้าผู้มีหน้าที่และอำนาจอยู่ไม่รู้จักใช้ก็อาจทำให้คุณค่าต่ำลง หรือถ้าใช้ไม่ดีก็อาจทำอันตรายต่อผู้ใช้ได แต่ถ้ารู้จักใช้รู้จักพัฒนาก็ทำให้ค่อยๆ มีคุณค่าสูงขึ้น 

อำนาจและหน้าที่แม้ว่ากฎหมายว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์จะเปลี่ยนแปลงไปหลายฉบับ แต่หน้าที่และอำนาจของเจ้าอาวาสก็มีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ขณะที่ตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ มักจะบัญญัติไว้เพียงให้ออกกฎหรือระเบียบเพื่อใช้ดำเนินการในเรื่องนั้นๆ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า ตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือสมภารเจ้าวัดมีความสำคัญมากกว่าตำแหน่งอื่นๆของคณะสงฆ์ ซึ่งเรื่องนี้อาจสันนิษฐานได้ว่า สมภารเจ้าวัดเป็นประดุจรากหญ้า นั่นคือสมภารเจ้าวัดเป็นศูนย์รวมที่จะรักษาศรัทธาในท้องถิ่นไว้ และหญ้าเป็นจะเครื่องตรวจสอบคุณภาพของดิน นั่นคือสมภารเจ้าวัดเป็นเครื่องตรวจสอบศรัทธาของผู้คนในท้องถิ่นได้โดยตรง เป็นต้น ดังนั้น เราลองไปตรวจสอบเรื่องหน้าที่และอำนาจของสมภารเจ้าวัดต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #สมภาร#เจ้าอาวาส
หมายเลขบันทึก: 67082เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 01:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท