ความสำคัญของการปราบปรามยาเสพติดทางทะเล


การจับกุมยาเสพติดที่ลำเลียงโดยทางทะเลได้ที่ประเทศปลายทาง โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าต้นตอที่แท้จริงของยาเสพติดมาจากประเทศใด หรือลำเลียงผ่านเมืองท่าใด

หลักการเบื้องต้น

          พื้นที่ของทะเลและมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลกมีประมาณ 362 ล้านตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของพื้นที่ทั้งหมดของพื้นผิวโลกได้ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการคมนาคมและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณกาล ในด้านการคมนาคมนั้นถือได้ว่าทะเลเป็นเส้นทางคมนาคมที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ประเทศมหาอำนาจทุกยุคทุกสมัยจึงนิยมใช้ทะเลเป็นเส้นทางในการเดินเรือเพื่อแผ่ขยายอำนาจและติดต่อค้าขายไปยังเมืองต่าง ๆ ตามชายฝั่ง เพราะในอดีตกาลการเดินทางโดยทางบกเป็นไปด้วยความยากลำบากและทุรกันดาร

          เส้นทางคมนาคมทางทะเลได้ถูกใช้ลำเลียงยาเสพติดมาแล้วไม่น้อยกว่า 2,000 ปี แต่จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเลและเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือเมื่ออังกฤษโดยบริษัท บริติช อีสท์ อินเดีย ได้ผูกขาดเส้นทางลำเลียงฝิ่นจากอินเดียเข้าไปจำหน่ายในประเทศจีนทางทะเล ควบคู่ไปกับการขยายอำนาจเพื่อแสวงหาอาณานิคมในภูมิภาคนี้จึงทำให้เริ่มมีปัญหายาเสพติดทั้งในด้านการผลิต การค้าและการเสพขยายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          แม้ว่าการลักลอบลำเลียงยาเสพติดทางทะเล จะต้องใช้เวลาในการเดินทางนานกว่ายานพาหนะอื่นและไม่สามารถทำได้บ่อยครั้งมากนัก เพราะจะต้องรวบรวมยาเสพติดจำนวนมากประกอบกับต้องใช้เงินทุนมหาศาล แต่ก็ยังมีการลำเลียงยาเสพติดทางทะเลอยู่เสมอ เนื่องจากสามารถลำเลียงได้ครั้งละปริมาณมาก ๆ กว่าเส้นทางอื่นหลายเท่าตัว และยิ่งไปกว่านั้นในการดำเนินงานเรื่องนี้มันจะจำกัดอยู่ในวงแคบ ทำงานกันอย่างรอบคอบระมัดระวัง มีการวางแผนอย่างดี ยากที่บุคคลภายนอกหรือเจ้าหน้าที่จะได้ล่วงรู้ ดังที่เคยปรากฎเป็นข่าวบ่อยครั้งว่ามีการจับกุมยาเสพติดที่ลำเลียงโดยทางทะเลได้ที่ประเทศปลายทาง โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าต้นตอที่แท้จริงของยาเสพติดมาจากประเทศใดหรือลำเลียงผ่านเมืองท่าใด

          องค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติดซึ่งมีผลกระทบกระเทือนและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทุกประเทศภาคี จึงได้จักให้ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาข้ามชาติ (Transnational Crime) ที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ไข เพราะอาชญากรรมยาเสพติดนั้น โดยลักษณะของปัญหามีการดำเนินการที่สลับซับซ้อนมีเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อันถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดจากอาชญากรรมที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะขององค์กร (Transnational Organized Crime) ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติร่วมือกันปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเลอย่างเป็นรูปธรรม ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (United Nations on the Law of the sea, 1982) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1988 (United Nations Conventionagainst Illicit Traffic on Narcotics Drug and Psyhotropic Substances, 1988) รวมทั้งได้จัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้หลายครั้งที่สำคัญได้แก่ การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยยาเสพติด ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมได้ประกาศ "ปฏิญญาทางการเมือง" หรือ Political Declaration กำหนดให้ปี ค.ศ. 2003 เป็นปีที่ประชาคมโลกมีมาตรการด้านต่าง ๆ ใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพและกำหนดให้ปี ค.ศ. 2008 เป็นปีที่ประเทศต่าง ๆ สามารถขจัดหรือลดขนาดของปัญหายาเสพติดลงด้วยการใช้มาตราการที่มีอยู่ซึ่งในปฏิญญาทางการเมืองดังกล่าวได้เสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเล (Illicit Traffic by Sea) อีกสองปีถัดมา องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมคณะทำงานความร่วมมือระหว่างประเทศทางทะเลเพื่อต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเล ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยจัดทำเป็นข้อแนะนำในการดำเนินงานร่ามกัน เพื่อสร้างเสริมความร่ามมือระหว่างประเทศในการปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเล เสนอให้ประเทศต่าง ๆ นำไปปฏิบัติให้สอดคล้องในแนวทางเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ประเทศต่าง ๆ มีความตื่นตัวและพยายามที่จะปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายและการปฏิบัติในเรื่องนี้ ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 67061เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • เป็นความรู้ใหม่ครับ ไม่คิดว่ามูลค่าจะมหาศาลขนาดนี้
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท