พุทธรัฐกับสันติภาพในวิถีประชาธิปไตย


พุทธรัฐกับสันติภาพในวิถีประชาธิปไตย

    อาภรณ์รัตน์ เลิศไผ่รอด[1]ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับพุทธรัฐกับสันติภาพ เป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันในสังคมระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

    พุทธรัฐ เป็นรัฐทางโลกธรรม และเป็นรัฐแห่งอุดมคติ ที่จะต้องปกครองโดยใช้หลักการทางพระพุทธศาสนา มีกระบวนการบริหารทั้งทางด้านจิตใจและวัตถุให้มีดุลยภาพ โดยการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา พุทธรัฐนั้น สามารถผสมผสานเข้ากันได้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีหลักการพื้นฐาน คือ หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาค หลักกฎหมาย หลักเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยแบบพุทธรัฐ ต้องยึดหลักธรรมาธิปไตย เพราะประกอบไปด้วยธรรม มีธรรมเป็นเป้าหมายเป็นการปกครองในอุดมคติ แม้ว่าหลักธรรมาธิปไตย จะไม่ได้เป็นระบอบการปกครองก็จริงถึงอย่างนั้น ก็เป็นหลักในการปกครองที่ดีที่สุด เพราะเข้ากันได้กับการปกครองทุกระบบ

สันติภาพ คือ การที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีความขัดแย้งกัน เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ก่อสงครามเพราะลัทธิ อุดมการณ์ และความเชื่อทางศาสนาและที่สำคัญต้องปฏิบัติตนตามหลักสาราณียธรรม อันเป็นธรรมที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันเป็นพลังในการสร้างความรัก ความสามัคคี มีเมตตา อหิงสา ภราดรภาพ การประนีประนอมที่ดีต่อกัน เพื่อเป็นเส้นทางสู่สันติภาพของมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง

พุทธรัฐ คือ รัฐที่เป็นเครื่องมือของประชาชน ทำหน้าที่ในการรับใช้ประชาชนโดยการใช้อำนาจในการควบคุมกิเลส ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อันเป็นความต้องการของมนุษย์ที่แสดงออกมาทางกาย วาจา ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ที่อยู่ร่วมกันในสังคมให้อยู่ในระดับปกติ เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นในนามของพระพุทธศาสนา หรือเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการบังคับผู้คนให้นับถือ ให้เสรีภาพในการพิจารณา ให้มีปัญญากำกับการศรัทธาเราสามารถยับยั้งสงครามได้ หากทุกคนยึดมั่นหลักคำสอนของศาสนา คือ “เมตตาอหิงสา ภราดรภาพ และการประนีประนอม (Compromise)” เพราะหลักคำสอนเหล่านี้ คือ “เส้นทางสู่สันติภาพ ของมวลมนุษย์ชาติ ตราบเท่าที่มนุษย์ต้องการสันติภาพ และความสุขเราจำต้องแสวงหาวิธี หรือแนวทางสู่สันติภาพ และร่วมใจกันสร้างเส้นทางแห่งสันติภาพให้ได้เพื่อความสุข ความสงบของชาวโลกทั้งมวล” พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้และความจริง มีอิสรเสรีภาพ ไม่ผูกติดกับพระเจ้า ไม่มีการบังคับให้คนศรัทธา แต่ให้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังมีหลักคำสอนที่ให้มีความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ดังพระพุทธพจน์ว่าโลโก ปตฺถมฺภิกา เมตฺตา[2]เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก (Loving-kindness cements the people of the world) เมตตาเป็นคุณธรรมที่ทำให้คนคิดกระทำ ที่มุ่งให้ผู้อื่นเป็นสุขให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความรัก ความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์เป็นที่ตั้ง เห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อน หากมีโอกาสช่วยเหลือกันได้จะไม่รีรอ จะรีบขวนขวยหาทางช่วยเหลือทันที ความมีเมตตาต่อกัน จะทำให้คนมีความเอื้อเฟื้อ หรือมีน้ำใจ ทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คนที่จะสร้างสันติภาพ เพื่อทำไม่ให้มีความรุนแรง อย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่า อหิงสา (nonviolence) ต้องเป็นคนที่มีสติปัญญาความสามารถอย่างยอดเยี่ยม หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้มีเจตจำนงที่เป็นธรรม มุ่งดีปรารถนาสันติสุข ไม่เบียดเบียนกัน ดังพระพุทธพจน์ว่า “อพฺยาปชฺฌ สุข โลเก ความไม่เบียดเบียน เป็นสุขในโลก”[3]เมื่อมวลมนุษย์มีจิตสำนึกหยั่งรู้ถึงสิทธิหน้าที่ ความเท่าเทียมกันในสังคม มองเพื่อนมนุษย์ด้วยกันว่า เราเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ซึ่งตรงกับหลักภราดรภาพ (Fraternity) คือ ความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน และปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้องความเป็นพี่เป็นน้องเป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือเผ่าพันธุ์ดังคำกล่าวของมหาตมะคานธี มหาบุรุษแห่งอินเดีย ที่ว่า “โลกทั้งผอง พี่น้องกัน” ความรู้สึกนี้ช่วยยับยั้งสงครามได้ ตราบเท่าที่มีความรู้สึกว่า ทุกคนในโลกเป็นพี่น้องกัน และประการสุดท้ายการประนีประนอม (Compromise) คือ การที่ประชาชนไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาแต่ใช้เทคนิคการเจรจาต่อรอง (bargaining) การไกล่เกลี่ยโดยผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่สาม (the third person) ในปัจจุบัน สงคราม เกิดขึ้นมาจากความโกรธแค้น ความพยาบาท และความเห็นแก่ตัว หากมนุษย์กำจัดตัดรากเหง้า คือ ความโกรธแค้น ความพยาบาท และความเห็นแก่ตัวได้สงครามย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะรากเหง้าของสงคราม ถูกตัดราก ถอนโคนแล้วด้วยอาวุธคือเมตตาอหิงสา ภราดรภาพ และการประนีประนอมตามที่กล่าวแล้วข้างต้นในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราสามารถประนีประนอมกันได้ แม้แต่จะก้าวพ้นการประนีประนอมไปสู่ความประสานกลมกลืนกันด้วยอาศัยความรักและไมตรีก็ได้ แต่เราไม่สามารถประนีประนอมกับสัจธรรมหรือความจริงได้ เราจะสัมพันธ์กับความจริงหรือสัจธรรมนั้นได้ก็ด้วยความรู้และปัญญาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในการเกี่ยวข้องกับความจริง เราต้องส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด เราควรพัฒนาให้มีวัฒนธรรม[4]พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการไม่จองเวร เพราะเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)[5]ได้กล่าวถึงหลักการของพระพุทธศาสนาที่จะช่วยลดสภาวะสงครามและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลก ได้แก่ หลักการที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เพราะการจองเวรจะไม่รู้จักจบสิ้น ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ขัดแย้งกันจนปัญหาความรุนแรงเบียดเบียนเกิดขึ้น คือ อยากได้ อยากใหญ่ และใจแคบ กล่าวคือ อยากได้ เรียกว่า ตัณหา คืออยากได้ผลประโยชน์ อยากได้สิ่งเสพบริโภค ทรัพย์สมบัติ ความพรั่งพร้อม มาบำรุงบำเรอตัวให้มากที่สุด ข้อนี้เป็นเหตุใหญ่ ให้คนขัดแย้งจนแม้กระทั่งยกทัพไปรบราฆ่าฟันกัน ปัจจัยตัวที่ ๒คือ อยากใหญ่ คือ ต้องการอำนาจ ต้องการความยิ่งใหญ่ ที่จะสามารถครอบงำผู้อื่น หรือบังคับเขาได้ ข้อนี้ท่านเรียกว่า มานะ ส่วนปัจจัยตัวที่ ๓ คือ ใจแคบ ได้แก่ การถือรั้นไม่ยอมรับไม่ยอมฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพราะความเชื่อถือผิดๆ เช่น เรื่องลัทธิศาสนา อุดมการณ์ต่างๆการนิยมความรุนแรง เพราะฉะนั้น ลัทธิศาสนา ก็เลยกลายเป็นเหตุให้เกิดสงครามในอดีตมากมาย เพราะมนุษย์ถูกโมหะครอบงำมนุษย์ยึดติดกับศาสนาและอุดมการณ์ทางการเมืองอันมีผลเป็นความขัดแย้งและสงคราม มนุษย์ในอดีตมีศรัทธามืดบอดในศาสนาแล้วก่อสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะคลั่งศาสนา แต่มนุษย์สมัยปัจจุบัน ก่อสงครามและความขัดแย้งเพราะระบบเศรษฐกิจและอุดมการณ์ทางการเมือง และสงครามลัทธิอุดมการณ์และศาสนานี้กลายเป็นเรื่องยืดเยื้อเรื้อรังกว่าสงครามแย่งชิงผลประโยชน์และสงครามแสวงหาความยิ่งใหญ่ปัจจัยตัวที่ ๓ นี้ จึงเป็นตัวที่ฝังลึกมาก ที่เรียกว่า ทิฏฐิ สรุปว่า ตัวการสำคัญที่อยู่เบื้องหลังของความขัดแย้ง การรบราฆ่าฟันกัน ตลอดจนสงคราม ก็คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐินั่นเองเพื่อให้เห็นประเด็นปัญหาที่ชัดเจนเกี่ยวกับพุทธรัฐกับสันติภาพ ในครั้งนี้จะได้กล่าวหลักการของพระพุทธศาสนาที่เป็นเครื่องช่วยสร้างสันติภาพในโลก ดังต่อไปนี้[6]

    ๑.สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันในสังคม

    พุทธรัฐ เกิดขึ้นในสังคมอินเดียที่เคยนับถือพระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างผู้บันดาลทุกสิ่ง มีการบูชายัญเทพเจ้า มีการแบ่งชั้นวรรณะ มีการผูกขาดการศึกษาให้อยู่ในวรรณะสูง แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ทรงสอนให้ตระหนักรู้ในสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ว่า “มนุษย์มิใช่ประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่จะประเสริฐหรือต่ำทรามเพราะการกระทำ”ทรงสอนไม่ให้มัวหวังผลจากการอ้อนวอนบูชายัญ ให้หันมาหวังผลจากการกระทำหรือที่เรียกว่า กรรม นี่คือการ “ประกาศอิสรภาพของมนุษย์” และเป็นการปฏิวัติความเชื่อเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันในสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น สังคมประชาธิปไตยแบบพุทธรัฐ จะต้องมีเครื่องผูกพันคนให้มีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกัน การร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น มีลักษณะการแสดงออกต่างๆ กัน ซึ่งเน้นความมีเมตตาปรารถนาดีหวังประโยชน์สุขต่อกัน อันจะโยงไปหาหลักการพื้นฐาน คือ การที่คนเราจะต้องใช้ปัญญาเป็นสังคมแห่งสามัคคีเอกภาพ ที่คนมีเมตตาหรือไมตรีต่อกันเป็นพื้นฐานรองรับความเป็นอยู่และการแสดงออกเสรีที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

๒. การนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมือง

    พุทธรัฐ ให้สิทธิเสรีภาพแก่มวลมนุษย์ และการนำเอาหลักธรรมมาใช้ในการบริหารกิจการบ้านเมือง ปกครองโดยการไม่ปกครอง คือ มองเห็นราษฎรเป็นประดุจดั่งลูก เป็นเหมือนพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ให้ความรักเอื้ออาทร อุทาหรณ์ เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช ได้นำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารบ้านเมือง มีการริเริ่มใหม่ คือ การถือหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยความสามัคคีระหว่างศาสนาต่างๆ นั่นคือ การให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา ทั้งๆ ที่พระองค์เป็นราชาในแบบสมัยโบราณที่มีอำนาจเต็มที่ แต่เมื่อพระองค์นับถือพระพุทธศาสนาก็ถือหลักเมตตา อุปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา และให้ศาสนิกชนในศาสนาต่างๆอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกัน ยอมรับหลักธรรมของกันและกัน ไม่ทะเลาะไม่ใช้กำลัง ไม่ใช้ความรุนแรง นี้เป็นวิถีทางแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง

    ๓. การเสริมสร้างสันติภาพภายใน

    พุทธรัฐ มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้างสันติภาพภายใน ควบคุมจิตใจไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของตัณหา มานะ และทิฏฐิ เพราะทิฏฐิจัดได้ว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้พราหมณ์ เจ้าลัทธิ ต้องทะเลาะวิวาทกัน เพียงเพราะต้องการรักษาจุดยืนของตนเองเอาไว้โดยไม่ยอมรับ หรือสนใจแนวคิดของคนอื่น ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์เข้าใจกฎของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่มนุษย์จะรักเท่ากับตัวเอง ซึ่งถือเป็นอัตตาที่นำไปสู่ความอยากคือตัณหา ทรงสอนให้มองเข้ามาภายในตน เมื่อเข้าใจตัวเอง เห็นตัวเอง บริหารกิเลสได้ โลกก็จะไม่วุ่นวาย ไม่ขัดข้อง มีอิสรภาพ สันติภาพ เพราะสันติภาพที่แท้จริง ต้องเริ่มจากภายในตัวของเราดังนั้น พระพุทธศาสนา จึงถือเป็นศาสนาแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง กล่าวคือ สันติภาพในฐานะที่เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา และสันติภาพในส่วนของหลักการและการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งจุดมุ่งหมายนั้น เพราะเหตุนี้ สันติภาพ จึงมิได้เป็นเพียงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดหมายร่วมสากลของมวลมนุษยชาติและศาสนาอื่นๆ ด้วย

    ๔. การบริหารความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ

    พุทธรัฐ เป็นรัฐแห่งสันติ ที่เผยแผ่สู่ชาวโลกด้วยความสงบ พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีบริหารความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ อุทาหรณ์ เช่น สงครามน้ำ[7] ระหว่างชาวศากยะและโลกิยะ เป็นสงครามที่เริ่มต้นด้วยการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ในแม่น้ำโรหิณี เพื่อนำไปใช้ในเชิงกสิกรรม โดยที่ทั้งฝ่ายศากยะและโลกิยะไม่ได้ยึดผลประโยชน์ของกันและกันเป็นที่ตั้ง การเจรจาต่อรองจึงประสบความล้มเหลว นำไปสู่การทะเลาะวิวาท และได้นำเอาเรื่องชาติพันธุ์วรรณนาของแต่ละฝ่ายมาจุดชนวนความขัดแย้ง สิ่งที่ทำหน้าที่ชักใยอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมดังกล่าวก็คือตัณหา มานะ และทิฏฐิที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเมฆหมอกของอวิชชา พระพุทธเจ้า ทรงห้ามทัพได้โดยอธิบายให้เห็นว่า เป็นเรื่องโง่เขลาเพียงใด ที่จะสังหารผลาญชีวิตมนุษย์อันประมาณค่ามิได้เพื่อแลกกับน้ำ ซึ่งมีค่าเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ พระองค์ทรงใช้กลยุทธ์การโน้มน้าว (Persuasion) ให้ความสำคัญกับการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียที่จะเกิดขึ้นแก่คู่กรณี และโน้มน้าวให้คู่กรณีได้เห็นถึงความสำคัญของความสามัคคี ไม่มีอคติคือความลำเอียง จึงเกิดความปรองดอง สามัคคี และสันติภาพได้ในที่สุด

    ๕. การเสริมสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างเพื่อนมนุษย์

    พุทธรัฐ เป็นรัฐที่เสริมสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างเพื่อนมนุษย์โดยสร้างความรัก ความเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน มีความอดทนอดกลั้น และมีการให้อภัยต่อกันอันเป็นสิ่งสำคัญของสันติภาพ สันติภาพในโลกจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อศาสนาทั้งหลายหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้ความรักมาแทนที่ความเกลียดชัง การให้อภัยมาแทนที่ความพยาบาท การส่งเสริมการใช้สันติวิธีต่อต้านสงคราม ไม่นิยมความรุนแรง เพราะความรุนแรงนั้นไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน หากต้องแก้ด้วยสันติวิธี เพราะสันติวิธีเท่านั้น ที่เป็นหนทางสู่สันติภาพได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญมวลมนุษย์ต้องปรับทัศนคติตามหลักคำสอนของศาสนาของตนให้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ไม่สุดโต่ง เห็นการทำลายล้างเป็นความชอบธรรม โดยยึดหลักความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทรต่อกันเป็นที่ตั้งที่ระลึกถึงอยู่เสมอ

    ๖. การเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร

    พุทธรัฐ เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร กรณีศึกษาในพระไตรปิฎกมีมาก ในที่นี้จะขอยกเรื่องเป็นอุทาหรณ์แสดงการยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี กาลครั้งหนึ่งพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นกษัตริย์ครองเมืองพาราณสี มีพระนามว่า มหาสีลวะ พระราชอาณาจักรของพระองค์ถูกรุกรานโดยกษัตริย์แคว้นโกศล แม้ในสถานการณ์ที่ยั่วยุเช่นนั้น พระโพธิสัตว์ยังคงรักษาท่วงทีอหิงสาและสันติ และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนใจข้าศึก ด้วยอำนาจแห่งความรักเพียงอย่างเดียว[8]และอุทาหรณ์อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องพระเทวทัต แม้ว่าพระเทวทัตจะพยายามทำร้าย ใส่ร้าย และปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ด้วยการจ้างนายขมังธนูไปลอบสังหาร กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ลงมาจากยอดเขาคิชฌกูฏ ปล่อยช้างนาฬาคิรีที่ดุร้าย ทำสงฆ์ให้แตกกัน คือ สังฆเภท ก็จริงถึงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็ยังทรงรัก เมตตาต่อพระเทวทัตเสมอ เพราะพระพุทธเจ้า ตรัสว่าพระองค์มีความเมตตาต่อพระเทวทัตเท่ากับราหุล ดังนั้น ความรัก ความเมตตา จึงเป็นความรักที่ไม่มีประมาณ ไม่มีเงื่อนไข และสามารถเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตรได้

    กล่าวโดยสรุป พุทธรัฐ มิได้แยกตนออกจากการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่สามารถที่จะผสมผสานเข้าไปเป็นเสมือนหนึ่งกับจิตวิญญาณของทุกระบอบการปกครอง รัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบพุทธรัฐนั้น ย่อมจะใช้หลักพุทธปรัชญาเป็นหลักการพื้นฐาน และใช้กระบวนการแห่งประชาธิปไตยเป็นตัวขับเคลื่อน ในการทำกิจกรรมหรือพัฒนาส่วนต่างๆ ของรัฐให้เจริญรุ่งเรืองเป็นไปตามความเหมาะสม ซึ่งพุทธรัฐ ก็เปรียบเสมือนกับจิตวิญญาณ และกระบวนการประชาธิปไตย ก็เปรียบเสมือนกับร่างกายนั่นเอง เมื่อจิตวิญญาณกับร่างกายหลอมรวมกันอย่างมีดุลยภาพ การเดินทางหรือการพัฒนาในเรื่องต่างๆ ก็จะเป็นไปอย่างเหมาะสม ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยแบบพุทธรัฐ ประชาธิปไตย จะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย ถ้าหากไม่ถึงธรรมาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยนั้น ไม่ดีไปกว่าราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตย คือ นำไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกัน จะเป็นธรรมาธิปไตยก็ต้องเริ่มตั้งแต่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม ความรู้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัญญาไตร่ตรองพิจารณา

    พุทธรัฐกับสันติภาพ เป็นรัฐทางโลกธรรม ใช้กระบวนการแห่งประชาธิปไตยเป็นตัวขับเคลื่อน และมีพุทธปรัชญาเป็นพื้นฐานในการควบคุมกิเลส ตัณหา มานะ และทิฏฐิอันเป็นสิ่งที่มนุษย์แสดงออกมาทางกาย วาจา รวมถึงการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นจึงเป็นสภาวะที่สังคมมีความสงบสุข ปราศจากความรุนแรง มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์สภาวะเช่นนี้เรียกว่า สันติภาพ โดยที่วิถีสู่สันติภาพนั้น ต้องไม่ใช้ความรุนแรง

[1]อาภรณ์รัตน์ เลศไผ่รอด, “พุทธรัตน์กับสันติภาพ” วารสารบันฑิตศึกษาปริทรรศน์ วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์, (Vol. ๔ No. ๑, ๒๕๕๙).หน้า ๑.

[2]ว.ว. ๒๐๔.

[3]วิ.มหา.๔/๖ ขุ.อุ.๒๕/๘๖.

[4]พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), สันติภาพเกิดจากอิสรภาพและความสุข, คำปราศรัย ในพิธีรับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ที่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส, ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๗, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ที่ บริษัท สหธรรมิก จ ากัด), ๒๕๓๗, หน้า ๒๖.

            [5]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), วิถีสู่สันติภาพ, พิมพ์ครั้งที่ ๓, (กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ที่บริษัท พิมพ์สวย จำกัด), ๒๕๕๐, หน้า ๘-๑๔.

[6]อาภรณ์รัตน์ เลิศไผ่รอด, “พุทธรัตน์กับสันติภาพ” วารสารบันฑิตศึกษาปริทรรศน์ วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์, หน้า ๑๓-๒๐.

[7]พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส (นิธิบุณยากร), แนวโน้มบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า, (พระนครศรีอยุธยา : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๘), หน้า ๒๔๗-๒๕๒.

[8]พระมหาประยูร ธมฺมจิตฺโต (มีฤกษ์), พุทธวิธีสร้างสันติภาพ, (ที่ระลึกงานบำเพ็ญกุศลวันมูลนิธิมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีที่ ๕๒. พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร:๒๕๕๙). หน้า ๔๗.

j�=_�;1���

หมายเลขบันทึก: 670573เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 11:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2019 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท