คนแต้จิ๋ว ชาวจีนโพ้นทะเล (ตอนที่4)


 "เรื่องเล่าจากพ่อเรา​เอง"

พ่อ​ (เตี่ย)​ เล่าให้ฟังว่า​ชีวิตที่เมืองจีนลำบากมาก​ ต้องเก็บผักปลาเท่าที่หาได้ตามท้องทุ่งมาประกอบอาหาร​​   อากง​ (ปู่)​ต้องออกจากบ้านไปตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ​  ตั้งใจจะมาหากินที่เมืองไทยเพื่อส่งเงินไปเลี้ยงครอบครัว​  ตามกระแสนิยมในเวลานั้น​  หลังจากออกจากบ้านมาแล้วก็ไม่ได้รับการติดต่อกลับ​จากอากงเลย​  ทราบจากคนในหมู่บ้านที่กลับจากเวียดนาม​ว่า​ อากงเสียชีวิตแล้วที่เวียตนาม​

พ่อเป็นลูกชายคนโตที่จะต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวแทน​  พ่อมาเมืองไทยตอนอายุ​ 12​ ปี​ ( ข้อมูลจากหนังสือต่างด้าว)​ มาทำงานอยู่บ้านคนแซ่เดียวกัน​ ​(แซ่เบ๊)​ เป็นร้านขายของชำที่บ้านหม้อ​  กรุงเทพ​ฯ  ชื่อร้าน

เบ๊ฮั่วกี่  กินนอนอยู่ที่ร้าน​  รายได้ทุกบาททุกสตางค์​ส่งกลับไปให้แม่(ของเตี่ย) เพื่อเลี้ยงน้องที่เมืองจีน​ พ่อบอกว่าเห็นคนใส่นาฬิกา​สวยๆ​ เสื้อผ้าสวยๆก็อยากได้มาก​  แต่ซื้อไม่ได้​ แม้เเต่ก๋วยเตี๋ยว​สักชามก็ยังไม่กล้าซื้อกิน

พ่อมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านอีกครั้งเพื่อแต่งงานกับเเม่​(ของผู้บันทึก)  ตามที่ผู้ใหญ่จัดการไว้

ตอนนั้นยังทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ร้านเดิม​ หลังแต่งงานไม่นานก็เดินทางกลับเมืองไทยคนเดียว​   ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นบุกประเทศจีน​  เรือโดยสารที่เดินทางกลับไทยนั้นถูกญี่ปุ่นยึดไว้​   แล้วนำผู้โดยสารทั้งหมดมาปล่อยไว้บนเกาะไหหลำ​   คนไหหลำก็ดีมาก​ หุงหาอาหารให้กิน​ ให้ที่พักอาศัย​ หลังจากนั้นก็ต้องเดินเท้ากลับมาที่บ้านเกิดอีกครั้ง​ ใช้เวลาเดินแรมเดือนกว่าจะกลับถึงบ้าน​   ​ทางบ้านดีใจมากคิดว่าคงเสียชีวิตไปแล้ว​   ต้องรอจนสงครามสงบค่อยเดินทางกลับเมืองไทยอีกครั้ง​ 

เมื่อพ่อเริ่มตั้งตัวได้​ มีธุรกิจเป็นของตนเองก็รับย่ามาอยู่เมืองไทยด้วย​  ตอนนั้นย่าเดินทางมาทางเครื่องบินแล้ว

น้องชายพ่อออกมาตั้งรกราก​อยู่ที่ฮ่องกง​ เมื่อมีฐานะดีขึ้น​  ได้เดินทางไปเวียดนาม​เพื่อหาข้อมูลการเสียชีวิตของปู่และหวังที่จะเอากระดูกปู่มาฝังรวมกัยย่าที่เมืองไทย​แต่ก็ไร้ผล​เพราะคนที่จะให้ข้อมูลได้ก็เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว

พ่อจะบอกลูกๆตลอดเวลาว่าพวกเราไม่เคยเจอความจน​ ความอดยาก​ ไม่รู้หรอกว่าลำบากขนาดไหน​

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่พ่อเล่าให้ฟัง

==============================

ข้อมูลจากเฮียคีเถ่า​ (ประกรณ์​ บุญกุระกนก)​ เจ้าของร้าน​ ป.​โอชา) เล่าให้ฟัง

แป๊ะไช้  (พ่อของเฮียคีเถ้า​ ร้าน​ ป​ โอชา​)​เดินทางมากับภรรยาและเพื่อนบ้านอีกคู่​  แอบโดยสารมาโดยให้สินบนเจ้าหน้าที่เรือ​ต้องหลบซ่อนอยู่ใต้ท้องเรือ​  ทีมีแต่ความมืด​ ไม่เห็นแสงตะวัน​ ไม่มีห้องน้ำ​ ​ไม่สามารถติดต่อพูดคุยกับใครได้​  และต้องช่วยดูแลใต้ท้องเรือมิให้มีน้ำไหลเข้า​และคอยวิดน้ำออก  หาอาหารทานเอง​  อดๆอยากๆอยู่ใต้ท้องเรือ​  พอขึ้นจากเรือแสงสว่างจ้าจากดวงอาทิตย์ มีปัญหาต่อตาที่ไม่สามารถปรับรับแสงได้​ ​มองอะไรก็ไม่เห็น  ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่นานพอสมควร​

เรือจอดลงที่อัมพวา​  สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาอาหารมื้อแรกและที่พักอาศัยให้ได้​ก่อนโดยรับจ้างทำงานอยู่แถวท่าเรือ​  อาศัยเรือเป็นที่พักพิง​ จนปรับตัวได้ค่อยคิดหาทางขยับขยายต่อไป

คนจีนอยู่ที่อัมพวาเยอะมาก​  ส่วนใหญ่จะทำงานแถวท่าเรือ​  รับจ้างทั่วไป​ (จับกัง)​ ทำประมงหาปลา​   ขยับขยายจนมีร้านค้าเป็นของตัวเอง​  สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งในหมู่คนจีนคือการเกื้อกูลช่วยเหลือแนะนำกัน

แป๊ะไช้ได้รับการแนะนำให้มาทำงานที่ท่าน้ำแก่งคอย​   มีงานขนสินค้าจากท่าน้ำมายังตลาด​  มีงานเยอะ​ เลยตัดสินใจมาทำงานที่แก่งคอย​ และได้ปักหลักอยู่ที่นี้ตลอด​

ภรรยาท่านรับหน้าที่เป็นหมอตำแยทำคลอดให้คนจีนในตลาด​  สมัยน้ันจะใช้ไม้ไผ่เหลาให้แหลมบาง​ แทนการใช้ใบมีดและไม่่เป็นสนิมด้วย​  ใช้ตัดรกเด็ก​แล้วนำมาใส่หม้อดิน​  เอาไปฝังดินไว้

เมื่อแก่งคอยมีสถานผดุงครรภ์​ที่ถูกหลักอนามัย​  ทางอนามัยได้มอบกล่องชุดเครื่องมืออุปกรณ์​ทำคลอดสแตนเลสให้ท่าน​ 1 ชุดเพื่อใช้งาน

แป๊ะไช้ไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่เมืองจีนแต่ลูกหลานท่านได้เดินทางไปแทนตามเส้นทางที่แป๊ะเล่าให้ลูกฟัง

สุนีย์​ สุวรรณตระกูล​ บันทึกข้อมูล

คุณสุนันทา​ ธนูศิริ และ

คุณปกรณ์​   บุญกุระกนก​ (เฮียคีเถ่า)​

ผู้ให้ข้อมูล

หมายเลขบันทึก: 670125เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2019 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2019 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท