ความ ‘ตาย’ ในสายตาของไท-กะไดและออสโตรนีเซียน



ในช่วงชีวิตของคนเรา ล้วนสัมผัสกับความ ‘ตาย’ กันมาอย่างโชกโชน หากส่วนใหญ่เป็นความ ‘ตาย’ โดยทางอ้อมผ่านสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่รายรอบ จวบจนถึงเวลาจึงพานพบกับความ ‘ตาย’ ของตัวเอง อย่างตรงไปตรงมาไม่อาจหลีกเลี่ยง ชนิดไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี-หนีไม่พ้น        

พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความคำว่า ‘ตาย’ ไว้ส่วนหนึ่งว่า

“(๑) ก. สิ้นใจ, สิ้นชีวิต, ไม่เป็นอยู่ต่อไป, สิ้นสภาพของการมีชีวิต, เช่น สภาวะสมองตาย (๒) ก. เคลื่อนไหวไม่ได้ เช่น มือตาย ตีนตาย (๓) ก. ไม่เดินเพราะเครื่องเสียหรือหยุดเป็นต้น เช่น รถยนต์ตาย นาฬิกาตาย (๔) ก. ยืนแต้มอยู่อย่างเดียว เช่น ลูกเต๋าตายหก คือออกแต้มหกเสมอ (๕) ก. ลักษณะที่ประตูในการเล่นการพนันบางประเภท เช่น โป ถั่ว ไม่ออกเลย หรือนาน ๆ จึงจะออกสักครั้งหนึ่ง (๖) ก. ผิดตามที่กติกากำหนดไว้ในการเล่นกีฬาหรือการละเล่นบางชนิด.”

คำว่า ‘ตาย’ (to die, be dead) เป็นคำเรียกที่ถูกใช้คล้ายคลึงกัน อย่างค่อนข้างกว้างขวางพรั่นพรึงในหมู่ภาษาไท-กะได หรือ ขร้า-ไท เช่น

พวกไท-ไต อย่างไทยสยาม, ซาปา และไย้ใช้ว่า ta:j A1 /ตาย/, บ่าวเอียนว่า pha:j A1 /ผาย/, เกาบัง และชางซีว่า tha:j A1 /ถาย/, ลุงโจวว่า ha:j A1 /หาย/, แสกว่า pra:j A1 /ปราย/ สืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณว่า *p.ta:j A /ป.ตาย/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 704) คำโบราณของพวกกัม-สุยว่า *pjai 1 /ปยัย/, คำโบราณของพวกลักกยาว่า *plei A1 /เปลย/ และอาจารย์ วีระ โอสถาภิรัตน์ (ค.ศ. 2013) ได้สืบสร้างคำดั้งเดิมแบบสองพยางค์ของขร้า-ไทไว้ว่า *maTaːj ออกเสียงคล้าย /มะตาย/

อันเป็นคำสามัญพื้นฐานคำหนึ่ง ที่นักภาษาศาสตร์ใช้ในการเปรียบเทียบหาความพัวพันข้ามตระกูลภาษา อย่างแตกต่างจากคำดั้งเดิมของออสโตรเอเชียติกว่า *kceːt /เกจต/ (Paul Sidwell and Felix Rau ค.ศ. 2015) จากคำชิโน-ทิเบตันว่า **sjid /ซยิด/ (Hwang-cherng Gong ค.ศ. 2003) และค่อนไปหาคำม้ง-เมียนว่า *dəjH /เดยฮ/ (Martha Ratliff ค.ศ. 2010) หากแสดงความเกี่ยวพันอย่างชัดเจนกับคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิมว่า *m-aCay /ม-อะตซัย/ (Robert Blust ค.ศ. 1999) ดังในบทความของอาจารย์ วีระ โอสถาภิรัตน์ เรื่อง ‘Austro-Tai revisited’ ค.ศ. 2013 หรือในบทความของอาจารย์ Peter Norquest เรื่อง ‘A revised inventory of Proto Austronesian consonants:  Kra-Dai and Austroasiatic evidence’ ค.ศ. 2013 เป็นต้น  

ในความเห็นของผม รูปคำ *-Cay ของออสโตรนีเซียน (หรือ *-Ta:j ของไท-กะได) มีความเชื่อมโยงแบบใกล้ชิดกับรากคำพยางค์เดียวที่ออกเสียงขึ้นต้นด้วย *t ว่า *tay /ตัย/ (ซึ่งเสียง *C และ *t มีความแนบสนิทกันเป็นอย่างยิ่ง) โดยนักออสโตรนีเซียนศึกษาถึง 3 ท่านให้ความหมายรากคำนี้ ในทำนอง สะพาน (แขวน) (Robert Blust ค.ศ. 1988 ‘suspension bridge’, David Zorc ค.ศ. 1990 ‘hang (as bridge)’, John Wolff ค.ศ. 1999 ‘bridge’)

ดังคำสอง (สาม) พยางค์จำนวนมาก ที่มีรากคำ *tay แฝงฝังตัวอยู่ คัดตัวอย่างบางส่วนจาก The Austronesian Basic Vocabulary Database ค.ศ. 2008 ความว่า

พวก Amis ว่า lotay /โลตัย/ อ่อนแรง, พวก Itawis ว่า balátay /บาลาตัย/ สะพานไม้ไผ่, พวก Nias ว่า ete /เอเตะ/ สะพานไม้เล็กๆ, พวก Ilokano ว่า ontáy /อนตัย/ แขวนห้อย, พวก Bontok ʔalátəy /อาลาเตย/ ท่อนไม้วางพาดข้ามห้วย, พวก Agutaynen ว่า mag-latay /มัก-ลาตัย/ เดินไปบนสะพานแขวนเล็กๆ หรือท่อนไม้พาดข้ามลำห้วย, พวก Ngaju Dayak ว่า t<al>etay /ตาเลอตัย/ ขั้นบันไดทำจากท่อนไม้, พวก Malagasy ว่า mi-teti /มิ-เตอตี/ ก้าวเดินข้ามไป, พวก Iban และ Malay ว่า titi /ตีตี/ ทางเดินยกตัวแคบๆ หรือสะพานไม้พาดข้าม, พวก Gayō ว่า tete /เตเต/ พื้นไม้ไผ่, พวก Kove, Manam, Gedaged และ Tawala ว่า tete /เตเต/ ชั้น, ขั้นบันได, พวก Molima ว่า tete /เตเต/ ไต่ไปตามกิ่งไม้, พวก Casiguran Dumagat และ Cebuano ว่า taytáy /ตัยตัย/ สันเขา, ทิวเขา, พวก Iban ว่า pantai /ปันตัย/ ดินโคลนริมทะเล, พวก Malay ว่า pantai /ปันตัย/ ชายหาดชายฝั่งทะเล, พวก Cebuano ว่า lantáy /ลันตัย แผ่นพื้นไม้ไผ่, พวก Maranao ว่า lantay /ลันตัย/ สะพาน, พื้น, พวก Ngaju Dayak ว่า lantay /ลันตัย/ พื้นเรือ, พวก Malay ว่า lantay /ลันตัย/ พื้นแผ่น, พวก Malay และ Iban ว่า landay /ลันดัย/ พื้นลาดเอียงน้อยๆ เป็นต้น

สืบสร้างเป็นคำดั้งเดิมของออสโตรนีเซียนว่า *lutay /ลุตัย/ อ่อนแรงเหนื่อยล้า (weak, exhausted); คำโบราณของ มาลาโย-โพลีนีเซียนสาขาตะวันตกว่า *kitay /กิตัย/ สะพานแขวน (suspension bridge), *lantay     /ลันตัย/ สะพาน หรือพื้น (bridge, floor), *taytay-an /ตัยตัย-อัน/ ท่อนไม้พาดข้าม (log or plank bridge), *ma-naytay /มะ-นัยตัย/ ก้าวเดินไปบนสะพานกระดานไม้ (walk over a plank or log bridge), *pantay /ปันตัย/ พื้นราบเรียบ (flat, level (of ground)), *untay /อุนตัย/ ห้อยต่องแต่ง (hanging down, dangling); คำมาลาโย-โพลีนีเซียนสาขากลางว่า *letay /เลอตัย/ สะพาน หรือด้านบน (bridge, above); คำมาลาโย-โพลีนีเซียนว่า *taytay /ตัยตัย/ หรือ *titay /ติตัย/ สะพานแขวน (suspension bridge); คำโบราณของฟิลิปปินส์ว่า *bítay /บิตัย/ แขวน (hang), *maŋ-bítay /มัง-บิตัย แขวนใครบางคน (to hang someone), *bitay-en /บิตัย-เอิน/ ถูกจับแขวนจับห้อย (be hung, suspended) และ *latay /ลาตัย/ ปูพื้นทางเดิน (to lay down a walkway over muddy ground)

สังเกตว่าคำต่างๆ เหล่านี้ มีความหมายเกี่ยวเนื่องร่วมกัน ตั้งแต่การเป็นแผ่นพื้น, สะพานเล็กๆ, ท่อนไม้ทอดตัว, วางพาดให้ก้าวผ่านไต่ข้าม จนถึงการห้อยแขวนต่องแต่ง เป็นต้น ซึ่งขยายขอบเขตของรากคำพยางค์เดียว *tay ออกไปอย่างครอบคลุม มากกว่าที่จะกินความแค่เรื่องของ สะพาน (แขวน) เพียงเท่านั้น

และนอกจากนั้น ยังอาจตามรอยรากคำ *tay ในคำของไท-กะได (ผ่านไท-ไต) ได้อีกทางหนึ่ง อย่างน้อยในคำว่า ‘ไต่’, บัน ‘ได’ และ ‘ดาย’ ดังนี้

คำว่า ‘ไต่’ (crawl over, to) มีการใช้ในบางกลุ่มของไท-ไต เช่น ไทสยามเรียก ta:j B1 /ต่าย/, บ่าวเอียนเรียก tɤj B1 /เต่ย/, เกาบังเรียก twɤj B1 /เตว่ย/ และแสกเรียก taj B1 /ตั่ย/ สืบสร้างเป็นคำโบราณว่า *twaj B /ตวั่ย/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 600) ซึ่งมีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “(๑) ก. อาการที่เคลื่อนไปหรือคืบคลานไปของสัตว์บางจำพวก เช่น กระรอก กระแต มด หนอน (๒) ก. เดินไปด้วยความระมัดระวัง เช่น ไต่กันสาด ไต่ลวด, ขึ้นลงในที่สูงด้วยความระมัดระวัง เช่น ไต่เสากระโดง ไต่เขา, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไต่ถัง.”

คำว่า บัน ‘ได’ (stairs, ladder) มีการใช้อย่างกว้างขวางในพวกไท-ไต เช่น ไทยสยาม daj A2 /ดัย/, ซาปา, ลุงโจว และชางซีเรียกเหมือนกันว่า daj A1/ดัย/, บ่าวเอียนเรียก dwɤj A1 /เดวย/, เกาบังเรียก dwaj A1 /ดวัย/, ไย้เรียก laj A1 /หลาย/ และแสกเรียก raj A1 /หราย/ สืบสร้างเป็นคำโบราณว่า ɗrwaj A ออกเสียงคล้าย /ดรวัย/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 314) มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฯ ว่า “น. สิ่งที่ทำเป็นขั้น ๆ สำหรับก้าวขึ้นลง, กระได ก็ว่า, โดยปริยายหมายถึง บุคคลหรือสิ่งที่อาศัยใช้ไต่เต้าขึ้นไปสู่ฐานะหรือตำแหน่งที่สูงขึ้นไป.” 

และคำว่า ‘ดาย’ (idle, free) ใช้ในหลายกลุ่มของไท-ไต เช่น ไทสยาม, บ่าวเอียน, เกาบัง และลุงโจวเรียกเหมือนกันว่า da:j A1 /ดาย/, ชางซีเรียก duj A1 /ดุย/ และแสกเรียก dɤ:j A1 /เดย/ สืบสร้างเป็นคำโบราณว่า ɗwɤ:j A ออกเสียงคล้าย /เดวย/ (พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ ค.ศ. 2009 หมายเลข 484) มีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฉบับเดียวกันว่า “(๑) ก. ใช้มีดหรือจอบเป็นต้นถากต้นหญ้าเพื่อให้เตียน. (๒) ว. ดะไป, ตะลุย, เช่น กินดาย (๓) ว. เพิกเฉย, ไม่เอาเป็นธุระ, เช่น ดูดาย (๔) ว. ทีเดียว, เท่านั้น, เช่น เดียวดาย เปล่าดาย พู้นมาดาย (จารึกสยาม) (๕) ว. ง่าย เช่น ง่ายดาย สะดวกดาย (๖) ว. โดด, เดี่ยว, เลย, ถ่ายเดียว, (มักใช้ในที่สุดประโยค).”           

ดังนั้น จึงพอตีความได้ว่า รากคำ *tay บ่งชี้ถึงสถานะของรากคำพยางค์เดียวร่วมกัน ระหว่างออสโตรนีเซียนและไท-กะได เป็นรากคำที่สะท้อนนัยยะของความ ‘ตาย’ อย่างจัดจ้าน บนอาการของผู้นอนแน่นิ่งหมดแรงอ่อนห้อยไม่ไหวติง จนกลายสภาพเป็นการทอดตัวยาวพาดขวางทื่อแข็งเหมือนท่อนไม้ ในบางที ยังอาจสะท้อนวิถีความเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ ก้าวข้ามพ้นจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ผ่านสะพานแห่งความตาย และให้เผลอไผลเป็นส่วนตัวว่า (โดยยังไม่ระบุชัดว่าเสียงขึ้นต้นควรเป็นเสียงใดกันแน่ระหว่าง *t, *C, หรือ *T) นี่อาจคือรากเหง้าเก่าแก่ของคำว่า ‘ตาย’ ที่สืบสร้างเป็นคำดั้งเดิมชนิด Proto-Tai-Kadai (Kra-Dai) ว่า *maTaːj และ Proto-Austronesian ว่า *m-aCay ก็เป็นได้

จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกตเพื่อการถกเถียงไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 23 กันยายน พ.ศ. 2562  (autumnal equinox)

อ้างอิง:

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Blust, Robert and Trussel, Stephen. 2010: revision 2018. Austronesian Comparative Dictionary.  (www.trussel2.com) 

Greenhill, S.J., Blust. R, & Gray, R.D. 2008. The Austronesian Basic Vocabulary Database: From Bioinformatics to Lexomics. Evolutionary Bioinformatics 4: 271-283. (www.language.psy.auckland.ac.nz)

Norquest, Peter K. 2013. A Revised Inventory of Proto Austronesian Consonants: Kra-Dai and Austroasiatic Evidence. Mon-Khmer Studies Volume 42. (www.mksjournal.org)

Ostapirat, Weera. 2013. Austro-Tai revisited. The 23rd Annual Meeting of the Southeast Asian Linguistics Society, May 29-31, Chulalongkorn University, Bangkok. (www.jseals.org/seals23)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

Wolff, John U. 1999. The monosyllabic roots of Proto-Austronesian. In Elizabeth Zeitoun and Paul Jen-kuei Li, eds. 1999. Selected papers from the Eighth International Conference on Austronesian Linguistics: 139-194. Taipei, Taiwan: Academia Sinica. (www.en.wiktionary.org)

Zorc, R. David. 1990. The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme. Linguistic Change and Reconstruction Methodology: De Gruyter. (www.zorc.net)

หมายเลขบันทึก: 669139เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2019 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2019 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท