Japan ไปกัน-ป้ากะแป้ง : Koyasan นอนวัด กินมังสวิรัติบนขุนเขา


แรงบันดาลใจที่คัดเลือกจุดหมาย Koyasan คือ จะได้พากันนอนวัด กินมังสวิรัติบนขุนเขา

ไปมาเมื่อราวกลางเดือนพฤศจิกายน 2016 ค่ะ ช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือสำหรับญี่ปุ่นอาจเรียกว่าฤดูใบไม้เปลี่ยนสี หรือ ฤดูใบไม้แดง

เห็นชื่อตอนแล้วอย่าตกใจว่านี่เที่ยวลำบากลำบนขนาดต้องพาไปนอนวัด ได้กินอาหารแค่พืช ผัก ไร้เนื้อสัตว์ ไม่เห็นจะน่าสนใจตรงไหน

ตามไปดูกันค่ะ

ค้างแรมในวัด

สมัยเป็นเด็กอยู่เมืองกาญจน์ผู้เขียนเคยตามคุณยายไปค้างที่วัดในวันพระ คุณยายจะไปถือศีลอุโบสถ ผู้คนมากมายที่มาร่วมถือศีลนอนเรียงรายในศาลาวัด มีความสงบสำรวม แต่ไม่มีความเป็นส่วนตัวใดๆเลย นี่คงเป็นภาพความทรงจำของคนไทยส่วนใหญ่ที่เคยค้างวัดในสมัยก่อน และหลายคนในยุคนี้หากเป็นผู้ไปปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆแบบ 3 วัน 7 วัน ค้างแรมที่วัดก็จะมีที่พักซึ่งอาจดีกว่าสมัยก่อนแต่ยังคงความเรียบง่ายขั้นพื้นฐาน  หรือ กลุ่มที่เคยไปเที่ยวทัวร์นอนวัดช่วงเทศกาลก็คงได้เจอความไม่สะดวกสบายไร้ความสงบแน่นอน ทีนับว่าแย่ที่สุดคือข่าวฉาววัดไทยบางแห่งแห่งพยายามเปิดวัดทำห้องพักแบบโรงแรม

แต่การค้างแรมในวัดที่ญี่ปุ่นนั้นมีความแตกต่างอย่างมากจนเป็นคนละเรื่องกับการค้างวัดในเมืองไทยทุกกรณี จึงอยากนำมาเล่าสู่กันค่ะ

ชุคุโบะ (Shukubo) เป็นคำเรียกที่พักภายในวัดพุทธหรือ Temple Lodging เป็นที่นิยมมากตั้งแต่ 1200 ปีมาแล้วสำหรับผู้เดินทางแสวงบุญซึ่งแรกเริ่มจะเป็นที่พักสำหรับพระเท่านั้นต่อมาจึงเปิดให้คนสามัญที่เดินทางแสวงบุญให้เข้าพักได้

เส้นทางแสวงบุญของญี่ปุ่นนั้นไม่ธรรมดาเลยค่ะ และมีอยู่หลายเส้นทาง สั้นบ้าง ยาวบ้างเดินกันเป็นแรมวัน ถึงแรมเดือน เลยล่ะค่ะ ดังได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว

Shukubo บน Koyasan

บนภูเขาโคยะนั้นมีวัด 52 แห่ง จาก 117 แห่งที่ให้บริการที่พักแบบ ชุคุโบะ

รูปแบบห้องพักส่วนใหญ่จะเป็นห้องส่วนตัวแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรารู้จักกันในชื่อ เรียวกัง พื้นห้องปูด้วยเสื่อตาตามิ การใช้ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ใช้ร่วมกันแต่แยกชาย-หญิง สะอาดมากค่ะ แต่หลังๆมานี่วัดหลายแห่งปรับปรุงห้องพักให้หรูหราพิเศษ สะดวกสบาย แบบมีห้องอาบน้ำ ห้องสุขาในตัวก็มีค่ะ

ส่วนใหญ่การเข้าพักจะมีอาหารเย็น อาหารเช้า จัดให้แขกผู้มาพัก ราคารวมอยู่ในค่าห้องพัก ซึ่งชุคุโบะบนโคยะซังนี่ราคาแพงทีเดียวค่ะ (อยู่ระหว่าง 3,000-10,000 บาท/คน/คืน)  แต่พวกเราตกลงใจว่าอยากลองสัมผัสดูสักครั้ง เลือกราคาอยู่ในระดับกลางหน่อยค่ะ

ตอนนี้จะขอนำเข้าสู่บรรยากาศที่เราเลือกพักกัน คือ Koyasan Onsen Fukuchi-in ค่ะ ที่พักแห่งนี้เคยได้รับรางวัลเรียวกังระดับ Silver และเป็นที่พักแห่งเดียวที่มีบ่อน้ำร้อนธรรมชาติแท้ๆ หรือ natural hot springs ให้บริการ

เมื่อเราเดินทางมาถึง ช่างสวยงามไม่ผิดหวังเลย แค่ประตูเข้าก็ดูสงบแบบสง่างาม

(ภาพจากเว็บไซท์ Japanican)

Fukuchi-in นี้เป็นวัดเก่าแก่กว่า 800 ปีนะคะ มีส่วนที่จัดไว้ให้แขกค้างแรม และการที่มีวัดอยู่ในบริเวณด้วยกันจึงต้องมีกฎบางอย่างที่ต้องให้ความใส่ใจ เช่นการสำรวม และการไปถึงห้องอาหารตรงเวลา  

อยู่ภายในบริเวณวัดแล้วมองออกไปเห็นป่าสนเขียวครึ้ม

บริเวณด้านหน้าอาคารต้อนรับ/ลงทะเบียนเข้าพัก




มองสวนจากห้องนั่งเล่นที่อยู่ใกล้กับที่ลงทะเบียน


หลังจากเดินชมย่านในเมืองส่วนที่มีร้านค้า ร้านอาหาร แวะร้านขนม-น้ำชารองท้องกันเล็กน้อย เพราะอาหารเย็นจะกลับมาทานที่วัดค่ะ

กลับมาถึงที่วัด พระองค์หนึ่งพาเดินชมสถานที่ที่เราสามารถเดินชมได้ ประทับใจในการทีวัดเก็บรักษาของโบราณไว้อย่างสวยและสง่างาม ไม่น่ากลัว

ท่านพาไปชี้ว่าห้องแช่ออนเซนอยู่ตรงไหน พาไปตรงส่วนห้องอาหารชี้ว่าถึงเวลาให้มาตรงนี้นะ แล้วก็พาเราไปห้องพักค่ะ จัดยูคาตะให้ทุกคน ทุกคนเข้าห้องพักของตนแล้วเตรียมตัวใส่ยูคาตะไปทานอาหารเย็นกัน 

พวกเรา 8 คน เขาจัดให้ทานด้วยกันในห้องหนึ่งเลย มีเฉพาะพวกเรา



พื้นที่รอบอาคารมีสวนหิน 3 แห่ง งามราวมีมนต์สะกด 

ภาพสวนด้านล่างจากเว็บไซท์ Japanican

สวนหินที่สวยงามจับตานี้ออกแบบโดยนักภูมิสถาปัตย์คนสำคัญ Mirei Shigemori ที่คนญี่ปุ่นรู้จักกันดี (แน่นอนเราไม่รู้จักค่ะ ขออภัยนะคะ)

อาหารมังสวิรัติ Shojin Ryori

คณะเราใจจดจ่อว่าอาหารมังสวิรัตินี่เขาจะจัดให้นี้จะอร่อยไหม จะอิ่มไหม คือไม่มีเนื้อสัตว์อาจไม่อยู่ท้อง เรื่องความสวยงามน่ะไม่ห่วงเพราะได้เห็นตัวอย่างจากข้อมูลมาว่างามแน่นอนค่ะ

ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ในตอนอื่นๆหลายครั้งว่าอะไรที่ดีงามของญี่ปุ่น ที่เราเห็นว่าแสนจะเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนค่ะ แม้กระทั่งพุทธศาสนา อาหารของพระญี่ปุ่นก็เช่นกันค่ะ

โชจิน เรียวริเป็นอาหารมังสวิรัติที่พระญี่ปุ่นรับมาจากจีนโดยพระญี่ปุ่นนิกาย Zen หากจะเรียกให้ตรงคือน่าจะเรียกว่า อาหารเจ เพราะหลักการเดียวกับอาหารเจ คือไม่มีเนื้อสัตว์ใดๆ และไม่ใช้ผักที่มีกลิ่น-รสฉุนพวกหัวหอมและกระเทียมค่ะ 

สิ่งที่ใช้เป็นหลักก็คือประเภทเต้าหู้ ทุกอย่างตั้งแต่น้ำเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ เต้าหู้สารพัดชนิด และ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืชพวก บุก ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายเยลลี่แต่มีรสสัมผัสที่แน่น และสาหร่ายทะเล รวมทั้งผัก ผลไม้ ตามฤดูกาลค่ะ

การปรุงอาหารนั้นพระท่านจะใช้กฎที่เรียกว่า Rules of Five คือ อาหารแต่ละมื้อ จะต้องมี 5 สี คือ เขียว เหลือง แดง ดำ และขาว และรสชาติก็ต้องมี 5 รส คือ หวาน เปรี้ยว เค็ม ขมและ รสอูมามิ

ทั้งสีและรสชาติที่ได้จากธรรมชาติแท้ๆนั้นจะสร้างความสมดุลให้แก่ร่างกายเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกินตามฤดูกาลเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ในฤดูร้อนก็มีอาหารพวกแตงกวา มะเขือเทศ ทำให้ร่างกายรู้สึกเย็น ในขณะที่ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่อากาศเย็น ต้องกินพืชผักที่เป็นราก เป็นหัวใต้ดินเพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่น

ที่จริงคนไทยบรรพบุรุษเราก็สอนในเรื่องกินอยู่ตามกาล ตามถิ่นนะคะ แต่ปัจจุบันอาหารหาง่ายเลยกลายเป็นคนไทยนั้นกินอยู่ตามใจจนป่วยกันมากมายทั้งเด็กและผู้ใหญ่

เทมปุระผัก ที่กรอบเบา หอม ไม่อมน้ำมันเลย เกลือชาเขียวช่วยชูรส ทุกคนติดใจเกลือชาเขียวกันมาก

โชจิน เรียวริหากจะว่าไปเป็นอาหารที่จัดว่าทำอย่างประณีตเหมือนอาหารสำรับ ไคเซกิ – Kaiseki ที่มักจัดให้แขกทีพักในเรียวกังชั้นดี หรือร้านอาหารแนวญี่ปุ่นดั้งเดิมที่มีความหรูหรา ซึ่งอาหารสำรับแบบไคเซกินั้นจะเน้นที่ความกลมกลืนระหว่ารสชาติ รสสัมผัส และความสวยงามมีศิลปะของอาหาร อาหารทั้งสองประเภทมีความคล้ายกันก็ในส่วนที่กล่าวนี้ แตกต่างแค่ โชจิน เรียวริ ไร้เนื้อสัตว์และผักกลิ่นฉุนเท่านั้นค่ะ


นอกจากนี้ความประณีตอย่างเลิศของคนญี่ปุ่นในเรื่องอาหารนี้ยังมีไปถึงเรื่อง ภาชนะและของตกแต่งด้วยค่ะ ภาชนะและของตกแต่งที่ใช้จัดอาหารนั้นเขาจะ เปลี่ยนตามฤดูกาลอีกด้วยค่ะ และสิ่งที่เรามองไม่เห็นแต่เป็นหลักการของอาหารทั้งสองประเภทนี้ก็คือ ความใส่ใจของผู้ปรุงที่ต้องใช้ “ใจ”ที่มีความปรารถนาจะให้ผู้รับประทานได้รับในสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาสามารถจะทำให้ได้

นอกจากขนมสวยงามนี้ จำได้ว่ายังมีผลไม้มาเสิรฟปิดท้ายคือ ลูกพลับแสนอร่อยกรอบหวาน ซึ่งเป็นผลไม้แห่งฤดูใบไม้ร่วงค่ะ



อาหารค่ำของเรา ทุกคนลงความเห็นว่าอร่อยจนน่าประหลาดใจว่า ไม่ได้มีเนื้อสัตว์ ไม่ได้ใช้เครื่องปรุงพิสดารอะไร ทำไมจึงได้อร่อยเพียงนี้ และทุกคนทานจนอิ่มมาก  เขาบอกว่าอาหารที่นี่หัวหน้าพ่อครัวหรือ head chef จะเปลี่ยนเมนูทุกเดือน

ทานเสร็จพักสักครู่แล้วไปแช่ออนเซน หลับสบาย

กล่าวได้ว่านอนวัดและกินอาหารมังสวิรัติบนโคยะซังนี้ เป็นประสบการณ์พิเศษที่ประทับใจทุกคนไปอีกยาวนานค่ะ

การค้างในวัดแบบนี้ ตอนเช้าเรายังสมารถร่วมกิจกรรม นั่งสมาธิ สวดมนต์และคัดลอกพระสูตรก่อนเวลาอาหารเช้าได้ด้วย

หลังอาหารเช้า เราออกจากวัดด้วยความอิ่มเอมใจ กลับเข้าสู่โอซาก้าเพื่อไปยังจุดหมายต่อไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 668994เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2019 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2019 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท