อำนาจอธิปไตยของสมาชิกสหกรณ์


อำนาจอธิปไตยของสมาชิกสหกรณ์ถ้าจะจัดตามสังคมและวัฒนธรรมแล้วสหกรณ์จัดอยู่ในการปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นองค์กรอิสระรูปพิเศษมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่มีประชาชนเป็นผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของเรียกว่า"สมาชิกสหกรณ์"และมีการใช้ระบอบประชาธิปไตยในการดำเนินการโดยมีการกำหนดไว้ให้เห็นในหลักการสหกรณ์ เช่นการเปิดรับสมาชิกตามความสมัครใจและเปิดกว้างการควบคุมโดยสมาชิกตามแนวทางประชาธิปไตยการมีอิสระและปกครองตนเอง เป็นตัวของตัวเองรวมไปถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิกทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องของการใช้อำนาจอธิปไตยโดยรวม ของสมาชิกในฐานะเจ้าของสหกรณ์ จึงเป็นอำนาจตามสิทธิที่มีในสหกรณ์ของตน แต่สภาพความจริงแล้ว ในปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกจำนวนมาก ถึง 12 ล้านคน ทั้งประเทศ เมื่อคิดค่าเฉลี่ยแล้วแต่ละสหกรณ์ก็มีจำนวนสมาชิกเป็นจำนวนมาก การที่จะเลือกคณะกรรมการฯเหมือนตอนเริ่มตั้งสหกรณ์ที่มีสมาชิกจำนวนน้อยและมีน้อยคนที่อาสาเข้ามาเป็นกรรมการ จึงไม่ค่อยมีการแข่งขันแย่งชิงกันเข้ามาเป็นสมาชิก มีแต่ขอร้องขอช่วยให้เข้ามาเป็นกรรมการ มาถึงตอนนี้สหกรณ์มีสมาชิกมากมายการประชุมใหญ่สมาชิกทั้งหมดก็ทำได้ยาก จึงเกิดมีระบบการเลือกตัวแทนมาเข้าประชุมและเป็นลักษณะประชาธิปไตยทางอ้อมมีการแข่งขันแย่งชิงกันเข้ามาเป็นกรรมการก็มากขึ้นพัฒนามาถึงขั้นลงสมัครเป็นทีม นำนองเดียวกับพรรคการเมือง มีนักการเมืองมืออาชีพ เพราะหวังชื่อเสียงเกียรติคุณค่าตอบแทน ทั้งในรูปตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน เช่นการได้ไปร่วมศึกษาอบรม เข้าประชุมเวทีต่าง ๆ การไปทัศนศึกษาทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เงินสหกรณ์ รวมไปถึงเงินสวัสดิการเงินโบนัสจากสหกรณ์ขนาดใหญ่ หรือชุมนุมฯ ที่เป็นกอบเป็นกรรม ผลประโยชน์เหล่านี้จึงเข้ามาเกี่ยวพันกับการเข้าสู่ตำแหน่งคณะกรรมการฯการแย่งชิงขันแข่ง กันเข้ามาเป็นกรรมการ มีการหาเสียงกันเป็นล่ำเป็นสัน มีการอวดอ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายและสรรพคุณของแต่ละทีม จนมีการพัฒนาไปถึงขั้นการเลี้ยงดูปูเสื่อ ให้สินบาทคาดสินบน เพื่อหวังผลให้สมาชิกใช้อำนาจอธิปไตยที่มีตามหลักการสหกรณ์เลือกตนเข้ามาเป็นกรรมการ
สมาชิกในฐานะเจ้าของสหกรณ์เป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยตามสิทธิหน้าที่ของตนจะต้องสนใจคัดเลือกสมาชิกที่ดี มีความตั้งใจ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ความสามารถพูดอย่างไรทำอย่างนั้น มุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์เข้าไปเป็นคณะกรรมการฯและช่วยสอดส่องดูแล ติดตาม ควบคุมการดำเนินงานของสหกรณ์ที่ตนเป็นเจ้าของ ว่าคณะกรรมการฯและเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการทำกันอย่างไร เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกจริงหรือไม่และถูกต้องตามมาตรฐานอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามที่กล่าวมานี้ สมาชิกจะต้องใช้อำนาจอธิปไตยที่ตนมีตามสิทธิหน้าที่ ผ่านที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ เพราะเสียงสมาชิกเป็นใหญ่ที่สุดในสหกรณ์ในเมื่อเสียงหรือคะแนนเสียงของสมาชิกมีอำนาจสามารถบันดาลให้เขาเข้ามาเป็นกรรมการได้ จึงมีสิทธิที่จะให้เขาเหล่านั้นหลุดออกไปจากตำแหน่งกรรมการได้เช่นกัน โดยอาศัยอำนาจตามสิทธิหน้าที่ ตามข้อบังคับที่สมาชิกเสียงส่วนใหญ่สามารถร้องขอให้มีการประชุมใหญ่ได้ เพื่อมีมติบีบบังคับให้คณะกรรมการฯ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการที่ประพฤติไม่ชอบ หย่อนสมรรถภาพ และทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหายหลุดจากตำแหน่งหน้าที่ได้ หรือจะให้ถึงขั้นรุนแรง เรียกประชุมฯให้มีการเลิกสหกรณ์เสียก็ได้ ถ้าเห็นว่าตั้งขึ้นแล้วไม่ได้อำนวยประโยชน์แก่สมาชิกตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในข้อบังคับหรือไม่เป็นไปตามกฎหมายสหกรณ์แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสมาชิผู้เป็นเจ้าของจะเข้าใจคำขวัญที่ว่า “สหกรณ์เป็นของสมาชิก ดำเนินการโดยสมาชิกเพื่อประโยชน์โดยรวมของสมาชิก” มากน้อยเพียงใด...อำนาจอธิปไตยในสหกรณ์จะมีอิทธิพลมากหรือน้อยก็ย่อมผันแปรตามอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยที่มีต่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของตนที่เข้าไปบริหารประเทศเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 666463เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2019 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2019 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท