ถึงกับ ‘อ้า’ ปากค้าง (open the mouth wide)


คำว่า ‘อ้า’ เป็นคำสำคัญยิ่งยวดเมื่อใช้กับปาก ด้วยเหตุผลว่าเราทุกคนต่างต้อง ‘อ้า’ ปากกันทุกวัน มากบ้างน้อยบ้างตามอารมณ์นิสัยของแต่ละคน บางคนอ้าปากเพราะอยากกิน บางคนอ้าปากเพราะอยากพูด หรืออยากเพ้อพร่ำ บางคนอ้าปากเพราะอยากหัวเราะให้ดังๆ บางคนอ้าปากเพราะอาการง่วงเหงาหาวนอน หรือบางคนอ้าปากเพราะอาการเมาค้างคลื่นเหียนจนต้องเรอรากออกมา เป็นต้น

คำว่า ‘อ้า’ ที่ใช้กับปาก เป็นคำไทย คำใคร หรือคำไหนๆ

อาจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์ พิยาภรณ์ (ค.ศ. 2009) ได้เก็บข้อมูลสืบสาวไว้ว่า เป็นคำที่พวกไท-ไตเรียกใช้อย่างค่อนข้างกว้างขวางคล้ายๆ กัน เขียนในคำอังกฤษว่า ‘open (the mouth), to’ หมายเลข 530 โดยพวกไทยสยาม, ซาปา, บ่าวเอียน, เกาบัง, ลุงโจว และแสก เรียกเหมือนกันว่า Ɂa: C1 ยกเว้นพวกปู้อี (Yay) เรียกสั้นกว่าว่า Ɂa C1 และสืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณ (Proto-Tai) ว่า *Ɂa: C1 /อ้า/

และจากการรวบรวมข้อมูลของคุณ Andrew Hsiu ยังพบว่าพวกหลี/ไหล ซึ่งเป็นไท-กะไดสาแหรกหนึ่งที่่อาศัยอยู่บนเกาะไหหลำ เรียกด้วยคำสืบสร้างโบราณ (Proto-Hlai) ชนิดใกล้เคียงว่า *C-ŋaːɦ /-งา/ (Norquest2015:300) หรืออย่างบางกลุ่มในสาแหรกข้า/ขร้า เช่น พวกปาฮา และเก้อหล่าว (Bigong) ก็เรียกคล้ายๆ ว่า ha33 และพวกปู้ย่าง (Yalang) เรียก ha53 เป็นต้น โดยใช้ในความหมายของ ‘to open’ ทั่วๆ ไป ไม่ได้เจาะจงกับเรื่องของการเปิดปากเท่านั้น (Austronesian Basic Vocabulary Database, ค.ศ. 2008)

เมื่อเทียบข้ามตระกูลภาษา พวกชิโน-ทิเบตันเรียกด้วยคำที่แตกต่างออกไป เช่นคำสืบสร้างจีนโบราณ (Old Chinese) ว่า *Nəә-[k]ʰˤəәj หรือ *[k]ʰˤəәj /เขย/ (Baxter-Sagart Old Chinese reconstruction, version 1.1, ค.ศ. 2014) หรือคำสืบสร้างทิเบต-พม่าโบราณ (Proto-Tibeto-Burman) ว่า *m-ka /ม-กะ/

พวกม้ง-เมี่ยนก็เรียกแตกต่าง เช่นคำสืบสร้างม้งโบราณ (Proto-Hmongic) ว่า *pow D /โปว/ หรือคำสืบสร้างเมี่ยนโบราณ (Proto-Mienic) ว่า *khu̯ɔi A /คุอย/ ซึ่งอาจเป็นคำยืมจีนเก่า

หากสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อยู่ในคำของพวกออสโตรนีเซียน ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ตามหมู่เกาะกลางเวิ้งทะเลกว้าง และเชื่อว่ามีความพัวพันร่วมกับพวกไท-กะไดมาแต่หนหลัง (มากกว่าตระกูลภาษาอื่นๆ) พบความสอดคล้องอย่างลึกซึ้งกับ 'รากคำพยางค์เดียว' (monosyllabic roots) ว่า *ŋa /งะ/ บนความหมายนามธรรมว่า อ้าปากค้าง อ้าปากกว้าง (gape, open the mouth wide) อันถูกประกอบสร้างอยู่ภายในคำสองพยางค์มากมาย โดยเฉพาะสาแหรกมาลาโย-โพลีนีเซียน ยกตัวอย่างเช่น

ในคำสืบสร้างมาลาโย-โพลีนีเซียนโบราณ (PMP) ว่า *aŋa /อางะ/ แปลว่าอ้าเปิดปากกว้าง, *kaŋa /กางะ/ ถูกเปิดปาก, *ŋaŋa /งางะ/ อ้าปากค้าง

หรือคำสืบสร้างมาลาโย-โพลีนีเซียนโบราณ (PMP) ว่า *paŋa /ปางะ/, *peŋa /เปองะ/ และ *saŋa /ซางะ/ แปลว่า ส้อม คราด ง่าม

และสืบสร้างเป็นคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิม (Proto-Austronesian) ว่า *ŋaŋa /งางะ/ ทำการอ้าปาก

สังเกตความกลมกลืนจนแทบละลายเป็นเนื้อเดียวกัน ของคำหลี/ไหลโบราณ *C-ŋaːɦ /-งา/ กับคำออสโตรนีเซียนดั้งเดิม *ŋaŋa /งางะ/ ไปจนถึงรากคำพยางค์เดียว *ŋa /งะ/ ด้วยเสียงขึ้นต้น ง.งู ตามด้วยสระคล้าย อะ อา ซึ่งเป็นความเข้ากันที่ว่าไป มีมากกว่าคำไท-ไตโบราณ *Ɂa: C1 /อ้า/ ที่ออกด้วยเสียง อ.อ่าง (ตำแหน่งการเกิดเสียงใกล้ๆ กัน)

แล้วให้นึกย้อนกลับมายังคำไทยลุ่มเจ้าพระยาสองสามคำ เช่น 'ง่า', 'แง่' ว่า ควรมีความผูกพันกันมากับ 'อ้า' ไล่เรื่อยขึ้นไปยันรากคำต้นเค้า *-ŋa /งะ/ ซึ่งมีคำจำกัดความตามพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ดังนี้

'ง่า' บนความหมายว่า "(๑) ก. เงื้อ, อ้า, กางออก. (๒) น. ค่าคบไม้."

'แง่' บนความหมายว่า "น. ส่วนที่เป็นเหลี่ยมเป็นสันเป็นมุมหรือส่วนที่ยื่นออกมา เช่น แง่หิน แง่โต๊ะ, โดยปริยายหมายความว่า เหลี่ยม, ชั้นเชิง, เช่น ชาวแพแผ่แง่ค้าขายของ (นิ. นรินทร์), นัย."

รอดถึงคำว่า 'งา' ง่ามเงี่ยงที่งอกแทงกิ่งออกมาจากปากช้าง ว่าบางที อาจโยงใยร่วมสาแหรกโคตรเหง้าเดียวกันก็เป็นได้ โดยคำว่า 'งา' เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ไท-ไต สืบสร้างเป็นคำโบราณว่า *ŋa: A /งา/ (พิทยาวัฒน์ พิยาภรณ์, ค.ศ. 2009, หมายเลข 142 'tusk, ivory')

สุดท้าย พอลองหันไปสอบปากคำพวกออสโตรเอเชียติก (มอญ-เขมร) จาก A Mon-Khmer Comparative Dictionary โดย Harry Shorto (Paul Sidwell บรรณาธิการใหญ่, ค.ศ. 2006) ก็พบความน่าสนใจบางอย่าง ตรงหมายเลข 251 คัดมาดังนี้

“251 *haʔ; (*haʔ haʔ >?) *hah to open [mouth].

A: (Mon, Khmer, Katuic, North Bahnaric, Viet-Mương) Khmer, Kuy, Stieng, Biat, Bahnar, Jeh, Halang haː, Vietnamese há (& with expressive lengthening Mon ha, Sre haː; → Chrau haːʔ ?); (?) → Burmese ha to open [mouth], Lahu há-gəʔ̂, Akha a-hà to yawn (BENEDICT 1972 33 n. 107); ~ Sre rəha open.

B: (North Bahnaric, Viet-Mương) Vietnamese hả to open [mouth]; ~ Bahnar jəhah small and gaping (GUILLEMINET 1959-63), Bahnar dialects dəhah gaping (GUILLEMINET 1959-63; ~?).

(SCHMIDT 1905 14, 20; BLOOD 1966 294; SMITH 1972 547.)”

ถอดความได้ว่า พวกมอญ-เขมรต่างมีคำเรียกการ 'อ้า' ปากแบบคล้ายคลึงกันว่า ha:, há, rəha, jəhah, dəhah และสืบสร้างเป็นคำมอญ-เขมรโบราณ (Proto-Mon-Khmer) ว่า *haʔ /ฮะ/

เพราะคำสืบสร้างโบราณ *haʔ /ฮะ/ มีรูปคำที่ขึ้นต้นเสียงในทำนอง ฮ.นกฮูก ผู้อาศัยไม่ห่างจากเสียง อ.อ่าง และ ง.งู ตามด้วยสระ อะ และความหมายที่ต้องกันกับคำของพวกไท-กะไดและออสโตรนีเซียน หรือรากคำพยางค์เดียว *ŋa /งะ/ ผู้อ้าปากกว้าง (gape, open the mouth wide)

จนเผลอไผลไปว่า ถ้าไม่ใช่คำที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของการออกเสียงของผู้คน นี่อาจเป็นอีกหนึ่งคำบ่งชี้ ถึงความพันพัวอันแสนพร่ามัวแต่ชั้นบรรพกาลของสามตระกูลภาษาคือ ออสโตรนีเซียน, ไท-กะได และออสโตรเอเซียติก ในนามมหาตระกูลออสตริก (Austric)

และจึงขอเสนอการสืบสาวตีความ เป็นทางเผื่อเลือกให้ได้ถกเถียงไว้ ณ ที่นี้

ป.ล. ถึงกับ 'อ้า' ปากค้างเลยล่ะสิครับพี่น้อง อิอิ

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช
จันทบุรี 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562 

หมายเลขบันทึก: 665800เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2019 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2019 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท