วงแคน กับการเรียนรู้ผ่านการฝึกฝนเพื่อร่วมประกวดวงโปงลาง ชิงแชมป์ประเทศไทย ๒๕๕๙


“วงแคนยิ่งใหญ่ เกริกไกรไปทั่วธานี 

มีเสียงดนตรี เป็นหลักเลิศล้ำเกรียงไกร 

นาฏยศิลป์ ท่ารำนั้นไม่แพ้ใคร   

เล่นด้วยหัวใจ ไม่มีใครกล้าเหยียดหยาม”

วงแคน กับการเรียนรู้ผ่านการฝึกฝนเพื่อร่วมประกวดวงโปงลาง 

ชิงแชมป์ประเทศไทย ๒๕๕๙

            ข้อความข้างต้นเป็นที่มาของเรื่องที่จะนำเสนอในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในบทเพลงที่ชื่อว่า “วงแคน” ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง หรือที่พี่น้องชาวมหาวิทยาลัยมหาสารคามเรียกชมรมนี้ว่า วงแคน เป็นชมรมที่รวมนิสิตที่มีใจรักในศิลปวัฒนธรรม รักในเสียงดนตรีพื้นบ้าน รักในการร้อง การฟ้อนการรำและรวมตัวกันขึ้นเป็นชมรม ซึ่งสมาชิกของเรา แทบจะทั้งหมดเรียนในศาสตร์สาขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเล่นดนตรี การร้อง การฟ้อนรำทั้งสิ้น เป็นเพียงกิจกรรมที่ชอบและรักในครั้งมัธยมแล้วนำมาต่อยอดจนกลายเป็นวงแคนในวันนี้ ส่วนของประวัติศาสตร์ผู้เขียนขออนุญาตไม่หยิบยกมากล่าวเป็นหลัก ด้วยมีผู้รู้และมีข้อมูลที่แน่ชัดได้กล่าวไว้ในหลายโอกาสแล้ว เพียงแต่ให้รู้ได้เพียงว่า ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) เป็นประวัติศาสตร์ที่เคียงคู่กับมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาอย่างยาวนาน จนวันนี้จะเข้าสู่ปีที่ ๔๔ แล้ว นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ เรื่อยมา ผู้เขียนเองจึงขอเอ่ยนามชมรมนี้ว่า “วงแคน” ในบันทึกชุดนี้ ผู้เขียนขออนุญาตกล่าวถึงตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสใช้ความชอบของตัวเองเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคามผ่านระบบโควตาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ในส่วนของนักดนตรีและได้กลายเป็น “ฅนวงแคน” โดยปริยาย ในครั้งแรกสมาชิกรุ่น ๒๕๕๘ ทั้งโควตาและใจรักมีจำนวนหลายสิบคน วันเวลาผ่าน กาลเวลาหมุนเวียนไป หลายๆคนก็หลุดออกจากรอบวงเวลา และไปจากวงแคน ส่วนคนที่ยังอยู่ก็ยังคงสืบสานงานศิลป์ผ่านการร้องการเล่นและกิจกรรมที่เรารักต่อไป

  ปัจจุบันตั้งที่ชมรม หรือที่เราๆเรียกว่าบ้านวงแคน อยู่ที่ส่วนป่าวัฒนธรรม มมส วันแรกที่พี่น้องสมาชิกชมรมเราได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่คือวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ และในปัจจุบันได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ และมีการเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งที่เราย้ายเข้าไปอยู่ใหม่ๆอย่างมาก สถานที่เดิมที่อยู่มาอย่างยาวนานหลังจากย้ายมาจากพื้นที่ มอเก่า คือบ้านวงแคน หลังสวนสาธารณะข้างพิพิธภัณฑ์ มมส ซึ่งเป็นสถานที่ต้นเรื่อง ของเรื่องราวที่จะได้กล่าวต่อไปนี้

                 ความทรงจำ ที่มีทั้งรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา ที่เราสมาชิกวงแคนได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในงานครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งครั้งที่เรามีโอกาสในการที่จะแสดงความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมออกมาอย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง เริ่มต้นจากมูลเหตุในครั้งนี้ คือการที่ฝ่ายนันทนาการ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการจัดการแข่งขันวงโปงลางชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศของพระองค์ในขณะนั้น) โดยกำหนดจัดเรื่อยมาหลายปี และวงแคนก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประกวดแข่งขันแทบทุกครั้ง แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจนถึงขั้นที่ชนะเลิศ แต่เราได้มีโอกาสฝึกฝนและแสดงออกในสิ่งที่เรารักมันคือที่สุด ในฐานะคนที่ไม่ได้เรียนนาฏศิลป์ ไม่ได้เรียนร้อง ไม่ได้เรียนดนตรี แต่มีใจรักชื่นชอบ เชื่อและศรัทธาในมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนด้านการแสดงออกทางศาสตร์ศิลป์แขนงนี้ จึงทำให้แทบจะเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่น้องๆรุ่นใหม่เข้ามา ก็อย่างมีส่วนร่วมในการประกวดแข่งขันทุกครั้ง ผู้เขียนเองได้มีโอกาสเริ่มใกล้ชิดกับการฝึกซ้อมของพี่ๆเพื่อนๆวงแคนในการซ้อมการแข่งขัน ปี ๒๕๕๘ ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนเพิ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยช่วงแรกๆ ก็ได้มีโอกาสเพียงรับชมและเป็นกำลังในให้กับการฝึกซ้อมและการแข่งขันเท่านั้น ก็ได้เห็นความเหนื่อยล้า และความอดทนของพี่ๆในตอนนั้น จนการศึกษาหมุนเวียนไป ผู้เขียนได้เข้าไปเป็นสมาชิกของวงแคนเต็มตัว เมื่อมีประกาศการแข่งขันวงโปงลางชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๙ อีกครั้ง เรื่องนี้เป็นที่กล่าวถึงในวงการนาฏศิลป์พื้นบ้านเป็นอย่างมาก และเป็นที่สนใจของผู้คนอีกครั้ง เป็นอีกหนึ่งครั้งที่วงแคนรู้สึกอยากที่จะนำพาผลงานการแสดง ไปยืนบนเวทีการประกวดอีกครั้ง หลังจากปิดภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๘ เข้าสู่ภาคเรียนที่ ๓ เราเรียกเวลาช่วงนั้นว่า ซัมเมอร์ เป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยมีนิสิตบางตาที่สุด การจราจรไม่แน่นขนัด การสัญจรไปมาสะดวกสบายยิ่งขึ้น สมาชิกวงแคน ได้ตกลงกันในบ้านไม้เก่าๆที่ตั้งอยู่หลังสระน้ำสวนสาธารณะ หลังสโมสรบุคลากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยการเริ่มซักซ้อมวางแนวทางรูปแบบการแข่งขันจึงเริ่มขึ้นพร้อมๆกันทุกฝ่าย ทั้งนักดนตรีที่ฝึกฝนทั้งรวมวงและเดี่ยวเครื่องดนตรี นางรำก็พยายามหาผู้รู้ครูบาอาจารย์ รุ่นพี่ที่มีความสามารถมาต่อท่ารำใหม่ๆให้ ทั้งการแสดงวิถีชีวิตที่สืบเสาะแสวงหาเรื่องราวมาผูกเรื่อง ผ่านการออกความเห็นของพี่น้องสมาชิกวงแคน แต่กระนั้นเส้นทางเริ่มต้นก่อนการถ่ายทำวีดีโอเพื่อส่งประกวดรอบคัดเลือก ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทีเดียว เมื่อคนหมู่มากเข้ามาร่วมกันความคิดเห็นที่แตกต่างก็เกิดขึ้นมากมาย ความขัดแย้งปัญหาความไม่เข้าใจกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากขององค์กรก็ได้เกิดขึ้นกับวงแคน ในครั้งนั้นกล่าวอาจจะเกินไปก็ว่าได้ ผู้เขียนเองเครียดกับเรื่องการซักซ้อมมากจนทำให้น้ำหนักลดลงไปสามถึงสี่กิโลกรัมเลยที่เดียว การวางแผนและการพูดคุยเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเริ่มขึ้นอย่างประนีประนอมเพื่อรักษาสภาพงานและสามารถนำพางานของเราไปจนสำเร็จให้ได้ ทุกเย็นหลังเสร็จสิ้นการเรียน เวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. จะเริ่มเข้าสู่การซักซ้อมเพื่อเตรียมการประกวดแข่งขันเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมเรื่อยมา โอกาสพบปะพูดคุยก็มีมากขึ้น ทุกๆเย็นจะมีทีมครัวที่มาทำอาหารให้พี่น้องเราได้ทานร่วมกัน ก่อนที่จะทำการฝึกซ้อม ข้าวสารก็ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ปกครองของนิสิตเราเองนี่แหละบริจาคมา และยังต้องขอบคุณผู้บริหารทางมหาวิทยาลัยที่เห็นความสำคัญของพวกเราได้อนุมัติงบประมาณในการใช้จ่ายค่าอาหารรวมถึงการเดินทางเพื่อจะไปประกวดด้วย ทุกๆเย็นทีมครัวทำอาหาร อาหารหลักก็คงเป็นปลาในสระน้ำสวนสุขภาพนั่นแหละครับ ฮ่าๆๆ และมีการฝึกซ้อมตามฝ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญ ผู้เขียนเองร่วมกับพี่น้องสมาชิก รับหน้าที่ช่วงการแสดงวิถีชีวิต มีการปรึกษาหารือจนตกผลึกมาเป็นการแสดงชุด ขึ้นเฮือนใหม่ (พิธีขึ้นบ้านใหม่) แบบชาวอีสาน เราเรียบเรียงข้อมูลประวัติ วิถีชีวิตและความเชื่อ ผ่านการประพันธ์กลอนลำของทีมนักแสดงโดยพวกเราเอง ออกมาเป็นบทกลอนทำนองลำตังหวาย ซึ่งมาจากคำว่าลำถวาย น่าจะเป็นสิริมงคลมิใช่น้อย การนำคำกล่าวตามความเชื่อในขั้นตอนต่างๆออกมาเปลี่ยนบางคำแล้วใส่ท่วงทำนองให้ดูน่าฟังมากขึ้น และให้ผู้ฟังเชื่อตามได้จนสมบูรณ์ตามที่ต้องการทุกส่วน การดำเนินการบันทึกวีดีโอจึงเริ่มขึ้น วันนั้นผู้เขียนเองจำได้ค่อนข้างดีว่าเราทำอะไรบ้าง ตรงกับเย็นวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ เราขออนุญาตใช้สถานที่พิพิธภัณฑ์ มมส บ้านอีสาน เป็นพื้นที่ถ่ายทำ ก็เริ่มกันตั้งแต่หกโมงเย็นเห็นจะได้ ทุกฝ่ายเตรียมพร้อม ฉากต่างๆที่ทุ่มทำกันมาจะได้ใช้ครั้งแรก นางรำแต่งหน้าทำผม นักดนตรีตั้งเครื่องดนตรี หันหลังให้บ้านอีสานเป็นฉากหลัง หันหน้าลงสระน้ำ การไหว้ครู เพื่อเป็นขวัญกำลังใจเสร็จสิ้นลง เริ่มการบันทึกวีดีโอแบบรวดเดียว ๓๐ นาที เพื่อความต่อเนื่องของชุดการแสดงด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ก็เป็นการฝึกความพร้อม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับบทบาทต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ดีในการฝึกฝนบนการบันทึกวีดีโอครั้งนี้ เมื่อทุกฝ่ายพร้อม การบันทึกรอบแรกจึงเริ่มขึ้น การแสดงเป็นไปตามลำดับ เทิดพระเกียรติ โชว์วง เดี่ยวเครื่องดนตรี การแสดงวิถีชีวิต และเต้ยลา เมื่อรอบแรกจบลง ทุกคนพักนิดหน่อย ขออีกสักรอบเพื่อ และวนอยู่อย่างนั้นหลายต่อหลายรอบ วลีเด็ดในคืนนั้นคือคำว่า “เปลี่ยนนนนนชูดดดดดดด” (ลากเสียงนิดนึ่ง) เพราะนักแสดงทั้งชายหญิงต้องเปลี่ยนชุดให้ทันการแสดงอยู่อย่างนั้นทั้งคืนก็เปลี่ยนไปมาอยู่อย่างนั้น และอีกคำคือคำว่า “ระดับแชมป์” เป็นอีกคำที่ให้กำลังใจพี่น้องเราทุกคนในการบันทึกวีโอครั้งนี้ ด้วยความเหนื่อยล้า ที่ต้องทำซ้ำอย่างนั้น ความเหนื่อยทำให้ท้อได้ คำๆนี้ก็สร้างกำลังใจ เสียงหัวเราะ อยู่ตลอดทั้งคืน และการบันทึกวีดีโอได้เสร็จสิ้นลงในเวลา ๐๕.๔๐ น. ผู้เขียนจำได้แม่นเป็นอันเสร็จสิ้นการบันทึกวีดีโอส่งเข้ารอบคัดเลือกรอบแรก

               ไม่นานจากนั้น กรมพลศึกษาก็มีประกาศรายชื่อวงที่ผ่านการคัดเลือก วงแคน ก็คือหนึ่งในนั้น และหลังจากนั้นเราก็เริ่มฝึกซ้อมอีกครั้ง ปรับปรุงการแสดงบางจุดที่ยังเห็นว่าดีได้อีก พร้อมได้อีก สวยได้อีก ก็เป็นการร่วมด้วยช่วยกันบนบ้านวงแคนหลังสโมสรบุคลากร ร่วม ๒ เดือนกว่า จนใกล้ถึงวันประกวด โดยการจัดประกวดครั้งนี้ ดำเนินการประกวดที่อาคารนิมิตบุตร สนามกีฬาแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ในวันที่   ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ การเดินทางของพี่น้องวงแคนจึงนัดแนะกันเพื่อเตรียมเดินทางเช้าวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๒ พร้อมกันขึ้นรถที่กองกิจฯ โดยรถบัสมหาวิทยาลัย ๑ คัน และรถหกล้อเพื่อบรรทุกฉากประกอบการแสดงอีก ๑ คัน เมื่อทุกคนพร้อม รถเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มุ่งสู่กรุงเทพมหานคร ในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ด้วยความหวังของคนที่ชื่นชอบและรักศิลปวัฒนธรรม ถึงที่หมายประมาณบ่ายสามโมงเห็นจะได้ สมาชิกเข้าที่พัก และในวันนั้นมีการประกวดวงโปงลางบนเวทีเดียวกันในรุ่นอายุไม่เกิน ๑๘ ปีด้วย สมาชิกบางส่วนเดินทางไปร่วมรับชมและให้กำลังใจน้องๆ เช่นกัน ตอนเย็นได้กลับมาฝึกซ้อมบนรอบสุดท้าย บนดาดฟ้าของตึกที่พัก ก็จวนจะสี่ทุ่มถึงได้เข้าพัก

                เช้าวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๙ เช้าวันแข่งขัน ถ้าจำไม่ผิดการแข่งขันเริ่มประมาณเกือบๆบ่ายสามโมง  วงแคน เป็นวงแรกที่จะขึ้นทำการแสดงด้วย ทำให้ต้องเตรียมพร้อมบริเวณในตัวอาคารหลังเวทีการแสดง หลายๆวงก็มาจับจองพื้นที่ เตรียมความพร้อมแต่งหน้าทำผม เปลี่ยนชุด ตรวจสอบฉาก การประกวดครั้งนั้นมีวงโปงลางที่ผ่านการคัดเลือก ๗ วง คือ ศิลป์อีสาน ผกาลำดวน สายแนนลำตะคอง ศิลป์ลำปาวสาวผู้ไท สาเกตุนคร ฅนอีสาน และวงแคน ทุกอย่างพร้อมเสร็จสรรพ สมาชิกพร้อมกันไหว้ครูเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นขวัญกำลังใจในการแสดง ในกรอบระยะเวลา ๔๐ นาที รวมตั้งเครื่องดนตรีและฉากพร้อมทดสอบเสียง การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น เมื่อนักดนตรีก้าวเท้าขึ้นบนเวที เวลาที่เริ่มจับและเดินต่อไป นักดนตรีพร้อมกันตั้งแต่งเครื่องดนตรี ทดสอบเสียงตามลำดับ จากนั้นการแสดงชุดแรกเริ่มขึ้นในชุด เทิดพระเกียรติพระแม่ไทย ในทำนองลำทางสั้น นางรำกรีดกายออกจากฉากด้านหลังอย่างช้าๆ จากบันไดด้านซ้าย ผ่านจากที่ตั้งตระหง่านกลางเวทีปีทีละคน นักร้องชายขึ้นบนเวลาทางบันไดด้านขวา กลอนลำถูกขับออกมาประสานกับจังหวะดนตรีจนจบลง การแสดงชุดที่สองเริ่มขึ้น การเปิดวงโชว์วงเป็นการโหมโรงส่งนางไหหมากกั๊บแก๊บโดยมีนางรำนำออกมาจากทั้งสองฝั่งจวนจบลง จากนั้นเป็นการเดี่ยวเครื่องดนตรีพื้นเมือง เริ่มที่การเดี่ยวแคนในลายสุดสะแนน เดี่ยวพิณลายปู่ป๋าหลาน เดี่ยวโหวดลายสาวน้อยหยิกแม่ เดี่ยวซอลายหงส์ทองคะนองลำ และเดี่ยวโปงลางลายกาเต้นก้อน และเข้าสู่การแสดงวิถีชีวิตชุด ขึ้นเฮือนใหม่ ในบทนี้ผู้เขียนเองแสดงเป็นเจ้าบ้าน ตามความเชื่อเรื่องพิธีขึ้นบ้านใหม่แบบชาวอีสาน ที่ต้องคอยตอบโต้พูดคุยกับพ่อพราหมณ์ ผู้นำประกอบพิธี เมื่อถึงช่วงการแสดงผู้เขียนได้กล่าวบทผญาเกริ่นนำสู่การแสดง นักดนตรีบรรเลงทำนองลำตังหวายดังขึ้น ฝ่ายพ่อพราหมณ์พร้อมด้วยผู้ร่วมพิธีเดินออกจาทางขวาของเวที บทสนทนาจึงเริ่มขึ้นผ่านกลอนลำทำนองลำตังหวาย บทสนทนาเป็นการสอบถามถึงที่มาและสิ่งต่างๆที่พ่อพราหมณ์นำมาเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับบ้าน เมื่อเจ้าบ้านเห็นว่าดีและครบแล้ว ก็จะเชิญผู้มาเยือนขึ้นบนบ้าน พ่อพราหมณ์จะทำการขอขมาแม่คันไดหรือบันไดก่อนขึ้นบ้าน จากนั้นจะนำค้อนมาตอกที่เสากลางบ้าน และมีคำกล่าวที่เป็นสิริมงคลต่อบ้านและผู้อยู่อาศัย พ่อพราหมณ์นิมนต์พระพุทธรูปขึ้นหึ้ง แล้วนอนลงบนที่นอนที่ได้จัดเตรียมไว้ทำท่าหลับ สักพักเจ้าบ้านก็จะทำเป็นเสียงเหมือนไก่ขัน ๓ ที หมายถึงพ่อพราหมณ์นอนหลับข้ามคืนแล้วตื่นตอนเช้า แล้วพ่อพราหมณ์ก็จะนำเรื่องความฝันมาเล่าให้ผู้ร่วมพิธีแล้วแก้ความฝันหรือแปลความหมายออกมาซึ่งจะเป็นเรื่องที่เป็นสิริมงคลทั้งสิ้น จากนั้นก็จะเป็นการสู่ขวัญบ้านผูกข้อแขน เป็นเสร็จพิธี ทั้งหมดอยู่ในชุดการแสดงวิถีชีวิตที่เราวงแคนได้นำไปเสนอต่อสายตาผู้รับชม และจบลงด้วยการแสดงชุดสุดท้ายเต้ยลา จากนั้นก็เป็นการเก็บอุปกรณ์ลงจากเวทีอย่างรวดเร็ว เสร็จสิ้นการแสดงของวงแคน หลังจากวงแคนแสดงเสร็จสิ้น ซึ่งสภาพอากาศตอนนั้นคือแดดยังแรงอยู่มาก แต่วงที่ ๒ ขึ้นแสดงใกล้จบ ลมเริ่มพัดแรงขึ้น และมีฝนตกลงมาอย่างแรงมาก จนช่วงการแสดงของวงที่ ๓ เกิดไฟดับกลางการแสดง จนต้องทำการแสดงใหม่อีกครั้ง ฝนรินเรื่อยๆจนการประกวดเสร็จสิ้นลงประมาณ ๔ ทุ่ม ผลการแข่งขันครั้งนี้ วงแคนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยความพร้อมที่เราคิดว่าเราพร้อมแล้ว แต่วงอื่นๆเขาพร้อมกว่า ก็ยอมรับ และเตรียมเดินทางกลับมหาวิทยาลัยมหาสารคามทันทีในคืนนั้นเวลาราว ๕ ทุ่มกว่า

              ช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน เราได้ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรม และชุดการแสดงที่เราทำมันอย่างเต็มที่ออกมาเท่าที่เราจะสามารถทำออกมาได้และดีที่สุดแล้ว บทบาทที่ทุกคนได้รับก็สร้างสรรค์ออกมาอย่างดี เป็นเวทีการประกวด เป็นเวทีฝึกฝน เป็นเวทีที่ต้องอาศัยความพร้อมหลายด้าน ด้านทรัพยากรบุคคล คือต้องมีสมาชิกที่พร้อมทุกๆฝ่าย มีเวลาที่พร้อมทุกๆคนต้องสละเวลาบางส่วนเพื่อฝึกซ้อม และต้องมีงบประมาณในการบริหารจัดการพอสมควรเลยทีเดียว

                 สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเองเห็นบรรยากาศหลังการแข่งขันที่เต็มไปด้วยคราบน้ำตาที่เต็มไปด้วยความเสียใจ ความผิดหวัง จึงเป็นอีกครั้งที่ทำให้ผู้เขียนเองในฐานะที่เป็นสมาชิกวงแคนคนหนึ่ง ได้มีโอกาสเรียนรู้ความพ่ายแพ้ เพื่อจะได้รู้ข้อบกพร่องของตนเองและข้อผิดพลาดของทีม ที่เราคิดว่าเราเต็มที่แล้ว แต่อาจจะน้อยกว่าเขา เราซ้อมหนักแล้ว แต่หนักไม่เท่าเขา เราทำดีแล้ว แต่ยังดีไม่เท่าเขา และเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของวงแคน ที่หากอยากก้าวเท้าขึ้นบนเวทีอีกครั้ง ต้องดีกว่าครั้งก่อน การกล่าวมาทั้งหมดอาจจะยืดยาวมีรายละเอียดย่อยมากมาย นั้นล้วนแต่อยากฝากวงแคน ในฐานะชมรมด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ของผู้มีใจรักในศิลปวัฒนธรรมอีสานมารวมกันสร้างสรรค์ผลงานรับใช้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และรับใช้มรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชนมาร่วม ๔๔ ปีแล้ว สุดท้ายจริงๆผู้เขียนเอง ต้องกราบขอบคุณโอกาสในครั้งนี้ที่ได้ให้ผู้เขียนได้มาบอกเล่าเรื่องราวของวงแคน อันเป็นบ้านหลังแรกที่ผู้เขียนก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รู้จักและพักพิงเรื่อยมาจนสำเร็จการศึกษา ประวัติอันยาวนาน ที่นานครั้งจะมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวไปเรื่องนี้ก็ผ่านมาร่วม ๓ ปีเต็มแล้ว แต่ก็ยังตราตรึงในหัวใจของผู้เขียนมิรู้ลืม หากมีโอกาสหรือจังหวะเหมาะที่ได้เล่าพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกเรื่องการประกวดวงโปงลางครั้งนี้ ก็จะมีเรื่องให้หัวเราะให้ยิ้มตลอดเวลา สุดท้ายจริงๆ ผู้เขียนต้องขอขอบคุณคุณสมาชิกวงแคนทุกๆคน ในการประกวดครั้งนั้น ที่มีส่วนให้เกิดบันทึกเรื่องนี้ขึ้นมา และถ้าไม่มีวงแคน ก็ไม่มีผู้เขียนในวันนี้เช่นกัน

ด้วยจิตคารวะ ด้วยรักและคิดถึง “วงแคน” เสมอมา และตลอดไป

นายธรรมวิทย์  สุขโข อดีตสมาชิกวงแคน : ผู้เล่าเรื่อง “วงแคน กับการเรียนรู้ผ่านการฝึกฝนเพื่อร่วมประกวดวงโปงลาง ชิงแชมป์ประเทศไทย ๒๕๕๙” เขียนวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒



หมายเลขบันทึก: 665191เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2019 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2019 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท