พหุวัฒนธรรม: ชีวิตต่างวัฒนธรรม


การถูกกล่อมเกลามาในบริบทสังคมแบบที่เรียกว่าพุทธทางภาคใต้ตอนบน โดยไม่มีสังคมศาสนาอื่นเลยที่จะให้เรียนรู้สังคมทางศาสนาที่แตกต่าง ชีวิตทางศาสนาจึงไม่มีความรู้สึกแปลกและแตกต่าง สังคมแบบพุทธในประเทศไทย แบ่งออกเป็น ๒ แบบใหญ่ๆคือ (๑) แบบชีวิตคนทั่วไป ที่ใช้ชีวิตกับดิน น้ำ อากาศ ทำมาหาเลี้ยงชีวิตตามศักยภาพ (๒) แบบนักบวช ใช้ชีวิตโดยอาศัยหยาดเหงื่อแรงงานจากคนที่อยู่ในแบบชีวิตทั่วไป ในประเทศไทย การมีชีวิตทางศาสนาสามารถเปลี่ยนผ่านชีวิตทั้ง ๒ แบบนั้นได้ คือ จากชีวิตคนทั่วไป เปลี่ยนเป็นแบบนักบวชโดยผ่านวิธีการที่ระบุไว้ในศาสนา  และสามารถเปลี่ยนเป็นแบบชีวิตคนทั่วไปได้ หลายคนอาจเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้มากกว่า ๑ หน เบื้องหลังการเปลี่ยนจากชีวิตคนทั่วไปสู่ชีวิตแบบนักบวชผู้สละบ้านเรือนคือความเชื่อว่า ชีวิตแบบนักบวชเป็นชีวิตของการสะสมความดีที่ละเอียด ละเว้นการเบียดเบียน และขัดเกลาจิตใจให้สะอาดจากสิ่งที่อยู่ในจิตใจอย่างน้อย ๓ ตัวคือ ความอยาก ความโกรธ และความลุ่มหลง ซึ่งทั้ง ๓ ตัวนี้คือตัวของที่วิถีนักบวชแบบพุทธมองว่าเป็นสิ่งเลวร้ายของชีวิต การมีชีวิตแบบนักบวชจะได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของผู้ประพฤติดี ดังนั้น ถ้ามีนักบวชใดประพฤติตนไม่ดี นอกเหนือการตีความในกรอบความคิดว่าสิ่งใดดี นักบวชดังกล่าวจะถูกขับออกจากกลุ่มนักบวช อันที่จริงนักบวชที่สำนึกรู้ด้วยตนเองว่าไม่สามารถยังรักษาความบริสุทธิ์ของการกระทำไว้ตามแบบแผนของนักบวชได้ จะเกิดความละอายและเปลี่ยนสภาพนักบวชสู่แบบชีวิตคนทั่วไปด้วยตนเอง

ชีวิตทางศาสนาแบบเดี่ยว โดยไม่มีศาสนาที่แตกต่างปะปนจึงเป็นชีวิตทางศาสนาที่ไว้วางใจระหว่างกันโดยอัตโนมัติ ประกอบกับบริบทประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ไม่มีสิ่งใดกระตุ้นเพื่อให้ฉุกคิดจึงใช้ชีวิตกับความเคยชินอย่างรู้สึกปลอดภัยกับชีวิตทางศาสนาเช่น เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา บุคคลแบบแรกในพุทธศาสนาจะหิ้วปิ่นโตใส่อาหารที่จัดไว้เป็นอย่างดีเดินเท้าบ้าง ปั่นจักรยานบ้าง ขับรถบ้างไปวัดซึ่งคือพื้นที่ทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน วัดจะคือที่อาศัยของนักบวชในพุทธศาสนา เมื่อถึงวันสำคัญของบ้านเช่น การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การตาย เป็นต้น บุคคลแบบแรกก็จะเชื้อเชิญนักบวชในพุทธศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน โดยมองว่า การเชื้อเชิญนักบวชมาสู่งานคือสิ่งที่เป็นมงคลกับบ้าน และสามารถเปลี่ยนความเชื่อว่ามีสิ่งเลวร้ายให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นมงคลได้ ส่วนนี้ไม่ใช่เกิดจาก "ความเป็นบุคคล" หรือ "ตัวตน" หรือ "เนื้อตัว" ของนักบวช หากแต่สิ่งอื่นๆ เช่น ผลของการประพฤติดีตามแบบศาสนาซึ่งอยู่ในอีกแบบหนึ่งเหมือนเงาที่ประกอบรวมกับความเป็นบุคคล สิ่งดังกล่าวคือพลังงานที่มองไม่เห็นด้วยตา ผลของพลังงานจากบทสวดมนต์ ผลของความบริสุทธิ์ทางจิตใจ เป็นต้น สิ่งดังกล่าวนี้เองจะช่วยเปลี่ยนสภาพพลังงานที่ไม่สะอาดมองไม่เห็นแต่มีผลต่อชีวิตคนให้กลายเป็นพลังงานสะอาด บนความเชื่อมั่นว่า ธรรม (ที่หมายถึงพลังงานจากความดี) ย่อมชนะอธรรม (ที่หมายถึงพลังงานจากความไม่ดี) 

การมีชีวิตในบริบทศาสนาแบบเดี่ยว จะไม่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยเมื่อพบบุคคลทางศาสนาที่แตกต่าง เช่น เมื่อไปทำกิจกรรมทางศาสนาที่วัด เห็นบุคคลคลุมผ้าสีดำ (มุสลิม) ขายขนมอยู่ในวัด ชีวิตทางศาสนาจะไม่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย หากแต่จะมองว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนอย่างกับเรา และจะแสดงไมตรีที่ไม่แตกต่างจากบุคคลทางศาสนาเดียวกัน เพราะไม่มีความคิดเรื่องศาสนาที่แตกต่าง ส่วนหนึ่งอาจเกิดจาก "สาส์น" ที่ส่งผ่านมาสู่บุคคลไม่มีสาส์นให้ต้องระมัดระวังความแตกต่าง เพราะไม่มีความแตกต่าง ดังนั้นอิสระในการประกอบกิจกรรมทางศาสนาจึงมีอยู่อย่างไม่รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย/ชีวิตปกติทางศาสนา

การปรับเปลี่ยนบุคคลทางศาสนาแบบเดี่ยวมาสู่ชีวิตภาคใต้ตอนล่างท่ามกลางชีวิตทางศาสนาที่แตกต่าง ส่งผลให้ต้องมองตัวเองมากขึ้นและมองบุคคลอื่นมากขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ชีวิตทางศาสนาแบบคริสต์ไม่ปรากฎตัวมากนัก แตกต่างจากชีวิตทางศาสนาแบบอิสลามและชีวิตทางศาสนาแบบพุทธ การอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง อาจต้องปรับตัวสำหรับกิจกรรมทางศาสนาที่เคยชิน เช่น เมื่อมีกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาเช่น การศึกษาดูงานร่วมกัน อาหารบางชนิดที่เคยชินอาจถูกตัดออกไป เช่น ผัดเผ็ดหมูป่า ต้มหมูชะมวง เป็นต้น พื้นที่ที่เคยบุกเบิกเพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนาพุทธในอดีต ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้กิจกรรมมากกว่านั้น อาคารที่เคยมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ อาจต้องหาฉากกั้น/ผ้าคลุมพระพุทธรูป/ย้ายพระพุทธรูปออก เพื่อปิดสัญลักษณ์ทางศาสนาที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแทนแห่งความดีบริสุทธิ์คือพระพุทธเจ้าและผู้นับถือพุทธศาสนา ขณะที่ชีวิตทางศาสนาอิสลามที่ผ่านชีวิตศาสนาแบบเดี่ยวมาก็อาจต้องฝืนความรู้สึกกับการต้องพบรูปเคารพที่วางอยู่ภายในอาคาร

การปะทะกันระหว่างความแตกต่างเพื่อการอยู่ร่วมกันให้ได้ในระบบคิดแบบพหุนิยมทางสังคมที่ซ่อนซับชีวิตทางศาสนาแบบเดี่ยวมา ผู้ใช้ชีวิตทางศาสนาแบบเดี่ยวอาจต้องปรับเปลี่ยนความเคยชินแบบเดียวให้กลายเป็นการยอมรับในความมีอยู่ของความแตกต่างที่ต่างจากตน ชาวพุทธคนหนึ่งพูดว่า หากเลือกได้จะขออยู่ภาคกลางของประเทศดีกว่า เพราะรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตทางศาสนามากกว่า มุสลิมคนหนึ่งถามเพื่อนที่เป็นชาวพุทธว่า "รู้สึกอย่างไรเมื่ออยู่ท่ามกลางคนมุสลิม" คำตอบที่ได้ยินคือ "เดิมทีไม่รู้สึกอะไร แต่จะรู้สึกแตกต่างกันก็เมื่อมุสลิมมองว่าตนไม่ใช่มุสลิม ผลของความคิดที่ตามมาคือ เขาคือมุสลิม ส่วนเราคือพุทธ" มุสลิมคนหนึ่งบอกเพื่อนที่เป็นมุสลิมด้วยกันว่า "อย่าเข้าร้านนี้เขาเป็นคนพุทธ" ขณะที่ชาวบ้านพุทธคนหนึ่งพูดว่า "อย่าซื้อของมุสลิม เพราะไม่สะอาด" การสัมมนาระหว่างศาสนาโดยมีตัวแทนทางศาสนาของแต่ละศาสนา คือตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนจากการพยายามทำความเข้าใจระหว่างกันแต่ไม่เคยเข้าใจกัน เพราะคาดหวังแต่จะให้คนที่แตกต่างจากตนเข้าใจ งานดังกล่าวจะเห็นตัวแทนทางศาสนาหลักๆคือ ตัวแทนฝ่ายคริสต์ ตัวแทนฝ่ายอิสลาม และตัวแทนฝ่ายพุทธ สิ่งที่มองเห็นคือ "ความชัดขึ้นของตัวตนของแต่ละฝ่ายที่แตกต่าง" ในระดับชาติ เราจะเห็นตัวแทนของแต่ละศาสนาเช่นกันที่รัฐทำให้โดดเด่นว่าไม่เหมือนกัน 

หมายเลขบันทึก: 663946เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2019 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2019 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท