การสนทนากลุ่มแบบ The World Cafe'


[ เขียนไว้เมื่อ 11 ก.ค. 53 เพื่อนำมาใช้กับการระดมความคิดแบบสร้างสรรค์ร่วมกัน.......อำนาจ ศรีรัตนบัลล์ 20 ก.ค. 2562 ]

Peter Senge ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Learning Organization เรื่อง The Fifth Discipline ที่เคยเป็นหนังสือขายดีในช่วงประมาณปี 1990 กล่าวถึงการสนทนากลุ่ม แบบ The World Cafe' ว่า เป็นวิธีการที่ง่าย เป็นธรรมชาติ และเป็น "The most reliable way" ที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ร่วมกัน (Collective creating) จึงน่าจะเหมาะสำหรับนำมาใช้ในการประชุมเพื่อระดมความคิด

การสร้างสรรค์ร่วมกัน หมายความว่า ไม่เพียงแค่ระดมความคิดจากผู้เข้าร่วมประชุมหลายๆคน มารวมกันเท่านั้น การสนทนากลุ่มที่มีทั้งการพูด และการฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟัง จะทำให้เกิดความคิดใหม่ที่ดีกว่าความคิดเดิม ที่แต่ละคนมีอยู่ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการสนทนา

ความเป็นธรรมชาติของ The World Cafe จะเห็นได้จากกำเนิดของ The World Cafe' ดังต่อไปนี้

Juanita Brown & David Isaac ได้รับมอบหมายให้จัดการประชุมแบบ Dialogue เพื่อระดมความคิดเรื่อง Intellectual Capital เมื่อเดือนมกราคม 1995 โดยจัดขึ้นในห้องนั่งเล่น ที่บ้านพักของคนทั้งสอง ซึ่งอยู่บนเนินเขาในเมืองเล็กๆแห่งหนึ่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้บริหารองค์กร จาก 7 ประเทศ จำนวน 24 คน การประชุมวันแรกผ่านพ้นไปแล้ว ได้ข้อสรุปเป็นโจทย์สำหรับวันที่สองว่า "ผู้นำควรจะมีบทบาทในการเพิ่มคุณค่าทุนทางปัญญาอย่างไร" เช้าวันรุ่งขึ้น ฟ้าครึ้ม ทำท่าว่าฝนจะตก Juanita เป็นห่วงว่าผู้เข้าร่วมประชุมที่มาถึงก่อนเวลาจะไปคอยกันที่ไหน เมื่อวานยังออกไปเดินชมวิวนอกบ้านได้  David เสนอให้จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้สำหรับให้นั่งดื่มกาแฟคุยกัน จึงช่วยกันตั้งโต๊ะให้พอกับจำนวนคน หาผ้าปู จัดแจกันดอกไม้ และมีกระดาษและปากกาหลากสีไว้บนโต๊ะเพื่อใช้ขีดเขียนเล่นได้ พยายามจัดให้ดูเหมือนว่า เป็น Cafe' จริงๆ จึงเขียนป้ายติดไว้หน้าห้องด้วยว่า " Homestead Cafe' ยินดีต้อนรับ" Homestead เป็นชื่อถนนที่ผ่านหนัาบ้าน ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มแรกมาถึง ท่าทางเห็นชัดว่าชอบใจ เดินไปรินกาแฟ หยิบครัวซอง แล้วก็ไปจับกลุ่มคุยกันที่โต๊ะ โดยหยิบยกโจทย์ ที่ค้างจากเมื่อวานขึ้นมาเป็นประเด็น ผู้ที่ทยอยมาภายหลังก็ทำแบบเดียวกัน ไม่ช้าก็เต็มที่นั่งที่เตรียมไว้ แต่ละโต๊ะคุยกันอย่างสนุกสนาน Juanita & David จึงตกลงกันว่าจะไม่เริ่มต้นใหม่ แต่ปล่อยให้การสนทนาดำเนินไปตามนั้น เวลาผ่านไปประมาณ 45 นาที การสนทนายังดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีคนลุกขึ้นพูดว่า อยากรู้จังว่าคนอื่นๆคุยกันว่าอย่างไร และเสนอว่าแต่ละโต๊ะน่าจะเหลือคนไว้เป็นเจ้าภาพสักคน ให้คนที่เหลือมีโอกาสแยกย้ายกันไปเยี่ยมโต๊ะอื่นๆ นำความคิดจากโต๊ะเดิมไปเล่าให้โต๊ะใหม่ฟัง จะได้เชื่อมประสานความคิดกัน ทุกคนเห็นด้วย จึงใช้เวลาสองสามนาทีสรุปเรื่องของแต่ละโต๊ะ เหลืออาสาสมัครเป็นเจ้าภาพอยู่ที่โต๊ะหนึ่งคน แล้วแยกย้ายกันไปหาโต๊ะใหม่เพื่อพบเพื่อนใหม่ การสนทนาดำเนินต่อที่โต๊ะใหม่อีกประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็มีผู้เสนอให้ย้ายโต๊ะอีกครั้ง โดยมีอาสาสมัครคนใหม่อยู่เป็นเจ้าภาพของแต่ละโต๊ะเช่นเดียวกับครั้งก่อน แล้วการสนทนาก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง รวมทั้งช่วยกันต่อเติมข้อความหรือแผนภาพที่มีผู้เขียนไว้บนแผ่นกระดาษบนโต๊ะ คุยกันเพลินจนใกล้จะถึงเวลาอาหารกลางวัน  David จึงชวนให้แต่ละโต๊ะสรุปความคิดไว้บนแผ่นกระดาษ แล้วนำมาปิดไว้รอบห้อง เพื่อให้ทุกคน สามารถเดินชมผลงาน ที่เป็นงานสร้างสรรค์ที่ทุกคนมีส่วนร่วมกันสร้างขึ้นมาได้อย่างงดงาม โดยที่มิได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นไปได้ถึงขนาดนี้

นั่นคือกำเนิดของ The World Cafe' ที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ เข้าใจว่าเป็นเพราะทุกคนคุ้นเคยกับบรรยากาศของ Cafe' การสนทนาจึงเกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดผลงานที่เป็นการสร้างสรรค์ร่วมกันได้ Juanita Brown & David Isaac ได้นำวิธีการนี้ไปใช้ต่อ มีการดัดแปลงไปจากเดิมบ้างเพียงเล็กน้อย และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายสิบประเทศทั่วโลกในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย เนื่องจากเป็นวิธีที่ดูจะเป็นธรรมชาติดังเหตุการณ์ที่เล่าไว้ข้างต้น ง่ายสำหรับผู้จัด ไม่ต้องการทักษะอะไรมากนัก นอกจากการจัดบรรยากาศให้เหมือน Cafe' สำคัญที่ตั้งประเด็นคำถามให้ดี ให้โดนใจ หรือเป็นที่น่าสนใจของผู้เข้าร่วมประชุม และคอยขอร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุม "ฟัง" มากๆ การฟังคือหัวใจของการสนทนาแบบ Dialogue เพราะ The World Cafe' คือการสนทนาแบบ Dialogue แบบหนึ่ง เพียงแต่เป็นแบบที่ง่าย เป็นธรรมชาติ และได้ผลขนาดที่ Peter Senge กล่าวว่า เป็น The most reliable way

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

11 ก.ค. 53 

หมายเลขบันทึก: 663488เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2019 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2020 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท