อำเภอเชียงคาน



อำเภอเชียงคาน

นายอานนท์ ภาคมาลี (คนหาปลา ข้าราชการบำนาญ)

เมื่อวันที่ 29 – 30 มิถุนายน 2562 ได้มีโอกาส ไปท่องเที่ยวอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย กับกลุ่มเพื่อนๆ “เชียงคาน” มาจากคำสองคำ คือคำว่า เชียง ซึ่งมักจะใช้นำหน้าชื่อเมือง ส่วนคำว่าคาน มาจากชื่อ ขุนคาน กษัตริย์แห่งเมือง เชียงทอง ผู้สร้างและตั้งเมือง ปัจจุบันเชียงคานมีอายุมากมากกว่าร้อยปีแล้ว แม้จะมีพัฒนาการของชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่บรรยากาศทาง วัฒนธรรมที่มีอัตรลักษณ์ก็ยังคงสืบสานและผสมผสานอย่างลงตัวตลอดแนว “ถนนชายโขง”  ซึ่งเป็นชื่อถนนสายสั้นๆริมแม่น้ำโขง มีความยาวไม่ถึง 3 กิโลเมตร เป็นทางสัญจรถนนกลางของชุมชน ที่ทั้งสองฝั่งถนนเรียงรายด้วยบ้านไม้เก่า วิวสวยตามริมฝั่งโขง ความเงียบสงบ บรรยากาศดี และรอยยิ้มพร้อมมิตรภาพของชาวเชียงคาน อันเป็นเอกลักษณ์ที่หาไม่ได้จากถนนคนเดินที่อื่น “บ้านไม้บางหลังมีอายุมากกว่า 100 ปี”  เช่น บ้านไม้บ้านตาแสวง เรือนไม้ตาสิงห์คำ บ้านดิน เฮือนเจ้าเมืองเชียงคาน เล้าเข้ายายอวน (หมายถึง ยุ้งข้าว) ที่ซ่อนตัวปะปนในทิวแถวของเรือนไม้เก่า รอการมาค้นหาของผู้มาเยือน ที่จะสร้างความประทับใจในคุณค่าของ “วิถีเชียงคาน”



ตำนานแก่งคุดคู้

นานมาแล้ว มีนายพรานชาวลาวคนหนึ่งชื่อตาจึ่งดึง นายพรานผู้มีรูปร่างสูงใหญ่มีจมูกสีแดงใบโตซึ่งรูจมูกนั้นกว้างมาก ในยามที่ตาจึ่งดึงนอนหลับเด็กๆได้แอบเข้าไปเล่นสะบ้า ในรูจมูก จึงมีคำกล่าว เป็นภาษาเลยว่า “จึ่งคึงดังแดง นอนตะแคงจุฟ้าเด็กน้อย เล่นสะบ้าอยู่ในฮูดัง”

ตาจึ่งคึงเป็นผู้มีความสามารถในการล่าเนื้อป่า (สัตว์ป่า) และเนื้อน้ำ (สัตว์น้ำ) ความเก่งกาจของเขาเป็นที่เลื่องลือไปไกลในทั่วสารทิศ บ่ายวันหนึ่ง ในขณะที่ตาจึ่งดึงกำลังหาปลาอยู่ริมแม่น้ำโขง ได้แลไปเห็นควายสีเงินตัวใหญ่กินน้ำอยู่ฝั่งตรงข้าม ด้วยความปรารถนาที่อยากจะกินเนื้อควายสีเงินตัวนี้ ตาจึ่งคึงจึงดักซุ่มยิงควายตัวนี้อยู่ที่พุ่มไม้ริมน้ำ ในระหว่างที่เขากำลังเหนี่ยวไกลปืนได้มีเรือสินค้าแล่นผ่านมาจากทางใต้ ควายสีเงินเห็นเรือสินค้า เกิดตกใจวิ่งหนีเข้าป่าขึ้นภูเขาไปได้ (ต่อมาเขาลูกนี้ได้ชื่อว่า “ภูควายเงิน”) ตาจึ่งคึง จึงยิงพลาดเป้าด้วยความโกรธพ่อค้า ที่เป็นเหตุให้เขาไม่สามารถล่าควายสีเงินได้ ตาจึ่งคึง จึงยิงปืนไปที่ภูเขาลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมน้ำฝั่งลาว เพื่อระบายความโกรธด้วยความแรงของกระสุนปืน ทำให้ยอดเขานั้นขาดหวิ่นไป ซึ่งในเวลามาภูเขาลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ผาแบ่น” และหมู่บ้านในฝั่งไทยที่อยู่ตรงข้าม ก็ถูกเรียกว่า “บ้านผาแบ่น” (แบ่นหมายถึงเล็ง) ไม่เพียงเท่านี้ตาจึ่งคึงได้หาวิธีที่จะทำให้เรือสินค้าไม่รบกวนการล่าสัตว์น้ำของเขา โดยตาจึ่งคึงได้นำก้อนหินจากภูเขามากั้นลำน้ำไว้ เณรน้อยเห็นดังนั้น จึงคิดว่าถ้าหากตาจึ่งคึง นำหินมากั้นน้ำโขงได้สำเร็จ จะสร้างความเดือดร้อนให้กับตน และสัตว์ที่อาศัยน้ำโขงในการดำรงชีพ และเป็นเส้นทางสัญจรไปมา  เณรน้อยจึงได้ออกอุบาย ให้ตาจึ่งคึง นำไม้ไผ่ (ไม้เฮียะ) มาทำเป็นไม้คานในการหาบก้อนหิน

เพราะการกระทำเช่นนี้ จะใช้เวลาน้อยกว่าถือหินไปที่ละก้อน ตาจึ่งคึง หลงเชื่อกลอุบาย จึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นไม้คาน หาบก้อนหิน ในระหว่างที่หาบไปนั้นไม้คานเกิดหักความคมของไม้คาน ซึ่งเป็นไม้ไผ่ได้บาดคอ ตาจึ่งคึง ถึงแก่ความตาย ร่างของตาจึ่งคึง นอนตายในลักษณ์คุดคู้ บริเวณที่เขานำก้อนหินมากั้นน้ำไว้จึงได้ ชื่อว่า “แก่งคุดคู้” จนถึงทุกวันนี้….

หมายเลขบันทึก: 662428เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2019 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2019 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท