ฝึกสอนสัปดาห์ที่ 8


เมื่อดิฉันได้มาฝึกสอนโรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร ดิฉันได้รับผิดชอบสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 3 ห้อง คือ ม.1/5 ม.1/6 และ ม.1/8 สองสัปดาห์แรกดิฉันได้สังเกตุการเรียนการสอนของครูพี่เลี้ยง เมื่อถึงเวลาที่ฉันต้องเข้าไปสอนครั้งแรกห้องแรกก็รู้สึกประหม่าเล็กน้อย ดิฉันพยายามหากิจกรรมคาบแรกที่ทำให้เรารู้จักกับนักเรียน และนักเรียนกับนักเรียนเองรู้จักกันมากขึ้น นักเรียนก็รู้สึกสนุกสนาน และกล้าที่จะคุยกับครู ในช่วงแรกนักเรียนดูตั้งใจเรียน เข้าเรียนครบทุกคนอาจจะเป็นเพราะพึ่งเข้ามาอยู่ม.1 ช่วงหลังๆนักเรียนเริ่มเสียงดัง เริ่มไม่ค่อยสนใจเรียน กวนเพื่อน จากที่เคยพูดเพราะกับนักเรียนมาตลอด ก็จะมีการดุแบบโหดๆบ้าง ถามว่าชอบไหมที่ดุนักเรียน ไม่ค่ะ เพราะมันทำให้เราเสียเวลาไปกับการตักเตือนแทนที่นักเรียนจะได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมอย่างเต็มที่ ทุกครั้งที่เข้าไปสอนก้จะพยายามพูดกับนักเรียนเสมอว่านถ้านักเรียนไม่ชอบให้ครูโหด ก็ให้นักเรียนพูดคุยกันเบาๆ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนคนอื่นๆ ก็ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้านักเรียนยังไม่ฟังก็จะใช้วิธีการนับถอยหลัง หรือไม่ปล่อยให้ออกจากห้อง แต่สิ่งที่กลัวในตอนนี้ คือ กลัวสอนไม่ทัน เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือเยอะมาก ซึ่งบางครั้งเราจำเป็นต้องสรุปเอาแค่สาระสำคัญจริงๆไปสอนนักเรียน

…..สรุปกิจกรรมการเรียนการสอนในสัปดาห์ที่ 6

ม.1/6 สรุปเรื่องจุดเดือดของสารบริสุทธิ์และสารผสม ซึ่งพบว่า เมื่อให้ดูกราฟนักเรียนไม่สามารถสรุปความรู้จากกราฟได้เอง ครูต้องคอยพูดกระตุ้นจนกระทั่งนักเรียนจะตอบได้ ครูพยายามที่จะให้นักเรียนเป็นคนตอบเอง และนำคำตอบของนักเรียนมาเขียนสรุป พร้อมกับเว้นช่องว่างบางช่องให้นักเรียนเติมเพื่อเช็คว่านักเรียนเข้าใจดีหรือไม่ ผลปรากฏว่านักเรียนส่วนมากสามารถตอบได้ บางคนที่ไม่ฟังก็จะลอกจากเพื่อน แต่อย่างน้อยนักเรียนก็ส่งงานครบทุกคน ครั้งต่อไปต้องกระชับเวลาเรียนให้เร็วกว่านี้ เนื่องจากว่าห้อง 1/6 ยังเรียนช้ากว่าห้องอื่นๆ เพราะคาบเรียนมักจะตรงกับวันหยุด หรือวันที่มีกิจกรรมต่างๆ

ม.1/8 เรียนเรื่องจุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสมเรียบร้อยแล้ว โดยให้นักเรียนทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 5 ขั้นตอน โดยในครั้งนี้ครูเป็นผู้กำหนดแต่ละขั้นตอนให้นักเรียนก่อน ตั้งแต่ตั้งปัญหา ตั้งสมมติฐาน จัดทำตาราง(แต่เว้นช่องให้นักเรียนตอบ) ให้นักเรียนอ่านค่าจากตารางเพื่อนำค่ามาวิเคราะห์ข้อมูล ครูถามคำถามให้นักเรียนตอบข้อมูลที่เกิดขึ้นจากตาราง เพื่อนำมาวิเคราะห์ ในขั้นสรุปผลครูพยายามให้นักเรียนตอบเอง โดยนำข้อมูลที่วิเคราะห์มาสรุปว่าจุดหลอมเหลวของสารบริสุทธิ์และสารผสมเป็นอย่างไร เว้นช่องว่างให้นักเรียนตอบ ผลปรากฏว่านักเรียนสามารถตอบได้ มีเพียง 4-5 คนที่ตอบไม่ได้

ม.1/5 เป็นห้องที่เรียนได้เร็วที่สุด มาถึงเรื่องความหนาแน่นของสารแล้ว โดยให้นักเรียนหามวล และปริมาตรของวัตถุ เพื่อมาคำนวณความหนาแน่น ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อสอนห้องนี้เป็นครั้งแรกคือ ต้องเสียเวลาในการย้ายอุปกรณ์จากห้อง 226 มา 225 นักเรียนใช้เชือกมัดแท่งเหล็กเพื่อหาปริมาตรก่อน แล้วมาหามวล ทำให้มวลของวัตถุมีทั้งน้ำ และเชือกปนอยู่ด้วยจึงต้องให้นักเรียนทำใหม่ หลายกลุ่มทำกิจกรรมไม่เสร็จตามเวลา จึงต้องทำต่อในคาบถัดไป

หมายเลขบันทึก: 662341เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2019 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2019 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครั้งหนึ่ง เคยไปร่วมประชุมกับ อาจารย์ผู้ใหญ่ด้านการศึกษาท่านหนึ่ง ท่านบอกชัดเจนประโยคหนึ่งว่า “การสอนคอนเซ็ป ไม่อาจจะสำเร็จได้ด้วยการบอกคอนเซ็ป” …..

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง … ถ้าเทียบเคียงกับที่นิสิตเหล่ามานี้ เราอาจจะตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ท่เกิดกับเด็กดู ….

เพราะถ้าเป็นไปตามที่ท่านว่า การบอกเพียงสาระสำคัญเท่านั้น อาจไม่ทำให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายของเรา

ขอแนะนำให้เขียนประกอบภาพ ให้เห็น เรื่องราว How to ในการฝึกสอนของเอง อาจเลือกมาเพียงหน่วยเดียว หน่วยใดก็ได้ ที่รู้สึกประทับใจที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท