พระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พิมพ์ใหญ่จมูกใหญ่อายุราว1,000-1,500ปี


พระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก

      



ปี พ.ศ. 2517 กรมศิลปากรได้เข้ามาพิสูจน์รอยพระพุทธบาท กระทั่งทราบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี จึงได้สร้างมณฑปครอบไว้และประกาศให้บริเวณนี้ทั้งหมดเป็นโบราณสถาน จากนั้นในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นประธานในพิธียกพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระมณฑปและสมโภชรอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก

พระถ้ำเสือพระพิมพ์เนื้อดินเผาขนาดเล็ก เป็นพระกรุเก่าแก่อีกพิมพ์หนึ่งซึ่งได้รับการกล่าวขานมาแต่โบราณกาลว่า เข้มขลังเป็นเลิศในด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด แคล้วคลาด และนิรันตราย ไม่แพ้พระเครื่องใดๆ โดยเฉพาะ ‘ชาวชุมชนแถบริมฝั่งแม่น้ำจระเข้สามพัน’ ย่อมทราบถึงอานุภาพและกิตติศัพท์เป็นอย่างดี แทบทุกครัวเรือนจะมี “พระถ้ำเสือ” ไว้ในครอบครอง เพื่อกราบไหว้บูชาและสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เนื่องจาก “เขาคอก” อันเป็นแหล่งที่ค้นพบพระถ้ำเสือ ตั้งอยู่ไม่ห่างจากลำน้ำจระเข้สามพันนัก ปัจจุบันคือ “โบราณสถานคอกช้างดินและวัดเขาถ้ำเสือ” ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

พระถ้ำเสือ นี้ ไม่มีหลักฐานระบุถึงผู้สร้างอย่างชัดเจน เป็นเพียงข้อสันนิษฐานโดยผู้ทรงคุณวุฒิในวงการ โดยบางท่านก็สันนิษฐานว่า พระถ้ำเสือน่าจะมีอายุการสร้างไม่น้อยกว่า 1,300 ปี สร้างโดยพระเถราจารย์ นักบวช หรือพระฤาษี ผู้ทรงคุณอันบริสุทธิ์และมีพระเวทสูงส่ง บางท่านก็สันนิษฐานว่า "พระฤๅษี" เป็นผู้สร้าง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2220 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งยังไม่มีบทสรุปเป็นที่แน่ชัด

ตามคำบอกเล่า พระถ้ำเสือ ได้ถูกค้นพบมานานแล้ว ในราวปี พ.ศ.2470 โดยชาวไร่ผู้หนึ่งเดินทางขึ้นเขาเสือ เพื่อไปหามูลค้างคาวตามถ้ำ แล้วพบพระจำนวนมาก จึงนับเป็นการแตกกรุครั้งแรกและเป็นที่มาของชื่อพิมพ์พระ หลังจากนั้นได้มีผู้พบตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในถ้ำ เนินเขา วัด และเจดีย์ อาทิ ถ้ำเขานกจอด เขาวงพาทย์ เจดีย์เขาพระ วัดหลวงเขาดีสลัก และตามถ้ำต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี

ในปี พ.ศ.2514-2515 ที่วัดหน่อพุทธางกรู อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ก็มีผู้ขุดพบพระถ้ำเสือปะปนอยู่กับพระกรุสมัยอยุธยาอยู่ 2-3 องค์ ต่อมาไม่นานที่วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็มีการพบพระถ้ำเสืออยู่รวมกับพระยอดธงในเจดีย์หน้าโบสถ์หลังเก่า ก่อนการบูรณะ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสมบัติส่วนตัวของ พระอาจารย์คง หรือ ‘พระพิรอด’ พระเกจิผู้สร้างวัดสองพี่น้อง ท่านเป็นผู้เรืองวิทยาคมแก่กล้าและเป็นพระอาจารย์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า “พระถ้ำเสือ” ได้ถูกค้นพบและนำมาสักการะเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

พระถ้ำเสือ เป็นพระเนื้อดินเผาผสมว่านเกสรวิเศษต่างๆ ที่มีความละเอียดสูง พื้นผิวองค์พระแน่นหนึบปราศจากความเหี่ยวย่น แต่แฝงด้วยความเก่าแก่ และดูเข้มขลังในที โบราณจารย์ท่านสันนิษฐานว่าก่อนนำเอามวลสารมา

หล่อหลอมเป็นองค์พระนั้น ได้นำดินมานวดบดป่นจนละเอียด แล้วกรองเอาสิ่งแปลกปลอมออกจนเหลือเป็นเนื้อดินบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งสกปรกเจือปน ก่อนผ่านความร้อนและผ่านกาลเวลามานับพันปี

พุทธศิลปะของ “พระถ้ำเสือ” เป็นแบบอู่ทองล้อทวารวดี ที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะอย่างชัดเจน พิมพ์ทรงส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้าย ‘เขี้ยวเสือ’ มีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แตกต่างกันไป โดยสามารถแยกเป็นพิมพ์หลักๆ ได้ดังนี้ 1. พิมพ์ใหญ่ แยกย่อยเป็น พิมพ์หน้าหนุ่ม พิมพ์หน้านาง 2. พิมพ์กลาง แยกย่อยเป็น พิมพ์หน้าฤๅษี พิมพ์หน้าหนุ่ม (ตุ๊กตา) 3. พิมพ์เล็ก แยกย่อยเป็น พิมพ์หน้าหนุ่ม พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์สังฆาฏิ และ 4. พิมพ์ต้อ หรือ พิมพ์จิ๋ว นอกจากนี้ยังมีพิมพ์อื่นๆ ซึ่งพบเห็นจำนวนไม่มาก ส่วนพิมพ์ที่เป็นที่

นิยม คือ ‘พิมพ์กลาง หน้าฤๅษี’ ด้วยลักษณะพิมพ์ทรงมีความงดงาม ปรากฏรายละเอียดพระพักตร์ และจำนวนพระก็มีมากอีกด้วย

สำหรับการพิจารณานั้น เนื่องจาก พระถ้ำเสือ เป็นพระเนื้อดินเผาที่มีอายุการสร้างยาวนานมาก นอกจากพิมพ์ทรงแล้ว ยังต้องดูที่เนื้อหามวลสาร สีสันวรรณะจากการเผา และคราบกรุในแต่แหล่งที่พบ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไป ณ ปัจจุบัน จะหาดูหาเช่าของแท้นั้นยากยิ่ง สืบเนื่องจากพุทธคุณที่เป็นเลิศ ไม่ว่าจะเป็นด้านคงกระพันชาตรี มหาอำนาจ เสริมบุญบารมี บันดาลโชคลาภ และความเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ปรากฏแก่ผู้ครอบครอง ผู้มีไว้บูชาจึงต่างหวงแหนยิ่งนักครับผม

ขอบพระคุณ ข้อมูลจากท่าน อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์
http://www.arjanram.com/relic_detail.php?g=2&id=733



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท