เจ้าเมืองหนองสูง


พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์)

พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก (พ.ศ. ๒๓๘๗-๒๔๒๐) ปัจจุบันคืออำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ภาคอีสานของประเทศไทย อดีตบรรดาศักดิ์ที่ พระสีหนาม หรือ ท้าวสีหนาม ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคำอ้อ ในประเทศลาว สืบเชื้อสายจากเจ้านายในราชตระกูลเผ่าภูไท (ผู้ไท) แห่งเมืองคำอ้อและเมืองคำเขียว ซึ่งอพยพมาจากแคว้นสิบสองจุไทหรือแคว้นสิบสองเจ้าไททางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม พระไกรสรราช (สิงห์) เป็นต้นตระกูล ไตรยวงค์ กลางประพันธ์ อาจวิชัย โกมารพัฒน์ ในอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

พระประวัติ

เชื้อสาย

พระไกรสรราช (สิงห์) คนทั่วไปนิยมออกพระนามว่า เจ้าไกรสรราช หรือ ท้าวไกรยราช มีพระนามเดิมว่า ท้าวสิงห์ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองคำอ้อ ซึ่งเป็นเมืองแฝดคู่กันกับเมืองคำเขียว คนลาวทั่วไปนิยมออกนามเมืองรวมกันว่า เมืองคำอ้อคำเขียว ในบรรดาศักดิ์ที่ พระสีหนาม หรือ ท้าวสีหนาม ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่มาจากพระนามเดิมว่า สิงห์ เมืองคำอ้อนี้เดิมเป็นหัวเมืองภูไทขึ้นแก่นครหลวงเวียงจันทน์ พระไกรสรราช (สิงห์) มีเชื้อสายเป็นเผ่าภูไทดำ ในพงศาวดารเมืองแถนกล่าวว่าเผ่าภูไทดำตั้งรกรากดั้งเดิมที่นาน้อยอ้อยหนู เมืองแถนหรือเมืองแถง ปัจจุบันเมืองแถนถูกเปลี่ยนนามเมืองเป็นเมืองเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า เมืองชายแดน เมืองเดียนเบียนฟูตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ชาวภูไทดำได้อพยพจากเมืองเดียนเบียนฟูเพื่อหนีภัยความแห้งแล้งกันดารมาตั้งเมืองใหม่ ณ เมืองวังและเมืองคำอ้อ ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว ชาวภูไทได้อพยพไปตั้งรกรากเป็นบ้านเมืองหลายเมืองในแขวงสุวรรณเขต เช่น เมืองวัง เมืองวังอั่งคำ (วังอ่างคำ) เมืองวังมน เมืองสุพรรณอ่างทอง เมืองคำอ้อ เมืองคำเขียว เมืองเซียงฮ่ม (เชียงร่ม) เมืองผาบัง เมืองภูวานากระแด้ง เมืองพาน เมืองบก เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพะลาน (พ้าลั่น) เป็นต้น สันนิษฐานว่า บรรพบุรุษของพระไกรสรราช (สิงห์) คงเป็นเจ้าเมืองคำอ้อสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

อพยพจากเมืองคำอ้อ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) แห่งราชวงศ์จักรี ท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ ได้เป็นผู้นำพาไพร่พลผู้คนชาวภูไทจากเมืองคำอ้อจำนวน ๘๐๖ คน และชาวภูไทจากเมืองวังจำนวน ๙๕๒ คน รวม ๑,๖๕๘ คน อพยพหนีภัยสงครามจากสยามและความแห้งแล้งจากบ้านเมืองเดิมข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่ท่าสีดา เมืองมุกดาหาร ต่อมา พระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ ๓ ได้อนุญาตให้ท้าวสีหนาม (สิงห์) และไพร่พลไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ดงบังอี่ (ดงบักอี่) แขวงเมืองมุกดาหาร อันเป็นพื้นที่ตั้งของอำเภอหนองสูงในปัจจุบัน

ตั้งบ้านคำชะอีและบ้านหนองสูง

เมื่อท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ ได้พาไพร่พลชาวภูไทอพยพหนีภัยสงครามและการกวาดต้อนของสยามเข้ามาอาศัยอยู่กับพระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหารองค์ที่ ๓ โดยอาศัยอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งแล้ว ท้าวสีหนาม (สิงห์) ก็กราบขออนุญาตเจ้าเมืองมุกดาหารอพยพหาแหล่งทำมาหากินและลงหลักปักฐานบ้านเมืองแห่งใหม่ เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงกราบลาเจ้าเมืองมุกดาหารพาไพร่พลภูไททั้งมวลอพยพออกไปทางทิศตะวันตกของเมืองมุกดาหาร โดยมีท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อเป็นผู้นำ ฝ่ายกลุ่มภูไทจากเมืองวังได้ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ ณ บริเวณบ้านคำชะอี (คำสระอี) ในปัจจุบัน ฝ่ายภูไทเมืองคำอ้อนั้นได้อพยพลงมาทางทิศใต้อีกประมาณ ๕ กิโลเมตร มาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน ณ ริมหนองน้ำกลางดงทึบ ซึ่งมีหญ้าชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายต้นผือคนทั่วไปเรียกว่า หญ้าแวง เจริญงอกเงยขึ้นอยู่ในหนองน้ำแห่งนี้จำนวนมาก คนทั้งหลายจึงเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า หนองแวง อยู่มาไม่นานชาวบ้านได้พบหนองน้ำใหญ่อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่สูงขึ้นไปจากหนองแวง คือตั้งอยู่บนจอมภูหรือบนยอดภูผากูด หนองแห่งนี้มีน้ำขังอยู่ตลอดปีคนทั่วไปจึงเรียกว่า หนองสูง เนื่องจากเป็นหนองน้ำที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ต่อมาจึงได้เรียกชื่อหนองน้ำบนยอดภูผากูดนี้มาเป็นชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหนองสูง เป็นเหตุให้หนองแวงซึ่งอยู่ติดหมู่บ้านถูกเรียกนามว่า หนองสูง เช่นเดียวกันกับหนองสูงบนยอดภูผากูดสืบมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นเจ้าเมืองหนองสูง

พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ได้ยกทัพลงมาทางอีสาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) โปรดเกล้าฯ ให้กองทัพไทยไปทำสงครามและจับเจ้าอนุวงศ์ได้ในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ กองทัพไทยได้กวาดต้อนชาวภูไทจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้ามายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขงจำนวนมาก ชาวภูไทเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งบ้านเมืองกระจายกันไปอยู่ทั่วภาคอีสาน เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น ในปี พ.ศ. ๒๓๘๗ พระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหารหรือเมืองบังมุก ได้นำท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวราชอาดกรมการเมืองคำอ้อ เพี้ยเมืองแสน ท้าวสุวรรณโคตร และท้าวอุปคุตกรมการชั้นผู้ใหญ่จากเมืองวังในฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเจ้านายเผ่าภูไททั้งหมด เข้าพบเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ที่ออกมาจัดราชการเมืองเขมรอยู่ที่เมืองพนมเป็ญ ครั้นความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เจ้านายภูไทที่ถูกนำตัวมาทั้งหมดได้ประกอบพิธีดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อฝ่ายสยาม หลังจากนั้น พระจันทรสุริยวงษ์ (พรหม จันทรสาขา) เจ้าเมืองมุกดาหาร ได้นำตัวท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ และกรมการเมืองวังเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสีหนาม (สิงห์) เจ้าเมืองคำอ้อ เป็นที่ พระไกรสรราช ยกบ้านหนองสูงเป็น เมืองหนองสูง ให้พระไกรสรราช (สิงห์) อดีตท้าวสีหนาม เป็นเจ้าเมืองหนองสูง โดยมีสารตราตั้งเจ้าเมืองปรากฏในเอกสาร ร.๓ จ.ศ.๑๒๗๖ เลขที่ ๕๘ หอสมุดแห่งชาติ มาเมื่อวันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ฉศก จ.ศ. ๑๒๐๖ ตรงกับวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ให้เมืองหนองสูงเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา ทำราชการสนองพระเดชพระคุณขึ้นต่อเมืองมุกดาหาร และให้เมืองมุกดาหารแบ่งเขตแดนให้เมืองหนองสูง คือ ด้านทิศตะวันออกตั้งแต่ห้วยทราย ด้านทิศเหนือถึงเขานางมอญ ด้านทิศตะวันตกถึงห้วยบังอี่ ด้านทิศใต้จรดห้วยทราย มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่อำเภอหนองสูง อำเภอคำชะอี และอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และมีพื้นที่บางส่วนล้ำเข้าไปถึงบ้านขุมขี้ยาง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชาวบ้านทั่วไปนิยมออกพระนามของพระไกรสรราชโดยลำลองว่า อาญาโหลง ตามสำเนียงของชาวภูไท ซึ่งตามสำเนียงชาวลาวนั้นออกพระนามลำลองว่า อาญาหลวง ส่วนโฮงที่ประทับของพระองค์ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า คุ้มเหนือ

     บรรพชนผู้ไท #เมืองหนองสูง เป็นเจ้าผู้ครองนครผู้ไทเมืองคำอ้อคำเขียว

ในลาวล้านช้างร่มขาว 
ด้วย เอาแต่ ผู้ไทด้วยกัน
.......... 
พวกผู้ไทเมืองคำอ้อ นี้ เป็นเจ้า สืบเหง้ามา แต่ แคว้น ๑๒ จุไทหรือ ๑๒ เจ้าไท 
คราวเทครัวอพยพคนลงมา กับ พญากล้าศรีวรราชยังแผ่นดินลาวล้านช้าง แล้ว แยกเมืองกัน ออกปกครอง เป็นส่วนหนึ่งใน พระราชอาณาจักร ลาวล้านช้างพวกนี้ ได้ ความชอบต่อราชสำนักลาวด้วยเข้าปราบปราม จลาจล ให้ สงบใน เวียงจันทน์ 
พระเจ้ากรุงเวียงจันทน์ จึงมี บรมราชโองการ แบ่งแผ่นดินให้ 
มี เมืองบก เมืองวัง เมืองคำเกิดคำม่วน เมืองพลาน เมืองคำเขียวคำอ้อ เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองผาบัง เมืองสบแอด เมืองเชียงค้อ เมืองเซโปน ต่างปกครองตุ้มไพร่ ของตน และ ต่างส่ง บรรณาการ สามฝ่ายฟ้า ไหว้สามาแจ้ง แก่ สยาม ลาว ญวนอันนาม(แกว) ตามแต่ โอกาส
มี เจ้าอัญญาทั้ง ๔ ปกครองแยกขาดออกจากกัน และ มักขึ้น ราชการกินศักดิ์นาในลาวล้านช้างกรุงเวียงจันทน์ และ จำปาสัก นิยมค้าขาย เป็น เมืองที่ มีศักยภาพมาก เป็นที่สุด สามารถ ต้านทานทัพของสยามเป็นครัวสุดท้าย และ ฝ่ายแพ้ สงครามต่อสยาม ใน ปี 2385 โดยทัพของสยาม นำโดย เจ้าพระยามหาบดินทร์เดชา ( สิงห์ สิงห์เสรนี) โอบล้อม เผายุ้งฉาง และ ทลุทะลวงยิงด้วยปืนกลไฟ 
ภายหลังจึงเข้าเกลี้ยกล่อมเจรจาหว่านล้อมให้ ยอม สวามิภักดิ์ ต่อ สยาม และ ได้ นำไพร่พลมา ๑,๖๘๒ คน ที่ พอจะรวบรวมได้ ทั้งเมืองวัง และ คำอ้อคำเขียว ลาวบางส่วน เทครัวข้ามฝั่งมา ใน ปี พ.ศ.๒๓๘๖ ตั้งบ้านเมืองที่ ริมหนองน้ำ และ ริมสระแมงอี่ 
ปี พ.ศ.๒๓๘๗ สยาม นำโดย เจ้าพระยามหาบดินทรเดชา( สิงห์ สิงห์เสรนี )
ได้พาตัว ครัวเจ้าองค์ปกครองทั้งหลาย ลงไปค่าย ฐานทัพที่ กรุงพนมเปญ เพื่อ 
ทูลเกล้าต่อ สยาม ให้ ถือ น้ำพิพัฒน์สัตตยา ตั้งต่อ กรุงเทพทราวดีศรีอโยธิยา
และ รัชกาลที่ ๓ ของ สยาม จึง ได้ โปรดเกล้าลงมา คืนศักดิ์ดินาบรรดาศักดิ์ คืนคง ให้ เป็น เจ้า 
เป็น เจ้าเมืองหนองสูง ใน ปี พ.ศ.๒๓๘๗ 
หนังสือ เดินทางมาถึง ปี ๒๓๘๘ วัน ศุกร์ ที่ ๑๓ เดือน สิงหาคม ชาวเมืองตั้งกองบุญ ถึง ๑๖ กองและ พร้อมพากัน แผ้วถาง สร้างวัด ประจำเมือง (อ้างอิง : อภิชิต แสนโคตร

สารตราเจ้าพระยาจักรีเรื่องตั้งเมืองหนองสูง

ในจดหมายเหตุ ร. ๓ จ.ศ. ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) เลขที่ ๓๓ หอสมุดแห่งชาติ สารตราเจ้าพระยาจักรี เรื่อง ตั้งเมืองหนองสูง กล่าวไว้เป็นเนื้อความโดยละเอียด ดังนี้

หนังสือเจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงเมืองแสน เมืองจันทน์ ท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ด้วยเจ้าพระยาบดินทร์เดชา บอกเข้าไปกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระอุปฮาตผู้ว่าราชการ ท้าวเพี้ย เมืองมุกดาหาร พาตัวท้าวราชอาตเมืองคำอ้อ เพี้ยสุวรรณโคตรเมืองวัง ลงไป ณ เมืองพนมเปญพระอุปฮาตแจ้งข่าว เจ้าพระยาบดินทร์เดชาว่า พระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวอุปคุต ท้าวสุวรรณเมืองวัง เพี้ยเมืองแสนเมืองวัง พาครอบครัวสามิภักดิ์ ได้ให้ครอบครัวตั้งอยู่ที่หนองสูง ดงบังอี่ แขวงมุกดาหาร เป็นคนเมืองคำอ้อ ท้าวสีหนาม ๑ ท้าวเพี้ย ๓๒ รวม ๓๓ ฉกรรจ์ ๑๔๖ ครัว ๖๒๗ รวม ๘๐๖ เป็นคนเมืองวัง ท้าวเพี้ย ๓๑ ฉกรรจ์ ๑๗๔ ครัว ๖๔๗ รวม ๘๕๒ รวม ๑,๖๕๘ คน ครัว ๒ เมืองนี้สมัครทำราชการกับเมืองมุกดาหาร ท้าวอุปฮาต ท้าวเพี้ย จะขอรับราชทานที่หนองสูง ดงบังอี่ ตั้งเป็นเมืองขึ้น ให้ท้าวสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวเพี้ยเมืองวัง รวบรวมครอบครัว บ่าวไพร่ ตั้งบ้านเรือน ทำราชการขึ้นกับเมืองมุกดาหาร และพระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อนั้น พระมหาสงคราม เจ้าอุปราชเวียงจันทน์ พาลงไปเฝ้าทูลละอองฯ แจ้งราชการ ณ กรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานได้ตั้งน้ำพระพิพัฒน์สัตยาให้พระสีหนาม ท้าวเพี้ยเมืองคำอ้อ ท้าวเพี้ยเมืองวัง กระทำสัตยานุสัตย์รับพระราชทาน น้ำพระพิพัฒน์สัจจาตามอย่างธรรมเนียมแล้ว ได้นำเอาหนังสือ บอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชา กราบบังคมทูลพระกรุณา พาพระอุปฮาต ผู้ว่าราชการเมืองมุกดาหาร พระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ ท้าวเพี้ยเมืองวัง เข้าเฝ้าทูลละอองฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองฯ แล้ว จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า เมืองคำอ้อ เมืองวัง พลเมืองฟากของตะวันออก เหล่านี้ก็เป็นข้าขัณฑเสมา กรุงเทพมหานครแต่เดิม พากันไปพึ่งอ้ายญวน เมื่อครั้งเจ้าอนุเวียงจันทน์ เป็นกบฏขัดแข็งบ้านเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้กองทัพยกทัพไปทำลายบ้านเมืองให้ยับเยิน หัวเมืองลาวฟากตะวันออกที่รู้ผิดโทษตัวหมายจะเอาอ้ายญวนเป็นที่พึ่งมิได้ พาครอบครัวสามิภักดิ์ข้ามมาขออยู่กับหัวเมืองฟากของข้างนี้ ก็ได้มีสารตราโปรดเกล้าฯ ขึ้นไปเถิง เจ้าเมือง อุปฮาต ท้าวเพี้ยแต่ก่อนว่าถ้านายไพร่ ครอบครัวหัวเมืองลาว ฟากของตะวันออกสามิภักดิ์ พาครอบครัวข้ามโดยดี จะสมัครอยู่กับเมืองใด ก็โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ทำราชการด้วย เจ้าเมือง ท้าวเพี้ย ตามใจสมัคร หากมีครอบครัวบ่าวไพร่ข้ามมา สมควรจะตั้งเป็นเมืองได้ จะโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเมือง ทำราชการขึ้นกับเมืองใหม่จะได้เป็นภูมิฐานบ้านเมือง ทำมาหากินอยู่เป็นสุข โดยทรงพระมหากรุณาเมตตา จะทรงสงเคราะห์ กับนายไพร่ ครอบครัวหัวเมืองลาวเหล่านี้ ไม่ให้มีความเดือดร้อนต่อไป ซึ่งพระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ เมืองแสน ท้าวอุปคุต ท้าวเพี้ยเมืองวังพาครอบครัวมาเป็นคนเมืองคำอ้อ ๘๐๖ เมืองวัง ๘๕๒ รวม ๑,๖๕๘ คน พระอุปฮาตบุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ได้จัดแจงให้ท้าวเพี้ยนายไพร่ ครอบครัว ตั้งอยู่หนองสูง ดงบังอี่ ครอบครัว ๒ เมืองนี้ สมัครอยู่กับเมืองมุกดาหาร ครอบครัวก็สมควรพอจะตั้งเป็นเมืองได้ แลบ้านหนองสูง ดงบังอี่ พระอุปฮาตได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ที่ทางเป็นภูมิฐานไร่นาดีอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านหนองสูงขึ้นเป็นเมือง พระราชทานชื่อเป็นเมืองหนองสูง ให้พระสีหนามเจ้าเมืองคำอ้อ เป็นเจ้าเมือง เพี้ยเมืองแสน เมืองวังเป็นที่อุปฮาต ท้าวราชอาต น้องพระสีหนาม เป็นที่ราชวงศ์ ท้าวอุปคุต เมืองวัง เป็นที่ราชบุตร ทำราชการขึ้นกับเมืองมุกดาหาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทาน พระสีหนาม เจ้าเมืองคำอ้อ (เจ้าเมืองหนองสูง) สัปทนแพร คัน ๑ ผ้าโพกขลิบ ผืน ๑ ถาดหมากเงิน คณโฑเงิน สำรับ ๑ เงินตรา +๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ ผ้าดำปักทองมีซับใน ๑ แพรขาวห่ม ผืน ๑ ผ้าปูม ผืน ๑ เพี้ยเมืองแสน เมืองวัง (อุปฮาต) ผ้าโพกขลิบ ๑ เงินตรา ๑๕+ เสื้อเข้มขาบดอกถี่ ๑ ผ้าดำปักไหม ๑ แพรขาวห่ม ผืน ๑ ผ้าปูม ผืน ๑ ผ้าโพกขลิบ ผืน ๑ ท้าวราชอาต (น้องพระสีหนาม) (ราชวงศ์) ผ้าโพกขลิบ ผืน ๑ เงินตรา ๑๐+ เสื้อเข้มดอกเสทิน ๑ แพรขาวห่ม ผืน ๑ ผ้าปูม ผืน ๑ ท้าวอุปคุต (เมืองวัง) (ราชบุตร) เสื้ออัตคัตดอกลาย ๑ แพรขาวห่ม ผืน ๑ ผ้าลายวิลาศ ๑ เงินตรา ๗+ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ตั้ง ท้าวสีหนาม เป็นพระไกรสรราช เจ้าเมืองเมืองหนองสูง เพี้ยเมืองแสนเมืองวังเป็นที่อุปฮาตเมืองหนองสูง ท้าวราชอาตเป็นที่ท้าวราชวงศ์เมืองหนองสูง ท้าวอุปคุตเป็นที่ท้าวราชบุตรเมืองหนองสูง ขึ้นมารักษาบ้านเมือง คุ้มครองบ่าวไพร่ครอบครัว ทำราชการ ฉลองพระเดช ฉลองคุณ ขึ้นกับเมืองมุกดาหาร ตามธรรมเนียมหัวเมืองน้อย ขึ้นกับเมืองใหญ่ และให้พระอุปฮาตผู้เป็นที่พระจันทร์สุริยวงษ์บังคับให้ พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ จัดแจง ตั้งแต่ท้าวเพี้ยขึ้นให้ครบตำแหน่งตามธรรมเนียมหัวเมืองลาว จะได้ช่วยกันทำราชการ รักษาบ้านเมือง ทำนุ บำรุง ครอบครัวบ่าวไพร่ให้อยู่เย็นเป็นสุข และพระไกรสรราช เจ้าเมือง ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองหนองสูง ฟัง บังคับ บังชา พระจันทรสุริยวงษ์ อุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร เมืองมุกดาหาร ซึ่ง เป็นเมืองใหญ่ ให้ อุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองหนองสูง ฟัง บังคับ บังชา พระไกรสรราช เจ้าเมือง แต่โดยชอบด้วยราชการ ให้พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร์ บุตรหลานท้าวเพี้ยเมืองหนองสูง มีน้ำใจจงรักภักดี ต่อใต้ฝ่าละอองฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ทำราชการฉลองพระเดช พระคุณ โดยใจสุจริต

พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร และบุตรหลานท้าวเพี้ย มีน้ำใจ เลื่อมใสในกองการกุศล สร้างวัดวาอาราม ขึ้นไว้สำหรับในบ้านเมือง ทำนุ บำรุง พระสงฆ์ สามเณร ให้ปรนนิบัติ เล่าเรียนฝ่ายคันถะธุระ วิปัสสนาธุระ พระพุทธศาสนาจะได้ถาวรรุ่งเรือง จะได้เป็นที่ไหว้ ที่กราบบูชา และทำบุญให้ทานเป็นกองการกุศล และเป็นที่พึ่งไปภายหน้า

ประการหนึ่ง ให้พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร กำชับ กำชา ไพร่บ้าน พลเมืองอย่าให้คบหาพากันกระทำโจรกรรม ฉกชิง คุมเหงราษฎร ลูกค้าพาณิชย์ ให้ได้ความยากแค้นเดือนร้อน แลให้ดูแลเอาใจใส่ไพร่พลเมืองให้ทำมาหากินให้อยู่เย็นเป็นสุข

ประการหนึ่ง เป็นอย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน ถ้าเถิงเทศกาล พระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท จะได้รับพระราชทานถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แลบ้านเมืองหนองสูง เป็นเมืองขึ้นเมืองมุกดาหาร เถิงเทศกาลถือน้ำก็ให้พระไกรสรราช ท้าวอุปฮาต ท้าวราชวงษ์ ท้าวราชบุตร บุตรหลานท้าวเพี้ย กรรมการเมืองหนองสูง ไปพร้อมด้วย พระจันทร์สุริยวงษ์ พระอุปฮาต ราชวงษ์ ท้าวเพี้ยเมืองมุกดาหาร ที่วัดวาอารามจำเพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้าบ่ายหน้าต่อกรุงเทพมหานคร กราบถวายบังคมกระทำสัตยานุสัตย์ ถวายต่อใต้ฝ่าละอองฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัจจาปีละสองครั้ง ตามอย่างธรรมเนียม เสมอจงทุกปีสืบไป

เพี้ยเมืองแสน ผู้เป็นที่ท้าวอุปฮาต ท้าวอุปคุตผู้เป็นที่ท้าวราชบุตร หาได้ลงไปเผ้าทูล ละอองฯ ณ กรุงเทพมหานครไม่ โปรดเกล้าฯ ให้มอบเงินตรากับเสื้อผ้าเครื่องยศสำหรับที่ท้าวอุปฮาต ท้าวราชบุตร ให้พระจันทร์สุริยวงษ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร คุมขึ้นมาพระราชทานให้กับเพี้ยเมืองแสน ผู้เป็นที่อุปฮาต ท้าวอุปคุต ผู้เป็นที่ท้าวราชบุตร รับพระราชทานทำราชการ ฉลองพระเดช พระคุณ ขึ้นกับเมืองมุกดาหารตามท้องตราโปรดเกล้าฯ ขึ้นมานั้น อย่าให้เสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นอันขาด

หนังสือมา ณ วัน ๖ ๑๑ ฯ ๘ ๘ ค่ำ ปีมะโรง ฉศก.

                                                            ตราประทับเมือง

เครื่องยศและสิ่งของพระราชทาน

สัปทนแพร คัน ๑ชช
ผ้าโพกขลิบ ผืน ๑
ถาดหมากเงิน คณโฑเงิน สำรับ ๑
เงินตรา +๑
เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑
ผ้าดำปักทองมีซับใน ๑
แพรขาวห่ม ผืน ๑
ผ้าปูม ผืน ๑

พี่น้อง

พี่น้อง
พระไกรสรราช (สิงห์) มีพี่น้องที่ปรากฏพระนาม คือ

พระไกรสรราช (สิงห์) หรือพระสีหนาม

พระไกรสรราช (ราชอาต) หรืออาชญาโหลง (อาชญาหลวง)

การพระศาสนา

สร้างวัดไตรภูมิ
วัดไตรภูมิ เมื่อแรกตั้งชื่อว่า วัดเตยยะภูมิ ตั้งอยู่เลขที่ ๘๖ หมู่ที่ ๗ บ้านหนองสูง ตำบลหนองสูงเหนือ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย คณะสงฆ์ภาค ๑๐ วัดไตรภูมิสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๗ ในยุคเดียวกันกับการตั้งเมืองหนองสูง พระไกรสรราช (สิงห์) ผู้เป็นเจ้าเมืององค์แรกพร้อมด้วยเจ้านายกรมการเมืองและชาวบ้านได้พร้อมใจกันสร้างขึ้น โดยมีอัญญาคูไตย (พระไตร) เป็นผู้นำชาวบ้านหักร้างถางพงบริเวณใกล้กันกับหนองแวง (ปัจจุบันเรียกว่า หนองสูง) เพื่อสร้างขึ้นเป็นวัด ครั้นอัญญาครูไตรถึงแก่มรณภาพ ได้ตั้งให้อัญญาคูหลักคำ (มี) (พ.ศ. ๒๓๙-พ.ศ. ๒๔๗๒) เป็นเจ้าอธิการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ (ร.ศ.๑๒๓) พระยาสุนทรนุรักษ์ ข้าหลวงประจำบริเวณธาตุพนมได้เดินทางมาตรวจราชการที่เมืองหนองสูง เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๔๖ ได้บันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับวัดไตรภูมิว่า ...มีวัด ๑ วัดชื่อวัดไตรภูมิ มีพระสงฆ์ ๑๕ รูป สามเณร ๒๒ รูป ท่านเจ้าอธิการชื่อ มี ได้ ๓๐ พรรษาที่วัดนี้ ดูการสวดมนต์แข็งแรงพร้อมเพียงกัน... หลังจากอัญญาครูหลักคำ (มี) ถึงแก่มรณภาพแล้ว ชาวบ้านได้สร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิขึ้น เรียกว่า ธาตุญาท่านหลักคำ ต่อมาจึงตั้งพระอธิการบัวคำหรืออัญญาคูบัวคำเป็นเจ้าอาวาส อัญญาคูบัวคำได้เป็นผู้นำในการสร้างกำแพงวัดของวัดไตรภูมิยุคแรก เมื่อมรณภาพแล้ว พระอธิการพรหมหรืออัญญาคูพรหม ชาวเมืองหนองสูง ได้เป็นเจ้าอาวาสต่อมา


ถึงแก่กรรม

พระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก เถิงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ สิริรวมเวลาปกครองเมืองหนองสูง ๓๕ ปี ต่อมาเจ้าอุปฮาด (ลุน) หรือท้าวสีสุวอ เจ้านายในคณะอาญาสี่เมืองหนองสูงผู้เป็นพระอนุชาได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ พระไกรสรราช เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๒ แทน ตระกูลเจ้านายเมืองหนองสูงได้ปกครองบ้านเมืองในตำแหน่งเจ้าเมืองสืบต่อมารวมทั้งหมด ๓ องค์ องค์สุดท้ายคือ พระไกรสรราช (ราชอาต) และปกครองเมืองหนองสูงในฐานะผู้รักษาราชการแทนเจ้าเมืองได้อีก ๓ ท่าน ได้แก่ หลวงอำนาจณรงค์ (บุศย์) หลวงทรงฤทธิรอน (เสือ) และหลวงชะนาจอาจวิชัย (ตาอุปฮาต) รวมมีผู้ปกครองเมืองหนองสูงทั้งหมด ๖ คน

สกุลที่สืบเชื้อสายและสายสกุลที่เกี่ยวเนื่อง

ไตรยวงค์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๑
ไตรยวงศ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๑
ไกรยวงศ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๑
กลางประพันธ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สีสุวอ) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๒
อาจวิชัย สืบสกุลจากพระไกรสรราช (ราชอาต) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๓
โกมารพัฒน์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (ราชอาต) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๓ มาจากราชทินนามบรรดาศักดิ์เดิมของพระไกรสรราช (ราชอาต) ว่า พระศรีโกปานมารพัฒน์
แสนโคตร สืบเชื้อสายจากเพี้ยเมืองแสน กรมการชั้นผู้ใหญ่ (ชั้นขื่อเมือง) เมืองคำอ้อ (เดิมเป็นสายสกุลเดียวกันกับสกุลแสนโฆส)
แสนโฆส สืบเชื้อสายจากเพี้ยเมืองแสน กรมการชั้นผู้ใหญ่ (ชั้นขื่อเมือง) เมืองคำอ้อ
แสนสุข
สุวรรณไตรย์ สืบเชื้อสายจากท้าวสุวรรณโคตร (เสือ) เจ้าเมืองวัง หรือพระสุวรรณะ ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงทรงฤทธิรอน ผู้รักษาราชการเมืองหนองสูง
สุวรรณไตรย สืบเชื้อสายจากท้าวสุวรรณโคตร (เสือ) เจ้าเมืองวัง
วังคะฮาต สืบเชื้อสายจากพระศรีวังคฮาตเจ้านายกรมการเมืองสายเมืองวัง
วังคะฮาด สืบเชื้อสายจากพระศรีวังคะฮาตเจ้านายกรมการเมืองสายเมืองวัง
วิเศษศรี สืบเชื้อสายจากพระวิเศษแสน (โคตรหลักคำ) กรมการเมืองคำอ้อ
สลางสิงห์ สืบเชื้อสายจากกรมการเมืองคำอ้อเดิมซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดของพระไกรสรราช (สิงห์) ปัจจุบันทายาทบางส่วนอาศัยตั้งรกรากที่บ้านคำสะอี ประเทศลาว
สลางค์สิงห์
ภูวง
พรานภูวง
ไชยอุป
มหาอุป
หนองสูง สกุลสายนี้เดิมเป็นผู้ดูแลรักษาผีหอคุณ ผีหอไตร ผีหอเชื้อของเมืองหนองสูง
เพียกแก้ว
แก้วศรีนวม
สีหานาม

สกุลที่สืบเชื้อสายและสายสกุลที่เกี่ยวเนื่อง

  • ไตรยวงค์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๑
  • ไตรยวงศ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๑
  • ไกรยวงศ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๑
  • กลางประพันธ์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (สีสุวอ) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๒
  • อาจวิชัย สืบสกุลจากพระไกรสรราช (ราชอาต) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๓
  • โกมารพัฒน์ สืบสกุลจากพระไกรสรราช (ราชอาต) เจ้าเมืองหนองสูงองค์ที่ ๓ มาจากราชทินนามบรรดาศักดิ์เดิมของพระไกรสรราช (ราชอาต) ว่า พระศรีโกปานมารพัฒน์
  • แสนโคตร สืบเชื้อสายจากเพี้ยเมืองแสน กรมการชั้นผู้ใหญ่ (ชั้นขื่อเมือง) เมืองคำอ้อ (เดิมเป็นสายสกุลเดียวกันกับสกุลแสนโฆส)
  • แสนโฆส สืบเชื้อสายจากเพี้ยเมืองแสน กรมการชั้นผู้ใหญ่ (ชั้นขื่อเมือง) เมืองคำอ้อ
  • แสนสุข
  • สุวรรณไตรย์ สืบเชื้อสายจากท้าวสุวรรณโคตร (เสือ) เจ้าเมืองวัง หรือพระสุวรรณะ ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงทรงฤทธิรอน ผู้รักษาราชการเมืองหนองสูง 
  • สุวรรณไตรย สืบเชื้อสายจากท้าวสุวรรณโคตร (เสือ) เจ้าเมืองวัง
  • วังคะฮาต สืบเชื้อสายจากพระศรีวังคฮาตเจ้านายกรมการเมืองสายเมืองวัง
  • วังคะฮาด สืบเชื้อสายจากพระศรีวังคะฮาตเจ้านายกรมการเมืองสายเมืองวัง
  • วิเศษศรี สืบเชื้อสายจากพระวิเศษแสน (โคตรหลักคำ) กรมการเมืองคำอ้อ
  • สลางสิงห์ สืบเชื้อสายจากกรมการเมืองคำอ้อเดิมซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดของพระไกรสรราช (สิงห์) ปัจจุบันทายาทบางส่วนอาศัยตั้งรกรากที่บ้านคำสะอี ประเทศลาว
  • สลางค์สิงห์
  • ภูวง
  • พรานภูวง
  • ไชยอุป
  • มหาอุป
  • หนองสูง สกุลสายนี้เดิมเป็นผู้ดูแลรักษาผีหอคุณ ผีหอไตร ผีหอเชื้อของเมืองหนองสูง
  • เพียกแก้ว
  • แก้วศรีนวม
  • สีหานาม

พระอนุสาวรีย์

พระอนุสาวรีย์แห่งที่ ๑

พระอนุสาวรีย์พระไกรสรราช (สิงห์) แห่งที่ ๑ ตั้งอยู่ ณ บ้านหนองสูง หมู่ที่ ๓ บริเวณริมน้ำหนองสูงใกล้กับวัดไตรภูมิ ตำบลหนองสูง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยความร่วมมือของอาจารย์บุญสงค์ แสนโคตร อาจารย์เข็ม จันปุ่ม อาจารย์จันหมี กลางประพันธ์ อาจารย์ทองไม จันทร์เต็ม อาจารย์เสมอ รอบรู้ อาจารย์ประยงค์ แสนสุข และชาวภูไทเมืองหนองสูงหลายท่าน องค์พระอนุสาวรีย์แกะสลักจากหิน พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์หรือดาบยศ พระหัตถ์ขวายกขึ้นทรงบั้งจุ้มบรรจุดวงจุ้มหรือตราตั้งเจ้าเมือง ท่วงท่าประทับยืนเหนือแท่นแอวขัน นายโกเวช กลางประพันธ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอหนองสูงกล่าวว่า คณะผู้ก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ได้สืบค้นข้อมูลรูปร่างและบุคลิกลักษณะของพระองค์จากทายาทบุตรหลานของพระองค์ จากนั้นจึงให้หมอพราหมณ์จากกรุงเทพมหานครจัดพิธีเสี่ยงทายภาพเพื่อนำมาสร้างพระอนุสาวรีย์ พร้อมประกอบพิธีพราหมณ์สมโภช ๓ วัน ๓ คืน

พระอนุสาวรีย์แห่งที่ ๒

พระอนุสาวรีย์พระไกรสรราช (สิงห์) แห่งที่ ๒ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอหนองสูง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๐ ซึ่งถือเป็นปีครบรอบ ๑๖๓ ปี ของการก่อตั้งเมืองหนองสูง ตัวพระอนุสาวรีย์พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์หรือดาบยศ พระหัตถ์ขวายกขึ้นทรงบั้งจุ้มบรรจุดวงจุ้มหรือตราตั้งเจ้าเมือง ท่วงท่าประทับยืนเหนือแท่นแอวขัน 

อนุสรณ์

งานโฮมเหง้าเผ่าผู้ไทย ไหว้พระไกรสรราชเมืองหนองสูง

งานโฮมเหง้าเผ่าผู้ไทย ไหว้พระไกรสรราชเมืองหนองสูง เป็นงานประจำปีของอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔  ซึ่งส่วนราชการอำเภอหนองสูง เทศบาลตำบลหนองสูงเหนือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมุกดาหาร และสภาวัฒนธรรมอำเภอหนองสูงได้กำหนดจัดงานขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูพระเกียรติยศของพระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก และเป็นวันคล้ายวันก่อตั้งเมืองหนองสูงเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๗ ตลอดจนเพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าภูไท ส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอหนองสูง เสริมสร้างความรักความสามัคคีของพี่น้องชาวภูไทอำเภอหนองสูง และชาวภูไทจากต่างถิ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กิจกรรมภายในงานมีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ตามจารีต มีพิธีบวงสรวงพระอนุสาวรีย์พระไกรสรราช (สิงห์) เจ้าเมืองหนองสูงองค์แรก มีการแห่แหนศิลปวัฒนธรรมภูไทจากตำบลต่างๆ การแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวภูไทจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ หรือการแสดงศิลปวัฒนธรรมภูไท ๓ แผ่นดิน ได้แก่ ชาวภูไทจากประเทศเวียดนาม ชาวภูไทจากประเทศลาว และชาวภูไททั่วประเทศไทย รวมทั้งมีการประกวดอาหารพื้นบ้าน การประกวดส้มตำลีลา การประกวดฟ้อนกลองตุ้ม การประกวดธิดาผู้ไทยพระไกรสรราช การประกวดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวภูไทในด้านต่างๆ อาทิ การประกวดพานบายศรี การประกวดขันหมากเบ็ง การประกวดเสื้อเย็บมือ เป็นต้น

คำขวัญประจำอำเภอหนองสูง

พระนามของพระไกรสรราช (สิงห์) ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำอำเภอหนองสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเผ่าภูไทเป็นเผ่าที่มีความรักเคารพในบรรพบุรุษผู้สร้างบ้านแปงของตนเองเมืองอย่างยิ่ง ดังปรากฏความว่า 

"หนองสูงถิ่นผู้ไทย เมืองพระไกรสรราช

ตาดโตนน้ำตกสวย ห้วยบังอี่น้ำใส

ผ้าไหมเลิศหรู ภูจ้อก้อแหล่งวัฒนธรรม

ลึกล้ำพิธีเหยา ทิวเขางามตา "



อ้างอิง
http://www.nongsung.mukdahan.p...
http://www.mukdahannews.com/a-...
http://www.mukdahannews.com/a-...
http://www.nongsung.mukdahan.p...
www.mukdahanguide.com
↑ จดหมายเหตุ ร. ๓ จ.ศ. ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) เลขที่ ๓๓ หอสมุดแห่งชาติ สารตราเจ้าพระยาจักรี เรื่อง ตั้งเมืองหนองสูง
↑ จดหมายเหตุ ร. ๓ จ.ศ. ๑๒๐๖ (พ.ศ. ๒๓๘๗) เลขที่ ๓๓ หอสมุดแห่งชาติ สารตราเจ้าพระยาจักรี เรื่อง ตั้งเมืองหนองสูง
http://www.wattraibhumi.com/wa...
↑ http://www.mukdahanguide.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=25#.V4wQSfntmko
http://www.nongsoong.com/2016/...
https://www.facebook.com/photo...
↑ สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติตระกูลเจ้าเมืองหนองสูง สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙.
https://www.facebook.com/photo...
↑ สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติต้นสกุลแสนโคตร สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙.
http://www.slideshare.net/chk4...
http://suwannatrai.igetweb.com...
http://swangkahart.blogspot.co...
↑ สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติต้นสกุลวิเศษศรี สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙.
↑ สัมภาษณ์นายอภิชิต แสนโคตร เรื่อง ประวัติต้นสกุลสลางสิงห์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙.
https://www.facebook.com/aphic...
https://www.facebook.com/44450...
↑ http://www.m-culture.in.th/album/52068/%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%
http://nongsoong.mukdahancity....
http://www.oknation.net/blog/n...
http://www.wattraibhumi.com/no...
http://mukdahanlive.com/?p=113...
http://thainews.prd.go.th/webs...
http://www.manager.co.th/Local...
http://www.amphoe.com/menu.php...
http://www.thaiwit.com/index.p...
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A_(%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B9%8C_%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C)




หมายเลขบันทึก: 662198เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2019 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2019 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท