กรณีนายพุกน้อย เหงียน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1559-1563/2538 : คนเชื้อชาติเวียดนามที่ประสบปัญหาการมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว


สิ่งที่ศาลคำนึงอยู่เสมอคือความถูกต้อง และความยุติธรรม เมื่อบุคคลไม่ว่าชาติใดหรือภาษาใดมีความเป็นมนุษย์เขาจึงมีสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติ จึงไม่ควรถูกละเมิดไม่ว่าในกรณีใดๆ
           

             นายพุกน้อย เหงียน  เกิดในประเทศไทย มีบิดามารดาเป็นคนญวนอพยพ    ได้รับสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามกฎหมายสัญชาติที่มีผลใช้บังคับอยู่ขณะเกิด มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี 

            เมื่อมีการประกาศใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 นายพุกน้อย เหงียน จึงถูกถอนสัญชาติไทย   เนื่องจากมีองค์ประกอบของข้อเท็จจริงครบตามข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337   กล่าวคือเกิดในประเทศไทย   มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเพียงชั่วคราว           

               แม้นายพุกน้อย  เหงียน จะถูกถอนสัญชาติไทย แต่ประเทศไทยได้ให้สิทธิอาศัยแก่นายพุกน้อย  เหงียน โดยพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 8 ได้กำหนดให้บุคคลที่ต้องเสียสัญชาติไทยให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ดังนี้นายพุกน้อย จึงมีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยโดยมีหน้าที่ต้องไปขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามที่กฎหมายกำหนดไว้ 

            โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2530 นายพุกน้อย ได้ไปยื่นคำร้องขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ต่อสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจ อำเภอเมืองอุบลราชธานี  หลังจากนั้น      สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ได้ส่งคำร้องของนายพุกน้อย เหงียน      ไปยังกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรเพื่อพิจารณาตามระเบียบของกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร      โดยที่สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจ  อำเภอเมืองอุบลราชธานี        มิได้พิจารณาเพื่อออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้นายพุกน้อย      แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่นายพุกน้อย ได้ยื่นคำร้องขอมาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว             นายพุกน้อย เหงียน จึงได้มาฟ้องเป็นคดีต่อศาลขอให้บังคับให้สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้            

               คดีทำในสามศาล             โดยศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษา ให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ที่ 1ถึงที่ 4 และที่ 6 ทั้งนี้เมื่อโจทก์ดังกล่าวได้       ยื่นคำขอถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 5    

                ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน  

                ศาลฎีกาพิพากษาว่า       จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนคนต่างด้าวมีหน้าที่พิจารณาและออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในกรณีที่คำขอของโจทก์เข้าหลักเกณฑ์  ตามกฎหมายเมื่อมิได้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวดังกล่าวทั้งที่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอต่อจำเลย  นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปีเศษถือว่าจำเลยปฏิเสธไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้  เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว  จำเลยจะอ้างว่ากองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรยังไม่แจ้งให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแก่โจทก์จึงออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่ได้ เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหาได้ไม่ เพราะกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรมิใช่นายทะเบียนผู้มีอำนาจหน้าที่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 8,21 บังคับให้คนสัญชาติไทย ผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยกลายเป็นคนต่างด้าวต้องไปขอใบสำคัญประจำตัว      จากนายทะเบียนในท้องที่ที่ตนอยู่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ตนได้รู้หรือควรรู้ว่าตนเสียไปซึ่งสัญชาติไทย   มิฉะนั้นย่อมเป็นความผิด มิใช่เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลดังกล่าวว่าหากไม่          ไปยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจะไม่มีสิทธิขอให้ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว 

               คำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ได้ทำให้เกิดความชัดเจน          ในการใช้กฎหมายในเรื่องการออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในกรณีของบุคคลที่เสียสัญชาติไทยโดยผลของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ดังต่อไปนี้           

               1.ศาลฎีกาได้ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของบุคคลที่มีสิทธิร้องขอ มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 8         ว่าจะต้องเคยมีสัญชาติไทย          และได้เสียสัญชาติไทย โดยไม่เฉพาะแต่ผู้เสียสัญชาติไทยโดยผลของข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337   เท่านั้นที่อาจร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวได้ตามมาตรา 8 ยังรวมถึงผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยโดยผลของข้อ 1  แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ที่อาจร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวได้ตามมาตรา 8   ทั้งนี้เพราะผู้ที่เกิดในประเทศไทยโดยมีข้อเท็จจริงตามข้อกำหนดของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ก่อนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515          ย่อมมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนอยู่แล้วเมื่อประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337      มีผลทำให้เสียสัญชาติไทย บุคคลดังกล่าวจึงมีคุณสมบัติของผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 8 แต่บุคคลที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515   และมีข้อเท็จจริงตามข้อกำหนดของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ย่อมไม่มีสัญชาติไทยมาแต่เกิด          จึงมิใช่ผู้เสียสัญชาติไทยจึงไม่มีคุณสมบัติของผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 8 จึงกล่าวได้ต่อไปว่าบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนก่อนวันที่  26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535       และเสียสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 จึงมีคุณสมบัติของผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 8  ที่จะร้องขอมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวในขณะที่บุคคลที่เกิดในประเทศไทย   และไม่ได้สัญชาติไทยโดยผลของมาตรา 7 ทวิ    แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508                 ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 จึงไม่มีคุณสมบัติของผู้ทรงสิทธิตามมาตรา 8           

                2.ศาลฎีกาได้ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของกำหนดเวลา             ตามมาตรา 8   แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 โดยชี้ให้เห็นว่ากำหนดเวลาในมาตรา 8 นี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ กล่าวคือให้ไปทำการร้องขอต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวท้องที่ให้ออกใบสำคัญประจำตัวให้เพื่อแสดงว่า ตนเป็นคนต่างด้าวมิใช่เป็นคนสัญชาติไทยโดยกฎหมายกำหนดให้ต้องไปร้องขอภายในเวลา 30 วัน ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้เสียสัญชาติไทยเพิกเฉยหรือละเลยไม่ไปปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว      ถ้าหากบุคคลดังกล่าวละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาที่กำหนดไว้ก็จะมีความผิดและถูกลงโทษตามที่      มาตรา   21แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493  กำหนดไว้ ดังนั้นกำหนดเวลาในมาตรา 8 เป็นเรื่องการกำหนดหน้าที่โดยมีเวลาบังคับให้ปฏิบัติตาม  ถ้าผู้เสียสัญชาติไทยดังกล่าวฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดไว้ถือได้ว่ามีความผิดและต้องถูกลงโทษ             การกำหนดเวลาไว้ในมาตรา 8 จึงมิใช่การกำหนดอายุความเสียสิทธิหรือหมดสิทธิ          

               3.ศาลฎีกาได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่ามาตรา 8  แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 กำหนดให้นายทะเบียนคนต่างด้าวมีหน้าที่             ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว      ให้แก่บุคคลที่เสียสัญชาติไทยโดยนายทะเบียนคนต่างด้าว       ไม่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจที่จะไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหากปรากฏว่าเอกชนที่ร้องขอใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว   นั้นมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของมาตรา 8          ในกรณีการอ้างคำสั่งตามหนังสือกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร    ซึ่งเป็นระเบียบภายในของกรมตำรวจมาเป็นเหตุขัดข้องหรือต่อสู้ยันเอกชนผู้ทรงสิทธิตาม               มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493               ศาลฎีกาได้ชี้ให้เห็นว่า มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 บัญญัติไว้ชัดว่า นายทะเบียน  หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว และ     รัฐมนตรี    หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย             ซึ่งปรากฏตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องแต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493             ประกาศ ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2493 มีข้อความระบุไว้ชัดในข้อ 3 ว่า        ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี (คือกทม.ในปัจจุบัน)       ให้ผู้บังคับกองตำรวจภูธรอำเภอหรือหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอเป็นนายทะเบียน มีอำนาจหน้าที่ในเขตท้องที่ของตนดังนั้นนายทะเบียนท้องที่จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วที่จะออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  ให้แก่เอกชนผู้ร้องขอที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด  เมื่อผู้บังคับการกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรมิใช่นายทะเบียนผู้มีอำนาจหน้าที่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว  ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493    การที่นายทะเบียนอ้างระเบียบภายในของกรมตำรวจเพื่อให้ผู้บังคับการกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรเป็นผู้ชี้ขาดการออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่เอกชนผู้ร้องขอที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายกำหนดจึงไม่อาจรับฟังได้    นายทะเบียนท้องที่จะอ้างระเบียบภายในของกรมตำรวจซึ่งมิใช่กฎหมายมาปฏิเสธที่จะปฎิบัติหน้าที่ของตนที่กฎหมายกำหนดมิได้         

                4.ศาลฎีกาได้ชี้ให้เห็นว่ากำหนดระยะเวลาในการออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่ได้มีการกำหนดไว้           ดังนั้นนายทะเบียนท้องที่จะต้องออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายในระยะเวลาอันสมควร            หากนายทะเบียนท้องที่ไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวภายในระยะเวลาอันสมควรย่อมถือได้ว่า         นายทะเบียนคนต่างด้าวปฏิเสธไม่ออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแก่เอกชนผู้ขอ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของเอกชนแล้วตามมาตรา 55         แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง                           

           ในการพิจารณาตัดสินคดีของนายพุกน้อย  เหงียน           จะเห็นได้ว่าศาลไทยได้ให้ความยุติธรรมโดยไม่นำเอาการมีเชื้อชาติต่างประเทศของ         บุคคลมาปฏิเสธสิทธิที่บุคคลพึงจะได้รับ        สิ่งที่ศาลคำนึงอยู่เสมอคือความถูกต้อง และความยุติธรรม          เมื่อบุคคลไม่ว่าชาติใดหรือภาษาใดมีความเป็นมนุษย์เขาจึงมีสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติ     จึงไม่ควรถูกละเมิด ไม่ว่าในกรณีใดๆ             การพิจารณาตัดสินคดีของศาลในคดีนี้จึงตั้งอยู่บนความสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงของรัฐและสิทธิมนุษยชนของมนุษย์            

               จากกรณีของนายพุกน้อย ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการมีสถานะบุคคลโดยแม้จะมีกฎหมายรับรองให้สิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากกฎหมายที่ใช้บังคับยังขาดความชัดเจนทำให้การใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้จึงเป็นเหตุให้นายพุกน้อย ต้องประสบกับปัญหาในการมีสถานะบุคคลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายพุกน้อย ได้รับความยุติธรรมจากศาลไทยจึงทำให้ปัญหาสถานะบุคคลที่นายพุกน้อย ประสบหมดไปได้            

             ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศ ฉบับลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2547 เรื่องการสั่งให้บุคคลซึ่งถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.337 และบุตรหลานได้สัญชาติไทย ดังนั้นในวันนี้นายพุกน้อย ซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกถอนสัญชาติไทยตาม ปว.337 ในอดีต จึงกลับคืนสู่สัญชาติไทยอีกครั้งโดยอาศัยสิทธิตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว

 

หมายเลขบันทึก: 66211เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2006 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านแล้วค่ะ จะไม่วิเคราะห์ปัญหาสถานะบุคคลของพุกน้อยตั้งแต่เกิดให้ชัดกว่านี้หรือคะ ? เขาน่าจะเป็นคนไทยประเภทไหน ?เป็นการเล่าถึงอดีต

และน่าจะเล่าอนาคต ในวันนี้ พุกน้อยน่าจะเป็นคนสัญชาติไทยแล้วยัง

เสนอให้รสพรศึกษากรณีใน .๔๖๘/๒๕๒๔ (โจทก์  นางสาวดาวและพวก

จำเลย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และพวก) อันเป็นฎีกาแม่ของเรื่องญวนที่มีมารดาสัญชาติไทย แต่บิดาเป็นคนญวนที่มีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่มีสิทธิอาศัย บิดาชื่อ นายบังมุ่ย

ลองเล่าเรื่องนายบังมุ่ย และนางสาวดาว ควรศึกษาจากคำพิพากษาฉบับเต็มนะคะ

รออ่านงานชิ้นต่อไป

กรณีนายพุกน้อย ได้แก้ตามที่อาจารย์แนะนำแล้วค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท