ไปชาร์ทแบตกันที่ Turkey ดินแดน 2 ทวีป ตอน3 Acropolis


สวัสดีค่ะ มาต่อกันเลยนะคะ บอกเลยว่าทริปนี้เป็นทริปที่ต้องมีความอึดพอสมควร เพราะเราต้องย้ายไปนอนเมืองต่างๆทุกวัน เดินทางข้ามเมืองกันทุกวันค่ะ แต่ถือว่าคุ้มมากจริงๆ หลังจากชมม้าไม้เมืองทรอยด์ เราก็เดินทางมานอนที่เมืองไอย์วาลิก หลังทานอาหารเช้าก็เดินทางต่อมายังเมืองเพอร์กามอน (Pergamon) ตามลูกศรสีเขียวในแผนที่เลยค่ะ นั่งรถวนรอบตุรกีกันไปค่ะ อิอิ

ถ้าใครชอบเรื่องราวเกี่ยวกับอารยธรรมกรีกโบราณ เรื่องราวในตำนานที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์ต่างๆ มาที่นี่รับรองว่าไม่ผิดหวังจริงๆค่ะ เรายังคงสัมผัสและจินตนาการได้ถึงความงดงามของมนตราแห่งอดีตนั้น ช่วยให้เราเข้าใจถึงความเป็นไปของอารยธรรมอันเก่าแก่เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี วิหารอะโครโปลิส วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมทางสังคมและวัฒนธรรมในอดีต

อะโครโปลิส แปลว่า นครที่อยู่ที่สูง ซึ่งเป็นฐานการป้องกันเมืองของอาณาจักรกรีกและโรมัน ซึ่งผู้ที่ตั้งถิ่นฐานในสมัยก่อนนั้น มักจะเลือกที่สูง ที่ที่มีเนินผาสูงชัน เป็นจุดศูนย์กลางของเมือง ดังนั้นเช้านี้เราจะได้นั่งเคเบิลคาร์ขึ้นไปบนยอดเขาชมวิหารอะโครโปลิส (Acropolis) กันค่ะ

นั่งได้ไม่เกิน 8 คนค่ะ

มีคลิปให้ชมด้วยนะคะ

เมื่อลงจากเคเบิลคาร์แล้ว จะพบกับร้านขายของที่ระลึก เจ้าของร้านน่ารัก และเป็นกันเองมากๆค่ะ ราคาสินค้าต่อรองได้ ถือว่าที่นี่ราคาไม่แพงค่ะ (หลังจากต่อรองราคากันแล้วนะคะ อิอิ) และที่สำคัญ เจ้าของร้านมีทำการตลาดโดยนำหมวกมาให้เราใส่ขึ้นไปถ่ายรูป ไม่ซื้อไม่เป็นไร บอกว่าใส่แล้วสวย ให้เรายืมใส่ไปถ่ายรูป ฟรี!! เน้นตรงนี้ค่ะ อิอิ เราก็ใจตุ๊มๆต่อมๆ ตอนแรกกะจะคืนเค้า แต่เค้าไม่ยอม ก็เลยเอาวะ เด๋วกลับลงมาค่อยว่ากันอีกที 555

หมวกเค้าเลือกมาให้ใส่คือ สีก็เข้ากะชุดที่เราใส่ไปวันนั้นพอดี๊พอดีเลยค่ะ

เพอร์กามอนเป็นเมืองโบราณมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงราว 281 – 133 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งขณะนั้นถือเป็นยุคทองของศิลปะและวิทยาการของกรีก เรียกว่ายุค “เฮลเลนลิสติก” (Hellenistic) โดยดินแดนอนาโตเลีย (หรือตุรกีในปัจจุบัน) ซึ่งเดิมก่อนหน้านี้อยู่ภายใต้อาณาจักรเปอร์เซีย และต่อมาถูกยึดครองโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชก็สิ้นพระชมน์ อาณาจักรทั้งหมดของพระองค์จึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ปกครองโดยขุนพลสำคัญ 4 คนคือ

  • คัสซันโดรส (Cassandros) ปกครองมาซิโดเนีย และ กรีซ

  • เซเลอคุส (Seleuscus) ปกครองเมโซโปเตเมีย ซีเรีย และอานาโตเลียตะวันออก

  • ปโตเลมี (Ptolemy) ปกครองอียิปต์ ลิเบีย และอานาโตเลียตอนเหนือ

  • ไลซิมาคุส (Lysimachus) ปกครองอานาโตเลียตอนใต้และตะวันตก

ในบรรดาขุนพลทั้ง 4 คน ไลซิมาคุสได้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในอานาโตเลียและเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลอีเจียน อาณาจักรของไลซิมาคุสมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง “เพอร์กามอน” นี่เอง อาณาจักรเพอร์กามอนรุ่งเรืองสืบต่อมาจนถึงยุคการปกครองของราชวงศ์อัตตาลุส (Attalus) ที่รับเอาวัฒนธรรมของกรีกของมาอย่างมาก จนกระทั้งมีการปรับเปลี่ยนผังของอะโครโปลิสแห่งเพอร์กามอน ตามแบบอะโครโปลิสในเอเธนส์ จนกระทั่งเมื่อถึงยุคของพระเจ้าอัตตาลุสที่ 3 (Attalus III) ซึ่งสิ้นพระชนม์โดยไม่มีรัชทายาท จึงได้มีการทำพินัยกรรมยกอาณาจักรเพอร์กามุมให้แก่อาณาจักรโรมันซึ่งเป็นพันธมิตรเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการทำสงคราม

ปล.เกร็ดความรู้เหล่านี้มาตามเก็บรายละเอียดจาก google อีกทีนึงด้วยค่ะ เพราะวันที่ไปนั้นเราได้ฟังไกด์บ้างไม่ได้ฟังบ้าง แฮร่ … มัวแต่ตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามของที่นี่ ถ่ายรูปกันรัวๆไปค่ะ

มาชมความสวยงามของทิวทัศน์และวิหารอะโครโปลิสกันค่ะ แม้จะเหลือเพียงซากปรักหักพังแต่ก็ยังคงมองเห็นและจินตนาการได้ถึงความยิ่งใหญ่อลังการในอดีต

วิหารทราจัน (The Temple of Trajan) บนอะโครโปลิส เมืองเพอร์กามอน – เริ่มสร้างในยุคของกษัตริย์ทราจัน ซึ่งสมัยก่อนประชาชนจะบูชากษัตริย์เหมือนกับเทพเจ้า และสร้างเสร็จในยุคของกษัตริย์เฮเดรียน (Hadrian) (ปี 125 – 138 หลังคริสตกาล)

เดินลงมาข้างล่างวิหารทราจัน

ด้านล่างของวิหารทราจันเป็นที่สำหรับเก็บเสบียง food storage

ก่อนจะกลับเราก็เตรียมเกาะติด local giude เอาไว้ เผื่อลงไปแล้วเจ้าของร้านตุกติก จะให้ Ebor ช่วยเคลียร์ให้ อิอิ แต่สรุปสุดท้ายคือ เจ้าของร้านน่ารักมากๆค่ะ นอกจากจะไม่คิดเงินค่ายืมแล้ว พอเราเอาหมวกไปคืน เค้าก็ยังมีเข็มกลัด Evil Eye ที่เป็นเครื่องรางกันสิ่งชั่วร้าย แถมให้เราอีกคนละอันด้วย ฟรี!!!อีกแล้วคับท่าน เราเลยซื้อของที่ระลึกร้านนี้กลับมาด้วยเลย (จริงๆเราซื้อของที่ระลึกกันมาเรื่อยๆแทบจุทุกเมืองแล้ว กะว่าจะไปปิดจ๊อบอีกทีที่ Spice Market แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะซื้อที่นี่ด้วย คิดดูสิคะ 555) อิอิ ปล.การตลาดเค้าเจ๋งเนอะ ว่ามั้ย

หมายเลขบันทึก: 661885เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2019 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2019 12:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท