เราคือแนวหน้าในการจับสัญญาณนักศึกษาป่วยซึมเศร้า


ให้เรารับฟัง อย่าแสดงความเห็น อย่าให้ข้อแนะนำเด็ดขาด เมื่อเขาเปิดใจแล้วสิ่งที่เขาต้องการคือคนรับฟัง

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีข่าวนักศึกษาฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายอยู่หลายเคสนะครับ

ในข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ก็มาบอกวิธีจับสัญญาณผิดปกติที่ผู้ป่วยอาจจะส่งให้เพื่อนพี่น้องผ่านโลกโซเชียล ซึ่งจัดทำโดยกรมสุขภาพจิต

ทางคณะบริหารฯ ของเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดการสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการจับสัญญาณเหล่านี้ที่เราอาจพบเห็นได้ทั้งในและนอกห้องเรียน

อาจารย์ ดร. Parvathy Varma หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาของคณะ วิทยากรในงานนี้เล่าให้เราฟังว่าสัญญาณที่เราเห็นได้ง่ายที่สุดคือ “ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม” เช่น

  • นศ เคยเป็นคนตั้งใจเรียน มีส่วนร่วมตอบคำถามตลอด กลายเป็นคนนิ่งๆ ไม่เอาใจใส่ในการเรียน
  • นศ เรียบร้อยกลายเป็นเด็กก้าวร้าว
  • นศ ที่แต่งตัวสะอาดสะอ้านกลายเป็นเด็กที่ไม่ใส่ใจตัวเอง สกปรกรกรุงรัง
  • นศ ที่อยู่ๆ ก็พูดจาหลุดจากโลกความเป็นจริง เหมือนมีจินตนาการฟุ้ง

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลง ซึ่ง อาจารย์ Parvathy ย้ำว่าต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงนะครับ คือถ้าเด็กเขารุงรังมาแต่แรกแล้วเป็นแบบนั้นไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเกิดรุงรังแล้วอยู่ดีๆ กลายเป็นคนสำอาง อันนี้อาจจะมีความรัก (ฮา)

แล้วถามว่าทำไมเด็กถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงได้? อันนี้มีหลายสาเหตุ อาจจะประสบความสูญเสียในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทเสียชีวิต พ่อแม่หย่าร้าง ปัญหากับเพื่อน ตัวเองหรือคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาได้

ถ้าเราในฐานะครูอาจารย์ พบเจอเด็กที่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ เราควรทำอย่างไร?

ข้อแรกเลยคือ ต้องขอเรียกพบเป็นการส่วนตัว ข้อนี้มีอาจารย์ที่ร่วมสัมมนาถามไว้น่าสนใจครับ ว่าถ้าเราเรียกพบเป็นการส่วนตัวแล้ว มันจะมีกรณีอื่นที่ต้องพิจารณา เพราะคำว่าส่วนตัว คืออยู่กันสองต่อสองในที่ลับ เราเองต้องระวังข้อครหาหรือเปล่า? อันนี้ทางอาจารย์ Parvathy บอกว่า ถ้าเด็กรู้สึกว่าเราคือที่พึ่งแล้ว ข้อนี้สำคัญกว่า เพราะถ้าเขาไว้ใจเราแล้ว เขาพร้อมจะเปิดใจ ในบางกรณี เขาจะเล่าให้เราฟังก็ต่อเมื่อเขารู้สึกปลอดภัยจริงๆ (อันนี้คงต้องใช้วิจารณญาณของเรานะครับ)

ข้อสอง เมื่อเราเรียก นศ มาคุยเป็นการส่วนตัว ให้บอกเขาว่าเราสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเขา และเรารู้สึกเป็นห่วงจริงๆ

ข้อสาม อันนี้สำคัญมากครับ ให้เราฟัง และฟังเท่านั้น อย่าแสดงความเห็น อย่าให้ข้อแนะนำเด็ดขาด เมื่อเขาเปิดใจแล้ว สิ่งที่เขาต้องการคือคนฟัง ไม่ได้ต้องการทางออกของปัญหา เราไม่สามารถเอาตัวเราไปคิดแทนเขาได้ เราไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เราจึงควรรับฟัง และถ้ามันเหลือบ่ากว่าแรง ก็ส่งต่อให้ศูนย์ที่ปรึกษา หรือหน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญ

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจจากผู้ฟังในวันนั้นคือ สมมติมีเด็กคนหนึ่งมาสายบ่อยๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็ก “ขี้เกียจ” หรือ “มีปัญหา” จริงๆ

ข้อนี้อาจาย์ Parvathy ตอบไว้ว่า วิธีง่ายๆ ที่เราจะพิสูจน์คือ ให้เรียกเขาไปคุยหลังเลิกเรียน ถ้าเขามาแสดงว่าเขามีปัญหาจริงๆ ถ้าเขาไม่มา แสดงว่าการมาสายแล้วอ้างโน่นนี่ ก็เป็นแค่ข้ออ้าง

อีกเรื่องที่อาจารย์จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจเล่าให้ฟังคือ หลายปีมาแล้วเขาเจอเด็กคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเรียกเด็กมาคุย (เหมือนที่แนะนำไว้เป๊ะเลย) ปรากฏว่า พ่อแม่เด็กกำลังจะแยกทางกัน ด้วยจิตวิญญาณของนักเศรษฐศาสตร์ แกเลยถามเด็กไปว่าหนูมีเงินพอจะเรียนจบไหม? น้องเขาก็ตอบว่ามีพอ รู้แบบนี้อาจารย์ของเราก็บอกเด็กว่า งั้นก็ไม่ต้องห่วง เพราะพ่อแม่เขาก็มีปัญหาของเรา เรารีบเรียนให้จบ หางานทำก็พอ เสร็จแล้วก็ชวนน้องไปทานข้าวครับ

หลังจากนั้นอีก 3-4 วัน อาจารย์ท่านก็นัดน้องไปทานข้าวอีก จนน้องเขาบอกกับอาจารย์ว่าหนูรู้สึกดีขึ้นแล้ว และน้องก็จบการศึกษา มีงานทำอย่างที่อาจารย์เขาแนะนำ

เรื่องนี้ อาจารย์ Parvathy สรุปว่า การที่เราดึงความสนใจของเด็กออกจากปัญหาชีวิต ให้ไปโฟกัสกับปัญหาอื่นที่ใกล้ตัวกว่าก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ท่านนี้ “รับฟัง” ปัญหา และพร้อมที่จะเป็นเพื่อนของน้อง คือไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าพูดเตือนสติ และไปกินข้าวด้วย ก็สามารถช่วยเด็กคนหนึ่งให้ผ่านอุปสรรคในชีวิตไปได้แล้ว

นอกจากพ่อแม่และเพื่อนแล้ว นิสิต นักศึกษาก็ใกล้ชิดกับเรา ครู อาจารย์ มากที่สุด และได้เจอเขาบ่อยที่สุด เด็กรุ่นนี้กำลังเผชิญกับปัญหาที่รุ่นเขาอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเปิดใจรับฟัง อย่างน้อยเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือพวกเขาได้ เมื่อเขาต้องการครับ

อาจารย์ Parvathy ได้เขียนสรุปแนวทางการช่วยเหลือ นศ เบื้องต้นไว้ที่นี่ครับ https://msme.cc/help

หมายเลขบันทึก: 661867เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2019 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2019 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท