โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

บำรุงพระศาสนา


โสภณ เปียสนิท

..............................

         หลังความแห้งแล้งอันยาวนานในฤดูแล้งร้อนทุกหย่อมหญ้า เห็นต้นไม้ใบหญ้าค่อยๆ กลายเป็นสีเหลือง แล้วค่อยๆ กลายเป็นสีแสดสีปูนแห้ง ไม้ใหญ่ยืนต้นเก้งก้างไร่ร่มเงาปกคลุม หญ้าแห้งบนพื้นดินบางแห่งแห้งไปเฉยๆ บางแห่งมีร่องรอยไฟไหมกระหย่อม เว้าแหว่งเป็นรูปทรงต่างๆ ดังกับภาพวาดของศิลปินชั้นครู สัตว์เลื้อยคลานบางพันธุ์ปรับสีของตัวเองให้คล้ายคลึงกับต้นไม้ใหญ่เหล่านั้น บางทีก็คล้ายสีของใบไม้แห้งที่หล่นเกลื่อนกลาดอยู่บนพื้นดิน เหมือนดังผ้าห่มไพร

            คิดแล้วเห็นความพยายามดำรงชีวิตอยู่ของต้นไม้ใบหญ้า ต้นหญ้าหน้าแล้งแห้งเหี่ยวเฉาตายไปทีละน้อยๆ แต่เตรียมหว่านเม็ดพันธุ์ลงพื้นก่อนแล้วค่อยตาย บางอย่างฝังหัวอยู่ใต้ดินไว้มองข้างบนเห็นแต่ความเหี่ยวแห้ง ใต้ดินมีหัวที่พร้อมจะแตกตุ่มตากิ่งก้านใบทันทีเมื่อฝนมาเยือนในฤดูกลางต่อไป ต้นไม้ใหญ่ทิ้งใบเหลืองบ้างแสดบ้างลงทับถมดินตรงโคนต้นเพื่อให้ใบเหล่านั้นกลบโคนต้นเก็บความชื้นไว้ที่โคนเพื่อยืดเวลาแห่งชีวิตออกไปให้ยาวนานที่สุดเพื่อรอคอยหยาดฝนชโลมลานอีกครา

                 วันคืนผ่านไปๆ จนมาถึงวันวิสาขบูชา ปี 2562 นี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม เป็นวันสำคัญของชาวพุทธ เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะของชาวพุทธ มีวัดราวห้าหมื่นกว่าวัด มีพระราวสองแสนถึงสามแสนรูป มีผู้ที่เป็นนักปราชญ์ทางพระศาสนาอยู่จำนวนไม่น้อยทั้งเพศคฤหัสถ์และบรรพชิต เราควรศึกษาให้รู้ว่า ควรดำรงชีวิตอย่างไรให้สมกับที่เกิดมาแล้วพบพระศาสนา เหมือนดั่งที่หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญท่านกล่าวสอนไว้ว่า “เกิดมาหาแก้ว พบแล้วไม่กำจะเกิดมาทำอะไร” แก้วในที่นี่หมายถึงหลักคำสอนในพระศาสนา

พระศาสนามีคำสอนอันเที่ยงตรงต่อสัจธรรม เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด ผ่านการพิสูจน์มาอย่างยาวนาน หากใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นใคร ชาติตระกูลอะไร เพศ ผิวพรรณอย่างไรเป็นคนมีเหตุผลรักการศึกษาเรียนรู้เข้ามาศึกษาค้นคว้าย่อมได้รับผลคือความสงบรำงับร่มเย็นที่ดีจริงต่อชีวิตทุกคน สมดังที่อัลเบิร์ท ไอสไตน์กล่าวไว้ว่า “ศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดคือพระศาสนา” ทั้งที่เขาเองเป็นชาวคริสต์ เพราะเหตุว่าเขาเป็นผู้มีเหตุผลและรักการเรียนรู้ทดสอบทดลอง เมื่อทดลองปฏิบัติตามแล้วมีผลดีจริงจึงได้มุมมองแง่คิดมาเผยแพร่แก่ปวงชน

วันวิสาขบูชาคือวันประสูติกาลของเจ้าชายสิทธัตถะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ในประเทศอินเดีย ประสูติเมื่อราวก่อนพุทธกาล 80 ปี ชี้ให้เห็นว่า แม้ต่อมาพระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก็มีประสูติกาลเหมือนกับคนธรรมดาสามัญทั่วไป การก้าวเดินตามแนวทางแห่งการปฏิบัติ ด้วยการยินดีในการทำทานเสมอต้นเสมอปลายค่อยๆทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะให้สิ่งของเป็นทาน ให้อภัยทานก็ได้ ให้ความรู้เป็นทาน ให้ธรรมเป็นทานก็คือว่าเป็นการให้เช่นกัน

และเดินตามแนวของศีล พยายามรักษาศีลให้ได้มากทีละน้อยก็ได้ ครบทั้งหมดก็ได้ แต่ให้มีจุดมุ่งหมายไว้ว่า เราจะไม่ยินดีในการฆ่าล่าล้างผลาญชีวิตผู้อื่นไม่ว่าคนและสัตว์ก็ตาม ไม่ลักของใคร ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มเหล้าสุรายาเมา ทำทั้งวันไม่ได้ให้ตั้งใจทำเฉพาะวันพระ ทำวันพระไม่ได้ ให้ตั้งใจทำเฉพาะตอนก่อนนอนจนถึงตื่นนอน เพราะคนนอนหลับอย่างไรก็ไม่ไปฆ่าไปลัก ไปผิดในกาม ไม่พูดเท็จไม่ดื่มเหล้าแน่ อธิษฐานเอาแค่นั้นก่อน แล้วไม่นานก็จะชินๆ ไปเอง

และเดินตามแนวทางของภาวนา ชอบแบบไหนก็ภาวนาแบบนั้น เช่น ชอบภาวนาสั้นๆ เช่นว่า พุทโธ สัมมา อรหัง หรือ พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ นึกได้ตอนไหนก็ว่าตอนนั้น ว่าในใจก็ได้ เสียงดังก็ได้ แล้วแต่สะดวก ว่าไว้บ่อยๆ ก็จะเกิดความเคยชิน แล้วสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของจิตไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หากองค์ประกอบครบ คือ ยินดีในทานเสมอ ยินดีในศีลและมีพัฒนาการทางศีลดีขึ้น ภาวนาจนจิตคุ้นชินกับการภาวนา ความสุขในชีวิตย่อมมากขึ้นตามลำดับ

วันวิสาขบูชาคือวันที่เราชาวพุทธน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ทรงมีพระคุณสามประการ พระวิสุทธิคุณ คือพัฒนาพระองค์เองโดยผ่านขั้นตอนตามลำดับดั่งที่ว่ามาจนพระองค์เองละกิเลสหมักดองเครื่องเศร้าหมองในจิตใจจนกลายเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระปัญญาคุณ คือทรงมีปัญญาแสวงหาหนทางพ้นโลกพ้นจากกรงขังข่ายของตัณหาคือยางเหนียวเหนี่ยวสัตว์ไว้กับโลกนี้นานแสนนาน รู้แจ้งถึงกองแห่งสังขารว่าเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนไปตามไตรลักษณะคือ อนิจจัง ไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วแปรเปลี่ยน ทุกขังเป็นทุกข์ทนได้ยาก และอนัตตาไม่ใช่ตัวตนยึดถือไม่ได้

 และพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวโลกทั้งปวง เมื่อทรงหลุดพ้นแล้วจึงทรงพิจารณาว่า หลักธรรมทั้งหลายที่ได้ประพฤติปฏิบัติมายาวนานนั้น เป็นธรรมอันละเอียดสุขุมลุ่มลึกยากแก่การหยั่งรู้เข้าถึงได้ แล้วจะทรงสอนใครกันได้เล่า ความนี้ทราบถึง สหัมบดีพรหมจึงมาปรากฏกายให้เห็นและอาราธนาด้วยพระคาถาว่า “พรหมมา จ โลกา อธิปติ สหัมปติ....” มีความว่า “ท้าวสหัมบดีพรหม เป็นบรมในพรหมมา ทรงฤทธิศักดา กว่าบริษัททุกหมู่พรหม น้อมหัตถ์นมัสการ ประดิษฐาน ณ ที่สม ควรแล้วจึงบังคม ชุลีบาทพระสัมมา ขอพรอันประเสริฐ วาระเลิศมโหฬาร์ ปวงสัตว์ในโลกา กิเลสน้อยก็ยังมี ขอองค์พระจอมปราชญ์ สู่ธรรมมาสอันรุจี โปรดปวงประชานี้ ท่านจงโปรดแสดงธรรม นิมนต์ท่านเจ้าขา ผู้ปรีชาอันเลิศล้ำ โปรดแสดงพระสัจธรรม เทศนาและวาที เพื่อให้สัมฤทธิผล แก่ปวงชนบรรดามี สู่สุขเกษมศรี สมดังเจตนาเทอญ” (คัดคำแปลจากวัดป่ามหาชัย)

อ่านเรื่องความสำคัญของวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ ยามต้นทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ ยามสองทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย ยามสาม หรือยามสุดท้ายทรงบรรลุ "อาสวักขยญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)           เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงพระประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น    

วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธทุกคนต้องรู้ นัยว่าประเทศเรารับประเพณีอันดีงาม รำลึกถึงพระคุณทั้งสามประการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากประเทศศรีลังการตั้งแต่สมัยสุโขทัย และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day  ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดให้วันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา

เมื่อความสำคัญของวันวิสาขบูชามีความสำคัญดังนี้ ชาวพุทธจึงร่วมใจกันเป็นหนึ่งเดียวทำความดีเพื่อบูชามหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามวัดวาอารามทุกหนแห่งพุทธบริษัทที่แท้จริงต่างพากันทำความดี ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา อาจทำเองที่บ้าน ทำเป็นกลุ่ม ทำตามวัด ทำตามที่สาธารณะเพื่อประกาศตนเองว่าเป็นชาวพุทธแท้ ชาวพุทธจริงมิใช่ชาวพุทธตามทะเบียนบ้าน หรือชาวพุทธแอบแฝง

ผู้นำ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างพากันเป็นผู้นำในการทำความดีด้วยความรู้คุณแห่งพระศาสนา ผู้เคารพความดี เช่นการเคารพในทาน เคารพในศีล เคารพในการภาวนาถือว่าผู้นั้นเป็นชาวพุทธ ปัจจุบันอาจมีพาหิรชนคนนอกพระศาสนาแอบอ้างว่าเป็นชาวพุทธแต่ ไม่เคารพในพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เคารพต่อทาน ต่อศีล ต่อภาวนา ถือว่ามิใช่ชาวพุทธโดยการปฏิบัตินะครับ

หมายเลขบันทึก: 661650เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2019 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2019 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท