ขันที ชายผู้ถูกตอน


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่" ว่า

"...เสภาเรื่องขุนช้าวขุนแผน ตอนท้ายนี้ไม่มีอะไรมาก มีแต่เรื่องพลายชุมพลกับเถรขวาดซึ่งอยู่ในร่างจระเข้ การต่อสู้กับจระเข้นั้นก็ทำที่ในแม่น้ำหน้าตำหนักแพ สมเด็จพระพันวษาเสด็จลงตำหนักแพทอดพระเนตร มีสาวสวรรค์กำนัลในโดยเสด็จเป็นจำนวนมาก ดูตอนนี้แล้วก็มีอะไรที่สะกิดใจอยู่อย่างหนึ่ง

...คนที่ดูพรูตื่นยืนสะพรั่ง

ตำหนักแพเจียนพังลงกับที่

พระสนมกำนัลพวกขันที

อึงมี่แซ่ซ้องริมท้องชล...

คำที่ติดใจอยู่ก็คือคำว่า ขันที แปลว่าผู้ชายที่ตอนแล้วหมดความสามารถในทางเพศ ในเมืองจีนเคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก ในพระราชวังของฮ่องเต้ ในวรรณคดีไทยอื่นๆ ไม่เคยสังเกตเห็นว่ามีคำนี้ แต่ในเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น มีอยู่เป็นแน่นอนดังที่ได้คัดเอามาลงไว้ และการกล่าวถึงขันทีในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ ก็กล่าวถึงพร้อมกันไปกับพระสนมกำนัล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ขันทีในพระราชวังนั้น มีไว้สำหรับคอยคุมนางใน คือพระสนมกำนัลเหล่านั้นเอง

เรื่องไทยจะได้ขันทีมาจากไหนนั้นออกจะเป็นปัญหา ในขั้นแรกก็น่าคิดว่าคงจะได้มาจากจีน แต่เกิดมามีหลักฐานพิสูจน์ว่าขันทีในเมืองไทยนั้น คงจะมิได้มาจากจีนเป็นแน่นอน ที่หอเขียนที่อยู่ที่วังสวนผักกาดนั้น มีฝาผนังที่เขียนภาพแบบลายรดน้ำแสดงให้เห็นถึงชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่มาก ในภาพนางในต่างๆ นั้น มีรูปขันทีเขียนไว้ด้วย และขันทีที่ปรากฏบนผนังในหอเขียนนั้นแต่งกายเป็นแขก มิใช่จีน จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่า ไทยเราได้ขันทีมาจากประเทศอิหร่าน ซึ่งมีสัมพันธ์แน่นหนากับกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และขันทีในสมัยนั้น ก็คงมีหน้าที่เฉพาะแต่คอยเฝ้าควบคุมนางในอย่างในอิหร่านเท่านั้น คงจะมิได้มีหน้าที่รับใช้สอยทั่วไปอย่างในประเทศจีน แต่เห็นในกฎมณเทียรบาลบอกว่าถึงเวลาจะเข้าที่พระบรรทมนั้น ให้เบิกนักเทศน์ขันที ที่เบิกเข้ามา ตอนนั้นก็คงจะเป็นเพราะว่าขันทีนั้นมีเสียงเพราะกว่าคนธรรมดา จึงให้เข้ามาขับลำนำตอนที่เข้าที่พระบรรทมแล้ว เพื่อจะให้ได้บรรทมหลับ..."  

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ.2542 ระบุไว้ว่า " ขันที หมายถึง ชายที่ถูกตอน" ซึ่งก็ตรงกับความจริงที่ผู้ชายที่จะเข้ามาทำงานในวังและมีโอกาสได้พบปะใกล้ชิดกับเหล่านางในเป็นจำนวนมากจะต้องถูกตอนเพื่อให้หมดความสนใจในเพศตรงข้ามเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาลักลอบมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงของฮ่องเต้นั่นเอง ส่วน "กงกง" เป็นคำที่ใช้เรียกขันทีชั้นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งสูง เป็นผู้รับใช้ส่วนตัวของฮ่องเต้และราชสำนักฝ่ายใน เป็นผู้ที่มีอำนาจบารมีในราชสำนัก

ในกฎหมายตราสามดวง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นระบุว่า ตำแหน่งข้าราชการใน "กรมขันที" มีพระศรีมโนราช พระศรีอภัย ขุนราชาข่าน ขุนมโน ปลัดทั้ง 4 นักเทศและขันที จดหมายเหตุลาลูแบร์เรียกขุนนางกลุ่มนี้ว่า ยูนุค (eunuque) ซึ่งเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาอิหร่าน หมายถึง ผู้ชายที่ตอนแล้ว มีหลักฐานระบุอีกว่ายูนุคขันทีในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ที่ลาลูแบร์ว่ามีทั้งคนผิวขาวและผิวดำ น่าจะเป็นแขกทั้งหมด เพราะยุคนั้นมีขุนนางหลายคนเป็นชาวเปอร์เชีย พระนารายณ์ราชนิเวศที่ลพบุรี ก็ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เชียเช่นกัน

ส่วนนักเทษขันทีหรือนักเทศขันทีนั้นช่วงกรุงศรีอยุธยาจะโพกผ้าบนศีรษะ แต่งกายสวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ มีไม้เท้าไว้คอยกำกับเหล่านางกำนัล มิให้ประพฤตินอกลู่นอกทาง ไม่มีอิทธิพลเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองเช่นขันทีในราชสำนักของจีน อย่างไรก็ดี ตำแหน่งขันทีในราชสำนักของไทยได้ถูกยกเลิกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(ภาพจากอินเทอร์เน็ต ขอบคุณภาพนักแสดงเรื่องหนึ่งด้าวฟ้าเดียว ที่แสดงเป็นขันทีในราชสำนักสมัยกรุงศรีอยุธยา)

หมายเลขบันทึก: 661517เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2019 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท